ล้อม-ตัดเน็ต-เรียก-จับ-ย้าย-ถอดยศ บทเรียนอำนาจเหนือกฎหมาย เมื่อใช้ ‘ม.44 บุกธรรมกาย’

 

ล้อม-ตัดเน็ต-เรียก-จับ-ย้าย-ถอดยศ บทเรียนอำนาจเหนือกฎหมาย เมื่อใช้ ‘ม.44 บุกธรรมกาย’ 

 

ภาพจาก Banrasdr Photo

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 ประกาศให้พื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม โดยอธิบายเหตุผลว่า เนื่องจากการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้นำกระบวนการทางกฎหมายมาใช้ทุกขั้นตอนแล้ว จึงจำเป็นต้องออกคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมการเข้าและออกพื้นที่ เรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ควบคุมระบบสาธารณูปโภค ควบคุมระบบการสื่อสาร เข้าไปในเคหสถานเพื่อตรวจค้น และสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้

 

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 ยังให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอความร่วมมือจากพระสังฆาธิการและภิกษุอื่นๆ โดยหน่วยงานทางสงฆ์และบุคคลที่ได้รับการร้องขอจะต้องทำตามการร้องขอในทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด ท้ายคำสั่งยังระบุว่า คำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อีกนัยหนึ่ง คือ ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้

ภาพจาก Banrasdr Photo

เป้าประสงค์หลักของการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 นี้เป็นไปเพื่อการจับกุมตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดี หลังจากที่มีการเลื่อนการรายงานตัวหลายต่อหลายครั้ง ตลอดระยะเวลาดำเนินการ 23 วัน เจ้าหน้าที่นำโดยดีเอสไอได้ใช้วิธีการตามอำนาจที่คำสั่งระบุไว้ ดังนี้

 

1. การปิดกั้นทางเข้าออกและตรวจค้นพื้นที่วัดพระธรรมกาย ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าหน้าที่ได้ปิดทางเข้าออกบริเวณวัดพระธรรมกายไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าออก และผ่อนปรนหลังจากการประกาศยุติการค้นหาพระธัมมชโย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ระหว่างการปิดกั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นภายในวัดพระธรรมกายหลายครั้งแต่ไม่พบตัวพระธัมมชโย

 

2. การควบคุมสาธารณูปโภค ดีเอสไอเคยจะใช้วิธีการตัดน้ำประปาและไฟฟ้าภายในวัดพระธรรมกายแต่ยังไม่เคยทำ โดยผลจากการปิดล้อมวัดทำให้การขนส่งอาหารและวัตถุดิบเป็นไปอย่างยากลำบาก จนกระทั่งพระสนิท วุฒิวังโส เปิดเผยว่า อาหารที่สะสมไว้ภายในวัดพระธรรมกายเริ่มลดจำนวนลง ส่งผลให้พระและลูกศิษย์บางรายเริ่มอ่อนล้าลง 

 

3. การควบคุมระบบการสื่อสาร ดีเอสไออาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 5/2560 ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบริเวณภายนอกและในวัดพระธรรมกาย เนื่องจากพบว่ากลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกายใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้ข้อมูลเท็จและทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นทำให้กระทบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีพระวัดพระธรรมกายอย่างน้อยสองรูปถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

4. การเรียกบุคคลมารายงานตัว คมชัดลึกรายงานข้อมูลจาก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ผลการดำเนินการตลอด 23 วัน มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.รวม 43 คดี มีคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว 316 ราย ออกหมายเรียก 80 ราย โดยผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวเป็นคำสั่งแรกคือ พระธัมมชโยและพระลูกวัดรวม 14 รูป และมีการทยอยออกคำสั่งเรียกรายงานตัวเพิ่มเติม

 

นอกจากการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 แล้วยังมีการใช้อำนาจอื่นๆ เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ในการควบคุมตัวนักกิจกรรมหรือบุคคลที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย เช่น อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ "ฟอร์ด เส้นทางสีแดง" ถูกทหารควบคุมตัวระหว่างการฟังธรรมที่ตลาดกลางคลองหลวง ก่อนจะถูกสั่งห้ามเข้าไปในพื้นที่ควบคุมวัดพระธรรมกาย จากพฤติการณ์การถวายข้าวพระแจกเสื้อกิจกรรมสีขาวที่เจ้าหน้าที่มองว่า เป็นการยุยง ส่งเสริม สนับสนุน การชุมนุมของลูกศิษย์วัดพระธรรมกายที่ตลาดคลองหลวง

 

และกรณีที่เป็นข่าวดัง คือ การจับกุมเด็กชายวัย 14 ปี และตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ภายใต้ประกาศพื้นที่ควบคุม จากการชูป้ายประท้วง ขอให้ยกเลิกมาตรา 44 และถูกนำตัวไปไว้ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนปทุมธานี นานถึง 7 วันก่อนที่จะให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ซึ่งมีผู้เผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ ว่า เบื้องต้นศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวสามครั้งด้วยเหตุผลดังนี้ ครั้งที่หนึ่งเนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ ศาลจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ครั้งที่สองเนื่องจากชื่อบัตรประชาชนของพ่อไม่ตรงกับใบแจ้งเกิด ครั้งที่สามเนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กชายอยู่ต่างที่กันไม่สามารถให้การอบรมเด็กได้จึงให้อยู่ภายใต้การดูแลของสถานพินิจ

 

อีกด้านหนึ่งยังมีความเคลื่อนไหวจากทางฝ่ายปกครอง โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีออกคำสั่งเรียกเจ้าหน้าที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าพบ ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2560 พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 มีคำสั่งโยกย้าย พ.ต.อ.เขมพัทธ์ โพธิพิทักษ์ ผู้กำกับ สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่รับผิดชอบในพื้นที่วัดพระธรรมกาย เข้ามาปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติราชการตำรวจภูธรภาค 1 และให้ พ.ต.อ.สามารถ ศรีสิริวิบูลย์ชัย รองผบก.ปทุมธานี มาปฏิบัติหน้าที่แทน

 

กรณีการบุกค้นวัดพระธรรมกายได้ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 12/2560 สั่งย้ายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษมานั่งตำแหน่งนี้แทน การโยกย้ายครั้งนี้เกิดจากที่พนม ไม่ตอบสนองคำร้องขอของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ขอให้ตรวจสอบใบสุทธิของพระในวัดพระธรรมกาย ทั้งนี้ คสช.ยังดำเนินการถอดสมณศักดิ์ของพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว จากเหตุที่ออกหมายเรียกรายงานตัวไปหลายครั้งแต่ไม่มาตามกำหนด โดยหลังจากการประกาศยุติการบุกค้นวัดพระธรรมกายยังมีการดำเนินการต่อในฝ่ายสงฆ์คือ มหาเถรสมาคมที่ส่งเรื่องให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 ในการพิจารณาถอดถอนสมณเพศตามขั้นตอน

 

ภาพจาก Banrasdr Photo

ปฏิบัติการปิดล้อมวัดพระธรรมกายไม่ใช่ครั้งแรกในความพยายามจับกุมตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดี ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับพระธัมมชโยในฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร หลังจากที่ไม่ได้มารายงานตัวตามหมายเรียกของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งพระธัมมชโยไม่ได้มารายงานตัวตามหมายจับเนื่องจากมีอาการอาพาธ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พยายามควบคุมตัวอีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 แต่ก็ยังคว้าน้ำเหลว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีครั้งใดที่อาศัยอำนาจพิเศษของ คสช. แต่ก็อาศัยอำนาจตามหมายจับจากศาล และอำนาจปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

สำหรับหมายจับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการฉ้อโกงเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นของศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวนกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยเงินจำนวนหนึ่งถูกบริจาคให้แก่วัดพระธรรมกายในปี 2552

 

และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเช่นกันของการพิจารณาทางสงฆ์ของพระธัมมชโย ในช่วงต้นปี 2558 กระแสข่าวการฉ้อโกงเงินจากสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นกำลังอยู่ในความสนใจ มีการเผยแพร่พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ตามมาด้วยการเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองอย่างไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. ว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก อ้างอิงโดยพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช แต่ครั้งนั้นมหาเถรสมาคมลงมติว่า พระธัมมชโยไม่ปาราชิกเนื่องจากพระลิขิตไม่ใช่คำสั่ง จนมาถึงครั้งนี้การพิจารณาความผิดของสงฆ์ ถูกรัฐบาลฆราวาสเข้ามาจัดการด้วยการปลดสมณศักดิ์ ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ปลดผู้อำนวยการสำนักพุทธ ก่อนที่จะยุติการค้นวัดพระธรรมกายและส่งเรื่องอาบัติ ปาราชิกไปให้ฝ่ายสงฆ์พิจารณาอีกครั้ง

 

การปะทุขึ้นทั้งสองครั้งของคดีวัดพระธรรมกายในยุคการปกครองของ คสช. สะท้อนให้เห็นแนวโน้มและรูปแบบการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. โดยมาตรา 44 ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นและกว้างขวางขึ้น ครอบคลุมไปถึงคำสั่งหลากหลายรูปแบบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจับพระหนึ่งรูป สอดคล้องกับข้อมูลการใช้มาตรา 44 ที่ไอลอว์ได้รวบรวมไว้พบว่า ปี 2557 มีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 1 ครั้ง ปี 2558 มีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 48 ครั้ง ปี 2559 มีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 78 ครั้ง

 

และยังเห็นได้ว่า มาตรา 44 ถูกนำมาใช้ในฐานะกลไกในการผลักดันให้เกิดความรวดเร็วที่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ทั้งที่กฎหมายตามปกติก็ยังมีช่องทางให้บังคับใช้ได้ หรือหากรัฐบาลทหารมองว่า กลไกกฎหมายปกติยังมีช่องว่างอยู่ ความรวดเร็วจากอำนาจพิเศษจากรัฐบาลทหารก็คงไม่ใช่คำตอบที่ดีมากไปกว่า การปฏิรูประบบยุติธรรม ซึ่งอาจจะได้ผลลัพธ์ช้ากว่า แต่ก็จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทุกคนไม่ใช่เฉพาะกรณี  โดยไม่ต้องแลกมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทำลายหลักนิติธรรมระหว่างทาง