เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน พบ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยเป็นคุณกับ คสช.

ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีกู้เงิน ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นจำนวนเงิน 191 ล้านบาท ซึ่งถูกตีความว่าพรรคมีรายได้หรือผลประโยชน์อื่นใดโดยที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุให้พรรคสามารถมีรายได้จากการกู้เงิน

ท่ามกลางกระแสความเห็นที่แตกต่างในข้อเท็จจริงของคดีว่า เงินกู้ถือเป็นรายได้ หรือเงินบริจาคหรือไม่ และการที่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ พรรคการเมืองจะมีสิทธิในการกู้ยืมเงินได้หรือไม่ อยากชวนทุกคนไปสำรวจที่มาและความคิดเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนในการวินิจฉัยคดีทางการเมือง เพื่อให้เห็นทิศทางของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

 

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากยึดโยงคณะรัฐประหาร

แม้จะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) ปี 2560 แต่การสรรหาตุลาการชุดใหม่มาแทนที่ตุลาการชุดเดิมที่ปฏิบัติหน้าที่มาก่อนการรัฐประหารปี 2557 เพิ่งจะผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ทำให้คณะตุลาการที่พิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในยุค คสช. มาโดยตลอด ซึ่งประกอบไปด้วย

  • นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  • ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
  • ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
  • ชัช ชลวร (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  • บุญส่ง กุลบุปผา (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  • ดร.ปัญญา อุดชาชน (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด)
  • ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด)

โดยตุลาการทั้ง 9 คน มีตุลาการ 5 คน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหลังอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล แต่ด้วยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. (มาตรา 44) ที่ 24/2560 ได้ต่ออายุการทำงานให้กับตุลาการทั้ง 5 คน ไปจนกว่าจะทำการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่แล้วเสร็จ และอีก 2 คน มาจากการสรรหาในยุค คสช. และผ่านการเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาแต่งตั้งของ คสช. ได้แก่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ ดร.ปัญญา อุดชาชน ส่วนอีก 2 คนสุดท้ายเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ในตำแหน่งทั้งและระหว่างการรัฐประหาร ปี 2557 ได้แก่ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ วรวิทย์ กังศศิเทียม

ด้วยเหตุนี้ ทำให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมากเป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 13 ปี เพราะเคยดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 จนได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563 และมีส่วนในการวินิจฉัยคดีสำคัญทางการเมืองมาโดยตลอด เช่น คดียุบพรรคไทยรักไทย คดียุบพรรคพลังประชาชน คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ จนมาถึงคดียุบพรรคอนาคตใหม่

 

เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน พบ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยเป็นคุณกับ คสช.

จากการพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีการเมืองหลายคดี พบว่า คำวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นผลดีกับฝ่าย คสช. มากกว่าฝ่ายที่ต่อต้าน คสช. เช่น การวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ การวินิจฉัยว่า รัฐมนตรียุค คสช. ไม่ผิดฐานถือหุ้นสัมปทานรัฐ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้าน คสช. ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง หรือการสั่งให้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

ทั้งนี้ หากเราพิจารณาดูคำวินิจฉัยส่วนตน หรือคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องทำออกมาก่อนที่จะนำไปเสนอต่อองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเพื่อเป็นการลงคะแนนเสียงข้างมากเพื่อทำคำวินิจฉัยส่วนกลางในคดีการเมืองที่สังคมให้ความสนใจจะพบว่า นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นโน้มเอียงในทางที่เป็นคุณกับ คสช. มากที่สุด

โดยตัวอย่างของคดีที่ไอลอว์ไปทำการสำรวจได้แก่

หนึ่ง คดีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.บ.ประชามติฯ

คดีนี้เริ่มต้นจากภาคประชาชนรวมตัวกันร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 หรือไม่ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่ขัดหรือหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557

สอง คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค แต่ต่อมามีพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ต่อมา ที่ประชุม กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องขอยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่า “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ซึ่งเป็นเหตุในการยุบพรรคได้ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว

คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 92 และมีมติ 6 ต่อ 3 ในการออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่คณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี  และมีมติเอกฉันท์ในประเด็นที่ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งห้ามไปจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นเป็นเวลา 10 ปี และห้ามใช้ชื่อพรรคเดิมซ้ำ และชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้ เป็นเวลา 10 ปี

สาม คดีรัฐมนตรียุค คสช. ถือหุ้นสัมปทานรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญ

คดีนี้เริ่มจาก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยยื่นเรื่องให้ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีสี่คนในรัฐบาล คสช. สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และจะเข้าข่ายเป็นการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง(2) มาตรา 160 (8) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5) เนื่องจากตัวเอง คู่สมรส หรือบุตร ถือครองหุ้นบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ

ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรี 3 ใน 4 คน ไม่เป็นความผิด เพราะได้ถือหุ้นที่มีมาก่อนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) โดยผลการลงมติส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้

  • ชัช ชลวร ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • นุรักษ์ มาประณีต ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • บุญส่ง กุลบุปผา ตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลง
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลง
  • จรัญ ภักดีธนากุล ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตัดสินให้ความเป็นรัฐมนตรีของปนัดดาสิ้นสุดลง
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้
  • ปัญญา อุดชาชน ตัดสินให้เป็นรัฐมนตรีต่อได้

สี่ คดี พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คดีนี้เริ่มจาก วันที่ 26 มิถุนายน 2562 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคฝ่ายค้าน เข้าชื่อกันจำนวน 110 คน ขอให้ประธานสภาผู้แทนฯ ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (15) เพราะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานใด ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมายและไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (15)

ซึ่งในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้งเก้าคนเห็นไปในทางเดียวกัน มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ห้า คดีธนาธรถือหุ้นวีลัคมีเดีย ขัดรัฐธรรมนูญ

คดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีการแจ้งเปลี่ยนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน และเกิดขึ้นหลังวันสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562

ต่อมา กกต.ก็ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินการสืบสวนและไต่สวนธนาธร ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อชื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพราะสงสัยว่ายังถือหุ้นอยู่หลังการเลือกตั้ง เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ  

จนกระทั่งในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากคะแนน 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากการเป็น ส.ส. จากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตามที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) ที่ห้าม “เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยผลการลงมติส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้

  • ชัช ชลวร เสียงข้างน้อย ตัดสินให้ไม่ผิด เป็น ส.ส. ต่อได้
  • นุรักษ์ มาประณีต ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • บุญส่ง กุลบุปผา ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • จรัญ ภักดีธนากุล ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ เสียงข้างน้อย ตัดสินให้ไม่ผิด เป็น ส.ส. ต่อได้
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.
  • ปัญญา อุดชาชน ตัดสินให้มีความผิด พ้นสภาพ ส.ส.

หก เสียบบัตรแทน ลงคะแนน พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ

คดีนี้เริ่มจาก 29 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หลังพบกรณี ‘ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน’ หรือใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในระหว่างการพิจารณากฎหมายในวาระ 2 และ 3

หลังการยื่นคำร้องโดย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเสียงข้างมากคะแนน 5 ต่อ 4 วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่เป็นโมฆะ โดยผลการลงมติส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้

  • ชัช ชลวร ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • นุรักษ์ มาประณีต ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • บุญส่ง กุลบุปผา ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • จรัญ ภักดีธนากุล ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ เป็นโมฆะ
  • วรวิทย์ กังศศิเทียม ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ
  • ปัญญา อุดชาชน ตัดสินให้ พ.ร.บ.งบฯ ไม่เป็นโมฆะ

เจ็ด คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ล้มล้างสถาบันฯ

คดีนี้ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่า พรรคการเมืองนี้กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกเป็นชื่อเล่นว่า “คดีอิลลูมินาติ” โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ในการยื่นคำร้อง

แต่ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีความผิดฐานล้มล้างการปกครอง และพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบพรรคจากการฟ้องร้องในครั้งนี้ด้วย มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้ยกคำร้องดังกล่าว

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์