ใครออกกฎหมาย? 1: “สภาทหาร-สภาผลประโยชน์” เมื่อคนใกล้ชิดผู้นำประเทศอยู่เต็มสนช.

ด้วยสถานการณ์พิเศษ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูกตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) หรือหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมาย แต่สมาชิกของ สนช. ทุกคนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือน ส.ส.และส.ว. แต่มาจากการแต่งตั้งของหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวนไม่เกิน 250 คน
รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 กำหนดให้หัวหน้าคสช. พิจารณาแต่งตั้ง สนช. จากบุคคล ที่มีความรู้ความสามารถ ต้องมีความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำปฏิบัติหน้าที่ของสนช. วิษณุ เครืองาม ผู้มีส่วนสำคัญกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เคยแถลงไว้ว่า การคัดเลือกยังต้องครอบคลุมจังหวัดพื้นที่ภูมิภาค ครอบคลุมเพศ และวัย 
สนช. หรือ 'สภาทหาร' แต่งตั้งกี่ครั้งมีทหารเกินครึ่งตลอด
ตลอดกว่าสองปีหกเดือน หัวหน้า คสช. ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสนช. ทั้งสิ้นห้าครั้ง รวมทั้งสิ้นแต่งตั้งมาแล้ว 267 คน จากข้อมูลพบว่า สัดส่วนของบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่ใช้คำนำหน้ามียศเป็นทหาร ดังปรากฏตามนี้ 
แต่งตั้งครั้งแรก วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 จำนวน 200 คน เป็นทหาร 105 คน
แต่งตั้งครั้งที่สอง วันที่ 25 กันยายน 2557 แต่งตั้ง 28 คน เป็นทหาร 17 คน
แต่งตั้งครั้งที่สาม วันที่ 22 ตุลาคม 2557 แต่งตั้ง 3 คน เป็นทหาร 2 คน
แต่งตั้งครั้งที่สี่ วันที่ 7 ตุลาคม 2559 แต่งตั้ง 33 คน เป็นทหาร 26 คน
แต่งตั้งครั้งที่ห้า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 แต่งตั้ง 3 คน เป็นมหาร 3 คน 
นับถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560  สนช. มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 250 คน เป็นทหารทุกเหล่าทัพรวมกัน 145 คน (58%) ตำรวจ 12 คน (5%)  ข้าราชการ 66 คน (26%) ภาคธุรกิจ 19 คน (8%) และอื่น ๆ 8 คน (3%) หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน (89%) ของสมาชิกทั้งหมด 
จำนวนสนช.ที่สิ้นสภาพ มีจำนวน 17 คน ลาออก 15 คน เสียชีวิต 2 คน
 
– ลาออกเป็นรัฐมนตรี 8 คน
– ลาออกเป็นองคมนตรี 2 คน 
– ลาออกเป็นป.ป.ช. 1 คน
– ลาออกขาดคุณสมบัติ 2 คน 
– อื่นๆ 2 คน 
จากจำนวนทหารทั้งหมด 145 คน ใน สนช. ชุดนี้ สามารถแบ่งเป็น ทหารประจำการ 90 คน และทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว 55 คน หากแบ่งตามเหล่าทัพ จะเป็น ทหารบก 93 คน ทหารเรือ 28 คน และทหารอากาศ 24 คน  
เราอาจเรียก สนช.ปี 2557 ได้เต็มปากว่า คือ “สภาทหาร” นั่นไม่ใช่แค่เพราะหัวหน้าคสช. เป็นคนเลือกสมาชิกทั้งหมดเข้ามา แต่เพราะสมาชิกส่วนใหญ่คือทหารประจำการและอดีตทหารเกษียณอายุราชการ หากเปรียบเทียบกับการแต่งตั้ง สนช.ปี 2549 พบว่าสัดส่วน มีทหารทั้งประจำการและเกษียณ รวม 65 คน จาก 242 คน หรือคิดเป็นเพียง 26% 
ผู้บัญชาการเหล่าทัพเก่าใหม่มาหมด มั่นคงไม่แพ้คณะรัฐประหาร
สมาชิก สนช. ที่เป็นทหารจำนวน 145 คน ประกอบไปด้วยผู้นำกองทัพทั้งอดีตและปัจจุบัน 14 คน ดูจากช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในกองทัพของแต่ละคนทำให้เห็นว่า ทหารทุกคนที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นสนช.ทุกคน ยกเว้นบ้างคนที่ได้เป็นรัฐมนตรี (รมต.) โดยแบ่งรายชื่อเป็นแต่ละเหล่าทัพ ดังนี้
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) 6 คน คือ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ (1 ตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2551) พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (1 ตุลาคม 2551 – 30 กันยายน 2554) พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2554 – 30 กันยายน 2557) พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558) พลเอก สมหมาย เกาฏีระ (1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559) และ พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ (1 ตุลาคม 2559 – ปัจจุบัน)
ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) 5 คน คือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2553) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2557) พลเอกอุดมเดช สีตะบุตร รมช.กลาโหม (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558) พลเอก ธีรชัย นาควานิช (1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 – ลาออกไปเป็นองคมนตรี) และ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท (1 ตุลาคม 2559 – ปัจจุบัน)
ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) 5 คน คือ พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ (1 ตุลาคม 2551 – 30 กันยายน 2554) พลเรือเอก สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ (1 ตุลาคม 2554 – 30 กันยายน 2556) พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557) พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558) และ พลเรือเอก ณะ อารีนิจ (1 ตุลาคม 2558 – ปัจจุบัน)
ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) 4 คน คือ พลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ (1 ตุลาคม 2551 – 30 กันยายน 2555) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2557) พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2559) และ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง (1 ตุลาคม 2559 – ปัจจุบัน)
เพื่อนเตรียมทหารและผู้ใต้บังคับบัญชาแห่มาเต็มสภา
จากทหารประจำการทั้งหมด 87 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งทหารบกซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก เข้ามารับตำแหน่งสนช.อย่างน้อย 36 คน เช่น พลเอกอักษรา เกิดผล รองเสนาธิการทหารบก หรือ พลโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่หนึ่ง ที่ยังได้เป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย  
ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 13 ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้ามารับตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช. มีอย่างน้อย 17 คน เช่น พลเอกวิลาศ อรุณศรี ที่ปัจจุบันเป็นสนช. ควบตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และถูกตั้งให้นั่งเป็นประธานกรรมการโรงงานยาสูบ (บอร์ดโรงงานยาสูบ) หรือ พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีตคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดบวรศักดิ์ อุวรรโณ ที่ปัจจุบันเป็น สนช. และยังทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟม.) อีกด้วย
คนใกล้ชิดผสมเครือญาติ สายสัมพันธ์ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ
นอกจากความสัมพันธ์ส่วนตัวจากการทำงาน เพื่อนร่วมรุ่น และคนใกล้ชิด ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสนช.ชุดนี้ ยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ อย่างน้อยเจ็ดครอบครัว เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งน้องชายพลเอกปรีชา จันทร์โอชา เป็น สนช. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่น้องชายสองคน คือ พลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ และ พลตํารวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.
ขณะที่ พลเอกธีรชัย นาควานิช และพลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ อดีต สนช. แม้จะลาออกไปปฏิบัติหน้าที่องคมนตรี แต่น้องชายของทั้งสองคนก็ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. ในรอบล่าสุดแทน คือ พลตรีวุฒิชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และพลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ 
อำนาจสุดท้ายของการแต่งตั้ง สนช. แต่ละครั้ง อยู่ในมือของพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. รวมทั้งพลเอกประวิตร และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีบทบาทสำคัญใน คสช. เนื่องจากทั้งหมดเป็นทหารอาจส่งผลให้สัดส่วนของ สนช. ส่วนใหญ่จึงเป็นทหารเป็นหลัก นอกจากนี้ ตามรายงานของไทยรัฐออนไลน์ ยังชี้ว่า มีการแบ่งเป็นโควตา เช่น โควต้ากองบัญชาการกองทัพไทย, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และตำรวจ เป็นต้น 
*การนับทหารที่ยังประจำการทั้งหมด 90 คน นับสถานะของทหารประจำการขณะที่เข้ามารับตำแหน่งสนช.และยังเป็นทหารอยู่ด้วย แม้ว่าปัจจุบันบางคนอาจจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว