แผ่นดินอุดมสมบูรณ์: สำรวจชุมชนที่รับผลกระทบจากรัฐ หลังรัฐประหาร 2557

ผืนแผ่นดินไทยเป็นที่ยอมรับว่ามีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก การคลอดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ในช่วงทศวรรษที่ 2500 ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติจากทั่วสารทิศมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ เกินกว่าห้าทศวรรษการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชุนและผู้คนจำนวนมาก
หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ชุนชนหลายแห่งถูกละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การที่เจ้าหน้าที่รัฐบุกไล่รื้อชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล หรือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้นายทุน ซึ่งมีชุมชนอย่างน้อย  22 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบ
++ผลกระทบจากแผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้
คำสั่ง คสช. ฉบับที่64/2557 และ 66/2557++
ชุมชนแม้อยู่ก่อนก็ต้องออก
ศรีสะเกษ: หลังรัฐประหารเจ้าหน้าที่รัฐอ้างคำสั่ง คสช. เพื่อขับไล่ชาวบ้านตำบลสำโรงปราสาท อำเภอปรางกู่ จังหวัดศรีสะเกษ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และอพยพจากพื้นที่ รวมทั้งดำเนินคดี โดยอ้างว่าบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์โคกป่าแดง โดยชาวบ้านเล่าว่า ประมาณปี 2515 ประชาชน ผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน ได้ร่วมกันกำหนดเขตระหว่างที่สาธารณะประโยชน์กับพื้นที่ชาวบ้าน แต่ต่อมาภาครัฐแต่งตั้งคณะกรรมการชี้แนวเขต โดยได้ทับรวมที่ดินของชาวบ้าน ที่มีเอกสารสิทธิเข้าไปด้วย  
ตรัง: วันที่ 18 มิถุนายน 2557 ชาวบ้านบ้านทับเขือ-ปลักหมู ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ถูกคำสั่งให้รื้อถอนบ้าน และสวนยางพาราออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ขณะที่ชาวบ้านยืนยันเข้ามาบุกเบิกตั้งแต่ปี 2510 แต่การประกาศเขตอุทยานฯ ในปี 2525 ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ที่ดำเนินงานภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีมติคณะรัฐมนตรีรับรอง แต่หลังรัฐประหารเจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้คำสั่ง คสช. มาเร่งดำเนินคดี จับกุม และขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่    
ไม่รื้อออกเดี๋ยวถอนให้
ร้อยเอ็ด: วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่รัฐนำโดยทหาร เข้ามาในพื้นที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองสิม อำเภอปทุมรัตต์  จังหวัดร้อยเอ็ด ให้ชาวบ้านไปลงชื่อเพื่อยืนยันยอมออกจากพื้นที่ภายใน 13 กุมภาพันธ์ หากไม่ปฏิบัติตาม จะเข้ามาทำการอพยพออกเอง พร้อมจะจับกุมและดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ได้จับพระไป 1 รูป พร้อมขู่บังคับว่าห้ามกลับเข้ามา หากพบว่าได้หลบเข้ามาที่วัดนี้อีก จะจับสึกโดยทันที
ทั้งนี้ชาวบ้านพยายามชี้แจงว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2519 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ดสาขาเกษตรวิสัย ร่วมกับสภาตำบลโพนสูง ได้เข้ามาสำรวจและรังวัดปักแนวเขตที่สาธารณประโยชน์โคกหนองสิม โดยการดำเนินงานดังกล่าวได้ปักแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ไปซ้อนทับที่ดินของราษฎร และชาวบ้านได้ต่อสู้เรียกร้องในเรื่องที่ดินทำกินเรื่อยมานับแต่นั้น อย่างไรก็ตามในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับฟังแต่อย่างใด
บุรีรัมย์: ต้นเดือนกรกฎาคม 2557 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดบุรีรัมย์ (กอ.รมน.) แจ้งให้ชาวบ้านหกชุมชน ในตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ออกจากพื้นที่ด้วย หากไม่ออกจะเข้ามารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผล ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐนำโดยทหารพร้อมอาวุธครบมือ เข้าไปในพื้นที่เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งจับกุมแกนนำชาวบ้านและข่มขู่คุกคาม
สำหรับพื้นที่โนนดินแดงอยู่ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ซึ่งก่อนหน้าการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ ในปี 2539 ชาวบ้านเคยใช้เป็นพื้นที่ทำกิน ตั้งแต่สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ช่วงทศวรรษที่ 2510 รัฐอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ ด้วยข้ออ้างเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้พื้นที่นี้ได้ถูกนำให้เอกชนเช่าทำสวนป่าหลังเคลื่อนย้ายชาวบ้าน
              รายชื่อ 6 ชุมชน ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 
              – บ้านเก้าบาตร                           – บ้านเสียงสวรรค์ 
              – บ้านคลองหินใหม่                    – บ้านลำนางรองใหม่ 
              – บ้านตลาดควาย                       – บ้านป่ายางป่ามะม่วง
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ไม่ปฏิบัติตามมติส่วนกลาง
เพชรบูรณ์: ปลายเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและภูผาม่อน มีคำสั่งให้ชาวบ้าน บ้านโคกยาว ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ รื้อสิ่งปลูกสร้าง และให้ลงชื่อในเอกสารยินยอมออกจากพื้นที่ ต่อมา 24 มิถุนายน 2557 ชาวบ้านยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นให้ผ่อนผันชาวบ้านไปก่อน แต่หลังจากนั้นมีการสั่งห้ามจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตและมีการข่มขู่
ชัยภูมิ: ช่วงเดือนสิงหาคม 2557 จังหวัดชัยภูมิ มีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย และบ้านบ่อแก้ว ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ อย่างไรก็ดีชาวบ้านได้เดินทางไปเรียกร้องกับหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติปฏิบัติหน้าที่ ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน แต่ล่าสุดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่รัฐนำโดยทหาร เข้าปิดประกาศให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ชุมชนโคกยาว โดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และเก็บพืชผล ภายใน 15 วัน
สุราษฎร์ธานี: ที่ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2558 ทหารเข้าไปสำนักงานกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ขอรายชื่อสมาชิกกลุ่มทุกคน โดยอ้างว่าสมาชิกชุมชนไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนที่สั่งห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่แปลงไทยบุญทอง อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้แจ้งกับทหารว่า วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ตัวแทน สกต.ได้ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เข้าไปดูแลสิ่งปลูกสร้างและรดน้ำต้นไม้ในช่วงกลางวันได้ แต่ทหารยืนยันห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์ หากไม่ทำตามจะถูกนำไปปรับทัศนคติ โดยก่อนหน้านี้ทหารก็เคยเรียกสมาชิก สกต.ไปปรับทัศนคติมาแล้ว
สำหรับชุมชนเพิ่มทรัพย์อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านหมากและป่าปากพัง ตั้งแต่ปี 2518 ก่อนที่ต่อมาปี 2528 บริษัทไทยบุญทอง จำกัด ขอใช้พื้นที่ในการปลูกปาล์มในพื้นที่ป่าสงวน และสิ้นสุดสัญญาในปี 2543 แต่บริษัทยังประกอบกิจการปกติถึงปี 2556
คลองไทรพัฒนา: ถูกยิงตายศพที่สี่
พื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งมีพิพาทของชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา กับบริษัทจิงกังจุ้ยพัฒนา จำกัด โดยเมื่อปี 2550 ศาลตัดสินให้ ส.ป.ก. ชนะคดีบริษัทฯ และให้บริษัทอาจจากพื้นที่์ อย่างไรตามวันที่ 14 ตุลาคม 2557 กอ.รมน.สุราษฎร์ธานี นำกำลังเข้าพื้นที่คลองไทรพัฒนา โดยระบุว่าเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยจากการมีปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. โดยประชาไทรายงานว่าก่อนการเข้ามาของทหารมีกลุ่มบุคคลที่เป็นนายหน้าและกลุ่มทุน รวม 13 คนไปร้องเรียนกับ กอ.รมน.สุราษฎร์ธานีว่าชุมชนคลองไทรเป็นโจรขโมยผลปาล์มน้ำมัน และมีอาวุธสงคราม
ล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 “ใช่ บุญทองเล็ก” ชาวชุมชนคลองไทรพัฒนา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ มีคนเสียชีวิตก่อนแล้ว 3 ราย และตำรวจยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้
ปัญหาที่ดินภาคเหนือ
บ้านพรสวรรค์ ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 ชาวบ้านพบบุคคลแต่งกายคล้ายทหารเข้ามาถ่ายรูปบ้านเรือนในหมู่บ้านถึง 3 ครั้ง โดยอ้างว่าทางราชการส่งมา ไม่ได้มีการดำเนินการอะไร ชาวบ้านยังไม่ต้องตกใจ ต่อมาช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ชาวบ้านได้ข่าวว่าอาจจะมีการเข้าไล่รื้อชุมชนในช่วงวันที่ 5 มีนาคม หรือในช่วงหลังจากนั้น
ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านบ้านพรสวรรค์เคยถูกจับกุมและดำเนินคดีในปี 2539 และในปี 2556 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ป่าสงวน แต่ชาวบ้านได้มีการยื่นหนังสือขอให้ชะลอการบังคับคดีเอาไว้ก่อน และมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา บ้านพรสวรรค์เคยก่อตั้งเป็นหมู่บ้านนำร่องในการจัดทำโฉนดชุมชน ขณะที่ยังไม่เคยมีความชัดเจนจากรัฐถึงพื้นที่ที่จะมีไว้รองรับหากชุมชนย้ายออกจากพื้นที่่นี้ ทั้งนี้ชาวบ้านเล่าว่าหมู่บ้านพรสวรรค์ได้มีการเข้ามาบุกเบิกตั้งชุมชนตั้งแต่ปี 2517 โดยสมัยก่อนพื้นทีมีลักษณะเป็นที่รกร้างและป่าเสื่อมโทรม ในช่วงแรกได้มีการดำเนินการติดต่อขอใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนจากทางกรมป่าไม้ตามกฎหมายแล้ว
พื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ
-ชุมชนชนเผ่าลาหู่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ถูกดำเนินคดีและถูกยึดที่ดินทำกินกว่า 3,000 ไร่
-บ้านห้วยหก ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดง ดำเนินคดี ยึดที่ดิน และตัดฟันผลผลิตทางการเกษตรชาวบ้านได้เงินชดเชยครอบครัวละ 5,000 บาท
 
-บ้านเลาวู ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติผาแดงยึดพื้นที่ทำกินและดำเนินคดีกว่า 1,500 ไร่
คาดการณ์ว่ามีพื้นที่อื่นอีกไม่ต่ำกว่า 20 แห่งที่ได้รับผลกระทบ
++ผลกระทบจากกรณีขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม++
ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้น ชาวบ้านบ้านนามูล ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เริ่มคัดค้านของโครงการขุดเจาะสำรวจ ปิโตรเลียม ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เนื่องจากกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐนำโดยทหาร เข้ามาคุ้มกันบริษัทอพิโก้ ในขณะทำการขนย้ายอุปกรณ์สำหรับขุดเจาะปิโตรเลียม ทั้ง กอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น ยังคงให้ทุกฝ่ายเดินหน้า โดยกล่าวว่าถ้าชาวบ้านพูดไม่ฟังจะต้องใช้กฎอัยการศึก นอกจากนี้ผลกระทบนี้ยังเกิดที่บ้านหนองแซง ตำบลนาตาล อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน
++ผลกระทบจากกรณีเหมืองแร่++
ก่อนรัฐประหารชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มักถูกคุกคามและปะทะกันอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มาคุ้มครองบริษัทเหมืองอยู่เป็นประจำ หลังรัฐประหารก็เช่นกัน ช่วงเดือนมิถุนายน มีนายทหารได้เข้ามาในหมู่บ้าน 4 ครั้ง โดยไม่ได้มีการนัดหมายหรือประสานงานมายังกลุ่มฯ บางคนอ้างเป็นทหารแต่ไม่เปิดเผยชื่อ บางคนอ้างเป็นทหารพราน บางคนอ้างว่ามาจากกองทัพภาคที่ 2 บางคนอ้างว่ารับคำสั่งมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยนายทหารที่เข้ามาจะสอบถามข้อมูล รายละเอียด และความต้องการต่างๆ ของชาวบ้าน โดยไม่มีหลักฐานที่เป็นคำสั่งจากหน่วยงานต้นสังกัด ภารกิจ หรือรายละเอียดของการปฏิบัติงาน มาแสดง
ขณะที่บ้านแหง ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ทหารได้เข้ามาในพื้นที่หมู่บ้าน อ้างว่าใช้กฎอัยการศึกเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ข้อพิพาทสร้างเหมืองแร่หินลิกไนต์ ชาวบ้านยินยอมและพาไปดูสถานที่จะมีโครงการเหมืองแร่หินลิกไนต์ ซึ่งหลังจากทหารได้ตรวจสอบพื้นที่แล้ว ทหารอ้างว่าสามารถทำได้เพราะเป็นป่าไผ่ ถ้ามีการจัดทำโครงการขึ้นจะเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ