เลือกตั้ง 62: โทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคการเมือง มรดกรัฐประหาร 2549

111

การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ถูกพัฒนาขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 โดยวันที่ 30 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ประกาศดังกล่าวกำหนดว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุการกระทำต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”

อันเป็นการเพิ่มเติมบทกำหนดโทษนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 69 เดิมที่กำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะไม่ดำเนินการ ตามมาตรา 35 หรือมาตรา 62 หรือกระทำการตามมาตรา 66 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ตามมาตรา 8 อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป”

รัฐประหาร 2549 ยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคอื่นๆ ข้อหาฮั้วเลือกตั้ง

พรรคการเมืองแรกๆ ที่ได้รับผลตามประกาศดังกล่าวคือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า, พรรคไทยรักไทย, พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ทั้งหมดเกี่ยวพันกับกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันเป็นขบวนการลงสมัครรับเลือกตั้งให้พรรคไทยรักไทยพ้นจากข้อจำกัดเสียงร้อยละ 20 ของเขตเลือกตั้ง กล่าวคือ ในการเลือกตั้งปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ทำให้หลายพื้นที่พรรคไทยรักไทยต้องส่งผู้สมัครลงคนเดียว ซึ่งจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มาออกเสียงทั้งหมดถึงจะได้เก้าอี้ ส.ส. นำไปสู่ข้อกล่าวหาของสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้น ที่กล่าวหาว่า พรรคไทยรักไทยฮั้วพรรคเล็กลงเลือกตั้ง

วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 1-2/2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ระบุว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองสมาชิกอันเป็นเท็จให้แก่ผู้สมัครทั้งสามคน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลทั้งสามไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง กล่าวคือเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่ถึง 90 วัน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายังส่งผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง 30 คนจากทั้งหมด 37 คน จึงส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งมากเกินปกติ ส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติ ถือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  2541

วันเดียวกันคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 สั่งยุบพรรคไทยรักไทย ระบุว่า กระทําการเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541

จากข้อกล่าวหาที่ว่า พรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยให้จัดหาผู้สมัครลงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่เคยมีพรรคฝ่ายค้านลงสมัคร เช่น เขตเลือกตั้งในจังหวัดภาคใต้, สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในกรณีที่ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น โดยพรรคพัฒนาชาติไทยออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคเท็จและได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกในฐานข้อมูลของ กกต. ซึ่งถูกกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ขณะที่พรรคแผ่นดินไทยถูกกล่าวหาว่า ออกใบรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จให้แก่ผู้สมัคร และรับเงินจากผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ พิจารณาแล้วมีความผิดสั่งยุบพรรคไทยรักไทย, พรรคพัฒนาประชาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคห้าปี

ตุลาการ รธน. รับรองประกาศคณะรัฐประหาร เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลังได้

การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองห้าปี เป็นผลมาจากคำร้องเพิ่มเติมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 โดยกรณีของพรรคไทยรักไทยสู้ว่า การบังคับใช้ประกาศ คปค. เป็นการนำกฎหมายที่ตราขึ้นภายหลังเหตุการณ์มาใช้บังคับย้อนหลัง อย่างไรก็ตามคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 อ้างเหตุดังนี้

หลักกฎหมายเรื่อง “กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง” นั้นเป็นหลักในทางอาญา โดยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่โทษทางอาญาและประกาศ คปค. ไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้ใช้ย้อนหลัง จึงไม่มีสภาพห้ามใช้ย้อนหลังและไม่ขัดต่อหลักนิติรัฐประกอบสิทธิเลือกตั้ง เป็นสิทธิที่รัฐรับรองตามกฎหมาย ไม่ใช่สิทธิที่มีมาแต่กำเนิดหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้นเมื่อผู้รับสิทธิใช้สิทธินั้นกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย รัฐพึงเพิกถอนหรือจำกัดสิทธิได้หรือกรณีมีเหตุอันสมควร เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 107 กำหนดคุณสมบัติผู้ลงสมัคร ส.ส. ว่า ต้องจบการศึกษาไม่น้อยกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็น ส.ส. และ ส.ว. มาก่อน ทำให้ผู้ที่ไม่จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและไม่เคยเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. มาก่อน ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ทั้งๆ ที่เดิมมีสิทธิ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเช่นกัน

แม้ว่าการปฏิวัติหรือรัฐประหารจะเป็นสิ่งที่ประชาชนและนานาอารยประเทศไม่พึงประสงค์ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีการปฏิเสธการกระทำของคณะปฏิวัติและรัฐประหารทุกกรณี คำสั่งของคณะปฏิวัติก็มีสภาพเป็นกฎหมาย ประชาชนต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะหากประกาศของคณะปฏิวัติมุ่งคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นเมื่อประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 มีวัตถุประสงค์ไม่ให้กรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปมีอำนาจทางการเมืองชั่วคราวห้าปีและผู้ถูกเพิกถอนยังคงมีสิทธิและเสรีภาพอื่นเช่นประชาชนทั่วไป

หลักการห้ามออกกฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่ผู้กระทำ มาจากหลักการ ไม่มีโทษ ไม่มีความผิด ใช้บังคับในทางอาญา ขณะที่ประกาศ คปค. ระบุว่า ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค เพราะเหตุตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 มาตรา 66 นั้น แม้เป็นบทบัญญัติที่ทำให้ต้องรับผลร้ายเพิ่มขึ้นจากโทษยุบพรรคเดิม แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช้โทษทางอาญาเป็นเพียงมาตรการที่เกิดจากผลของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 เพื่อไม่ให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อความเสียหายแก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสสร้างความเสียหายซ้ำอีก

รัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจศาลตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

รัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นมรดกของการรัฐประหารปี 2549 ได้บัญญัติถึงโทษยุบพรรคและการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค โดยรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่า ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทําการหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทําการ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ซึ่งมีผลทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

และถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด  มีส่วนรู้เห็น  หรือปล่อยปละละเลย  หรือทราบถึงการกระทํานั้นแล้ว  มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  ให้ถือว่า พรรคการเมืองนั้นกระทําการเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกําหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมือง โดยมีพรรคการเมืองที่ได้รับผลจากบทบัญญัติดังกล่าวดังนี้

๐ พรรคมัชฌิมาธิปไตย : ซื้อเสียงชาวบ้าน 400 บาท

อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากเหตุที่ว่า ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ส.ส. 2550 มาตรา 53 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กกต.ได้รับแจ้งว่า การเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดปราจีนบุรี เขต 1 ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดย สุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัคร ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้สนับสนุนให้หัวคะแนนให้เงินแก่ชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง จำนวน 400 บาทเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนแก่สุนทร เบื้องต้น กกต.ได้ตัดสิทธิเลือกตั้งสุนทรเป็นเวลาหนึ่งปีและจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ต่อมาฝ่ายกฎหมายของ กกต. ได้พิจารณา พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 18 กำหนดว่า คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องควบคุมไม่ให้ผู้ซึ่งพรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเมื่อข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในฐานะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง จึงต้องถือว่า พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 18/2551 สั่งยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยและตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาห้าปี ประเด็นที่สุนทร กระทำความผิดจริงหรือไม่นั้นผ่านกระบวนการสอบสวนของ กกต.แล้วถือว่า ข้อเท็จจริงเป็นที่สิ้นสุดแล้วตาม พ.ร.ป.ส.ส. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของกกต.ได้ มีเหตุให้ยุบพรรค

การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะชี้แจงว่า หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไม่ได้เป็นผู้กระทำก็ตาม กฎหมายยังให้ถือว่าเป็นผู้กระทำ จึงไม่อาจวินิจฉัยเป็นอื่นได้ นอกจากนี้สุนทร ยังเป็นรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค มีบทบาทสำคัญในพรรค มีหน้าที่ต้องสอดส่องดูแลสมาชิกพรรคให้กระทำการอย่างสุจริต แต่กลับกระทำผิดเสียเอง อันเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาห้าปี

๐ พรรคชาติไทย : หัวคะแนนจ่ายเงินใกล้หน่วยเลือกตั้ง

อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทย จากเหตุที่ว่า ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2550 มาตรา 53  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กกต. ได้รับแจ้งจาก กกต. จังหวัดชัยนาทว่า การเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดชัยนาท เขต 1 ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยสรุปว่า มณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัคร ส.ส. และรองเลขาธิการพรรคชาติไทย และนันทนา สงฆ์ประชา ผู้สมัคร ส.ส.  ได้สนับสนุนให้หัวคะแนนให้เงินแก่ชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนแก่สุนทร เบื้องต้น กกต. ได้ตัดสิทธิเลือกตั้งมณเฑียรและนันทนาเป็นเวลาหนึ่งปีและจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ต่อมาฝ่ายกฎหมายของ กกต. ได้พิจารณาพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 18 กำหนดว่า คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องควบคุมไม่ให้ผู้ซึ่งพรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเมื่อข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในฐานะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง จึงต้องถือว่า พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 19/2551 สั่งยุบพรรคชาติไทยและตัดสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาห้าปี โดยสรุปว่า ประเด็นที่มณเฑียรและนันทนากระทำความผิดจริงหรือไม่นั้นผ่านกระบวนการสอบสวนของ กกต. ถือว่าข้อเท็จจริงเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ กกต.ได้ ประเด็นต่อมาคือ การยุบพรรค เห็นว่า กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนแล้วในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550

แม้ว่าจะชี้แจงว่า หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไม่ได้เป็นผู้กระทำก็ตาม กฎหมายยังให้ถือว่าเป็นผู้กระทำ จึงไม่อาจวินิจฉัยเป็นอื่นได้ นอกจากนี้ มณเฑียรยังเป็นรองเลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรค มีบทบาทสำคัญในพรรค มีหน้าที่ต้องสอดส่องดูแลสมาชิกพรรคให้กระทำการอย่างสุจริต แต่กลับกระทำผิดเสียเอง อันเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาห้าปี

๐ พรรคพลังประชาชน : ซื้อเสียงสิบกำนันแม่จัน

อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทย จากเหตุที่ว่า ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2550 มาตรา 53  โดยได้รับการร้องเรียนจากวิจิตร ยอดสุวรรณ อดีต ส.ส. จังหวัดเชียงราย พรรคชาติไทยว่า มีกลุ่มกำนันในอำเภอแม่จันเดินทางไปพบยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่กรุงเทพมหานคร น่าเชื่อว่า ยงยุทธจะต้องมีการเสนอให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันใดแก่กลุ่มกำนันดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในทางใดทางหนึ่ง

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กลุ่มกำนันเดินทางจากเชียงรายไปกรุงเทพฯ และพบกับยงยุทธที่โรงแรมเอส ซี ปาร์ค และมีการพูดคุยครู่หนึ่งแล้วแยกไป มีการพักค้างหนึ่งคืนก่อนกลับไป คณะกรรมการเลือกตั้งสอบสวนแล้วเห็นว่า ยงยุทธและละออง ติยะไพรัช ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2550 มาตรา 53 และ 57 และยื่นให้ศาลฎีพิจารณาว่า เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของยงยุทธกับพวกและเลือกตั้งใหม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยและมีคำสั่งว่า ยงยุทธกระทำการตามคำร้องจริง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เชียงราย เขต 3 ใหม่อีกครั้ง

ในชั้นพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยงยุทธ ชี้แจงว่า ไม่ได้กระทำการดังกล่าวและมีการร่วมสร้างสถานการณ์และปรุงแต่งพยานหลักฐานเพื่อนำมาใช้คัดค้านการเลือกตั้ง

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 20/2551 สั่งยุบพรรคพลังประชาชน สรุปว่า ยงยุทธได้โอกาสนำพยานหลักฐานเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า กระทำผิดตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2550 และมีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีนี้ ทำให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า ยงยุทธมีการเสนอให้ทรัพย์สินตอบแทนเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งเขาเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรครวมทั้งกรรมการบริหารพรรคได้รู้เห็นถึงการกระทำนี้ ถือว่า พรรคพลังประชาชนกระทำการเพื่ออำนาจปกครองด้วยวิถีทางที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเมื่อชนะการเลือกตั้ง จนได้ก่อตั้งรัฐบาล สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงสั่งให้ยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิทางการเมืองของยงยุทธและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนห้าปี

รัฐประหาร 2557 เพิ่มดุลยพินิจศาล รธน. ตัดสิทธิทางการเมือง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง กำหนดว่า “ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย” โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ ซึ่งอาจจะทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตก็ได้

พรรคการเมืองแรกที่ได้รับผลจากบทบัญญัตินี้คือ พรรคไทยรักษาชาติ วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากการยื่นทูลกระม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่อาจปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค โดยศาลระบุว่า การกำหนดระยะเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำให้ได้สัดส่วนกับโทษที่จะได้รับซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล

การกระทำพรรคไทยรักษาชาติเป็นการกระทำเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบการปกครองของประเทศชาติ มีความสำนึกรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติที่ได้น้อมรับพระบรมราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีภายหลังที่รับทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง
 

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

จะ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ทำไมต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน? 

ย้อนดูเกมการเมืองที่ทำให้ยังไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่ได้ทำประชามติเสียที โดยจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการทำประชามติ เป็นครั้งที่สอง