หลักเกณฑ์ ร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศยังไม่ยึดโยงเจ้าของปัญหา

14 มีนาคม 2560  มูลนิธิเพื่อสิทธิและความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับองค์กรและนักกิจกรรมด้านส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ได้จัดงานเสวนา ร่าง พ.ร.บ. การรับรองเพศ พ.ศ…ที่โรงแรมเอเชีย ปทุมวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สะท้อนเสียงของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไปยังผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ปัจจุบันความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังอยู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังไม่มีกำหนดเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับหลักการโดยคณะรัฐมนตรี
 
นักกิจกรรม ชี้ หลักเกณฑ์การรับรองเพศไม่ยึดโยงเจ้าของปัญหา
ไตรรัตน์ ฟ้าปกาสิต  นิติกรชำนาญการ กลุ่มกฎหมาย สำนักงานเลขานุการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ชวนเปิดอ่านร่างพ.ร.บ. การรับรองเพศ หน้าที่ 23 ที่มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขสำหรับการขอให้รับรองเพศที่สำคัญใน มาตรา17  ถึง มาตรา20 โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว 2) ผู้ที่ต้องการจะผ่าตัดแปลงเพศแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศ และ ผู้ที่ไม่ต้องการหรือไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ และความเชื่อทางศาสนา หรือเหตุผลอื่นตามคณะกรรมการรับรองเพศกำหนด ซึ่งไตรรัตน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การตรากฎหมายเช่นนี้เป็นนี้เป็น “การไม่ให้น้ำหนักของเจ้าของปัญหา ยกตัวอย่างสมมติ ถ้าคนไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศจะไม่มีสิทธิ์เท่ากับคนที่แปลงเพศแล้ว ใช่หรือเปล่า” ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ อาจจะทำให้คนที่ไม่เข้าเกณฑ์ไม่สามารถขอยื่นรับรองเพศได้
ภาพบางส่วน หมวด3 การขอให้รับรองเพศ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระ เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ  กล่าวเสริมต่อว่า นอกจากหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ร่างฉบับนี้ยังได้กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอรับรองเพศต้องมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป ซึ่งจากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า ร้อยละ 81.2 เห็นสมควรให้มีผู้มีการผ่าตัดแปลงเพศใช้คำนำหน้านามเป็น นาง นางสาว ได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ญี่ปุ่น บุคคลนั้นต้องมีอายุ 18  ปี มีการแปลงเพศอย่างชัดเจน หากต่ำกว่า 18 ปีต้องมีการยอมรับจากผู้แทนโดยชอบธรรม โดยสาระสำคัญของกฎหมายเป็นกฎหมายทางเลือก โดยสร้างคุณภาพให้กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบ สามารถยื่นคำร้องขอคำวินิจฉัยให้รับรองทางเพศได้ โดยมีคณะกรรมการระดับชาติเป็นกลไกดำเนินการ และมีตุลาการวินิจฉัย เพื่อต้องการให้มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถทำให้กลุ่มประชากรเพศทางเลือกเข้าถึงได้ง่าย และเมื่อดูในรายละเอียดของร่างยังพบว่าผู้ที่ต้องการขอการรับเพศ ต้องไม่มีคู่สมรส ไม่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกด้วย
เสนอแนะ ร่างพ.ร.บ.การรับรองเพศควรรวดเร็ว-โปร่งใส–ง่ายต่อการเข้าถึง-มีกระบวนการมส่วนร่วมของประชาชน
ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การร่างกฎหมายรับรองเพศนั้นจะต้องคำนึงถึง ต้องครอบคลุมถึงสิทธิทุกด้านที่กว้างขวางและ บุคคลที่ได้รับเพศใหม่แล้ว ต้องมีสิทธิและความรับผิดชอบตามเพศใหม่ที่ตัวเองรับผิดชอบ ในขณะที่ เจษฎา แต้สมบัติ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มีเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ต้องมีความรวดเร็วในการออกกฎหมาย ต้องมีความโปร่งใส และง่ายต่อการเข้าถึงกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการร่างกฎหมายก็เป็นส่วนที่สำคัญในกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ เจษฎายังได้ให้มูลเชิงสถิติเกี่ยวกับงานวิจัยต่างประเทศ ศึกษาการฆ่าสังหาร คนข้ามเพศทั่วโลก พบ มีคนถูกฆ่าสังหาร 2,264 คนทุก 72 ชั่วโมงมีคนข้ามเพศถูกฆ่าหนึ่งคน สำหรับประเทศไทยมีคนข้ามเพศตาย 20 กว่าคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความเกลียดชัง
การรับรองเพศนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พัฒนาการด้านความเสมอภาคในด้านเพศก้าวไปอีกระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองเพศนั้นควรกำหนดด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงเจ้าของปัญหาเป็นหลัก