พรรคฝ่ายค้านชวนหยุดวิกฤติชาติ สร้างการเมืองใหม่

21 กรกฎาคม 2562 พรรคการเมืองฝ่ายค้านจำนวน 7 พรรค ซึ่งประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ  พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ  พรรคพลังปวงชนไทย ร่วมกันจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ"
โดยผู้ร่วมเสวนาดังกล่าวประกอบไปด้วยหัวหน้าพรรคของทุกพรรค ที่เห็นตรงกันว่า วิกฤติชาติในขณะนี้เป็นวิกฤติจากระบบระเบียบทางการเมืองที่ไม่เปิดให้มีทางเลือกใหม่ๆ ที่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้การแก้ปัญหาของชาติที่ซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเศรษฐกิจหรือสังคมเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องสร้างการเมืองใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เห็นหัวของประชาชน
ชาติวิกฤติจากการเมืองมีปัญหา
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปกครองด้วยเผด็จการทำให้ทุกอย่างเลวร้าย การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนไม่สามารถทำได้โดยปกติ ผู้มีอำนาจตั้งตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐมนตรี ตั้งบุคคลร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ประชาชนอ้าปากไม่ได้เลย เดือดร้อนอย่างมาก สิทธิมนุษยชนถูกลิดรอน ฝ่ายตรงข้ามทำอะไรก็ไม่ถูกไปหมด ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ถูกคุกคาม ถูกจับ ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ฝ่ายเดียวกันทำได้หมด
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้มีอำนาจเอารัฐธรรมนูญที่ร่างเอง กำหนดเองมาทำให้ประชาชนลำบาก เช่น กว่าจะตั้งรัฐบาลต้องใช้เวลานาน เนื่องจากระบบเลือกตั้งทำให้ได้รัฐบาลที่มีพรรคการเมืองถึง 19 พรรค เวลาจะตกลงทุกอย่างให้ไปในแนวเดียวกันใช้เวลามาก ใช้เวลา 4 เดือน กว่าจะตั้งรัฐบาลได้  
ด้าน สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า วิกฤติของชาติ เป็นวิกฤติที่เกิดจากการรัฐประหาร โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะไปดูตรงไหนก็พบว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารบ้านเมืองแทบทั้งนั้น ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นวิกฤติสำคัญที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้าหรือถดถอย
หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวต่อว่า วิกฤติต่อเนื่องจากการรัฐประหาร คือ การเอื้อประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม และนำไปสู่การเหลื่อมล้ำ การผูกขาด การคอร์รัปชัน ยกตัวอย่างเช่น บัตรบัตรคนจนที่เมื่อประชาชนใช้ก็เท่ากับส่งคนไปถึงมือบรรดาเจ้าสัวทันที
ชาติวิกฤติจากคนหวงอำนาจ
เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า การเข้าสู่อำนาจของคสช. ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ซึ่งมีข้อสังเกตว่า กปปส.บางคนได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรี บางคนอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับสูง ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหัวหน้า กปปส. ตัวจริง คือ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ต่อมาก็มาตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อสืบทอดอำนาจ
หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า หลังรัฐประหาร ภารกิจของคสช. ก็คือการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ก็พบว่ากระบวนการจัดทำและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้กับคสช. ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. 250 คน มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ถัดมาก็เป็นเรื่องการตั้งองค์กรอิสระที่แต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ
ด้าน วันมูะมัดนอร์ มะทา หรือ 'วันนอร์' หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ในสายตาของตนนั้นมองรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยความสิ้นหวัง และรู้สึกสงสารประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงหลังทนรอมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี แต่ก็ยังต้องทนอยู่กับรัฐบาลชุดเดิม เหมือนฉายหนังวนซ้ำให้ประชาชนดู
หัวหน้าพรรคประชาชาติ  กล่าวว่า วิกฤติของชาติในขณะนี้คือ วิกฤติศรัทธา หรือความเชื่อถือของพี่น้องประชาชนต่อรัฐบาล การจะแก้วิกฤติของชาติ ก้าวแรกคือต้องมีคนมาแก้ และคนที่แก้ต้องเป็นคนที่จะมาทำให้นโยบายที่แถลงไว้ประสบความเร็จ แต่เมื่อมองมายังนายกรัฐมนตรีไปจนถึงรัฐมนตรีต่างๆ ยังไม่มีใครที่จะทำให้ประชาชนศรัทธาได้
หยุดวิกฤติชาติ สร้างระบบการเมืองที่เห็นหัวประชาชน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า วิกฤติของชาติเป็นวิกฤติที่หนักมาก ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ทุนผูกขาด แต่สิ่งที่วิกฤติมากที่สุดคือ การส่งต่อสังคมที่แย่กว่านี้ให้กับลูกหลาน ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างในตอนนี้ ลูกหลานจะต้องมารับมรดกเป็นสังคมที่แย่
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ GDP ของประเทศไทยเติบโตขึ้นถึง 15% แต่รายได้ภาคแรงงานเติบโตแค่ 5% รายได้ภาคเกษตรติดลบถึง 3% หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 28% แต่คนรวยที่สุดในประเทศไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 68% ดังนั้น ทุนผูกขาดกับความเหลื่อมล้ำจึงเป็นสองด้านบนเหรียญเดียวกันที่แยกจากกันไม่ได้
ธนาธร กล่าวว่า ที่ประเทศเป็นแบบนี้เพราะไม่เคยมีประชาชนอยู่ในประเทศ เมื่อไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่มีประชาชน การพัฒนาที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการพัฒนาที่มองไม่เห็นประชาชน เพราะรัฐไทยไม่เคยมองเห็นประชาชน จึงเกิดคำพูดที่ว่าไม่ต้องสนใจประชาธิปไตย ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ซึ่งนี่คือการหลอกลวง เพราะระบบการเมืองที่ดีเท่านั้นถึงจะทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นได้ โดยระบบการเมืองที่ดี คือ ระบบการเมืองที่ทำให้ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างสันติ 
ด้าน วันมูะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า การที่ไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจ ปัญหาการไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งการที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้นั้น อันดับแรกคือการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 คือ"รัฐธรรมนูญปลอม" นำมาซึ่งประชาธิปไตยจอมปลอม ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องทำเป็น "มติมหาชน"