#ส่องประชามติ ว่าด้วยการปิดกั้นและดำเนินคดีผู้รณรงค์ Vote NO !!

ลองของใหม่! กกต.แจ้งความดำเนินคดีด้วยหฎหมายประชามติห้าวันหลังประกาศใช้

วันที่ 22 เมษายน 2559 พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ. พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ถูกประกาศใช้ และมีการกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับ ไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับ ผู้ที่เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่น ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือ รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่เพื่อให้ผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งไว้ในมาตรา 61 วรรค 2  
หลังการประกาศใช้กฎหมายได้เพียงห้าวัน ในวันที่ 27 เมษายน 2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง เดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีกับกองทุนแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่นในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ หลังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กด้วยข้อความที่เข้าข่าย หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ให้ประชาชนไม่ลงคะแนนหรือลงคะแนนทางใดทางหนึ่ง  
พลเมืองโต้กลับถูกนำตัวไปสน.หลังจัดกิจกรรมตีเข่าที่กกต.
หลังกลุ่มพลเมืองโต้กลับเผยแพร่วิดีโอคลิป 'อย่างนี้ต้องตีเข่า' ในวันที่ 14 เมษายน 2559 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีกระแสข่าวว่ากกต. จะดำเนินคดีผู้ที่ร่วมแสดงในมิวสิควิดีโอดังกล่าวด้วยมาตรา 61 วรรค 2  ในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงจัดกิจกรรม 'พลเมืองตีเข่า' เต้นประกอบเพลง 'อย่างนี้ต้องตีเข่า' ที่สำนักงานกกต. เพื่อประท้วงต่อกระแสข่าวการดำเนินคดี ในเวลาไล่เลี่ยกับที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม กลุ่ม “คนไทยหัวใจเกิน 100” ก็มารอประท้วงสิรวิชญ์หนึ่งในกลุ่มพลเมืองโต้กลับและมีการอ่านแถลงการณ์และมอบดอกไม้ให้กำลังใจ กกต.  จนเกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย ระหว่างที่มีการจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่พยายามไม่เจรจาไม่ให้จัดกิจกรรมในอาคารศูนย์ราชการซึ่งเป็นที่ตังกกต.โดยอ้างว่าเป็นสถานที่ราชการ ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงจัดกิจกรรมอยู่ด้านนอก ในวันนี้ พันธ์ศักดิ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับถูกนำตัวไปที่สน.ทุ่งสองห้องแต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่เพียงแต่ลงบันทึกประจำวันแล้วปล่อยตัวเขากลับ 
เก็บเลเวล? นักกิจกรรม 'ประชาธิปไตยใหม่' ถูกตั้งข้อหาพ.ร.บ.'พ.ร.บ.ประชามติเพิ่ม
วันที่ 23 มิถุนายน 2559 รังสิมันต์ โรมจากขบวนประชาธิปไตยใหม่ นักกิจกรรมนักศึกษา และสมาชิกสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์รวม 13 คนร่วมกันแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารชี้แจงวิธีการขอใช้สิทธินอกเขตของกกต.ที่เคหะบางพลี พวกเขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารในช่วงเย็นและถูกขังที่สน.บางเสาธงเป็นเวลาหนึ่งคืนหลังถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคสช.3/2558 และข้อหาตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติ (ดูรายละเอียดลำดับเหตุการณ์คดี ที่นี่)
หลังจากนั้ในนวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนนัดบริบูรณ์ แกนนำ นปช.อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี พร้อมพวกรวม 18 คน เข้าพบหลังถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน จากกรณีที่พวกเขาตั้งศูนย์ปราบโกงที่อำเภอบ้านโป่ง
ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ส.ภ.บ้านโป่ง ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่พร้อมเพื่อนนักกิจกรรมอีกสองคนเดินทางไปที่ส.ภ.บ้านโป่งเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 18 คน ระหว่างที่ปกรณ์เดินมาที่รถของเขาเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้นรถและพบว่ามีเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับประชามติอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวปกรณ์ เพื่อนของเขาอีกสองคน รวมทั้งผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ประชาไทอีกคนหนึ่งที่ติดรถปกรณ์ไปที่บ้านโป่งเพื่อทำข่าวไปสอบสวนและกักตัวไว้ ภายหลังจึงมีการตั้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ ในช่วงค่ำวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวภานุวัฒน์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีศูนย์ปราบโกงบ้านโป่งมาตั้งข้อหาในคดีเดียวกันเพิ่มอีกรายหนึ่งด้วย
 
ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 หลังผู้ต้องหาทั้งห้าถูกควบคุมที่สน.บ้านโป่งเป็นเวลาหนึ่งคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็นำตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลฝากขังต่อศาลจังหวัดราชบุรีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคำค้านการขอประกันตัวไว้ด้วยเพราะเห็นว่าเป็นคดีที่มีโทษสูงและผู้ต้องหาอาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดราชบุรีก็ให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 140,000 บาท พวกเขาได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันเดียวกัน
อีสานดุ จับคนใส่เสื้อโหวตโน รวบคนตะโกนโนโหวตกับแจกใบปลิวโหวตโนเข้าคุก  
วันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ที่จังหวัดอุบลราชธานี อติเทพ ชายหนุ่มอายุ 25 ปี ซึ่งสวมเสื้อสีดำมีข้อความ "VOTE NO รธน." ด้านหลัง ขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งพบเรียกให้อติเทพหยุดรถ สอบถามที่อยู่และยึดเสื้อที่เขาสวมไว้เป็นหลักฐาน 
ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนเชิญตัวอติเทพมาให้ปากคำและเข้าค้นบ้านของเขาเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมแต่ก็ไม่พบหลักฐานใดๆ อติเทพให้การกับพนักงานสอบสวนว่า เขาแลกมาจากเพื่อนที่พบกันในงานแห่เทียนพรรษาเพราะเห็นว่าเท่ห์ดี หลังการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนปล่อยตัวอติเทพกลับบ้านพร้อมกับบอกว่า หากมีหลักฐานเพิ่มเติมก็จะเรียกมาสอบปากคำอีก 
วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่สภ.อ.พิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จับกุมวิชาญ ชายอายุ 47 ปีขณะกำลังยืนตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาซื้อของในตลาดเทศบาลพิบูลมังสาหาร ไม่ให้ออกไปใช้สิทธิลงประชามติ จากการสอบสวนวิชาญอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติ จึงมาเชิญชวนประชาชนที่มีความเห็นคล้ายกันให้ไม่ไปลงประชามติ
เจ้าหน้าที่สงสัยว่าวิชาญอาจจะเป็นผู้มีจิตบกพร่อง จึงส่งตัวให้แพทย์โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ตรวจสอบ
สภาพจิตใจ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นมีสภาพจิตปกติ จึงแจ้งข้อกล่าวหาก่อความวุ่นวาย โดยมุ่งหวังไม่ให้ผู้มีสิทธิออกไปใช้สิทธิหรือใช้สิทธิในทางใดทางหนึ่ง ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ
ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนนำตัววิชาญไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อขออำนาจศาลฝากขังหลังควบคุมตัววิชาญไว้ที่สน.สองคืน ศาลตีราคาประกันที่ 200,000 บาท วิชาญไม่มีเงินประกันจึงถูกควบคุมที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี 
วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 กฤษกร ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ให้ข้อมูลว่า เมื่อประมาณสามสัปดาห์ก่อนเขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและประกาศจุดยืนไม่รับร่าง หลังโพสต์ข้อความได้ไม่นานมีเจ้าหน้าที่โทรมาขอให้ลบข้อความแต่เขาก็ไม่ลบ ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 กฤษกรได้รับข้อมูลว่า กกต.จังหวัดอุบลราชธานีแจ้งความดำเนินเขาด้วยมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ฐานก่อความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติไว้แล้ว โดยสน.วารินชำราบกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อออกหมายเรียกให้กฤษกรมารับทราบข้อกล่าวหา  

วันที่ 6 สิงหาคม  2559 หนึ่งวันก่อนวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จับกุมสองนักกิจกรรมได้แก่จตุภัทรหรือไผ่ นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่และวศิน นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่ตลาดสดภูเขียวขณะเดินแจกเอกสารรณรงค์ Vote No เป็นแถลงการณ์ 16 เล่ม และใบปลิวกว่า 100 ใบ

 

จตุภัทร วศิน ถูกคุมขังที่สภ.ภูเขียว ภาพจากเฟซบุ๊กของ Sarayut Tangprasert
ทั้งสองถูกควบคุมตัวที่สภ.ภูเขียวเป็นเวลาสองคืน ก่อนที่จะถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 (1) ฐานก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเรียบร้อยในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสองปฏิเสธที่จะขอประกันตัวและจะอดอาหารประท้วง แต่จตุภัทรขอให้วศินประกันตัวเพื่อกลับไปเรียน วศินจึงประกันตัวออกไปโดยใช้หลักทรัพย์ 150,000 บาท ส่วนจตุภัทรถูกนำตัวไปควบคุมตัวที่เรือนจำและอยู่ระหว่างการอดอาหารประท้วง(ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2559)  
เหนือ -ใต้ก็ไม่น้อยหน้า ตั้งข้อหาทนายโพสต์เฟซบุ๊กที่กระบี่ – จับ/ขัง ลุงแจกใบปลิวที่เชียงใหม่  
16 กรกฎาคม 2559 ชูวงศ์ ทนายความ และแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจังหวัดกระบี่ เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนสภ.เมืองกระบี่ หลังถูกออกหมายจับในความตามพ.ร.บ.ประชามติฯ หลังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า จะไปลงประชามติ แต่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ชูวงศ์ยอมรับว่าเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่เป็นการระบายความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้นไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง พนักงานสอบสวนให้ชูวงศ์ประกันตัวโดยวางเงินประกัน150,000 บาทและปล่อยตัวในวันเดียวกัน 
21 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่พบว่ามีการนำใบปลิวระบุข้อความ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. VOTE NO" พร้อมรูปสัญลักษณ์มือชูสามนิ้วไปเสียบไว้ตามที่ปัดน้ำฝนรถในลานจอดรถของห้าง ต่อมาในวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมสามารถ ชายอายุ 63 ปี ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้นำใบปลิวไปเสียบ สามารถถูกนำตัวไปตั้งข้อหาตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และถูกฝากขังที่เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท 
จับล็อตใหญ่ อดีตส.ส.เพื่อไทยและผู้ใกล้ชิด กรณีต้องสงสัยมีเอี่ยวจดหมาย 'บิดเบือน' ประชามติ
หลังมีกรณีเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ตรวจพบจดหมายเชิญชวนคนไปลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 ทหารจากค่ายกาวิละนำกำลังเข้าควบคุมตัวบุคคลรวมเจ็ดคนไปที่ค่ายเพื่อสอบถามและเตรียมดำเนินคดีเพราะสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมาย ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวทัศนีย์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างรอเข้าพบ ผบ.ตร. เพื่อแสดงความบริสุทธิกรณีที่ถูกเชื่อมโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายในพื้นที่ภาคเหนือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญแจ้งว่า การควบคุมตัวครั้งนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 หลังถูกควบคุมตัว ทัศนีย์ถูกส่งไปควบคุมที่มทบ.11 ร่วมกับบุคคลอีกเจ็ดคนที่ถูกควบคุมตัวมาจากเชียงใหม่ 
ภาพการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาคดีจดหมายประชามติที่เชียงใหม่ จากเพจ Banrasdr Photo
ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ขยายผลการจับกุมทำให้ในคดีนี้มีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 11 คน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาสิบคนไปที่ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผัดแรกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209และ 210 ฐานอั่งยี่ – ซ่องโจร รวมทั้งความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งสิบประกันตัว ทั้งนี้จากที่เบื้องต้นมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวรวม 11 คน แต่ถูกนำตัวมาฝากขังเพียงสิบคนนั้น คาดว่าผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่กันไว้เป็นพยาน
ภาพ thumbnail ต้นฉบับจากเพจ Banrasdr Photo กรณี 4 นักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวประชาไทอีกหนึ่งคนถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติที่สน.บ้านโป่ง หลังเดินทางไปให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีจากการเปิดศูนย์ปราบโกงแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถแล้วพบว่ามีเอกสารรณรงค์โหวตโน