รับมือโควิดในฝรั่งเศส: สร้างระบบกฎหมายขึ้นใหม่ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ไม่ปนกับการทหาร

เรื่องโดย
ณัฐวุฒิ คล้ายขำ

นิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Master de droit public financier, Université de Paris Nanterre

 

สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หรือ Coronavirus (ต่อไปในบทความนี้ขอใช้คำว่า ไวรัสโคโรน่า) ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้คนในวงกว้าง แต่ละประเทศได้รับมือกับการระบาดของไวรัสดังกล่าว โดยการใช้มาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการทางสาธารณสุข มาตรการทางการคมนาคม และที่สำคัญมาตรการทางกฎหมาย จะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ว่า หนึ่งในมาตรการทางกฎหมายที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยของเราได้นำมาใช้รับมือกับสถานการณ์นี้คือ การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน 

ประเทศฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศหนึ่งในทวีปยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าอย่างมาก ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 125,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 13,000 คน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวทำให้ประเทศฝรั่งเศสมีการประกาศใช้ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” (l’état d’urgence sanitaire) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

ผู้เขียนเห็นว่าการประกาศใช้ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ของประเทศฝรั่งเศสมีความน่าสนใจ เพราะการประกาศใช้ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ดังกล่าวมีความแตกต่างกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศไทยในหลายประเด็น ดังนั้นในบทความนี้ ผู้เขียนจะอธิบายสถานะทางกฎหมาย และข้อบังคับของสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขของประเทศฝรั่งเศส 

ภาพถ่ายโดย Tantai Kulthani

 

1. “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ของประเทศฝรั่งเศส คืออะไร? 

“สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” (l’état d’urgence sanitaire) คือ มาตรการทางกฎหมายรูปแบบใหม่ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับโรคระบาดหรือภัยพิบัติทางสาธารณสุขในประเทศ เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐบัญญัติเลขที่ 2020-209 ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด Covid-19 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2020 (Loi n° 2020-290 du 23 mars 2020 d’urgence pour faire face à l’épidémie de covid-19) การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร (l’exécutif) ในการกำหนดมาตรการต่างๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งอันจำกัด เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการปกติของรัฐสภาที่มีกระบวนการมากอันอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางสาธารณสุขของประเทศ

แม้ในระบบกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสจะมีบทบัญญัติที่ให้ “อำนาจพิเศษ” แก่ฝ่ายบริหารในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอยู่แล้ว ดังต่อไปนี้

          1) อำนาจพิเศษตามมาตรา 16 แห่งรัฐธรรมนูญ (pouvoirs exceptionnels) ที่ให้อำนาจพิเศษแก่ประธานาธิบดีในการบริหารประเทศในกรณีที่ความมั่นคงของประเทศถูกคุกคาม 

         2) สถานการณ์ฉุกเฉินทางการทหาร (l’état de siège) ตามมาตรา 36 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจพิเศษแก่กองทัพในสถานการณ์สงคราม และ 

         3) สถานการณ์ฉุกเฉิน (l’état d’urgence) ตามบทบัญญัติแห่งรัฐบัญญัติ เลขที่ 55-385 ลงวันที่ 3 เมษายน 1955 ที่ให้อำนาจพิเศษแก่ฝ่ายบริหารในการจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชนในสถานการณ์อันไม่ปกติ เช่น การก่อการร้าย การจารจล การประท้วง เป็นต้น 

แต่เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสเลือกที่จะเสนอร่างกฎหมาย (un projet de loi) ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด COVID-19 ซึ่งมีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินรูปแบบใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” (l’état d’urgence sanitaire) และ ให้ “อำนาจพิเศษ” แก่ฝ่ายบริหารในการบริหารประเทศในสถานการณ์ดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” เป็น “อำนาจพิเศษ” ประเภทที่ 4 ที่เกิดขึ้นใหม่ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส

ผู้เขียนเห็นว่าการบัญญัติ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ขึ้นใหม่โดยแยกออกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 3 เมษายน 1955 เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะหากเกิดภัยพิบัติหรือภัยคุกคามในอนาคต รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสจะมีความชัดเจนในการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งจะมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า เพราะ โดยสภาพสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดจากการก่อความไม่สงบโดยมนุษย์ย่อมมีความแตกต่างจากสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากภัยพิบัติทางสาธารณสุข และมาตรการที่บังคับใช้ย่อมจะต้องแตกต่างกัน 

 

2. ที่มาของ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข”

ร่างกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด Covid-19 ถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (Conseil des ministers) โดย เอ็ดดูอาร์ด ฟิลิป (Édouard Philippe) นายกรัฐมนตรีของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 และได้ถูกส่งไปยังวุฒิสภา (Sénat) ในวันเดียวกัน 

วุฒิสมาชิก (sénateurs) ได้เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 252 ต่อ 2 เสียง และในการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร (Assemblée Nationale) ภายหลังจากการประชุมของคณะกรรมการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (la Commission Mixte Paritaire) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (députés) ได้เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ดังนั้น จึงมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายในรัฐกิจจานุเบกษา (Journal Officiel) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 

บทบัญญัติมาตรา 2 แห่งรัฐบัญญัติว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด Covid-19 ได้แก้ไขบทบัญญัติ มาตรา L. 3131-12 และ L. 3131-13 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ดังนี้ 

         มาตรา L. 3131-12 “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขอาจถูกประกาศใช้ในแผ่นดินใหญ่ทั้งหมดหรือบางส่วน ในเขตปกครองโพ้นทะเลตามมาตรา 73 และ 74 ของรัฐธรรมนูญ และในนิวแคลิโดเนีย ในกรณีภัยพิบัติเกี่ยวกับสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงไม่ว่าโดยสภาพหรือความร้ายแรงของภัยพิบัตินั้น ต่อสุขภาพของประชาชน”

        มาตรา L. 3131-13 “การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขต้องกระทำโดยรัฐบัญญัติออกโดยคณะรัฐมนตรีโดยพิจารณาจากรายงานของรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข…” 

จากบทบัญญัติดังกล่าวของประมวลกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ในกรณีที่ประเทศประสบภัยพิบัติทางสาธารณสุข (catastrophe sanitaire) คณะรัฐมนตรีอาจประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขในประเทศฝรั่งเศสทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยการออกรัฐกฤษฎีกา (décret) อย่างไรก็ตาม การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่กำลังบังคับใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบันนั้น มิใช่การประกาศโดยรัฐกฤษฎีกาโดยอาศัยอำนาจจากบทบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยผลของมาตรา 4 ของรัฐบัญญัติดังกล่าวเอง

บทบัญญัติของมาตรา 4 วรรคแรก แห่งรัฐบัญญัติระบุว่า “ถือเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติแห่งมาตรา L. 3131-13 แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขเป็นระยะเวลา 2 เดือนนับตั้งแต่รัฐบัญญัตินี้บังคับใช้” และมาตรา 4 วรรคสอง แห่งรัฐบัญญัติดังกล่าว ระบุว่า “ให้บังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขทั่วประเทศ” ดังนั้น สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งนี้จึงเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยผลของกฎหมายเอง มิใช่การประกาศโดยประมุขของประเทศ (chef d’État) หรือหัวหน้ารัฐบาล (chef du Gouvernement) เฉกเช่นประเทศอื่นๆ ดังนั้น ที่มาทางกฎหมายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขดังกล่าวจึงมีที่มาจากกฎหมายในระดับรัฐบัญญัติ อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้ “กฎหมาย” เป็นผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มิใช่ “คณะรัฐมนตรี”

ภาพถ่ายโดย Tantai Kulthani

 

3. มาตรการรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรน่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

จากผลของการประกาศใช้รัฐบัญญัติว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด Covid-19 สถานการณ์ฉุกเฉินจึงถูกบังคับใช้ทั่วประเทศฝรั่งเศส และในเวลาต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐกฤษฎีกาออกมาหลายฉบับเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ รวมทั้งรายละเอียด เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยมาตรการสำคัญ มีดังต่อไปนี้

3.1 มาตรการห้ามออกจากบ้าน (le confinement)

ภายหลังการประกาศใช้รัฐบัญญัติว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกรัฐกฤษฎีกา เลขที่ 2020-293 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2020 ว่าด้วยมาตรการทั่วไปที่จำเป็น พร้อมระบุมาตรการห้ามออกจากบ้าน (le confinement) จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2020 และต่อมาได้มีรัฐกฤษฎีกา เลขที่ 2020-344 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2020 ขยายระยะเวลาสำหรับมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2020 และยังขยายระยะเวลาดังกล่าวอีกครั้งไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2020 

อย่างไรก็ตาม การห้ามออกจากบ้านดังกล่าวมีข้อยกเว้น เช่น การเดินทางเพื่อไปทำงานในภารกิจที่จำเป็นไม่อาจเลี่ยงได้ (déplacements professionnels insusceptibles d’être différés) การเดินทางเพื่อไปซื้อของใช้จำเป็นในการดำรงชีพ (des achats de première nécessité) การเดินทางด้วยเหตุผลทางการแพทย์ (Déplacements pour motifs de santé) การเดินทางด้วยเหตุผลทางครอบครัวที่สำคัญ อาทิ การดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ (l’assistance des personnes vulnérables) หรือการดูแลเด็ก (pour la garde d’enfants) หรือการออกกำลังกาย (l’activité physique) ในระยะทางที่ไม่ห่างจากตัวบ้านเกินกว่า 1 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในทุกกรณีที่จะต้องเดินทาง จะต้องมีการแสดงใบรับรอง (attestation) ต่อเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นอาจมีความผิดทางอาญาได้ ในการนี้เพื่อความสะดวกของประชาชน กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส (Ministère de l’Intérieur) ได้จัดทำแบบฟอร์มใบรับรองของการเดินทางประเภทต่างๆ ให้ประชาชนทุกคนสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกระทรวง มีทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ทั้งการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ และทั้งในรูปแบบเอกสาร .pdf .doc และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์โดยสแกน QR code ได้เลย 

ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการจัดทำบริการสาธารณะที่ให้ความสะดวกแก่ประชาชน กล่าวคือรัฐบาลออกกฎว่าหากจะเดินทางต้องแสดงใบรับรอง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน การที่กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสทำให้เกิดความชัดเจนแก่ประชาชนในการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้เกิดความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและอนุญาตในการเดินทางอีกด้วย 

3.2 มาตรการห้ามชุมนุม (l’interdiction des rassemblements et des réunions) 

เนื่องด้วยการชุมนุมของผู้คนจำนวนมากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสได้ง่าย กระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศส (Ministère des Solidarités et de la Santé) ได้ออกคำสั่ง (Arrêté) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2020 สั่งห้ามมิให้รวมตัว หรือชุมนุม เกินกว่า 100 คน ไม่ว่าจะในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ปิดก็ตาม จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2020 ล่าสุดได้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2020

อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าการจังหวัด (préfet) ในการอนุญาตให้ชุมนุมได้ในกรณีที่การชุมนุมนั้นๆ มีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อความมั่นคงของประเทศ (la vie de la Nation) หรืออาจอนุญาตให้ชุมนุมได้โดยมีข้อจำกัดสูงสุดในกรณีที่จำเป็นต่อความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ

3.3 มาตรการปิดสถานที่ (les mesures de fermeture d’établissements)

มาตรการปิดสถานที่ (établissements) ได้ถูกสั่งการโดยคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 15 มีนาคม 2020 และถูกยืนยันโดยรัฐกฤษฎีกา เลขที่ 2020-293 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2020 โดยรัฐบาลได้สั่งให้ปิดสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านค้า (Magasins de vente et Centres commerciaux) หอประชุม (Salles de conferences) ร้านอาหาร (Restaurants) ห้องสมุด (Bibliothèques) ห้องแสดงงานศิลปะ (Salles d’expositions) สถานที่ออกกำลังกายแบบปิด (Etablissements sportifs couverts) พิพิธภัณฑ์ (Musées) สถานศึกษา (Etablissements d’enseignement) และอื่นๆ จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2020 และล่าสุดได้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2020

ในกรณีการปิดร้านค้านั้นมีความน่าสนใจ เพราะมีการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นที่ว่ามาตรการดังกล่าวอาจขัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการดำเนินกิจการ ต่อมาศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เลขที่ 439762 ลงวันที่ 1 เมษายน 2020 ความตอนหนึ่งว่า “…ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขปัจจุบัน เป็นอำนาจของหลายองค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชนโดยการออกมาตรการเพื่อป้องกันหรือหยุดยั้งการระบาดของโรค มาตรการดังกล่าวอาจจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการ เช่นเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการดำเนินกิจการได้เท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนกับเป้าหมายในการปกป้องสุขภาพของประชาชนส่วนรวม…เมื่อพิเคราะห์จากเป้าหมายในการปกป้องสุขภาพของประชาชนส่วนรวมซึ่งนำไปสู่การห้ามดำเนินกิจการอันเป็นประเด็นแห่งคดี ที่บังคับใช้เพียงชั่วคราวและทั่วแผ่นดินฝรั่งเศส…บทบัญญัติอันเป็นข้อพิพาทแห่งคดีดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดอย่างรุนแรงและไม่ขัดต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการดำเนินกิจการ…”

ดังนั้น มาตรการการปิดสถานประกอบกิจการร้านค้าของรัฐบาลฝรั่งเศสจึงไม่เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรอง ข้อสังเกตในคดีนี้คือ แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาด ศาลปกครองสูงสุดยังยืนยันหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วนของการทำนิติกรรมทางปกครอง 

3.4 มาตรการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาในการพิจารณาคดีของศาล

มาตรการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาในการพิจารณาคดีของศาลเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่น่าสนใจสำหรับนักกฎหมาย รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีการประกาศรัฐกำหนด เลขที่ 2020-306 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2020 ว่าด้วยข้อยกเว้นเกี่ยวกับระยะเวลาในสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขและการปรับเปลี่ยนกระบวนการพิจารณาคดีในสถานการณ์ดังกล่าวของศาลยุติธรรม และรัฐกำหนด เลขที่ 2020-305 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2020 ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้ในศาลปกครอง

สำหรับศาลยุติธรรม (les juridictions judiciaires) รัฐกำหนด เลขที่ 2020-306 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2020 ได้ขยายระยะเวลาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีโดยทั่วไปซึ่งกระบวนการใดๆ ที่กรอบเวลาจะสิ้นสุดระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2020 ถึงวันสุดท้ายของเดือนถัดจากเดือนที่สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้สิ้นสุดลง ดังนั้น กระบวนการพิจารณาคดีต่างๆ จะถูกเลื่อนไปโดยผลของรัฐกำหนดต่างๆ เช่น ระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาล ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ เป็นต้น  

สำหรับศาลปกครอง (les juridictions administratives) รัฐกำหนด เลขที่  2020-305 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2020 ได้ขยายระยะเวลาเกี่ยวกับการพิจารณาคดีปกครองในหลายกรณี เช่น ระยะเวลาในการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการบังคับออกนอกประเทศ การกำหนดวันในการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เป็นต้น อีกทั้งยังได้อนุญาตให้มีการนั่งพิจารณาคดีผ่านทางระบบวิดีโอ (vidéo conference) และการส่งเอกสารและคำคู่ความผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

 

4. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศฝรั่งเศสเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ รัฐบาลและรัฐสภาของฝรั่งเศสเลือกที่จะประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ ชื่อว่า รัฐบัญญัติเลขที่ 2020-290 ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด Covid-19 ซึ่งถือเป็นการสร้างระบบ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ขึ้นใหม่โดยแยกออกจากระบบ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 3 เมษายน 1955

โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว กอปรกับกฎหมายลำดับรองอื่นๆ รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า เช่น มาตรการห้ามออกจากบ้าน มาตรการปิดสถานประกอบการ หรือมาตรการห้ามชุมนุม เป็นต้น มาตรการเหล่านั้นจะมีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลเพียงใดคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะการระบาดของโคโรน่าไวรัสนี้เป็นการระบาดครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การที่จะเอาชนะโรคร้ายนี้คงมิใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า การที่ฝรั่งเศสได้สร้างระบบ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ขึ้นใหม่โดยแยกออกจากระบบ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการศึกษาต่อโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง พราะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในระบบกฎหมายและในการเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต อันจะส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เหมาะสมกับภัยพิบัตินั้นๆ