ก่อนเลือกตั้ง 8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ ส.ว.

1) ส.ว. ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ในช่วงห้าปีแรก มี ส.ว. 250 คน โดย คสช. เป็นคนคัดเลือกเอง 244 คน โดยมาจากกลุ่มอาชีพ 50 คน ซึ่ง คสช. เลือกจากรายชื่อ 200 คน ที่ กกต. เสนอ และมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. แต่งตั้ง 194 คน ซึ่ง คสช. ต้องเลือกจากรายชื่อ 400 คนที่ถูกเสนอมา ส่วนอีกหกคน มาจาก ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.), ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.), และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมเป็น 250 คน
แม้วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. จะซับซ้อนหลายขั้นตอนแต่สุดท้ายทุกรายชื่อที่จะเข้ามาเป็น ส.ว. ต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช.ก่อน 
หากรัฐธรรมนูญไม่ถูกฉีกไปก่อนและ ส.ว. ชุดแรกอยู่ครบห้าปี ส.ว. ชุดที่สอง จะมาจาก "การคัดเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ จำนวน 20 กลุ่ม" เช่น ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ ด้านกฎหมาย การศึกษา สาธารณสุข  โดยผู้สมัคร ส.ว. แต่ละกลุ่มอาชีพจะต้องคัดเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอไปจนถึงระดับประเทศ ให้ได้ตัวแทนกลุ่มอาชีพกลุ่มละ 10 คน รวมเป็น 200 คน
2) หลังเลือกตั้ง ผบ.ทุกเหล่าทัพเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง
ตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงห้าปีแรกจะมี ส.ว. 250 คน โดยมีจำนวนหกคนที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นี่คือการประกันที่นั่งให้กับทหารเพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง
นี่ชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้งกองทัพจะยังไม่กลับเข้ากรมกอง แต่จะยังมีบทบาททางการเมืองในรัฐสภา นอกจากนี้ คสช. ยังได้วางตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญให้กับบรรดาผู้นำเหล่าทัพด้วยการกำหนดให้เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง ซึ่งจะมีหน้าที่ควบคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งให้เดินตามกรอบยุทธศาสตร์ คสช. 20 ปี ด้วย
3) ส.ว. ห้ามเป็นข้าราชการยกเว้น ผบ.เหล่าทัพ
แม้ว่า ส.ว. จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ถูกระบุในรัฐธรรมนูญให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทย สำหรับผู้มีอำนาจต้องการให้ ส.ว. มีความโปร่งใส มีความซื่อสัตย์สุจริตต้องเป็นที่ประจักษ์ และต้องการให้ปลอดจากความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและนักการเมือง เพื่อไม่ให้ ส.ว. ถูกกล่าวหาว่าเป็น สภาผัวเมีย สภาพี่น้อง หรือสภาพวกพ้อง ดังในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ว. เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี, ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทํางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี, ไม่เป็นเป็นบุคคลที่กระทำการทุจริต, ไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนใดๆ และไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือในองค์กรอิสระ นอกจากนี้ ยังห้ามคนที่เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี ส.ส. ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งนั้นๆ มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และห้าม ส.ว. เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดํารงตําแหน่ง ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดํารงตําแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพหกคนสามารถเป็น ส.ว. ได้ แม้มีข้อห้ามไม่ให้ข้าราชการเป็น ส.ว. และการห้ามอดีตรัฐมนตรี ส.ส. และสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็น ส.ว. ยกเว้นพ้นจากตำแหน่งมาห้าปี แต่ สนช. ชุดปัจจุบันกลับสามารถถูกแต่งตั้งเป็น ส.ว. ต่อโดยไม่ต้องเว้นวรรคห้าปี
4) ส.ว. ตัวแปรหลักโหวตเลือกนายกฯ
ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวมสมาชิกทั้งสองสภาคือ 750 คน โดยปกติการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญของ คสช. กำหนดให้ ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งเอง ร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. ด้วยเหตุนี้ ส.ว. จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในเลือกนายกฯ ไม่ว่าจะเป็น “นายกคนใน” และ “นายกคนนอก” 
การเลือก “นายกคนใน” ส.ส. จะต้องเสนอชื่อบุคคลที่แต่ละพรรคการเมืองแจ้งก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. ลงมติเห็นชอบนายกฯ บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกฯ จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียง ซึ่งแค่จำนวน ส.ว. ก็นับเป็น 1 ใน 3 ของทั้งสภาแล้ว ขณะที่พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งก็ยากที่จะได้เสียงข้างมาก หรือที่นั่ง ส.ส. เกิน 250 ที่นั่ง เพราะระบบเลือกตั้งที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA สร้างวิธีการคำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบพิศดารที่จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองยากที่จะได้ที่นั่งมากเกินครึ่งของสภา ดังนั้นหากพรรค ส.ว. 250 คน สามารถดึงพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือกลางอีก 126 คน ก็สามารถเลือกนายกฯ ได้แล้ว 
ขณะเดียวกันหาก ส.ว.ไม่พอใจรายชื่อว่าที่นายกคนในที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อมา ก็สามารถเปิดทางให้เกิด “นายกคนนอก” โดยร่วมกับ ส.ส อีก 125 คน ขอไม่เลือกนายกฯ จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา จากนั้นก็ต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 500 คนในการเสนอชื่อ “นายกคนนอก” และใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 376 ลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนึง
5) ส.ว. ทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาลให้ทำตาม “ยุทธศาสตร์ คสช.”
ส.ว. จะเป็นส่วนหนึ่งในกลไกควบคุมรัฐบาลให้บริหารประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือเรียกให้ถูกคือ “ยุทธศาสตร์ คสช.” รัฐบาลหลังการเลือกตั้งถูกบังคับให้ต้องแถลงนโยบาย เสนองบประมาณประจำปีให้สอดคล้องกับตัวยุทธศาสตร์ คสช. และรัฐบาลต้องแจ้งผลดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ คสช. ทุกสามเดือนต่อรัฐสภา ถ้าหากรัฐบาลไม่ทำตามไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม  เช่น หน่วยงานรัฐทำงานไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คสช. อันเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติจะแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ส.ว.ทราบ จากนั้น ส.ว. มีหน้าที่ส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัดสิน หากถูกตัดสินว่ากระทำผิด ครม. จะต้องพ้นจากหน้าที่ ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต หรือสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และอาจถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี 
6) ถ้าอยากแก้รัฐธรรมนูญ ต้องให้ ส.ว. ยินยอมก่อน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นร่วมอย่างหนึ่งที่พรรคการเมืองแทบจะทุกพรรคต้องการหากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีการวางเงื่อนไขสำคัญตั้งแต่เริ่มว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 การกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นเงื่อนไขใหม่ ที่ไม่เคยปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาก่อน และเป็นเงื่อนไขที่ คสช. ผู้ซึ่งเป็นคนแต่งตั้ง ส.ว.ชุดแรก วางเอาไว้เป็นนัยว่าห้าปีแรกจะแก้รัฐธรรมนูญได้ก็ด้วยการเห็นชอบจาก คสช. ดังนั้นแม้จะมีพรรคการเมืองใดได้เสียงถล่มถลายจากประชาชนก็ไม่สามารถการันตีว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้ หาก ส.ว. แต่งตั้งไม่ยินยอม
7) ส.ว. ทำหน้าที่แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
โดยทั่วไป ส.ว. มีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ อย่างน้อยสามข้อ ประกอบด้วย
1) อำนาจด้านนิติบัญญัติ ส.ว. จะทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจาก ส.ส. แล้วอีกชั้นหนึ่ง ซึ่ง ส.ว. อาจเห็นชอบร่างกฎหมายนั้น ยับยั้งไว้ก่อน หรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายโดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันกับ ส.ส. เพื่อแก้ไขร่างร่วมกันก็ได้ 
2) อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหาร ส.ว. มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องงานในหน้าที่ได้ ซึ่ง ครม. มีสิทธิที่ตอบหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 ยังสามารถเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้ ครม. แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารประเทศได้ แต่จะไม่มีการลงมติใดๆ ซึ่งการเปิดอภิปรายทั่วไปสามารถทำได้เพียงปีละครั้ง
3) อำนาจให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระ กระบวนสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระในเบื้องต้นจะมีการตั้ง “คณะกรรมการสรรหา” ขึ้น ซึ่งการสรรหาจะมีรายละเอียดแล้วแต่กฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระเหล่านั้นจะกำหนด แล้วเมื่อคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกได้แล้วก็จะส่งรายชื่อให้ ส.ว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้ความเห็นชอบ
8) แต่งตั้ง ส.ว. รอบใหม่อาจมีคนนั่งในสภาเกือบ 20 ปี โดยไม่ต้องเลือกตั้ง
สมาชิก สนช. ชุดปัจจุบัน 250 คน มีความเป็นไปได้สูงว่า สนช. ส่วนใหญ่จะได้รับแต่งตั้งจาก คสช. ให้เป็น ส.ว. เพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมายอีกครั้ง ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามให้ สนช. ต้องเว้นวรรคทางการเมืองหรือต้องลาออกก่อนเพื่อเข้ารับการสมัครเป็น ส.ว. ประเด็นนี้แตกต่างหากสมาชิก สนช. บางคนต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในสมัยแรก ต้องลาออกก่อนภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือต้องลาออกก่อนเดือนกรกฎาคม 2560 แน่นอนว่าการเขียนกฎหมายเช่นนี้เป็นการเปิดช่องให้สมาชิก สนช. สามารถสืบทอดอำนาจในสภาแต่งตั้งได้ต่อไปอีกถึงห้าปี
ควรกล่าวเพิ่มเติมว่านับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 ประเทศไทยมีสภาจากการแต่งตั้งมาอย่างต่อเนื่องถึงสี่ชุด คือ สนช. ปี 2549,  ส.ว. แต่งตั้งปี 2551, ส.ว. แต่งตั้งปี 2554 และ สนช. ปี 2557 โดยมีสมาชิก สนช. ชุดปัจจุบันอย่างน้อย 36 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตวง อันทะไชย และสมชาย แสวงการ ที่นั่งทำงานในสภามาถึง 12 ปี และหากได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้เป็น ส.ว. อีกรอบก็จะได้นั่งทำงานในสภาอย่างน้อยอีก 17 ปี โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน