ศาลรัฐธรรมนูญชี้ กฎหมายอาญาห้ามทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญ สั่งแก้ไขใน 360 วัน

19 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติในคดีที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 เรื่องความผิดที่หญิงทำแท้ง และ 305 เรื่องข้อยกเว้นให้แพทย์ทำแท้งได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเห็นว่า มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 เรื่องชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน หรือมาตรา 28 เรื่องเสรีภาพในชีวิตร่างกาย ส่วนมาตรา 305 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญยังสั่งว่า สมควรแก้ไขทั้งมาตรา 301 และ 305 ให้เหมาะกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

โดยปกติในคดีทั่วไป เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ถือว่า มีผลบังคับใช้ทันทีและผูกพันหน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม หมายความว่า เมื่อคำวินิจฉัยออกมาก็จะมีผลให้กฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติ แต่ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้ด้วยว่า ให้คำวินิจฉัยนี้มีผลในอีก 360 วัน

ดังนั้นในวันที่คำวินิจฉัยออกมาโดยขยายระยะเวลาบังคับเช่นนี้ มาตรา 301 และ 305 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่เช่นเดิม และการที่หญิงทำแท้งก็ยังเป็นความผิดทางอาญาอยู่ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ ต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้ตามมา แต่ยังไม่แน่ว่า จะยกเลิกเลยทั้งมาตรา หรือแก้ไขในรายละเอียดให้เป็นอย่างไรต่อไป

หากดูตัวอย่างของกฎหมายในประเทศอื่น จะมีการกำหนดช่วงอายุครรภ์ เช่น หากทำแท้งระหว่างช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 3 เดือนแรก ไม่เป็นความผิด เป็นต้น ส่วนกฎหมายไทยที่แก้ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีเนื้อหาเป็นอย่างไรต้องติดตามกระบวนการจัดทำกฎหมายใหม่นี้ต่อไป

แต่หากกระบวนการจัดทำกฎหมายใหม่ไม่เสร็จสิ้นและประกาศใช้ภายใน 360 วัน เมื่อพ้นเวลานั้น มาตรา 301 ก็จะไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้ความผิดฐานนี้ไม่มีอยู่

อ.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายว่า พูดภาษาคนธรรมดาคือ ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร ครบ 360 วัน หญิงทำให้ตัวเองแท้งลูก หรือยอมให้คนอื่นทำแท้งจะไม่ผิดกฎหมายอาญาอีกต่อไป ใครไปยุยง ให้การช่วยเหลือ ให้กำลังใจก็จะไม่ผิดทั้งหมด แต่ถ้าไปทำให้แท้ง ก็ยังผิดเหมือนเดิม

โดย อ.รณกรณ์ยังให้ความเห็นอีกด้วยว่า นี่เป็นคำตัดสินที่ก้าวหน้าในการคุ้มครองสิทธิประชาชนมาก และเป็นแรงให้ยังเชื่อมั่นในระบบกฎหมายที่สั่นคลอนมาหลายปี

คดีนี้เริ่มจากการที่ประชาชนยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561 แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนใช้ช่องทางตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 ดูไทม์ไลน์การฟ้องคดีนี้


ประมวลกฎหมายอาญา

         มาตรา 301 หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

         มาตรา 305 ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทําของนายแพทย์และ
         (1) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
         (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284
         ผู้กระทําไม่มีความผิด

 

รัฐธรรมนูญ 2560

         มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
         ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
         การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้
         มาตรการที่รัฐกําหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออํานวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
         บุคคลผู้เป็นทหาร ตํารวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จํากัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม

         มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
         การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ
         การค้นตัวบุคคลหรือการกระทําใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกาย จะกระทํามิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
         การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทํามิได้

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

ลาออกสมาชิกพรรค ไปสมัคร สว. 67 ต้องทำยังไง?

สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว;jkผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือ สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง