“แถลงข่าว”-“ทำแผนฯ” กับสิทธิผู้ต้องหา : อาชญากรรมที่รัฐเป็นคนก่อ

สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุด 
ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้
นฐานที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกคน พึงได้รับการคุ้มครอง 
อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้สื่อข่าวหลายครั้ง โดยเฉพาะการจัดแถลงข่าว หรือจัดทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ในคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะชน ก็มีผลทำให้สิทธิดังกล่าวได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร
การแถลงข่าวการจับกุม 'ชายชุดดํา' 
วันที่ 11 กันยายน 2557 ที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จัดแถลงผลการจับกุมกลุ่มชายชุดดําที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิด ยิงใส่เจ้าหน้าที่ ระหว่างการชุมนุมบริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 จนเป็นเหตุให้ พล.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม (ตําแหน่งในปัจจุบัน) เสียชีวิต 
พล.ต.อ. สมยศ กล่าวว่า ค่อนข้างมั่นใจการจับกุมครั้งนี้ว่าเป็นผู้กระทําความผิดอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งหมด ให้การรับสารภาพ ว่าเป็นกลุ่มชายชุดดําที่ก่อเหตุดังกล่าวจริง ทั้งนี้ระหว่างแถลงข่าวการจับกุม มีการนําผู้ต้องหาทั้งหมดมาใส่ชุดสีดําและพันแขนด้วยผ้าสีแดง ใส่หมวกไหมพรมสีดำ นั่งเรียงหน้ากระดานให้นักข่าวถ่ายภาพ

 
 
สื่อหลายสำนักเสนอข่าวดังกล่าวในลักษณะที่ว่า บุคคลตามภาพถ่ายเหล่านั้น คือ 'ชายชุดดํา' ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ พล.อ. ร่มเกล้า เช่น 
 
 

 

 
จะเห็นว่า การนําเสนอข่าวในลักษณะนี้สร้างความเชื่อบางอย่างให้กับสังคม จนเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เช่น ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า โพสขอบคุณเจ้าหน้าที่ตํารวจในสื่อสังคมออนไลน์ หรือ กรณีที่ ถาวร แสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันถึงการมีอยู่ของชายชุดดําและชื่นชมการทํางานของเจ้าหน้าที่ตํารวจในครั้งนี้
 
กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว

 
การจัดแถลงข่าวในลักษณะเช่นนี้ ดูจะขัดกับแนวปฏิบัติและระเบียบของสตช.หลายๆข้อ เช่น

 
คําสั่ง สตช. ที่ 855/2548 ซึ่งกําหนดแนวทางการปฎิบัติการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนดังนี้

 
1.2.1 ผู้มีอํานาจหน้าที่ให้ข่าว แถลงข่าว หรือ ให้สัมภาษณ์ต้องปฏิบัติภายในขอบเขตอํานาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ควรระมัด
ระวังถ้อยคํา หรือกิริยาท่าทาง อันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ
ของผู้อื่น และควรใช้ถ้อยคําที่เป็นกลางเพื่อไม่ให้เป็นการประจาน ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น

 
1.2.2.5 ห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ในกรณีที่ เป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบหรือเสียหายต่อคดี โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น

 
1.2.4 ห้ามนําหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าวแถลงข่าวหรือ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการ

 
หรือ คําสั่ง สตช. ที่ 465/2550 ที่กําหนดว่า 
 
ห้ามหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของผู้ต้องหา ในระหว่างการควบคุมของตํารวจทั้งภายในและภายนอกที่ทําการหรือสถานีตํารวจเว้นแต่พนักงานสอบสวนดําเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี หรือได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา เหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย

 
 
บังคับ 'ทำแผนฯ' อีกหนึ่งเครื่องมือที่กระทบสิทธิผู้ต้องหา

 
นอกจากการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวแล้ว การทำแผนประทุษกรรม หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า กาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ที่ให้ผู้ต้องหามา "ทำซ้ำ" การกระทำที่ตนสารภาพในชั้นสอบสวน ต่อหน้าผู้สื่อข่าวและสาธารณชน ก็มีผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ไม่น้อย 

 
โดยหลัก 'การทำแผนฯ' มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตํารวจใช้ศึกษากลวิธีหรือขั้นตอนในการกระทําความผิดของคนร้าย อันจะทำให้การสืบสวนเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น เท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ต้องหามาแสดงการกระทำผิดซ้ำ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการปรักปรำตนเอง ทั้งนี้การนําชี้ที่เกิดเหตุประกอบคํารับสารภาพ เป็นพยานหลักฐานที่ยังไม่เพียงพอจะนําใช่ลงโทษจำเลยได้  ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813-2814/2523 ที่วางไว้ว่า ลำพังคำรับสารภาพ ชั้นสอบสวน และบันทึกชี้สถานที่เกิดเหตุ ประกอบคำรับสารภาพ ไม่เพียงพอที่จะใช้ลงโทษจำเลยได้ 
คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เกาะเต่า ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมากในปี 2557 สื่อหลายสำนักจึงรายงานข่าวในวันที่ผู้ต้องหาชาวพม่าถูกพาตัวมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพบริเวณที่เกิดเหตุ และไทยรัฐทีวีก็เป็นสื่อหนึ่งที่นำเสนอข่าวโดยมีภาพจําลองประกอบเหตุการณ์ เพื่อลําดับขั้นตอนในการก่อเหตุขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งการที่สาธารณชนได้เห็นภาพผู้ต้องหา แสดงท่าทางการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาผ่านสื่อ ก็ย่อมมีผลทำให้สาธารณชนบางส่วน เข้าใจว่าผู้ต้องหาคือผู้กระทำผิด ก่อนจะมีการพิสูจน์ในชั้นศาลได้ไม่ยาก
   
'ทำแผนฯ' ต่อหน้านักข่าว ขัดคำสั่งสตช.
 
นอกจากนี้ การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ที่มีการให้สื่อหลายสำนักเข้าไปทำข่าว ก็อาจขัดต่อ คําสั่ง สตช. ที่  855/2548 ข้อ 2.4 ซึ่ง ห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทําข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานําพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคํารับสารภาพ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใดๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหา หรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหาย และยังต้องให้ข้อมูลในลักษณะที่เป็นกลางอีกด้วย

 
ทั้งนี้ ในขณะที่สื่อไทยส่วนหนึ่งเลือกที่จะเสนอข่าวการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ที่ทำคดี ในลักษณะฟันธงและสร้างความชอบธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ จนส่งผลให้สังคมพิพากษาผู้ต้องหาล่วงหน้าไปแล้วนั้น สื่อต่างประเทศ อย่าง เดอะ เทเลกราฟ กลับเสนอข่าวว่า ประชาชนที่มาดูการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ไม่เชื่อม้ั่นในกระบวนการดังกล่าว เพราะมองว่า ผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ภายใต้การชี้นำและคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 
 
ความเห็นต่อการแถลงข่าวและการทำแผนฯ

 
ทั้งการแถลงข่าว และการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ล้วนมีผลกระทบในด้านลบต่อสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษา ของผู้ต้องหาในคดีอาญา ก่อนหน้านี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมาย เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแถลงข่าว และการทำแผนประกอบคำรับสารภาพไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น 

 
พ.ต.อ.ชโลธร สิทธิปัญญา พนง.สืบสวนสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ กองบังคับการตํารวจนครบาล 2 ตัวแทนจาก สตช. เคยให้ความเห็นไว้ว่า ตามกฎหมายให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ที่จะพิจารณาว่าจะมีการแถลงข่าวหรือควรนําผู้ต้องหาไปทําแผนประกอบคํารับสารภาพหรือไม่ แต่ในความคิดของผู้บังคับบัญชาก็จะมองว่าการแถลงข่าวส่วนหนึ่งเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยงาน และกรณีที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการปรามคนที่คิดกระทําผิด

 
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ชโลธร เห็นว่า การนําผู้ต้องหาไปทําแผนฯ ควรให้เป็นไปเพื่อให้ได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ชัดเจนสามารถเอาผิดผู้กระทําผิดได้ ถ้าไม่ได้เป็นไปเพื่อเป็นจุดประสงค์ดังกล่าวก็ไม่จําเป็นต้องทำ 

 
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช จากสํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยให้ความเห็นไว้ว่า การเสนอข่าวอาชญากรรมในปัจจุบัน มีการเผยแพร่ภาพผู้ต้องหาในคดีอย่างชัดเจน ทั้งในการนําผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือนําผู้ต้องหาไปทําแผนประกอบคํารับสารภาพ และมีการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา การปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องหา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 ที่ระบุว่า ก่อนมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ถือว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ 

 
ขณะที่ นายสมชาย หอมลออ อดีตประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้ามีการรับสารภาพของจําเลยต่อหน้าพนักงานสอบสวนและทนายความของจําเลย ก็น่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอที่น่ารับฟังได้ไม่น้อยไปกว่าการนําผู้ต้องไปทําแผนประกอบคํารับสารภาพ การจัดทําแผนฯ ควรทําในเฉพาะกรณีที่เชื่อว่าจะสามารถทําให้ได้พยานหลักฐานเพิ่มเติม 

 
ส่วนการนําผู้กระทําผิดมาแถลงข่าว ก็ไม่ควรนําเสนอถึงวิธีการของการกระทําความผิด แต่ควรมุ่งถึงเหตุปัจจัยที่ทําให้ผู้กระทําผิดก่ออาชญากรรมเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่สังคม เพราะถ้านําเสนอเรื่องวิธีการมาก อาจทําให้เกิดการลอกเลียนแบบและการเผยแพร่ภาพการประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาก็เหมือนสังคมยอมรับว่าการแก้แค้นของผู้เสียหายสามารถทําได้ อีกทั้งการนําเสนอข่าวสื่อมักจะเสนอให้ผู้ชมเชื่อไปแล้วว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ที่กระทําผิดจริง ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด จึงอยากให้สื่อฯ และสังคมไทยให้ความสําคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปกครองแบบนิติรัฐเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีที่เกาะเต่าว่า การนําเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์รวมถึงบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในคดีออกสู่สาธารณะเป็นจํานวนมาก บางสํานักข่าวนําเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งการนําข้อมูลของผู้ตายและภาพข่าวมาเผยแพร่ซ้ําย่อมเป็นการตอกย้ําถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบกระเทือนต่อครอบครัวของผู้เสียหายอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา รวมถึงอาจส่งผลต่อรูปคดี และการสัมภาษณ์ล่ามถึงรายละเอียดคําให้การต้องมีจรรยาบรรณในการรักษาความลับ 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

 

ไฟล์แนบ