หลักประกันสุขภาพและรัฐสวัสดิการที่รัฐพยายามจะล้มมาตลอด 5 ปี

ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง เกิดขึ้นมากว่า 16 ปี โดยการผลักดันร่วมกันของกลุ่มคนหลายส่วน ทั้งภาคประชาชน เอ็นจีโอ นักการเมือง และข้าราชการ มีเจตนาเพื่อสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และเป็นธรรม
บัตรทอง ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกคนว่า “เมื่อเจ็บป่วย ทุกคนจะได้รับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” เป็นหลักประกันด้านสุขภาพที่ช่วยให้คนไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล
แต่รัฐปัจจุบันกลับมองว่า “บัตรทอง” เป็นภาระของประเทศ และมีความพยายามบิดเบือนหลักการถ้วนหน้าของระบบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเสนอให้ “ร่วมจ่าย” หรือการให้เฉพาะกลุ่ม เป็นการถอยหลังกลับไปสู่ระบบสงเคราะห์แบบเดิม

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในยุค คสช.
รัฐจัดให้ เลือกสงเคราะห์เฉพาะคนจน ระบบค้นหาตกหล่น ลดทอนศักดิ์ศรี
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือ “บัตรคนจน” เป็นการออกแบบการให้สวัสดิการที่เลือกค้นหา “คนจน” และจัดสวัสดิการด้วยการให้เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า ตามที่รัฐระบุไว้
ระบบ “บัตรคนจน” เป็นระบบที่ยังตกหล่นคนจนและไม่ทั่วถึง “บัตรคนจน” ที่มีคำถามว่าเอื้อต่อนายทุนผู้ผลิตสินค้า หรือเพื่อคนจนจริงๆ

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีความเหมือนในความต่าง
ความเหมือนแรก คือเป็นนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ แต่ในความเหมือนกลับมีความต่างในระดับขาวกับดำกันเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ระดับหลักการแนวคิด บัตรทอง ตั้งต้นแนวคิดจากความทุกข์ยากของประชาชน จนก่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนหลากหลายทั้งประชาชนธรรมดา บุคลากรการแพทย์ข้าราชการบางส่วน ผลักดันจนเกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพทั้งฉบับประชาชนและฉบับสุดท้ายของพรรคการเมือง

แต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หลักการแนวคิดตั้งต้นจากข้าราชการ และรัฐบาลทหารที่คิดเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้น (คิดให้) แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมบอก ไม่มีโอกาสบอกว่าต้องการ หรือไม่ต้องการแบบไหน ผลที่ออกมจึงเป็นแบบสั่งการ ค้นหาเฉพาะคนจน เลือกว่าจะให้อะไรไม่ให้อะไร และมีคนตกหล่นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นที่กังขาว่า เป้าหมายจริงๆแล้ว เป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนหรือเพื่อประชาชน ?

5 ปีของรัฐบาลทหาร รัฐประหารที่สร้างสุญญากาศ เปิดช่องให้ล้ม “บัตรทอง”

ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่เกิดการรัฐประหารโดยคสช. จนได้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นประชาธิปไตยเพียงเสี้ยวใบและกุมอำนาจโดยทหาร รัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ได้ปล่อยให้เกิดปัญหา และสร้างปัญหาต่อระบบหลักประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่การเปิดโอกาสให้มีที่ปรึกษา มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ล้วนแล้วแต่มาจากสายข้าราชการเก่า และฟากฝั่งแพทย์พาณิชย์ โดยเฉพาะมีกลุ่มหมอที่ต่อต้านและคัดค้านการเกิดระบบหลักประกันสุขภาพมาตั้งแต่ต้น จนเป็นที่มาของการร้องเรียนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งกรรมการสอบสวนเลขาธิการในสมัยนั้น (นพ.วินัย สวัสดิวร) จนผลการตรวจสอบพบว่า สปสช.ไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่กลับแขวนเลขาธิการไว้จนหมดวาระ

การสอบสวนสปสช.แม้ผลจะออกมาว่าไม่ผิด แต่ก็มีการตั้งแง่ ด้วยการอ้างผลสอบสวนว่าสปสช.ทำเกินหน้าที่ และใช้เงินผิดประเภท จนเป็นที่มาของการชะลอการจ่ายเงินให้โรงพยาบาล (ค่าน้ำ ค่าไฟ) โดยตีความว่าจ่ายไม่ได้ รวมไปถึงการอ้างว่า สปสช.ไม่มีสิทธิจัดซื้อยาเอง ทั้งที่ระบบการจัดซื้อยารวมทำให้สปสช.ประหยัดงบค่ายาได้กว่า 300 ล้านบาท มีเงินเหลือเพื่อจัดบริการให้ผู้ป่วยโรคที่ค่ายาแพงได้เพิ่ม สร้างความปั่นป่วนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ จนเกิดปัญหาทำให้ผู้ป่วยขาดยา ทำให้รพ.ขาดความมั่นใจในการบริหารเงิน จนกระทั่งต้องใช้คำสั่งคสช.มาจัดการ จนเป็นที่มาของ คำสั่งคสช.ที่ 37/2559 และเป็นชนวนของการแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ระหว่างความปั่นป่วนของระบบบัตรทอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ออกมาพูดถึงบัตรทองอย่างต่อเนื่อง ต่างกรรมต่างวาระ แต่โดยรวมแล้วสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึง “บัตรทอง” ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์มีทัศนะต่อระบบบัตรทองในทางลบทั้งสิ้น เช่น การออกมาพูดว่าบัตรทองเป็นภาระ การบอกว่าบัตรทองเป็นสาเหตุให้รพ.เจ๊ง การออกมาเรียกร้องให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย เป็นต้น แม้จะบอกมาตลอดว่าไม่ล้มบัตรทอง แต่การแสดงออกทั้งจากตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง และคนรอบข้างกลับเป็นตรงข้าม การแก้กฎหมายบัตรทองที่ไม่ฟังเสียงประชาชน การป่วนระบบจัดซื้อยา การจำกัดงบเหมาจ่ายรายหัว ล้วนเป็นการแสดงออกในเชิงตรงข้ามกับหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพทั้งสิ้น

การคงอยู่ในอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ และการได้กลับมาเป็นนายกอีกครั้งกับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่จะถึงนี้ ย่อมเห็นแนวโน้มของการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอนาคต ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยิ่งนโยบายประชารัฐ เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มุ่งเน้นคนจน อาจเลยครอบคลุมมาถึงระบบบัตรทอง ในที่สุดบัตรทองอาจมีให้ใช้เฉาะคนจนเท่านั้น เพราะทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังคงมีการระบุไว้ว่า “บุคคลผู้ยากไร้” จึงจะมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ ในขณะที่คำสำคัญเช่นคำว่า “สิทธิเสมอกัน” กลับถูกทำให้หายไป 24 มีนาคม 2562 อาจเลือกใครก็ได้ แต่ไม่ควรเลือกอำนาจที่ทำให้สวัสดิการด้านสุขภาพและด้านอื่นๆของประชาชนถดถอยลง กลับเข้ามาบริหารประเทศ

2