เห็นพ้อง ความผิดละเมิดอำนาจศาล ควรลดโทษจำคุก-เพิ่มโทษปรับ สร้างความชัดเจนมาตรฐานเดียว

 

21 กุมภาพันธ์ 2561 ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ละเมิดอำนาจศาล : จุดกึ่งกลางระหว่างอำนาจกับสิทธิอยู่ที่ใด? ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลยุติธรรมและปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นวิทยากร
 
 
พัฒนาการของกฎหมายละเมิดอำนาจศาล สามยุคสมัยสำหรับสามศาล
 
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อธิบายว่า บทบัญญัติว่าด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามกฎหมายไทยในปัจจุบัน เขียนอยู่ในกฎหมายสามฉบับ สำหรับศาลยุติธรรม อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือ ป.วิ.แพ่ง สำหรับศาลปกครอง อยู่ในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และสำหรับศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เขียนอยู่ใน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังอยู่ระหว่างรอการประกาศใช้
 
กฎหมายทั้งสามฉบับที่มีเนื้อหาเรื่องละเมิดอำนาจศาล ประกาศใช้ในช่วงเวลาต่างกัน กล่าวคือ ป.วิ.แพ่ง เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2477 เขียนเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้ในมาตรา 31-34 ให้อำนาจศาลออกข้อกำหนดใดๆ ก็ได้ และเนื่องจากเป็นกฎหมายเก่า ก็กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท
 
หลายสิบปีต่อมา ก็มีการออกกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง เมื่อปี 2542 มีเนื้อหาเรื่องละเมิดอำนาจศาลที่เปลี่ยนแปลงไป ในมาตรา 64-65 โดยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท และมีเพิ่มหลักเกณฑ์ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 64 เข้ามาว่า เมื่อมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษา ก็ต้องเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาก่อน ไม่ให้ผู้พิพากษาที่เป็นคู่กรณีมาพิจารณาลงโทษเอง และในมาตรา 65 ยังกำหนดด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์ศาลในทางที่สุจริตด้วยวิธีทางวิชาการ ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 
 
และกฎหมายเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2560 ก็ยังมีหลักการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกว่า ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้กับการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา
 
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ สรุปว่า กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ทั้งสามฉบับมีเนื้อหาสาระ บทกำหนดโทษ ความชัดเจน และการคุ้มครองเสรีภาพในการวิจารณ์ที่แตกต่างกัน 
 
 
 
 
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เขียนขึ้นก่อนหลักการสิทธิมนุษยชน
 
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ กล่าวว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ใช้บังคับในปี ค.ศ.1966 หรือ พ.ศ.2509 เนื่องมาจากกระแสที่ทางตะวันตกเล็งเห็นแล้วว่า การอยู่ร่วมกันในสังคมต้องหาจุดสมดุลระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน สาระสำคัญของ ICCPR พูดถึงเสรีภาพของบุคคล ทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 
 
เมื่อปี 2477 ที่เราเขียน ป.วิ.แพ่ง ขึ้นใช้นั้น เป็นช่วงเวลาก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนเกิดสหประชาชาติขึ้น แนวคิดเรื่องการถ่วงดุลระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพจึงยังไม่มี สาระหลักในเวลานั้นจึงเป็นเพียงการให้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่เพื่อความสงบเรียบร้อย ให้การตัดสินลงโทษบุคคลเกิดขึ้นได้เร็ว เราจึงใส่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ใน ป.วิ.แพ่ง ไม่ใส่ไว้ในกฎหมายอาญา และเมื่อต่อมามีแนวการตีความทั้งจากคำพิพากษาศาลฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกา ในยุค พ.ศ.2520 ในทำนองที่ว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อยู่ใน ป.วิ.แพ่ง แม้จะมีโทษจำคุกและโทษปรับก็ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงเกิดปัญหาตามมา ส่งผลให้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาในความผิดตามกฎหมายอาญาทั่วไป เช่น สิทธิมีทนายความ สิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ฯลฯ 
 
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ เห็นว่า ในยุคสมัยก่อนหน้านี้แนวคิดเรื่องสิทธิของประชาชนยังไม่เข้มข้น แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องเริ่มถามหาความสมดุลระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพ ควรตีความว่า ความผิดที่เขียนอยู่ในกฎหมายไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีโทษจำคุก หรือโทษปรับ ก็ต้องนับว่าเป็นกฎหมายอาญา และผู้ต้องหาต้องได้รับสิทธิมีทนายความ มีสิทธิเตรียมตัวสู้คดี
 
 
สถานการณ์ปัจจุบันยังขัดต่อหลักการสากล
 
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ เล่าว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกของ ICCPR ตั้งแต่ปี 2539 เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ประเทศไทยจึงมีพันธะที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีคณะกรรมการคอยติดตามตรวจสอบการบังคับใช้ ICCPR ในประเทศไทยว่า ทำได้จริงหรือไม่ เมื่อนำหลักเกณฑ์ของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ใน ICCPR แล้วพบสามประเด็นปัญหาสามประการ คือ 
 
 
1) หลักการคนที่กระทำความผิดครั้งเดียวจะถูกลงโทษสองครั้งไม่ได้ 
 
ในทางปฏิบัติของประเทศไทย เมื่อมีคนถูกลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแล้วไม่ถูกนับว่าเป็นการลงโทษในทางอาญา หากการกระทำนั้นเข้าข่ายความผิดฐานอื่นๆ ในกฎหมายอาญาอีก ก็ยังจะถูกดำเนินคดีและลงโทษซ้ำอีกได้ กลายเป็นคนต้องถูกลงโทษซ้ำๆ จากการกระทำเดียวกัน 
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เสนอว่า ให้ตัดโทษจำคุกและโทษปรับออกจากความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เหลือไว้เพียงอำนาจของศาลที่จะว่ากล่าวตักเตือนหรือไล่ออกจากห้องพิจารณาคดี เพราะในปัจจุบันกฎหมายอาญาก็กำหนดความผิดต่อเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมไว้จำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาความสงบในการพิจารณาคดีได้ เช่น ความผิดฐานเสนอสินบนให้ศาล ความผิดฐานขัดขืนหมายศาล ความผิดฐานนำสืบพยานหลักฐานเท็จ หากใครกระทำสิ่งที่เป็นความผิดก็ให้ดำเนินคดีตามกระบวนการทางอาญาทั่วไป โดยให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับการดำเนินคดีอาญาอื่นๆ 
 
2) หลักการของกฎหมายอาญา ต้องมีความชัดเจน
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เล่าว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง ทุกวันนี้กำหนดให้ ศาลสามารถออกข้อกำหนดใดๆ ได้ ทำให้ประชาชนภายนอกก็ไม่อาจรู้ได้ว่า มีข้อกำหนดอะไรออกมาบ้าง ตัวอย่างเช่น ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเคยมีป้ายเขียนไว้ว่า ห้ามถ่ายรูปอาคารศาล ซึ่งข้อกำหนดของศาลในจังหวัดต่างๆ ก็อาจจะแตกต่างกัน โดยที่ประชาชนไม่สามารถรู้ได้ว่า สามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ ขาดความชัดเจน เมื่อไปที่ศาลแห่งหนึ่งก็จะเห็นป้ายลักษณะชั่วคราวแปะเอาไว้ และเมื่อไปอีกศาลหนึ่งก็จะเห็นป้ายอีกแบบหนึ่ง
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เปรียบเทียบว่า ในฝรั่งเศสที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Civil Law อย่างเข้มแข็ง จะถือว่า การออกข้อกำหนดต่างๆ เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลไม่สามารถออกข้อกำหนดเองได้ เพราะศาลกำลังใช้อำนาจตุลาการ ถ้าศาลสามารถออกข้อกำหนดเองด้วยและตัดสินคดีเองด้วยก็จะขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ 
 
3) หลักการพิจารณาคดีโดยตุลาการที่เป็นอิสระ และเป็นกลาง
 
ผศ.เอื้ออารีย์ อธิบายว่า หลักการของ ICCPR ต้องการให้การดำเนินคดีทำโดยศาลที่อิสระและเป็นกลาง ซึ่งในป.วิ.แพ่ง ให้อำนาจผู้พิพากษาที่เป็นคู่กรณีสั่งลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้เองเลย ขณะที่กฎหมายของศาลปกครองเขียนไว้ชัดว่า การพิจารณาคดีเรื่องละเมิดอำนาจศาลต้องเปลี่ยนองค์คณะ แต่กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ กลับไม่ได้เขียนให้เปลี่ยนองค์คณะ แม้ตุลาการจะบอกว่าตัวเองเป็นกลางไม่มีอคติ แต่คนภายนอกหรือสังคมย่อมเกิดความสงสัยและตั้งคำถามได้
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เล่าว่า เคยมีคดีขึ้นไปสู่การพิจารณาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เป็นคดีที่ทนายความไปวิจารณ์คความประพฤติของผู้พิพากษา และผู้พิพากษาคนนั้นเป็นคนสั่งลงโทษ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินว่า การลงโทษแบบนี้ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เพราะศาลกำลังทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กล่าวหา เป็นพยาน เป็นผู้ค้นหาหลักฐาน กำลังทำหน้าที่ด้วยตัวเองทั้งหมด โดยที่ตัวเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีด้วย 
 
 
ดูตัวอย่างประเทศอื่นที่ยึดหลักการสากล
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เล่าว่า การดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลของแต่ประเทศมีรายละเอียดต่างกัน ทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมกัน คือ ความพยายามคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา และรักษาความสมดุลให้ศาลยังทำงานได้ รักษาความสงบได้ โดยศาลยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ 
 
ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือได้ว่า เป็นต้นกำเนิดของกฎหมายนี้ มีการยกเลิกความผิดฐานวิพากษ์วิจารณ์ศาลในปี 2013 แต่ก็ยังมีความผิดฐานอื่นที่ปกป้องศาลอยู่ ซึ่งการดำเนินคดีต้องเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา
 
ประเทศเยอรมนี เขียนเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ในธรรมนูญศาลยุติธรรม ให้ตุลาการมีอำนาจตักเตือน หรือไล่ออกจากบริเวณศาล หรือสั่งกักขังได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ และกำหนดด้วยว่า หากผู้ถูกกล่าวหายังถูกดำเนินคดีทางอาญาฐานอื่นด้วยอีก ก็จะเอาโทษกักขังที่เคยได้รับมาหักออกจากโทษในความผิดฐานอื่น 
 
ประเทศฝรั่งเศส ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลก็จำกัดการใช้อำนาจอยู่แค่การตักเตือนและไล่ออกจากห้องพิจารณาคดีเท่านั้น ศาลไม่มีอำนาจอื่น หากต้องการจะลงโทษใครก็ต้องไปแจ้งความแล้วเริ่มดำเนินคดีโดยให้อัยการของพื้นที่นั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการ แต่เพื่อไม่ให้กระบวนการชักช้าก็ให้แจ้งความต่ออัยการได้เลย ซึ่งอัยการก็อยู่ในห้องพิจารณาคดีอยู่แล้ว ส่วนศาลซึ่งเป็นคู่กรณีอยู่เองไม่สามารถเป็นผู้ดำเนินคดีเอง และสั่งลงโทษเองได้ 
 
สหรัฐอเมริกา ใช้ระบบลูกขุนในการพิจารณาคดี มีหลักการที่ยึดถือกันโดยทั่วไป คือ การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลตัดสินคดีไปแล้ว สามารถทำได้เลย แต่สำหรับคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา การวิจารณ์ที่จะผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ต้องเป็นกรณีที่มีแนวโน้มว่า จะมีอันตราย หรือเป็นการสร้างอิทธิพลให้ลูกขุนเริ่มเบี่ยงเบน ต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้มาก เห็นได้ว่า จะเข้ามาแทรกแซงความคิดของศาลอย่างแน่ชัด 
 
 
เสนอสร้างข้อกำหนดที่ชัดเจน ลดโทษจำคุก-เพิ่มโทษปรับ
 
ผศ.เอื้ออารีย์ สรุปว่า จากตัวอย่างของต่างประเทศ ก็ทำให้เห็นว่า ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกหลายวิธีที่จะสร้างสมดุลให้กับสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยส่วนตัว ผศ.เอื้ออารีย์ไม่ได้คัดค้านว่า ไม่ควรมีกฎหมายฐานละเมิดอำนาจศาล เพราะศาลต้องมีเครื่องมือที่รักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ แต่เสนอให้สร้างความชัดเจน ให้ศาลออกข้อกำหนดของศาลแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทุกคนทราบแล้วเข้าใจได้ หรือให้ทุกศาลมาร่วมวางข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานกลางร่วมกัน ไปในแนวทางเดียวกัน แล้วแจกจ่ายให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ 
 
ผศ.เอื้ออารีย์ เสนอด้วยว่า ควรแก้ไขกฎหมายโดยเอาเรื่องละเมิดอำนาจศาลออกจาก ป.วิ.แพ่ง และบัญญัติใหม่ไว้ในประมวลกฎหมายอาญาให้ชัดเจนว่า ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาในคดีอื่น ส่วนเรื่องอัตราโทษ ผศ.เอื้ออารีย์ เสนอให้แก้ไขอัตราโทษจำคุกใน ป.วิ.แพ่ง ให้เหลือไม่เกิน 1 เดือนเท่ากับศาลอื่น เพราะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอให้ความไม่เรียบร้อยต่างๆ ยุติได้แล้ว ในขณะเดียวกันโทษปรับซึ่งเป็นการเอาเงินเข้ารัฐ น่าจะเหมาะสมสำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายในศาล หากเขียนกฎหมายให้ชัดเจนได้แล้วก็สามารถกำหนดโทษปรับให้หนักได้ และเสนอให้แก้ไขอัตราโทษปรับให้มากขึ้นกว่า 500 บาทได้ 
 
 
 
 
ฝ่ายตุลาการเห็นพ้อง แก้ไขความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
 
ด้านศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ อธิบายเรื่องเหตุผลที่ต้องจำกัดขอบเขตการรายงานข่าวของสื่อมวลชนด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลว่า ในศาลยุติธรรม จุดที่ต้องระวังมาก คือ การเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นที่จะปลุกกระแสสังคมไปในทางใดทางหนึ่งในขณะที่คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาล เพราะเมื่อกระแสสังคมเกิดขึ้นแล้ว ศาลจะตัดสินอย่างไรก็ลำบาก ถ้าตัดสินไปเหมือนกับกระแสคนก็จะบอกว่า ศาลตกอยู่ใต้อิทธิพลของสื่อ แต่ถ้าตัดสินไม่เหมือนกับกระแส ศาลก็จะถูกกระแสนั้นท่วมทับ
 
ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่เข้าใจกันก็คือ อย่าปล่อยให้มีการปลุกระดมให้เกิดกระแสความรักหรือความเกลียดในทางใดทางหนึ่ง แล้วให้ศาลได้ทำงานตรวจสอบกันให้รอบคอบจริงๆ
 
"การวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่เป็นความจริง ย่อมทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบบยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก จะทำให้ประเทศเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน คนที่อ่อนแอจะถูกกดขี่ข่มเหงโดยคนที่มีกำลังมากกว่า หากกระบวนการยุติธรรมมันไม่ดีก็ขอให้หาทางแก้ไข ปรับปรุง แต่อย่าปลุกกระแสให้ประชาชนบอกว่า ไม่เอาแล้วศาล ไปหาเสธ.แทน" อดีตตุลาการศาลยุติธรรมกล่าว
 
ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ มีข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายละเมิดอำนาจศาล สามประการ ดังนี้
 
ประการแรก โทษทางอาญาของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งปัจจุบันเขียนไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ควรย้ายไปบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศในเรื่องการปฏิบัติตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
 
"ข้อเสนอเช่นนี้ ผมไม่คิดว่าทางศาลจะขัดข้อง แล้วจะช่วยให้ปัญหาต่างๆ เบาลงเยอะ ทางศาลรัฐธรรมนูญเองก็เตรียมใจไว้แล้วว่า เราไม่ปรารถนาที่จะใช้อำนาจทางอาญา" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
 
ประการที่สอง ศาสตราจารย์(พิเศษ) จรัญ เห็นด้วยว่า ข้อกำหนดของศาลแต่ละแห่งในเรื่องการละเมิดอำนาจศาลในปัจจุบันมีความลักลั่น กระจัดกระจาย ไม่ชัดเจน ที่ผ่านมาไม่เคยมีมาตรฐานกลาง แต่ละศาลจึงไปกำหนดขึ้นเองตามแต่ประสบการณ์ที่พบเจอ บางศาลก็สั่งห้ามถ่ายรูปอาคารศาลเพราะเคยมีคนถ่ายรูปเอาไปบิดเบือน แอบอ้างหากิน ก็เลยเขียนข้อกำหนดกันแบบนั้น บางกรณีนั่งไขว่ห้างในห้องพิจารณาคดีก็ยังอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้
 
จึงเสนอว่า ควรปรับปรุงข้อกำหนดของศาลเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลให้เป็นเอกภาพ โดยให้ศาลทั้ง 4 ศาล ได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร มาหารือร่วมกัน แล้วจัดทำข้อกำหนดว่าด้วยเรื่องการละเมิดอำนาจศาล เผยแพร่ในช่องทางของตัวเองโดยมีเนื้อความที่เหมือนกัน ชัดเจนมีมาตรฐานตามแบบสากล แล้วประชาชนก็จะเข้าใจได้ 
 
ประการที่สาม ควรทบทวนหลักการของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูกละเมิดนั้นสั่งพิพากษาลงโทษได้เลยเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้า ควรให้ใช้ระบบแบบเดียวกับศาลปกครอง คือ ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลต้องเปลี่ยนให้ผู้พิพากษาอีกองค์คณะหนึ่งเป็นผู้พิจารณา 
 
ประเด็นนี้อาจจะเกิดปัญหาบ้างกับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีองค์คณะเดียว ที่ผ่านมาในทางปฏิบัติเวลาวินิจฉัยแต่ละกรณีก็จะทำงานครบทั้ง 9 คน ทางออกก็คือ ต้องเขียนให้ชัดเจนว่า การพิจารณาเรื่องละเมิดอำนาจศาลต้องตัดตุลาการคนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดนั้นออก เพราะถ้าจะให้คู่กรณีเป็นผู้วินิจฉัยก็จะผิดกับหลักยุติธรรมโดยธรรมชาติ แม้ว่าจะเหลือตุลาการเพียงแค่ 3 คน ก็ให้ทำคำสั่งต่อไปได้ ไม่ต้องครบองค์คณะใหญ่ก็ได้ 
 
ส่วนเรื่องโทษสำหรับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาสตราจารย์(พิเศษ) จริญ เห็นว่า ไม่ควรจะเอาโทษจำคุกเป็นหลัก ส่วนเรื่องโทษปรับตามที่เสนอไว้ในร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าให้ปรับไม่เกิน 50,000 บาทนั้นมากพออยู่แล้ว ถ้าสูงกว่านี้จะเป็นอันตรายต่อคนยากคนจน ไม่ควรต้องมีคนถูกเอาไปขังเพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ