ผ่านแล้ว! กฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดช่องคนขายไม่ถูกประหาร เพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องหาพิสูจน์ความบริสุทธิ์

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. จากผลการประชุมที่ประชุมสนช. เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเอกฉันท์ 196 ต่อ 0 เสียง
ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยมีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำเพื่อจำหน่ายให้ผู้ถูกล่าวหาว่าครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่ายมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธ์ และมีการแก้ไขอัตราโทษให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน, แอมเฟตามีน ,แมทแอมเฟตามีน, เอ็กซ์ตาซี และแอลเอสดี
ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน, โคคาอีน, โคเดอีน และฝิ่นยา
ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติด ประเภท 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย
ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ และอาเซติลคลอไรด์
ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม
ครอบครองยาเสพติดเกินกำหนดให้สันนิฐานว่ามีเพื่อจำหน่าย
ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับนี้ แก้ไขเกี่ยวกับปริมาณการครอบครองยาเสพติดประเภทต่าง ๆ เพื่อจำหน่าย จากเดิมที่กำหนดว่าการครอบครองให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายแน่นอน แต่ร่างฉบับนี้แก้ไขให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อครองครองไว้ก่อน
เช่น "การมียาเสพติดประเภท 2 ไว้ในครอบครอง ตั้งแต่ 100 กรัมขึ้นไป (มาตรา 17 วรรคสอง)  หรือ "การมียาเสพติดประเภท 4 และประเภท 5 ไว้ในครอบครอง ตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป” (มาตรา 26 วรรคสอง) ตามกฎหมายเก่า “ให้ถือว่า” เป็นการมีไว้เพื่อจำหน่าย แต่ร่างแก้ไข “ให้สันนิฐานว่า” มีไว้เพื่อจำหน่าย
และ “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 1 ตามปริมาณต่าง ๆ “ให้ถือว่า” เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” แต่ร่างแก้ไขใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานว่า” เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย " (มาตรา 15 วรรคสาม)
การเปลี่ยนคำว่า “ให้ถือว่า” เป็นคำว่า “ ให้สันนิษฐานว่า” จะช่วยให้พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนให้เห็นถึงพฤติการณ์และเจตนาอันแท้จริงของผู้กระทำความผิด พร้อมกันนั้นยังเป็นการช่วยให้ผู้พิพากษาได้มีอิสระมากขึ้นในการใช้ดุลยพินิจเพื่อการกำหนดโทษแก่จำเลย ประกอบกับจำเลยสามารถอ้างข้อเท็จจริงต่างๆ ขึ้นต่อสู้ในศาลได้ เพื่อพิสูจน์เจตนาของตน ทั้งนี้เพื่อเป็นการจับผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ร่างมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ
"การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีน หรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่สารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักบริสุทธิ์ตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
จำหน่ายยาเสพติดโทษ "จำคุกตลอดชีวิต" ถึง "ประหารชีวิต"
ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มีการแก้ไขอัตราลงโทษเกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติดประเภทที่ 1 ให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น การผลิต นำเข้า หรือส่งออก เดิมที่จำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียว เป็นเพิ่มอัตราโทษขั้นต่ำอย่างน้อยสิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต, การทำเพื่อจำหน่าย จากเดิมต้องประหารชีวิตอย่างเดียว เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต และเพิ่มค่าปรับ เป็นต้น
มาตรา 65 วรรคหนึ่ง จะเห็นว่าได้ว่ามีการเปลี่ยนอัตราโทษ "ผู้ที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออก" ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ให้ยืดหยุ่นขึ้น เพราะเดิมมีแต่อัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงค่าปรับเท่าเดิม

กฎหมายเดิม

จำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท"

ร่างแก้ไข

จำคุกตั้งแต่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท

มาตรา 65 วรรคสอง จะเห็นได้ว่าเดิม "การจำหน่ายยาเสพติด" ประเภทที่ 1 มีอัตราโทษประหารชีวิตอย่างเดียว แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขในเรื่องอัตราโทษและเพิ่มในเรื่องค่าปรับขึ้นใหม่ 

กฎหมายเดิม

ประหารชีวิต

ร่างแก้ไข

จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

มาตรา 65 วรรคสาม จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับเดิมได้มีการกำหนดปริมาณยาเสพติด ตามมาตรา 15 วรรคสาม หากมีการแบ่งบรรจุตามปริมาณที่กฎหมายกำหนดก็จะทราบบทโทษที่ชัดเจน แต่ร่างแก้ไขตัดส่วนของการกำหนดปริมาณทิ้งไปจึงมีความคลุมเครือว่าการบรรจุอย่างไร ปริมาณเท่าไร จึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้  

กฎหมายเดิม

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างแก้ไข
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 65 วรรคสี่ ยังคงข้อความไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ "ถ้าการกระทำผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท"
มาตรา 67 จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับเดิมได้มีการกำหนดปริมาณยาเสพติดตามมาตรา 15 วรรคสาม หากมีการแบ่งบรรจุตามปริมาณที่กฎหมายกำหนดก็จะทราบบทโทษที่ชัดเจน แต่ร่างแก้ไขตัดส่วนของการกำหนดปริมาณทิ้งไปจึงมีความคลุมเครือว่าการบรรจุอย่างไร ปริมาณเท่าไร จึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้ เช่นเดียวกับมาตรา 65 วรรคสาม  
กฎหมายเดิม  
ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างแก้ไข

ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 
ร่างพ.ร.บ.บังคับใช้ ผู้ที่ถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิดแต่ยังไม่ได้รับโทษ มีโอกาสได้รับโทษตามพ.ร.บ.ใหม่ 
การบังคับตามร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่แก่ผู้กระทำความผิด ที่การกระทำความผิด ก่อนที่พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ กรณีความผิดที่เกี่ยวกับการจำหน่าย ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แบ่งออกสองกรณี คือ
1.มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้กล่าวว่า ผู้กระทำความผิดที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว ตามมาตรา 15 วรรคสาม 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง ก่อนมีการแก้ไข ให้บังคับใช้โทษตามกฎหมายเดิมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
และมาตรา 8 วรรคสอง ได้กล่าวว่า คดีซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น คู่ความสามารถยื่นคำแถลงต่อศาล ขอเพิ่มเติมการสืบพยานได้ เพื่อพิสูจน์ความผิด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พิสูจน์ความจริงตามกฎหมายใหม่ เพราะกฎหมายเดิมไม่ต้องพิสูจน์มาก เช่น หากยาเสพติดเกินตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นจำหน่ายทันทีลงโทษเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่กฎหมายใหม่อาจเป็นเพียงแค่การครอบครองก็ย่อมได้  
2.มาตรา 9 ได้กล่าวถึง ผู้กระทำความผิดที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังได้รับโทษ ถ้าได้มีการร้องขอ ให้ศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้นมีอำนาจกำหนดโทษใหม่ ตามมาตรา 65 วรรค 1 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม และให้ศาลมีอำนาจไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่จำเป็น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาแล้ว ศาลจะรอลงโทษที่เหลืออยู่หรือปล่อยตัวไปก็ได้
ไฟล์แนบ