คุมม็อบด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษหนักกว่ากฎหมายปกติ

เป็นเวลากว่าสามเดือนนับตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 แม้นับถึงต้นเดือนกรกฎาคมแนวโน้มของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเร็ววัน 

ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ ไม่เพียงแต่มีมาตรการควบคุมโรค ควบคุมการประกอบธุรกิจอย่างเข้มข้นเท่านั้น แต่ยังใช้ข้อห้ามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปห้ามการรวมตัวเพื่อแสดงออกของนักกิจกรรมด้วย ส่งผลให้เห็นแนวทางการใช้อำนาจได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า รัฐบาลต้องการคงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมอะไรกันแน่? เพราะถ้าหากต้องการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ก็เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่เพียงพอ 

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คุมม็อบยังไม่สะใจ

ในสถานการณ์ปกติ นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวที่จัดการชุมนุมหรือกิจกรรมเรียกร้องสิทธิในประเด็นต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกิจกรรมที่รัฐบาลไม่พอใจ ผู้จัดมักจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 10 มาตรา 17 และมาตรา 18 ซึ่งอัตราโทษสูงสุดที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับ คือ จำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานชุมนุมในเขตพื้นที่ต้องห้ามตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ถ้าเป็นความผิดตามมาตรา 10 มาตรา 17 และมาตรา 18 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทเพียงอย่างเดียว 

     “มาตรา 7 การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระราชวัง จะกระทำมิได้
     การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้”

     “มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
     (1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
     (2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
     (3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
     (4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ
     (5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

     “มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

     “มาตรา 10 ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง”

     “มาตรา 17 จะเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมได้ต่อเมื่อได้แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น”

     “มาตรา 18 ผู้ชุมนุมต้องเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง”

     “มาตรา 28 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”

ซึ่งเมื่อพิจารณาบทลงโทษที่เกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะพบว่ามีโทษหนักกว่ามาก คือ โทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท อันจะถือว่าหนักกว่ากฎหมายใช้ควบคุมการชุมนุมในสถานการณ์ปกติอย่างเห็นได้ชัด

     “มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
     
     (2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

     “มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ภายใต้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 มีเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุให้นักเคลื่อนไหวหรือนักกิจกรรมหลายกลุ่มออกมาจัดกิจกรรมหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น การถูกอุ้มหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีหลายคนออกมาเรียกร้องให้ทางรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเร่งติดตามการหายตัวไปของวันเฉลิม ซึ่งกิจกรรมการเรียกร้องความยุติธรรมหลายกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 ทั้งสิ้น 

นับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีอย่างน้อย 23 คนที่ได้รับหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการรวมตัวกันเพื่อแสดงออกในประเด็นเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด 6 กิจกรรม

ทั้งที่เครื่องมือทางกฎหมายชนิดนี้ไม่ควรถูกนำใช้มากับการชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นเลยด้วยซ้ำ เพราะจุดประสงค์เริ่มแรกของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อควบคุมโรคระบาด ไม่ใช่มีไว้เพื่อห้ามการเรียกร้องหรือแสดงออกทางการเมือง

พ.ร.บ.โรคติดต่อก็คุมการรวมตัวได้ และควรใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นับถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นเวลา 34 วันแล้วที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด19 รายใหม่ แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์สามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ความจำเป็นในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการออกมาตรการควบคุมการใช้ชีวิตที่เข้มงวดจึงหมดไป 

ดังนั้น เครื่องมือทางกฎหมายที่หลายคนนึกถึงและควรถูกนำมาแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพราะเป็นกฎหมายที่มีไว้ใช้แก้ปัญหาในยามที่มีโรคระบาดโดยตรง ซึ่งออกแบบกลไกการทำงานไว้ชัดเจนแล้ว เช่น มีคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่มีอำนาจและมีขั้นตอนในการกักตัวผู้สงสัยว่าติดเชื้อ เป็นต้น

และถ้าหากมีการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่ต้องรวมตัวกันจำนวนมากในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคมากยิ่งขึ้น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็ให้อำนาจในการสั่งห้ามเอาไว้ และกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย  ดังนี้ 

     “มาตรา 34 ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอํานาจที่จะดําเนินการเองหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ ดังต่อไปนี้
     …
     (6) ห้ามผู้ใดกระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป”

     “มาตรา 51 กำหนดว่า ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 34 (6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”

เมื่อพิจารณากฎหมายทั้งสามฉบับ จะเห็นได้ว่า บทลงโทษสำหรับการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอัตราโทษที่หนักกว่า พ.ร.บ.อีกสองฉบับมาก และมีโทษจำคุกที่สูง ซึ่งการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนและการลงโทษโดยการนำตัวไปคุมขังในเรือนจำย่อมเป็นการเพิ่มภาระให้กับรัฐในการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นการเพิ่มกิจกรรมและเพิ่มความแออัดให้กับเรือนจำ ซึ่งให้ผลตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการควบคุมโรครระบาดและต้องรักษาระยะห่างทางสังคม

จึงเห็นได้ว่า การกำหนดฐานความผิดและโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นรุนแรง และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เมื่อภาวะที่เร่งด่วนฉุกเฉินหมดลง ความผิดและโทษดังกล่าวก็ยิ่งไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อลงโทษบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมบางอย่างตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมีตามกฎหมาย รัฐบาลจึงควรกลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมโรค หรือพัฒนาระบบกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ออกมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แล้ว