หวั่นมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ เปิดช่องคู่แข่งออนไลน์กลั่นแกล้งกัน

วงเสวนาชี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังคลุมเครือในข้อกฎหมาย-ขอบเขตอำนาจเจ้าหน้าที่ มาตรา 15 ใหม่เขียนมาคุ้มครองผู้ให้บริการ แต่ยังเปิดช่องให้คู่แข่งทางการค้ากลั่นแกล้งรีพอร์ตกัน ไม่เอื้อประโยชน์ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์

23 ธันวาคม 2559 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 3 “ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559” โดยมีทั้งนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ ตัวแทนผู้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ภาคประชาชน สื่อมวลชน รวมทั้งผู้ประกอบการให้บริการซื้อขายออนไลน์อย่าง Lazada เข้ามาร่วมพูดคุยกัน

 

มาตรา 14(1) กรอบความผิดชัดเจนขึ้น แต่ปัญหาหมิ่นประมาทยังคลุมเครือ

ตามที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขียนมาตรา 14(1) ใหม่ เพิ่มคำว่า โดยทุจริตหรือหลอกลวง เข้ามา เพื่อป้องกันการเอา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาใช้ฟ้องคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อปิดปากการวิจารณ์และการตรวจสอบสาธารณะ

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ให้ความเห็นว่า มาตรา 14(1) ที่เคยเป็นปัญหาว่าถูกใช้ฟ้องหมิ่นประมาท หลังจากร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คดีที่ฟ้องรวมกับหมิ่นประมาท ศาลจะยกฟ้องหมด ชัดเจนว่าไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ถ้ามีเรื่องตัดต่อภาพ บิดเบือนภาพก็ไปฟ้องกันด้วยข้อหาหมิ่นประมาทแทน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะไม่มีตัวนี้แล้ว และได้เพิ่มให้ชัดเจนขึ้นว่านำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องเว็บไซต์ปลอมดักจับข้อมูลที่เรียกว่าฟิชชิ่ง (Phishing) 

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในส่วนของ ม.14(1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่แก้ไขใหม่ กำหนดกรอบความผิดชัดเจนมากขึ้น

แต่ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ชี้ว่า ตัวกฎหมายยังมีข้อความที่มีปัญหาอยู่ คือคำว่า ข้อมูลที่เป็นเท็จ พ่วงเสริมกับข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งอาจยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาการนำไปใช้ในเรื่องหมิ่นประมาทได้หรือไม่ 

 

มาตรา 15 เขียนใหม่ แยกผู้ให้บริการเป็นหลายแบบ ความรับผิดแยกกัน

ตามที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขียนมาตรา 15 เรื่องความรับผิดต่อเนื้อหาของผู้ให้บริการขึ้นใหม่ โดยให้มีประกาศกระทรวงกำหนดเรื่องขั้นตอนการแจ้งเตือน และหากผู้ให้บริการปฏิบัติตามขั้นตอนคือ ลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายออกเมื่อได้รับแจ้งเตือนแล้ว ผู้ให้บริการก็จะไม่ต้องรับโทษ

ไพบูลย์กล่าวว่า หลังร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประกาศใช้แล้ว จะมีการเขียนประกาศกระทรวงดิจิทัลขึ้นตามมา เพื่อแยกประเภทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามมาตรา 15 ที่ไม่ต้องรับผิดต่อเนื้อหาด้วย ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการเป็นการประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ 2) ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลชั่วคราว หรือ system caching  3) ผู้ให้บริการเก็บข้อมูล เช่น Cloud 4) ผู้ให้บริการอื่นๆ โดยต้องไม่ได้รับผลประโยชน์หรือรายได้จากการที่โพสต์ข้อความผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามถ้าเกิดเป็นผู้เลือกคอนเทนต์ไปใส่เองก็เป็นความผิด

ผศ.ดร.ปารีณาให้ความเห็นว่า การเขียนประกาศกระทรวงเช่นนี้อาจเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขียนไว้ให้ผู้ให้บริการมีความผิด แต่ในกฎกระทรวงที่เป็นกฎหมายลูกกลับบอกว่าไม่เป็นความผิด 

 

มาตรา 15 เปิดช่องกลั่นแกล้ง และอาจไม่ส่งเสริม E-commerce

ศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท lazada (Thailand) กล่าวว่า ยังกังวลในเรื่องการตีความของผู้บังคับใช้กฎหมาย แม้ว่ามาตรา 15 ที่เขียนออกมาใหม่นั้นทำให้ผู้ประกอบการสบายใจขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาคือ ถ้อยคำบอกว่าผู้ให้บริการที่ไม่ได้รับผลตอบแทนหรือประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางตรงหรือทางอ้อมจากการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากทาง Lazada เป็นธุรกิจ ได้รับผลตอบแทนอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการกระทำอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ถ้าข้อกฎหมายมาอย่างนี้ E-commerce ทุกรายคงไม่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นถ้อยคำที่กว้างเกินไป จึงกังวลว่าผู้บังคับใช้กฎหมายอาจมองว่าเราได้ค่าตอบแทนแสดงว่าเราต้องรับผิดด้วย

ศรัทธาอธิบายต่อว่า มาตรา 15 กำหนดให้จัดทำขั้นตอนและวิธีการแจ้งเตือน หรือ “รีพอร์ต” ให้เป็นกิจจะลักษณะเป็นทางการขึ้น ถือว่าสมเหตุสมผล แต่ปัญหาอาจมีว่าการระบุตัวตนของคนแจ้งนั้นจะสามารถยืนยันหรือเชื่อถือได้หรือไม่ว่าเป็นคนตามที่กล่าวอ้างนั้นจริงๆ เพราะ Lazada เองก็ประสบปัญหาที่ผู้ประกอบการร้องเรียนหรือกลั่นแกล้งกันเป็นปกติ ถ้ามีมาตรการที่สามารถใช้ยืนยันตัวตนได้ก็อาจลดปัญหาได้ 

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ให้ความเห็นว่า มาตรา 15 ที่กล่าวว่าผู้ให้บริการไม่ต้องรับโทษ อาจตีความได้ว่าเรายังมีความผิด ตามหลักการแล้วถ้าไม่เจตนาต้องไม่เป็นความผิด มาตรานี้ยังอาจเปิดช่องให้กลั่นแกล้งกันได้ ถ้าผมแกล้งทำเป็นแจ้งให้เว็บคู่แข่งลบเนื้อหา ทีนี้อีกคนไม่ลบ เราก็ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องไปถึงศาล ก็เป็นภาระไปสู่กระบวนการพิสูจน์กันในศาล 

อาทิตย์กล่าวคล้ายกับประสงค์ พร้อมยกตัวอย่างสถิติจากกูเกิ้ลว่า คำร้องให้ลบเนื้อหาจากอินเทอร์เน็ตมากกว่าครึ่งที่กูเกิ้ลได้รับมาจากคู่แข่งทางการค้า ดังนั้นควรเขียนประกาศให้ชัดเจนเพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งกัน 

อาทิตย์ยกตัวอย่างว่า กฎหมายของแคนาดาไม่ได้ใช้หลักให้แจ้งเตือนและต้องลบออกทุกครั้ง แต่ใช้หลักการ notice-notice คือ เมื่อผู้ให้บริการเว็บไซต์ได้รับแจ้งให้ลบเนื้อหาใด ก็ให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าของเนื้อหาก่อน เป็นการเพิ่มเจ้าของเนื้อหาเข้ามาในสมการ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าผู้ให้บริการกับภาครัฐเท่านั้น