พ.ร.ป.กกต. ฉบับ กรธ.: มีคณะกรรมการ 7 คน พร้อมอำนาจระงับการเลือกตั้ง

จากการเปิดเผยข้อมูลของ พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิป สนช. ทำให้ทราบว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะบรรจุพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณากฎหมายในวันที่ 21 เมษายน หลังกรธ. ส่งมอบกฎหมายดังกล่าวให้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560
โดยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. …. ที่ กรธ.ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560  มีทั้งสิ้น 4 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 78 มาตรา โดยมีสาระสำคัญบางส่วนที่แตกต่างไปจากกฎหมายเดิมอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น จำนวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โครงสร้างและรูปแบบการทำงาน รวมไปถึงสถานะของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันหลังกฎหมายประกาศใช้
เพิ่มจำนวน-เปลี่ยนที่มา จาก “ห้าเสือ กกต.” สู่ “เจ็ดประจัญบาน”
พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พ.ศ. 2550 กำหนดให้องค์ประกอบของกกต. ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีก 4 คน แต่ในร่างพ.ร.ป.ฉบับกรธ. ได้เพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 คนเป็น 7 คน โดยให้คงที่มาของกกต. ซึ่งมาจากการสรรหามาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คนไว้ แต่ที่มาของกกต. ที่เหลือให้มาจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด  และบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้งที่ไม่เคยดำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระมาก่อน
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งอีกว่า ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่น้อยกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ หรือตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์  หรือ เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 20 ปี หรือ เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหารในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือ เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กล่าวมาข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี หรือ เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งหลักเกณฑ์เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
ยุบ กกต. จังหวัด และใช้ระบบ “ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง” แทน
เดิมที ร่างพ.ร.ป.กกต. พ.ศ.2550 กำหนดให้ กกต. มีอำนาจแต่งตั้ง กกต. จังหวัด แต่ละจังหวัดจำนวนจังหวัดละ 5 คน เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ได้ เช่น อำนวยการเลือกตั้ง เสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น แต่ในร่างพ.ร.ป.ของกรธ. ได้ยกเลิกเรื่องดังกล่าวไป และแทนที่ด้วยการเพิ่มตำแหน่ง "ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง" ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมาจากการคัดเลือกของกกต. จากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัด จังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 8 คน และผู้ที่จะมาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ และไม่ได้มีส่วนใดส่วนเสียกับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด
อำนาจใหม่ กกต. สามารถ “ระงับการเลือกตั้ง” ได้
โดยหลักๆ แล้ว  อำนาจของกกต ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เช่น การกำกับและตรวจสอบให้การเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือการสร้างกลไกร่วมกันในการทำงานร่วมกับองค์กรอิสระอื่นๆ อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
แต่ที่จะพอมีเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง ได้แก่ อำนาจ “สั่งให้ระงับหรือยับยั้งการเลือกตั้ง” ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอันเป็นความผิดหรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมได้ ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมไปถึงให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวกับการข่าว แจ้งข้อมูลเบาะแสตามที่คณะกรรมการร้องขออีกด้วย
สถานะของกกต. ชุดปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปหลังประกาศใช้กฎหมาย
ประเด็นสำคัญประการสุดท้ายถึงขนาดก่อให้เกิดวิวาทะระหว่างกกต. และกรธ. ก็คือ “สถานะของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน” ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้มีการกำหนดไว้ในหมวด “บทเฉพาะกาล” ว่า  ประธานและกรรมการกกต.ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และไม่มีคุณสมบัติกับลักษณะต้องห้ามขัดกับรัฐธรรมนูญให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. 2550  แต่ถ้าภายใน 15 วัน นับจากพ.ร.บ.นี้ประกาศใช้  มีใครขัดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งทันที
นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการสรรหา สรรหากกต.ที่พ้นจากตำแหน่งและให้สรรหาเพิ่มอีก 2 คน เพื่อให้ครบ 7 คน กรณีที่ประธานกกต.หรือกกต.ที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ในสัดส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก แล้วส่งชื่อให้คณะกรรมการสรรหาภายใน 30 วัน