ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยประชาชน “5 ยกเลิก 5 แก้ไข”

ชวนทำความเข้าใจเนื้อหาและเหตุผลของ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอสู่รัฐสภาโดยการเข้าชื่อของประชาชนกว่าแสนคน ด้วยชื่อย่อว่า “5 ยกเลิก 5 แก้ไข” เพื่อ 

“รื้อ” ระบอบอำนาจของ คสช. 

“สร้าง” หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย 

และเปิดทางให้เกิดการ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน

ยกเลิก 1 ช่องทางนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างที่ยังมีวุฒิสภาชุดพิเศษ ของ คสช. เป็นเสียงสำคัญในการลงมติ

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 272 เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือ ‘นายกฯ คนนอก’ ในช่วง 5 ปีที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้
  2. ส.ส. และ ส.ว. ประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี
  3. ส.ส. และ ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ

ซึ่งนับถึงช่วงกลางปี 2563 เมื่อรวมจำนวนเสียง ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน กับจำนวน ส.ส. ของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลก็เกิน 500 คนที่จะเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้แล้ว

ถ้าหากไม่ยกเลิกกลไกพิเศษนี้ ในอนาคตเราอาจจะเห็นนายกรัฐมนตรีชื่ออะไรก็ได้

ยกเลิก 2 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เขียนขึ้น คิดแทนอนาคต กดทับรัฐบาลทุกชุด

ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน / นโยบายรัฐบาล / การทำงานของหน่วยงานราชการ ต้องเป็นไปตามแผนการนี้

“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” หรือจะเรียกให้ถูกต้องคือ “ยุทธศาสตร์ คสช.” เป็นอีกหนึ่งประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สมควรถูกแก้ไขหรือยกเลิก แม้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตอกย้ำความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่าจะเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความต่อเนื่อง แต่เวลาไม่นานหลังการประกาศใช้ในปี 2561 ก็แสดงให้เห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ไม่สามารถป้องกันประเทศจากวิกฤติต่างๆ ได้ ซึ่งมีเหตุผลสำคัญสี่ข้อที่บอกว่าควรต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นหนึ่งในเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ คสช. ทำให้ชนชั้นนำภาครัฐที่นำโดยกองทัพกับนายทุนผูกขาดสามารถมีบทบาทควบคุมการออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปถึง 20 ปี ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหารและนายทุน ประธานคณะกรรมการก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง นอกจากนี้ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเกือบทั้งหมดต่างเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช. ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ารัฐบาลในอนาคตจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม แม้จะสามารถชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แต่การออกนโยบายหรือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลนั้นจะอยู่ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางไว้

  • อ่าน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 1: ตั้งคนหน้าเดิมซ้ำไปมา ซ้อนตำแหน่ง เพื่อสืบทอดอำนาจ: https://old.ilaw.or.th/node/4621
  • อ่าน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 2: ทหารและนายทุน ผู้สูงอายุ ผู้วางแผนอนาคตชาติ 20 ปี: https://old.ilaw.or.th/node/4625

รัฐบาลสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ เจ้าของยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น จึงยังเห็นชัดว่ายุทธศาสตร์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาล คสช. แต่ในทางกลับกันหากเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ คสช. ก็อาจถูกกลไกยุทธศาสตร์ล้มรัฐบาลได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ส.ว. แต่งตั้งจาก คสช. อำนาจหน้าที่ติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ ยังกำหนดว่า ถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ากระทำของรัฐบาลขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็ให้ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องถูกปลดจากองค์กรอิสระซึ่งมีที่มาโยงใยจาก คสช.

ยุทธศาสตร์ของ คสช. มีระยะใช้งาน 20 ปี คือตั้งแต่ปี 2561-2580 นับถึงปี 2563 แต่ถูกบังคับใช้เพียง 2 ปีเท่านั้น ก็สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการที่จะนำประเทศไทยไปเผชิญความท้าทายกับโลกอนาคต ดังจะเห็นได้จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นหลังยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่พบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการระบาดของโรคโควิด 19 ขณะที่การยกระดับรายได้ของคนไทยให้เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปี ก็ดูจะสวนทางกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ตกต่ำและเหลื่อมล้ำมากขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. จะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่จะคอยเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. เท่านั้น

  • เปิดดูแนวคิดการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พบว่า … ไม่มี: https://old.ilaw.or.th/node/5411
  • ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน: ตั้งเป้านำไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2579: https://old.ilaw.or.th/node/4765
  • ร่าง ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง: ยุติปัญหาความไม่สงบภาคใต้ภายในปี 2569: https://old.ilaw.or.th/node/4768
  • ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความเสมอภาคทางสังคม: ตั้งเป้ารายได้คนรวยสุดกับคนจนสุดต่างกันไม่เกิน 15 เท่า: https://old.ilaw.or.th/node/4769
  • ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาคน: ตั้งเป้าเด็กไทยเรียนดี มีคนเก่ง ชีวิตยืนยาว: https://old.ilaw.or.th/node/4770
  • ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม: ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 40: https://old.ilaw.or.th/node/4766
  • ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านพัฒนาระบบราชการ: ตั้งเป้ารวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม: https://old.ilaw.or.th/node/4771

ยุทธศาสตร์ คสช. เป็นกลไกสำคัญที่กำหนดชะตาชีวิตของคนไทยถึง 20 ปี ซึ่งยาวนานจนแม้แต่คนร่างยุทธศาสตร์ชาติอาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่ตัวเองก่อไว้ ดังนั้น การจะมียุทธศาสตร์ชาติหรือไม่? เนื้อหาจะเป็นอย่างไร? จะใช้บังคับนานแค่ไหน? ประชาชนเจ้าของประเทศควรมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต ทั้งนี้ การร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านมา ถูกจัดทำโดย คสช. ฝ่ายเดียว ตั้งแต่คนร่างก็เป็นคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้น กระบวนพิจารณาเห็นชอบในขั้นต่างๆ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช. และการรับฟังความคิดเห็นก็ทำกันอย่างเงียบๆ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่เห็น และดูจะเป็นการกระทำเชิงพิธีกรรมมากกว่า

  • อ่าน ขั้นตอนสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศของ คสช.: https://www.ilaw.or.th/articles/2442
  • อ่าน ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ใคร ทำไมคนทั่วไปไม่มีส่วนร่วม: https://old.ilaw.or.th/node/4629

ยกเลิก 3 แผนปฏิรูปประเทศ ที่ คสช.​ เขียนขึ้น ความยาวรวมกว่า 3,000 หน้า

ยกเลิก หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตาม / เสนอแนะ / เร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ถูกแต่งตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ มีหน้าที่จัดทำแผนเพื่อปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศฯ รวมทั้งทำงานอื่นๆ ตามที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

แผนปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน เมื่อร่างขึ้นเสร็จแล้วต้องให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหา และส่งให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมเป็นผู้อนุมัติ เท่ากับว่า มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนการเหล่านี้

และเมื่อจัดทำเสร็จแล้วและประกาศใช้แล้วมีความยาวกว่า 3,000 หน้า ครอบคลุมสารพัดเรื่องและลงรายละเอียดมากพอสมควร จนแทบไม่มีใครศึกษาและเข้าใจแผนการนี้ได้ทั้งหมด แต่กลับเป็นแผนการที่บังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเดินตาม

นอกจากนี้คนของ คสช. ที่ไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ แม้จะทำแผนเสร็จแล้วยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ยังคงทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปจนกระทั่งหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลใหม่ จนถึงปี 2565

ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศบางคนยังไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจในการติดตามกำกับรัฐบาล ทำให้กรรมการบางคนเป็นทั้งคนร่างแผน และคนกำกับติดตามรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน เช่น เสรี สุวรรณภานนท์, พรทิพย์ โรจนะสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน เป็นต้น

แผนการปฏิรูปประเทศ จึงเป็นทั้งที่ทางให้พรรคพวกของ คสช. ได้ “มีงานทำ” และยังเป็นแผนที่กำหนดอนาคตโดยการ “คิดแทน” คนไทยทั้งประเทศ ข้อเสนอชุดนี้จึงต้องการยกเลิกกลไกนี้ทั้งหมด และเดินหน้าประเทศไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันเป็นแนวทางตามระบบที่ใช้มาตลอดหลายสิบปีอยู่แล้ว

ยกเลิก 4 ท้องถิ่นพิเศษ ที่เปิดช่องผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ยกเลิกมาตรา 252 ที่กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดย ‘วิธีอื่น’ นอกจากการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น เพื่อกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติ

มาตรา 252 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดย ‘วิธีอื่น’ นอกจากการการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้อความแบบใหม่ที่ไม่เคยมีทั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

ทั้งที่ในปัจจุบัน ระบบการได้มาซึ่งผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ต่างก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพียงแต่เว้นว่างการเลือกตั้งไปเกือบสิบปีเพราะติดล็อกของ คสช.​ แต่ตามกฎหมายที่เขียนไว้ อย่างไรก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง

การที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้เช่นนี้ เป็นการให้สิทธิประชาชนน้อยกว่าในทางปฏิบัติที่เดินหน้าไปแล้ว จึงเปิดช่องวางกับดักไว้ว่า ในอนาคตอาจมีองค์กรบางประเภทสำหรับบางพื้นที่ที่ผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ และเปิดช่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการแต่งตั้งยุค คสช. ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอชุดนี้จึงขอให้เลิก เฉพาะข้อความส่วนนี้ของมาตรา 252 

ยกเลิก 5 นิรโทษกรรม คสช. ที่ช่วยคนทำรัฐประหาร ทำอะไรไว้ไม่มีทางผิด

ยกเลิกมาตรา 279 ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัว ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของคสช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป

มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ มาตรา 279 ที่ระบุว่า ประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหมดของ คสช. หรือของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมถึงประกาศ คำสั่ง ที่จะประกาศบังคับใช้ต่อไปข้างหน้า ให้มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป

นั่นหมายความว่า คสช. เขียนนิรโทษกรรมตนเองรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเขียนว่าทั้งประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคสช. ก่อนหน้านี้ และหลังจากนี้เป็นต้นไป ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด และยังคงมีอำนาจตามประกาศและคำสั่งที่ออกไว้ ทำให้ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังกับการทำรัฐประหารและการละเมิดสิทธิของประชาชนใดๆ ได้ 

แก้ไข 1 แก้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ​ เขียนให้ชัด นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. 

ตัดระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ในมาตรา 88 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่า ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” หรือ ต้องเป็น ส.ส. และการเกิดขึ้นของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่ชอบทำให้เป็นธรรมเนียมว่า ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรคการเมือง คือ “ว่าที่นายกฯ” ของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งเราจะเห็นว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งจะเป็นนายกฯ ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย, สมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชาชน และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้ ส.ส. เพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต. ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ พรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งจะเสนอรายชื่อแค่หนึ่งหรือสองคนก็ได้ และจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกฯ ของพรรคเลยก็ได้

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดใหม่ให้แต่ละพรรคเสนอชื่อว่าที่นายกฯ แยกออกมาอีกบัญชีหนึ่ง และที่สำคัญผู้ที่จะถูกเสนอเป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วย หรือไม่ต้องผ่านสนามเลือกตั้ง ส่งผลให้ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่ห้ามบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาล คสช. หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่มีที่บังคับใช้ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้ช่องทางนี้เพื่อกลับมาเป็นนายกฯ ได้ เข้าทางการสืบทอดอำนาจต่อผ่านพรรคพลังประชารัฐ

ทำความเข้าใจระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ต่อได้ที่ https://old.ilaw.or.th/node/5131

ภายใต้กติกาการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. เราจึงได้เห็นยุทธศาสตร์ “วิ่งผลัด” เพื่อลดแรงกดดันของพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผลให้บทบาทของผู้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลง กลายเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ที่ทำหน้าที่ออกวิ่งก่อนในยามจำเป็น มีเพียงพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่หัวหน้าพรรค เป็นคนเดียวกับผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง และเป็นคนที่อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรค 

นอกจากนี้ ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะส่งเสริมให้การเมืองเดินหน้าไปสู่ทางตัน เพราะผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีของพรรคที่ได้ ส.ส. เกิน 25 คนเท่านั้น ซึ่งหากคนเหล่านั้นขาดคุณสมบัติ เสียชีวิต ลาออก หรือถูกตัดสิทธิทางการเมือง จนไม่มีผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ ก็จะทำให้การเมืองเข้าสู่ทางตัน และนำไปสู่การเปิดทางให้มี “นายกฯ คนนอก” หรือผู้ที่ไม่เคยผ่านสนามเลือกตั้งมาเลยก็ได้ 

ดังนั้น ข้อเสนอการแก้ไข จึงยืนยันที่จะต้องเปลี่ยนการกำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องยึดโยงกับบัญชีว่าที่นายกฯ แต่ต้องยึดโยงว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และต้องมาจากการเลือกตั้ง 

แก้ไข 2 เปลี่ยน ส.ว. ชุดพิเศษคนของเขา เป็น ส.ว. จากการเลือกตั้งของประชาชน

ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ 200 คนและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540

สมาชิกวุฒิสภา 250 คน เป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงความไม่เป็นธรรมทางการเมือง และการพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช.​ อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร

รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ว่า ในระยะเวลา 5 ปีแรก นับตั้งแต่ 2562-2567 ให้ ส.ว. ประกอบด้วยสมาชิก 250 คน มีที่มาแบบ “พิเศษ” สามช่องทาง ช่องทางแรก ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน ช่องทางที่สอง มาจากผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และช่องทางที่สาม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดย “แบ่งกลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน 

เมื่อรายชื่อของ ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน ประกาศออกมา ก็พบว่า มีคนชื่อคุ้นเคย อยู่มาก เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ฯลฯ พบว่า มีคนหน้าซ้ำ เคยรับตำแหน่งยุค คสช. ถูกแต่งตั้งเป็น ส.ว. 157 คน, มียศนายพล 103 คน รวมแล้วมีอดีตข้าราชการอย่างน้อย 143 คน, มี 51 คน ที่นั่งควบตำแหน่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้วย 

ส.ว. ชุดพิเศษที่มีที่มาแบบพิเศษ ก็ยังมีอำนาจ “พิเศษ” อยู่หลายประการ อำนาจสำคัญ คือ การร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศ และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้หลังการเลือกตั้ง นอกจากนั้นก็ยังมี อำนาจลงมติร่วมกับ ส.ส. เพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ “ปฏิรูปประเทศ”, อำนาจการลงมติด้วยเสียง 1 ใน 3 เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจแบบปกติเช่นเดียวกับ ส.ว. ชุดปกติ เช่น การพิจารณากฎหมาย การพิจารณาเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ยังอยู่ในมือของ ส.ว. ชุดนี้ด้วยเช่นกัน 

ยิ่งนานวันเข้าการคงอยู่ของ ส.ว. ชุดพิเศษ ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน และกลายเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้ง การยกเลิก ส.ว. ชุดพิเศษ โดยให้คนที่นั่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันที จึงเป็นทางเลือกทางเดียวเพื่อให้การเมืองกลับเข้ามาสู่ปกติ และก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่จากประชาชนที่จะตัดสินใจต่อไปเรื่องอนาคตของสถาบันวุฒิสภา จึงเสนอทางแก้ไขที่ประนีประนอมและมีความชอบธรรมมากที่สุด คือ การให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 โดยไม่มีอำนาจพิเศษที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี หรือกำกับดูแลแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศอีกต่อไป 

แก้ไข 3 เปลี่ยนที่มาองค์กรที่ไม่ทำงาน สร้างระบบสรรหาองค์กรอิสระแบบใหม่ ให้คนที่นั่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง

ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระจากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนของ คสช. ทั้ง 7 ฉบับ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. ชุดใหม่ โดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540

ผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนของระยะเวลาอันยาวนานในยุค คสช. คือ การค่อยๆ ใช้อำนาจพิเศษเข้าครอบงำองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งเจ็ดจนครบถ้วน ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวปี 2557, คำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับ และสืบทอดต่อมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย 

วิธีการ คือ มอบหมายอำนาจในการพิจารณาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระให้อยู่ในมือของ สนช. และยังออกคำสั่งตาม “มาตรา 44” เข้าแทรกแซงส่งคนของตัวเองไปอยู่ในคณะกรรมการสรรหา และต่อมากลไกเหล่านี้ก็ถูกส่งผ่านไปยังมือของสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากนี้ ยังมีการใช้อำนาจพิเศษสั่งปลด กกต. รวมถึงการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่สั่ง “เซ็ตซีโร่” ทั้ง กสม. และ กกต. รวมถึงการต่ออายุให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ยาวไปจนถึงหลังการเลือกตั้งอีกด้วย 

ทำให้กว่าหกปีที่ผ่านมาเราจะไม่เคยเห็นว่า องค์กรอิสระลงมติให้ฝ่ายของ คสช. เสียเปรียบในทางการเมืองเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ข้อกฎหมายชัดเจนเพียงใดก็ตาม ตัวอย่างเช่น

  • 26 ตุลาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำสั่งว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
  • 27 ธันวาคม 2561 ป.ป.ช. ลงมติกรณีว่า นาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่า มีความผิด
  • 26 มิถุนายน 2562 กกต. มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา กรณีพรรคพลังประชารัฐจัดกิจกรรมระดมทุนด้วยการขายโต๊ะจีนราคา 3 ล้านบาท และกรณีอื่นๆ เห็นว่า ไม่มีความผิด
  • 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ทำให้ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและไม่ขาดคุณสมบัติ “ความเป็นนายกรัฐมนตรี”
  • ฯลฯ

ขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้าม คสช. กลับถูกเล่นงานครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น การยุบพรรคไทยรักษาชาติ การยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือการตัดสินไม่ให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น ส.ส.

ข้อเสนอชุดนี้ จึงเสนอให้ “เซ็ตซีโร่” ใหม่ทั้งหมด โดยให้กรรมการในองค์กรทั้งเจ็ดที่มีอยู่ พ้นจากตำแหน่งทันที และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จัดตั้งองค์กรเหล่านี้ และเขียนกระบวนการสรรหาภายใต้อำนาจของ คสช. ทั้งหมดเจ็ดฉบับ แต่ยังให้ทุกคนรักษาการชั่วคราวไปก่อน

โดยในระหว่างนี้ให้เริ่มกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ​และคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ได้เลย เฉพาะเพียงสององค์กร เพื่อให้มีองค์กรคอยกำกับดูแลและจัดการเลือกตั้ง สสร. ให้เกิดขึ้น แต่กระบวนการสรรหาชุดใหม่ ให้มีที่มาในระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

และหากข้อเสนอชุดนี้เป็นจริง นำไปสู่การจัดตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะนำไปสู่การวางโครงสร้างองค์กรเหล่านี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า บางองค์กรอาจจะไม่มีอยู่ต่อไป หรือมีที่มาแตกต่างออกไป หรือมีอำนาจหน้าที่แบบใหม่ ที่ไม่แทรกแซงการเมืองและสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องได้ 

แก้ไข 4 ปลดล็อกวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา ไม่ต้องมีอำนาจพิเศษของ ส.ว.

ตัดอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การแก้ไขอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับฉบับก่อนๆ ไม่บังคับต้องทำประชามติเสมอไปในบางประเด็น

แม้รัฐธรรมนูญ ควรจะเป็นกฎหมายสูงสุดที่ขั้นตอนการแก้ไขต้องไม่ง่ายเกินไป แต่วิธีการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเขียนไว้ให้แก้ไขยาก ชนิดที่เรียกว่า แทบจะแก้ไขไม่ได้เลย โดยเปรียบเทียบแล้วเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไขยากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ซึ่งกำหนดขั้นตอนการแก้ไขไว้ ดังนี้

ผู้มีสิทธิเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่

  • คณะรัฐมนตรี
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 100 คน
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน

โดยต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่

  • วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน
  • วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
  • วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ถ้าเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ที่แก้ไขบททั่วไป แก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจศาลและองค์กรอิสระ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ต้องทำประชามติก่อน

แม้ว่าสภาจะเห็นชอบและผ่านการทำประชามติแล้วก็ตาม ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ยังมีขั้นตอนที่เปิดให้สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา หรือของสองสภารวมกัน เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่

ดังนั้น ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ที่สำคัญ​ จึงเป็นการเสนอแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้เปลี่ยนกลับไปใช้ระบบการแก้ไขเช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา ให้ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสองสภาเท่าที่มีอยู่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีเสียงพิเศษของ ส.ว. หรือพรรคฝ่ายค้าน และไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทำประชามติ 

แก้ไข 5 ตั้ง สสร. ชุดใหม่จากการเลือกตั้งทั้งหมด เปิดทางสร้างการเมืองแบบใหม่ สังคมแบบใหม่

ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. 200 คน เป็นรายบุคคลหรือเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ ประชาชน 1 คนเลือก สสร. ได้เพียง 1 คนหรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สสร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน

ข้อเสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. หมายความว่า เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรนูญ ฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับ หรือหมายความว่า จะต้องนำไปสู่การเลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และยกร่างกันใหม่ตั้งแต่ต้นทุกมาตรา ซึ่งจะทำให้เงื่อนไขและกับดักทางการเมืองที่ คสช. วางเอาไว้หายไปทั้งหมดและตั้งต้นกันใหม่

ในโอกาสที่จะต้องตั้งต้นกันใหม่นี้ ก็ต้องทำโดยกระบวนการที่มีส่วนร่วมและมีความชอบธรรมมากที่สุด จึงต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ในชุดข้อเสนอนี้ เสนอให้มีสมาชิกจำนวน 200 คน โดยมาจากการเลือกตั้งที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนทุกคนในประเทศมีโอกาสเลือกผู้สมัครที่เหมือนกัน โดยไม่ต้องแบ่งแยกกันตามเขตพื้นที่ จังหวัด หรือภูมิภาค

นอกจากนี้การให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งจะส่งเสริมให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร.​ หาเสียงโดยการชูนโยบายระดับชาติที่จะนำไปเขียนในรัฐธรรมนูญ เพื่อมุ่งเป้าเอาใจคนทุกกลุ่ม ไม่ได้เจาะจงเฉพาะการสร้างการพัฒนาในท้องถิ่น หรือให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่ควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในข้อเสนอชุดนี้ เสนอให้ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สสร. จะสมัครเป็นรายบุคคลก็ได้ หรือรวมกลุ่มกันสำหรับคนที่เห็นความสำคัญของแต่ละประเด็นเช่นเดียวกันแล้วสมัครในนามกลุ่มความสนใจก็ได้ โดยไม่ต้องจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง ไม่จำกัดอายุ และการศึกษาของผู้สมัคร ประชาชนแต่ละคนจะเลือกผู้สมัครได้หนึ่งคนหรือหนึ่งกลุ่ม และจัดสรรจำนวนที่นั่งของ สสร. ให้ตามสัดส่วนของคะแนนทั้งประเทศ

ข้อเสนอนี้เป็นไอเดียใหม่ที่ไม่เคยทดลองใช้มาก่อนในสังคมไทย ซึ่งยังเปิดให้เกิดการถกเถียงได้ และหากว่า ข้อเสนอชุดนี้ถูกเสนอเข้าสภาได้สำเร็จก็ยังต้องผ่านการต่อรองกับผู้มีอำนาจในสภาอีก ซึ่งยังไม่อาจรับประกันได้ว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะได้สภา สสร. ออกมาหน้าตาแบบนี้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้มีขึ้นเพื่อยืนยันหลักการใหญ่สองข้อของการตั้ง สสร. คือ

หนึ่ง สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีโควต้าของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือด้านรัฐศาสตร์เป็นการเฉพาะ คนเหล่านี้ควรทำงานในฐานะที่ปรึกษาหรือทีมเลขานุการที่ช่วยศึกษาค้นคว้าข้อมูลและตัดแต่งถ้อยคำแต่ไม่ควรมีอำนาจในการตัดสินใจแทนประชาชน

สอง การเลือกตั้ง สสร. ไม่ควรแบ่งเขตตามจังหวัดหรือพื้นที่ เพราะประชาชนชาวไทยไม่ว่าอยู่อาศัย ณ พื้นที่ใด ก็ควรมีความฝันถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่ต่างกัน และไม่ต้องการให้ประเด็นความสำเร็จหรือความสำคัญของผู้มีอิทธิพลในท้องที่เข้าแทรกแซงการร่างรัฐธรรมนูญ

หากข้อเสนอให้มีการตั้ง สสร. เกิดขึ้นได้จริง จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกประเด็น ทุกมาตรา โดยตัวแทนของประชาชน และกระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ในกระบวนการนี้สิ่งที่ประชาชนอยากได้และอยากเห็นจริงๆ ที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่มีในข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะมีโอกาสและมีพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น 

อ่านรายละเอียดของ โมเดลการตั้ง สสร. ต่อได้ที่ https://old.ilaw.or.th/node/5746

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ