เลือกตั้ง 62: ในระบอบประชาธิปไตย ‘พรรคฝ่ายค้าน’ เป็นสิ่งสำคัญ

ในระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล และกลไกสำคัญของการตรวจสอบรัฐบาลคือ 'ฝ่ายค้าน' ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ให้อำนาจสภาในการในการตั้งกระทู้ถาม แปรญัตติกฎหมาย ลงมติไม่เห็นชอบกฎหมาย หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาด ล้มเหลว หรือกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อมติมหาชน 
พรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลมีโอกาสเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
โดยปกติการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. เป็นลำดับที่หนึ่ง เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และบุคคลที่พรรคเสียงข้างมากเสนอก็สมควรได้รับการสนับสนุนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
ส่วน ส.ส. ของพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น 'ฝ่ายค้าน' โดยหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อยก็สมควรจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายตรวจสอบ และควบคุมให้ฝ่ายบริหารดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 106 ที่กำหนดให้ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง ส.ส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
"ตั้งกระทู้ถาม-คว่ำกฎหมาย" อำนาจสำคัญของสภา
อย่างที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลไม่ให้กระทำการที่ไม่ชอบหรือขัดต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงยับยั้งมิให้รัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยใช้การตั้งกระทู้ถาม เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รวมถึงลงมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่รัฐบาลเป็นคนเสนอมา 
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 150 ให้อำนาจ ส.ส. และ ส.ว. ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเกี่ยวกับการทำหน้าที่ได้ โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า แต่ทว่า รัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้นั้น หากเรื่องดังกล่าวยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยและประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
อีกทั้ง ในมาตรา 155 กำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านมีอำนาจแจ้งประธานสภาเพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายหรือให้ความเห็นต่อรัฐบาลได้ในกรณีที่ที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศได้ ภายใน 15 วันที่ผู้นำฝ่ายค้านแจ้ง และการอภิปรายดังกล่าว คณะรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมการประชุมด้วย
ทั้งนี้ ในการพิจารณากฎหมายทุกฉบับที่รัฐบาลเสนอมา หากสภาเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ หรือยังมีข้อบกพร่อง สภาก็มีสิทธิที่จะแปรญัตติแก้ไขกฎหมายได้ ซึ่งที่ผ่านมาในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดสัดส่วนให้พรรคฝ่ายค้านจะต้องได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านสามารถอภิปรายและลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายเพื่อยุติกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อีกด้วย
"อภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ" กลไกการถอดถอนรัฐบาล
ในกรณีที่สภาผู้แทนฯ เห็นว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลล้มเหลวจนไม่สมควรบริหารประเทศต่อไป รัฐธรรมนูญมาตรา 151 กำหนดให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และเมื่อมีการเสนอญัตติอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าว
ในการลงมติไม่ไว้วางใจ หาก ส.ส. ลงคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้รัฐมนตรีดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง และถ้าในกรณีนายกรัฐมนตรีถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและมีการลงมติมากกว่าครึ่งหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีทุกคนต้องพ้นไปจากตำแหน่งด้วย
รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดอำนาจฝ่ายค้าน 'สรรหา' องค์กรอิสระ
รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะกำหนดบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่ทว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไป และกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระชุดใหม่ไปผูกขาดไว้กับบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้งที่ไม่เคยเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระมาก่อน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในกรรมการสรรหา หรือให้องค์กรอิสระสรรหากันเอง
You May Also Like
อ่าน

พร้อมสมัคร เพื่อ โหวต สว. 2567 แล้ว! ต้องเตรียมตัวยังไง ทำอะไรบ้าง?

สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความสนใจสมัคร สว. หากอยากรู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง มาดูเลย
อ่าน

ดูการเลือก สว. ชุดใหม่! กระทรวงมหาดไทยดูแลเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันทั้ง 250 คนกำลังจะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคมปี 2567 พร้อมอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไรก็ตาม สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 คนที่จะมาจากระบบ “เลือกกันเอง” ยังมีอำนาจอื่นๆ ครบ เช่น ให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเห็นชอบหรือให้คำแนะเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร…