ส.ว. Never die: เปิด 3 เหตุผลที่ทำให้ ส.ว. ชุดนี้ถึงจะอยู่ครบห้าปี ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ที่มีวาระการทำงานถึงห้าปี ซึ่งหลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงานมาแล้วสี่เดือนเศษ ก็เห็นกันแล้วว่า ส.ว. แต่งตั้งทำงานตามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการโหวตเลือกนายกฯ ที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ กันทั้งสภา และการลงมติเห็นชอบกับมติฝ่ายรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ดี ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ว.แต่งตั้งที่มาจากการคัดเลือกของคสช. อยู่ในอำนาจได้ถึง 5 ปี รวมถึงในกรณีที่มี ส.ว. ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยการลาออก เสียชีวิต หรือเหตุผลอื่นๆ คสช. ก็ยังมีรายชื่อ ส.ว. ที่สำรองไว้ หรือถึงไม่มีใครทำหน้าที่สำรองแทนแล้วก็ให้วุฒิสภามีจำนวนเท่าสมาชิกที่มีอยู่ ซึ่งหมายความว่า การทำหน้าที่จะไม่มีทางขาดช่วง
ประการแรก: บัญชีสำรองรายชื่อ ส.ว. ที่ คสช. วางไว้ตัวสำรองไว้มากถึง 100 คน
จากที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 269  และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. ส.ว.) มาตรา 90 กำหนดวิธีการคัดเลือก ส.ว. ทั้ง 250 คนแล้ว ในส่วนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) (ค.) ยังกำหนดให้ต้องมีการจัดทำรายชื่อบุคคลสำรองอีกสองบัญชี บัญชีละ 50 คน หรือเรียกว่า “บัญชีสำรอง ส.ว.” บัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” ตามมาตรา 269 (1) (ก) และอีกบัญชีหนึ่งเป็นรายชื่อสำรองสำหรับ “ส.ว. คณะสรรหา” ตามมาตรา 269 (1) (ข) ซึ่งบัญชีสำรองทั้งสองบัญชีนั้น คสช. เป็นผู้คัดเลือก และรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ทำให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับตั้งแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
คสช. ได้ประกาศรายชื่อ ส.ว. 250 คน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 พร้อมกับประกาศราชชื่อสำรอง 50 คน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง การกำหนดรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ซึ่งถือว่าเป็นบัญชีสำรองสำหรับ “ส.ว. กลุ่มอาชีพ” หรือบัญชีสำรองตามมาตรา 269 (1) (ก)
ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2562 คสช.ได้ประกาศ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2562 เรื่องประกาศรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศรายชื่อสำรอง ส.ว. อีก 50 รายชื่อ ที่มี ดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรายชื่อสำรองอันดับ 1 ซึ่งบัญชีนี้ถือว่าเป็นบัญชีสำรองสำหรับ “ส.ว. คณะสรรหา” หรือบัญชีสำรอง ส.ว. ตามมาตรา 269 (1)(ข)
“บัญชีสำรอง ส.ว.” มีความสำคัญเนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (4) กำหนดไว้ว่า ถ้ามีตำแหน่ง ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งและทำหน้าที่อยู่ หรือ “ส.ว. ตัวจริง” ว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคตามลำดับในบัญชีสำรอง “ส.ว. ตัวสำรอง” ขึ้นทำหน้าที่แทนโดยให้ “ส.ว. ตัวสำรอง” ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าเท่าวาระของ ส.ว. ที่เหลืออยู่ โดยให้เลื่อนรายชื่อจากบัญชีสำรองที่จัดทำไว้สำหรับ ส.ว. แต่ละประเภท ซึ่งจากทั้งสองบัญชีทำให้เห็นว่ามี “ส.ว. ตัวสำรอง” รอเป็น ส.ว. อยู่กว่า 100 คน ซึ่งโอกาสที่ ส.ว. ตัวจริง 250 คน จะพ้นสภาพไปเกินกว่า 50 คน ในแต่ละประเภทตามที่สรรหามา ในระยะเวลาห้าปีก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ทำให้ “บัญชีสำรอง ส.ว.” เป็นหนึ่งปัจจัยที่ ส.ว. แต่งตั้ง จะอยู่ครบห้าปี
ประการที่สอง: ต่อให้ “บัญชีรายชื่อสำรองหมด” ก็ไม่ต้องเลือกคนใหม่
นอกจากการมี “บัญชีสำรอง ส.ว.” ถึง 100 คน ที่รอขึ้นมาเติมตำแหน่ง ส.ว. ให้ครบ 250 คนตลอดระยะเวลาการทำงานห้าปีแล้วนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (5) กำหนดไว้ว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภา แทนตำแหน่งที่ว่างตาม (4) หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่”
จากรัฐธรรมนูญมาตรา 269 (5) จะเห็นสิ่งที่สำคัญคือ “เมื่อไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง ให้วุฒิสภาประกอบด้วย ส.ว. เท่าที่มีอยู่” แสดงให้เห็นว่า แม้จะเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนแรก พ้นสภาพไปถึงขนาดที่ “บัญชีสำรอง ส.ว.” ถูกนำไปใช้ทั้งหมด 100 รายชื่อแล้วนั้น เมื่อหมดบัญชีสำรองทั้งสองบัญชี รัฐธรรมนูญก็ยังให้ ส.ว. ทำงานและรักษาสภาพวุฒิสภากันต่อไปได้โดยใช้สมาชิกเท่าที่เหลืออยู่ จะมีไม่ครบ 250 คนก็ได้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ ส.ว. แต่งตั้งอยู่จนครบวาระห้าปี
ประการที่สาม: ต่อให้ยุบสภา ส.ส. ก็ไม่ยุบสภา ส.ว.
หลายคนคงสงสัยกันว่าหากเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพรัฐบาล เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ พรรคฝ่ายรัฐบาลแตกกันเอง จนนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่นั้น จะทำให้ ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด และหมดวาระลงหรือไม่
“การยุบสภาฯ ที่เราคุ้นหูกันแท้จริงแล้วคือการประกาศยุบ สภาผู้แทนราษฎร หรือสภา ส.ส.  ซึ่งเท่าที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึง พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีการยุบสภาทั้งหมด 11 ครั้ง ก็เป็นการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด ยังไม่มีการประกาศยุบวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการยุบวุฒิสภาไว้
อีกทั้งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 ก็ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาไว้ในขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ วุฒิสภายังสามารถนัดประชุมสภาได้ หากเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนด เช่น การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา เช่น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล การแต่งตั้งพระรัชทายาท การประกาศสงคราม เป็นต้น รวมไปถึงการประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งหรือเพิกถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เห็นว่า ส.ว. ยังมีอำนาจอยู่ต่อไปหากมีการประกาศยุบสภา ส.ส. และทำให้ ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้จะอยู่ครบวาระห้าปี
หาก ส.ว. อยู่ครบห้าปี จะกลับมาเลือกนายกได้อีกครั้ง
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในบทเพาะกาล กำหนดให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกได้ โดยระบุไว้ว่า ใน 5 ปีแรกการเลือกนนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น "การประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา" ทำให้ ส.ว. มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
อีกทั้งตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ วรรคสองยังกำหนดให้ ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้ขอเลือกนายกฯคนนอกได้ ซึ่งระบุว่า “ในระหว่าง 5 ปี หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง"  
ซึ่งเมื่อ ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้อยู่ครบวาระห้าปี ก็จะทำให้ได้เลือกนายกรัฐมนตรีถึงสองคน เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรมีอายุเพียงสี่ปีเท่านั้น ซึ่งเมื่อ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกได้อีกสมัยนั้น จากการเลือกนายกครั้งแรก ส.ว. ทั้ง 250 คน ยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี พล.อ.อประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างพร้อมเพรียงกัน 250 เสียง ไม่มีเสียงแตก ซึ่งอาจจะทำให้ในการเลือกตั้งสมัยหน้าประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือกลุ่มเดิมต่ออีกสมัย