คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ทหารยังมีอำนาจพาคนไปปรับทัศนคติ และขังในค่ายทหาร 7 วัน

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นที่รู้จักในฐานะคำสั่งที่กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนเป็นความผิด อย่างไรก็ตามการห้ามชุมนุมทางการเมืองเป็นเพียงสาระสำคัญข้อหนึ่งในคำสั่งฉบับนี้เท่านั้น จริงๆ แล้วคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มีเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจทหารที่เข้ามาดำเนินการด้าน "ความมั่นคง" อย่างกว้างขวาง ทั้งออกคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัว จับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า มีอำนาจค้นเช่นเดียวกับตำรวจ และร่วมสอบสวนผู้กระทำความผิดในหมวดเกี่ยวกับความมั่นคง หมวดพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธสงครามและความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช. 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ออกมาโดยอาศัยอำนาจ "มาตรา 44" ในวันที่ 1 เมษายน 2558 วันเดียวกับที่การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศถูกยกเลิก และเอาอำนาจจากกฎอัยการศึกมาใส่ไว้ในคำสั่งนี้แทน เท่ากับว่า เป็น "กฎอัยการศึก เวอร์ชั่น 2" 
ในเดือนธันวาคม 2561 ข้อห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ถูกยกเลิกไปเพื่อปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมืองช่วงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ส่วนอื่นๆ ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ และหากไม่มีการยกเลิกเจ้าหน้าที่ทหารก็ยังมีอำนาจจับกุมหรือพาประชาชนไปควบคุมเพื่อ "ซักถาม" ในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วันต่อไป แม้ประเทศจะอยู่ภายใต้รัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และ คสช. จะสิ้นสภาพไปแล้วก็ตาม
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. แต่งตั้งทหารตั้งแต่ยศร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรีเป็น "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" ใช้อำนาจต่างๆ ในคดีอาญาได้เช่นเดียวกับตำรวจในคดีเกี่ยวกับ "ความมั่นคง" รวมทั้งกระทำการอื่นใดตามที่ คสช. มอบหมาย อำนาจของ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปกติควรจะมีหน้าที่ป้องกันประเทศ หรือต่อสู้กับศัตรูที่มาจากภายนอก ต้องมาทำหน้าที่แบบเดียวกับตำรวจ และหลายครั้งก็มีอิทธิพลเหนือตำรวจด้วย 
การกำหนดไว้อย่างกว้างๆว่า ให้ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" มีหน้าที่กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย ยังอาจเป็นฐานที่ให้อำนาจทหารในการหาข่าวทั้งตามสถานที่ชุมนุมและตามงานเสวนาวิชาการต่างๆ ทั้งที่โดยปกติการปฏิบัติการลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ  
…………………..
อำนาจการเรียกรายงานตัว หนึ่งในเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่าง 
การเรียกคนเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ในระยะแรกเป็นการออกคำสั่ง คสช. อย่างเป็นทางการโดยมีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ต้องเข้ารายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุรวมทั้งมีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา บุคคลที่ถูกเรียกต้องไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก และถูกส่งแยกไปคุมขังในค่ายทหารหลายแห่ง ในระยะหลัง คสช. หลีกเลี่ยงข้อวิจารณ์ถึงการใช้อำนาจ โดยปรับวิธีดำเนินการกับผู้เห็นต่างเป็นการไปพูดคุยที่บ้าน นัดกินกาแฟ หรือนัดเจอในสถานที่สาธารณะแทนการเรียกตัวไปที่ค่าย
ทหารเท่าที่มีข้อมูลนับถึงเดือนพฤษภาคม 2562 มีคนถูกเรียกเข้าค่ายทหารหรือมีเจ้าหน้าที่มาที่บ้านแล้วอย่างน้อย 1,349 คน ในจำนวนนี้บางคนที่ถูกไปพูดคุยหรือมีเจ้าหน้าที่มาหาถึงบ้านมากกว่าหนึ่งครั้ง
เท่าที่มีข้อมูล คสช. ออกคำสั่งเรียกตัวบุคคลเข้ารายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์อย่างน้อย 189 คน นอกจากการออกคำสั่งเรียกรายงานตัวในลักษณะนี้คสช.ยังเรียกบุคคลด้วยวิธีการอื่นด้วย เช่นการโทรศัพท์นัดหมาย หรือส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปหาที่บ้าน ซึ่งการเรียกรายงานตัวในลักษณะดังกล่าวมีความน่ากังวล เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ บันทึกการถูกนำตัวไปโดยทหาร จากการสังเกตการณ์ของไอลอว์ พบว่า ผู้ถูกเรียกรายงานตัวมักเป็นผู้ที่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในลักษณะต่างๆ 
คนที่ถูกคสช.เรียกรายงานตัวต่างเผชิญชะตากรรมที่แตกต่างกัน คนที่มีชื่อเสียงในสังคมที่เข้ารายงานตัวหลายคนได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน เช่น การรายงานตัวของนักวาดการ์ตูน "เซีย ไทยรัฐ", การรายงานตัวของนักวิชาการชื่อดังอย่าง โคทม อารียา เป็นต้น 
ด้านนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกเรียกอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง และสมบัติ บุญงามอนงค์ ปฏิเสธการเข้ารายงานตัวพร้อมใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของพวกเขาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหาร ทั้งสองถูกจับกุมตัวและคุมขังในเรือนจำช่วงเวลาหนึ่ง และถูกดำเนินคดีทั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการแสดงจุดยืนทางการเมืองคัดค้านการรัฐประหาร 
ผู้ถูกเรียกรายงานตัวบางส่วนเลือกที่จะไม่ยอมรับคำสั่งรายงานตัวด้วยการหนีออกนอกประเทศ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์หรือสุรชัยแซ่ด่าน นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มแดงสยาม ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต นักดนตรีวงไฟเย็น และ จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าวและพิธีกรรายการข่าว เส้นทางชีวิตของพวกเขาเหล่านี้มีความแตกต่างกันไป บางคนเลือกที่จะยุติการทำกิจกรรมทางการเมือง บางคนเลือกที่จะทำกิจกรรมต่อในรูปแบบการจัดรายการวิเคราะห์การเมือง แต่แทบทั้งหมดยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยมาเป็นเวลากว่าห้าปีแล้ว
…………………..
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำสั่งแต่งตั้งทหารชั้นยศร้อยตรีหรือเทียบเท่าในเหล่าทัพเรือหรืออากาศ เป็น "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" จะกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้อย่างไร หากไม่มีการกำหนดไว้ก็เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไปเรื่อยๆ แม้ว่า คสช. จะยุติการปฏิบัติหน้าที่หลังคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าดำรงตำแหน่ง 
ในทางปฏิบัติจึงหมายความว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับการแต่ตั้งเป็น "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" จะยังคงมีอำนาจในการเรียกตัวบุคคลมาสอบถามและกักตัวได้เจ็ดวันอยู่เช่นเดิม รวมทั้งอำนาจการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน หรือเข้าไปค้นเคหะสถานหรือค้นตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องอาศัยหมายศาลต่อไป แม้ในสภาวะที่ประเทศมีการเลือกตั้ง มีการปกครองในระบอบรัฐสภาแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารก็จะยังคงมีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเฉกเช่นในยุคสมัยแห่งการรัฐประหารต่อไป
แม้ คสช. จะพูดหลายครั้งว่า จะยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและยังไม่ชัดเจนว่า จะยกเลิกเรื่องใดบ้าง อำนาจทหารที่เข้ามาทำหน้าที่แทนตำรวจและเข้ามาเคาะประตูบ้านประชาชนจะยังคงมีอยู่ต่อไปอีกหรือไม่
จึงเป็นเวลาที่ข้อเสนอ #ปลดอาวุธคสช #ทวงคืนสถานการณ์ปกติ ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. 35 ฉบับที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย จะถูกพิจารณาและนำไปใช้ให้เป็นจริง