หวั่น ร่าง พ.ร.ป. กสม. ฉบับใหม่ ขัดหลักการปารีส ทำ กสม. ไทยถูกลดสถานะภาพจาก B เป็น C

วานนี้ (17 สิงหาคม 2560) ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์  มีการแถลงข่าว "งานเปิดตัวรายงานการติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย 2559" โดยมี ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ อากันทารันชาร์ จูอันดา เลขานุการเครือข่ายภาคประชาสังคมเอเชียเพื่อสถาบันสิทธิมนุษยชน ร่วมกันแถลงข่าว รายงานการติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) 
จากแถลงการณ์รายงานติดตามการทำงานของ กสม. ประเทศไทย 2559 ระบุว่า รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเครือข่ายองค์กรภาคประชาเอเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ANNI) ที่ติดตามการทำงานของ กสม. มาตั้งแต่ปี 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการทำงานของ กสม. ประเทศไทย โดยจะกล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน บทบาท อำนาจ หน้าที่และการทำงานปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะต่างๆ 
ชลธิชา และ อากันทารันชาร์  กล่าวโดยสรุปว่า คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันระดับชาติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (ICC) ได้ลดสถานภาพ กสม. ไทยจาก A คือ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ปฏิบัติตามหลักการปารีสได้ครบถ้วน สถานภาพเป็นสมาชิก ICC สามารถร่วมพูดและยื่นเอกสารต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ และสามารถเข้าประชุมประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศโดยสหประชาชาติ ลงมาเป็น B คือไม่สามารถทำตามหลักการปารีสได้ครบ ไม่สามารถพูดหรือยื่นเอกสารได้ แต่สามารถส่งรายงานในการประชุมการประเมินสถานการณ์สิทธิฯ ได้ 
ตั้งแแต่ปี 2557 ประเทศไทยมีแนวโน้มจะถูกลดสถานภาพลงมาเป็น C คือ ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการปารีสได้ และไม่มีสถานะเป็นสถาบัน เนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะทำให้ กสม.อ่อนแอลง เพราะ ในร่าง พ.ร.ป.นี้ ตัดสิทธิในการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญของ กสม.ลง นอกจากนี้การกำหนดคุณสมบัติของ กสม. ไม่มีความหลากหลาย และไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วย และถ้าหากมองในภาพรวมที่ผ่านมาถือว่า กสม. นั้นทำงานล้มเหลวไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการปารีส ปกป้องการละเมิดสิทธิ และถูกแทรกแซงจากรัฐได้ 
นอกจากนี้ รัฐบาลไทย ไม่เคยนำข้อเสนอแนะในเวทีต่าง ๆ ทางด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ICC หรือ ICCPR มาปรับใช้เพื่อพัฒนาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย และการดำเนินงานทางด้านสิทธิมนุษยชนของไทย รวมทั้งยังมีข้อกังขาในเรื่องของความโปร่งใสในเรื่องการใช้งบประมาณ ของ กสม. เพราะ กสม. ได้รับงบประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งใช้ไม่หมด และไม่ได้ส่งคืนคลัง จึงทำให้ไม่ทราบว่าปัจจุบัน กสม.มีงบประมาณเหลือมากน้อยเพียงใด กสม. ควรจัดทำรายงานการเงินเสนอต่อรัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน 
สำหรับข้อกังวลของภาคประชาสังคมที่มีต่อ กสม. คือ การขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงานของ กสม. จะส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ และร่าง พ.ร.ป.กสม.ที่ขัดกับหลักการปารีส จะทำให้ขาดอิสระในการดำเนินงาน สุดท้ายมีเสนอแนะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว