หาเสียงออนไลน์: เลือกตั้งภายใต้ คสช. คุมโซเซียลมีเดียเข้ม

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ – พฤกษาภาคม 2562 การหาเสียงออนไลน์โดยใช้โซเซียลมีเดียมีความสำคัญอย่างมาก เว็บไซต์ brandbuffet เผยว่าต้นปี 2561 ประเทศไทยผู้มีใช้อินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน และมีผู้ใช้โซเซียลมีเดียมากถึง 51 ล้านคน ดังนั้นการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียงเพราะว่า พรรคการเมืองหรือประชาชนสามารถเข้าถึงกันได้ง่ายมากขึ้น สะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการหาเสียงรูปแบบอื่น
ขณะที่ใกล้สู่ช่วงเลือกตั้งตามโรดแมป คสช. แต่การปลดล็อกให้พรรคการเมืองหาเสียงไม่ว่าจะทางใดยังคงเป็นข้อห้าม และเมื่อถึงช่วงการเลือกตั้งการหาเสียงออนไลน์ก็มีแนวโน้มที่จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดผ่านกฎหมายเลือกตั้งหรือคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ในส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เสนอ คสช. ให้เพิ่มอำนาจรัฐในการสั่งระงับข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดทางโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นส่วนเสริมในการควบคุมการหาเสียงไว้ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย
พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส ให้อำนาจ กกต. คุมหาเสียงออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ
วันที่ 12 กันยายน 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกำหนดฉบับนี้กำหนดสาระสำคัญเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งออนไลน์ไว้ในมาตรา 70 โดยระบุว่า
        “การหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ที่ กกต. กำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดๆ นับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน โดยกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่ว่านั้นให้ กกต. หารือกับพรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งในกรณีความที่ปรากฎนั้นฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด กกต.สามารถมีอำนาจแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลในเวลาที่กำหนด”
อย่างไรก็ตาม คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวี ถึงบทบัญญัติข้อนี้ว่า การที่ให้ กกต. เป็นผู้ควบคุมเนื้อหาเอง ไม่มีการถ่วงดุล และไม่มีหลักในการตรวจสอบ ไม่ต้องรวบรวมหลักฐานร้องให้ศาลมีคำสั่งก็สามารถออกคำสั่งให้แก้ไขหรือลบข้อมูลได้เลย เปรียบเสมือน กกต. ทำหน้าเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการในเวลาเดียวกัน จุดที่น่ากังวลคือถ้าให้ กกต. กำหนดนิยามความหมายของการกระทำต่างๆ เช่น นิยามคำว่าหาเสียงบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ คำถามคือว่า ข้อความหรือประโยคแบบใดจึงจะเข้าข่ายการหาเสียง ใครบ้างที่จะถูกนับว่าเป็นผู้หาเสียง
กกต. เตือนหาเสียงออนไลน์ ทำเลือกตั้งไม่สุจริตต้องชดใช้ค่าเสียหาย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงเกี่ยวกับสาเหตุที่ต้องมีการกำหนดขอบเขตและบทลงโทษของการหาเสียงออนไลน์  โดยกล่าวว่าทั้งตัวประกาศคำสั่งหรือบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้มีการหาเสียงออนไลน์ หรือถ้าจะมีจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ กกต. ก็เพื่อป้องกันการเกิดการกุข่าวปลอมหรือเนื้อหาที่เป็นไปในทางใส่ร้ายกัน
 
สำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายัง กกต. ได้ จากนั้น กกต. จะแจ้งเจ้าของข้อความให้ลบ หากไม่ปฏิบัติตาม กกต.ก็จะลบข้อความเอง และถึงแม้ว่าจะมีการลบข้อความไปแล้ว ก็ยังถือว่ามีความผิดทางอาญา และถ้ามีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต จนการเลือกตั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ต้องเสียไปก็ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย
 
นอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งก็จะมีการตั้งวอร์รูมพิเศษ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิตอล และหน่วยงานที่เกียวข้องส่งตัวแทนมาคอยติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่แม้ยังไม่มีการตั้งวอร์รูมข้อมูลที่ส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะถูกบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูลด้วยและสามารถค้นหาต้นตอผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลได้                 
ใช้ ม.44 ออกคำสั่งห้ามหาเสียงกั้นไม่ให้เกิดความวุ่นวาย    
บทบัญญัติของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะนำมาใช้ควบคุมการหาเสียงออนไลน์ในช่วงการเลือกตั้ง แต่ระหว่างรอความชัดเจนของวันเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกาศ “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม)”  เพื่อมาคอยกำกับการหาเสียงออนไลน์ของพรรคการเมือง   
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ระบุว่า พรรคการเมืองจะสามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อกับผู้ดำรงตำแหน่ง หรือสมาชิกภายในพรรคการเมืองของตน ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่จะต้องไม่ทำในรูปแบบของการหาเสียง ซึ่ง กกต. และ คสช. จะกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
 
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ก็เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเดินไปถึงวันเลือกตั้งได้อย่างตั้งใจ ไม่มีความวุ่นวายเกินขึ้น ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. ว่าโดยหลัก กกต. จะเข้าไปควบคุมดูแลการหาเสียงเมื่อมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามหาเสียงออนไลน์ ทาง กกต.จะต้องศึกษาว่ามีขอบเขตแต่ไหน เช่น การหาสมาชิกสามารถประกาศนโยบายได้หรือไม่ และการประกาศนโยบายจะถือเป็นการหาเสียงหรือประกาศชักชวน
พรรคการเมืองค้านใช้ ม.44 ห้ามหาเสียงออนไลน์ฝืนกระแสโลก สร้างความได้เปรียบให้ คสช. เอง
 
ทางด้านชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า คสช. ต้องปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้เต็มรูปแบบ เพราะการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ จึงไม่ต่างไปจากการชิงความได้เปรียบทางการเมืองของรัฐบาล อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังได้ออกแถลงการณ์ว่า กรณีห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะเข้าข่ายการหาเสียง เป็นการใช้คำที่ไม่มีขอบเขตชัดเจน สามารถถูกนำไปตีความได้หลายด้านจึงมีโอกาสถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่พรรคการเมืองที่คิดต่าง และอาจถูกนำมาตีความเพื่อใช้กลั่นแกล้งคู่แข่งได้โดยง่าย
 
ทั้งนี้ในการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ของพรรคการเมือง ถือว่าเป็นกติกาสากลของประชาธิปไตย ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการจำกัดสิทธิประชาชนในการรับรู้ รับฟัง และเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงในการตัดสินใจเลือกนโยบายที่ประชาชนพอใจ
 
ขณะที่วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการเลือกตั้งที่อื่นๆ ในโลก ก็มีปัญหาเรื่องการใส่ร้ายบิดเบือน สร้างความตื่นตระหนก และยิ่งถ้าอยู่ในช่วงการเลือกตั้งก็จะมีผลกระทบต่อบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ถูกใส่ร้าย แต่การห้ามใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงคือการฝืนกระแสโลก ด้วยเหตุนี้ กกต. ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกแบบหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ หาบุคลากรที่เข้มแข็งมาจัดการปัญหานี้โดยเฉพาะ  
 
ส่วนองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการห้ามใช้โซเซียลมีเดียหาเสียงเลือกตั้ง ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามแนวทางไทยยุค 4.0 และการใช้โซเชียลมีเดียไม่กระทบความมั่นคงประเทศ หากใครทำผิดก็ดำเนินการตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว