การแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ / ยุทธศาสตร์ชาติ คสช.

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือ “ยุทธศาสตร์ชาติ คสช.” คือ แผนพัฒนาประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 – 2580 ซึ่งกำหนดให้ทุกรัฐบาลต้องเดิมตามยุทธศาสตร์ของ คสช. ถ้าไม่ดำเนินการตามอาจส่งผลให้รัฐบาลนั้นพ้นไปจากการทำหน้าที่ และรัฐมนตรีในรัฐบาลอาจถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ และอาจถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตลอดชีวิต
 
ยุทธศาสตร์ชาติ คสช. ประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ความยาวจำนวน 71 หน้ากระดาษเอสี่ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หกด้าน ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคง 2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานถึง 20 ปี ทำให้เกิดคำถามว่าการเขียนแผนยุทธศาสตร์ล่วงหน้านานขนาดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงหรือ เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ยุทธศาสตร์ที่เขียนตอนนี้จะสามารถสอดคล้องกับอีก 20 ปีข้างหน้าได้ ดังนั้น การบังคับและการมีบทลงโทษให้รัฐบาลต่างๆ ที่ไม่เดินตามยุทธศาสตร์ คสช. ทำให้ยุทธศาสตร์ คสช. เป็นเสมือนโซ่ตรวนรัดประเทศไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า 
 
แก้ไขยุทธศาสตร์ คสช. ได้ แต่อุปสรรคคือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ”
 
ทุกเสียงของผู้มีอำนาจในรัฐบาล คสช. ต่างพูดเหมือนกันว่ายุทธศาสตร์ คสช. สามารถแก้ไขได้ ซึ่ง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 11 ระบุว่า ยุทธศาสตร์ คสช. จะต้องถูกทบทวนทุกห้าปี แต่ถ้าระหว่างนั้นหากยุทธศาสตร์ คสช. ไม่สอดคล้องและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์โลกและประเทศไทยก็สามารถแก้ไข แต่การแก้ไขจะทำได้ต้องให้ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนจากนั้นจึงจะแก้ไขยุทธศาสตร์ คสช. ได้
 
“คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” หรือ “ซุปเปอร์บอร์ดควบคุมรัฐบาล” มีจำนวนไม่เกิน 35 คน ประกอบไปด้วยผู้บัญชาทหารและตำรวจทุกเหล่าทัพ และนายทุนนักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ทำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมี 20 คน จากข้อมูลพบว่ากรรมการทั้งหมดต่างเคยร่วมงานกับ คสช. ผ่านตำแหน่งต่างๆ ที่ คสช. สร้างขึ้น เช่น สมาชิก คสช., รัฐมนตรี, สมาชิก สนช. และสภาปฏิรูปชุดต่างๆ ฯลฯ  
 
จะเห็นว่าอำนาจในการแก้ไขยุทธศาสตร์ คสช. อยู่ในมือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยเหตุนี้หลังการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2562 ถ้าหากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดอยากแก้ไขยุทธศาสตร์ คสช. เพราะเห็นว่าไม่ทันสถานการณ์และกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องไปเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งส่วนใหญ่คือ ผู้นำเหล่าทัพ และคนที่ คสช. แต่งตั้ง
 
นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่ต้องการแก้ไข “แผนแม่บทยุทธศาสตร์ คสช.” มาตรา 10 วรรคสี่ ของ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ กำหนดให้หากมีความจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจําเป็นของประเทศ ให้ “คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ” ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีก่อน และเมื่อทั้งสองหน่วยงานให้ความเห็นชอบแล้ว จึงดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
 
ยกเลิกยุทธศาสตร์ คสช. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่อุปสรรคคือ “ส.ว.แต่งตั้ง” ของ คสช.
 
การยกเลิกยุทธศาสตร์ คสช. ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอต่อประชาชน การยกเลิกยุทธศาสตร์ คสช. สามารถทำได้ด้วยแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย
 
– มาตรา 65 ที่กำหนดว่า รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ
– มาตรา 142 ที่กำหนดว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
– มาตรา 162 ที่กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
– มาตรา 270 ที่กำหนดว่า ให้ ส.ว. แต่งตั้งจาก คสช. ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ
 
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เนื่องจากการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการพิจารณาร่วมกันของทั้งสองสภาคือ ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน พิจารณาร่วมกัน ซึ่งเงื่อนไขในการแก้ก็ยากมาก เช่น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปสู่การพิจารณาของสภาในวาระหนึ่ง สภาจะต้องรับหลักการว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้พิจารณาหรือไม่
 
ซึ่งหากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระหนึ่งให้สำเร็จขั้นแรกจะต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียง จาก 750 เสียง แต่เท่านั้นยังไม่พอใน 376 เสียงต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วย เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. 250 คน ดังนั้นต่อให้มี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน มีมติเห็นชอบร่วมกันก็ยังไม่สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ ถ้าหาก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่ร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและเอายุทธศาสตร์ชาติออกไป