นักวิชาการประสานเสียง ดันกฎหมายนิรโทษกรรม ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 56 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) จัดงานหัวข้อ "108 เหตุผลทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง" 
เปิดตัวเลข นักโทษ1,888 คนจากความขัดแย้งทางการเมือง
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) กล่าวว่า มีประชาชนทั้งที่ร่วมชุมนุมและไม่ได้ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,833 คน นับเป็น 1,451 คดี รวมถึงยังมีหมายจับที่ยังจับกุมตัวผู้ต้องหาไม่ได้อีกหลายร้อยคดีในหลายจังหวัด และยังมีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์อื่นอันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหารประมาณ 55 คน โดยสรุป ตัวเลขประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร แล้วทั้งสิ้น 1,888 คน
ศปช.พบว่า การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีสาเหตุสำคัญจากการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างกว้างขวางโดยไม่ต้องรับผิด เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จนมีผู้เสียชีวิต มีการจับกุมแบบเหวี่ยงแห การซ้อมทรมาน ยัดของกลาง ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านความยุติธรรมไม่ได้ทำหน้าที่เอื้ออำนวยความยุติธรรมปกป้องสิทธิเสรีภาพ แต่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพ ป้องปราม และกดทับประชาชน ยังมีกรณีศาลใช้ดุลพินิจที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจ เช่น การไม่ยอมให้ประกันตัว การไม่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
รศ.ดร.กฤตยา กล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันผลกระทบจากพรก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังปรากฏค้างอยู่ เห็นจากการออกหมายจับแล้วไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่คดีมีโทษเบา พนักงานอัยการยังสั่งฟ้องอยู่เรื่อยๆ และยังคงอุทธรณ์ในคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง เช่น คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ
รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมจึงจำเป็น เพื่อแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรัฐ และคืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี ในระยะยาว ไม่เพียงแต่ต้องผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคง แต่ต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งยวง ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ตำรวจ อัยการ ศาล ตลอดจนถึงเรือนจำ
ย้อนประวัติการนิรโทษกรรมในสยาม ร้อยละ 72.7 อภัยให้ชนชั้นนำ
ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พม่ามีแนวโน้มที่จะปล่อยนักโทษทางการเมือง และยุบเลิกกองกำลังความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิชนกลุ่มน้อย ส่วนกัมพูชาก็พระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้นำฝ่านค้าน นับได้ว่าภูมิภาคอาเซียนกำลังมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สำหรับสยามประเทศไทย ใน พ.ศ. 2556 เรากลับต้องมาพูดเรื่อง 108 เหตุผลที่ต้องนิรโทษกรรมนักการเมือง
"นับเป็นความน่าเศร้าอย่างยิ่ง เพราะแท้ที่จริงแล้ว เราไม่ควรจะมีเหตุผลใดๆ ที่จะมี "นักโทษการเมือง" ที่เกิดจากการ คิด พูด อ่าน เขียน ที่มีความเห็นไม่ตรงกับอุดมการณ์รัฐแล้วในโลกปัจจุบัน" ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า นับแต่พ.ศ.2475 จนปัจจุบัน เป็นเวลา 81 ปี สยามประเทศไทยออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ ซึ่งมีทั้งการนิรโทษกรรมให้ความผิดฐานเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความผิดฐานก่อกบฎ ความผิดจากการก่อรัฐประหาร ความผิดจากการต่อต้านสงครามของญี่ปุ่น ความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง และความผิดจากการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
"เฉลี่ยแล้ว 3 ปีครึ่ง เรามีกฎหมายนิรโทษกรรม 1 ฉบับ เหตุที่มีมากเช่นนั้น เพราะเป็นการรวมการรัฐประหาร 10 ฉบับ และความผิดฐานกบฏ 6 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำ คิดเป็นร้อยละ 72.7 ขณะที่การนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับในเหตุการณ์สำคัญ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กลายเป็นตลกร้ายทางการเมือง เพราะกฎหมายที่มุ่งนิรโทษกรรมความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองทั้ง 3 ฉบับกลายเป็นการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ไปพร้อมกันด้วย" ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว
ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า ผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหารกลายเป็นบาดแผลที่ยากจะสมาน และยังปรากฏนักโทษการเมืองที่ถูกจองจำมาเป็นเวลานานนับปีอยู่หลายร้อยคน นักโทษการเมืองจะต้องหมดไปจากประเทศไทยด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมในปี 2556 ต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งที่ผู้ก่อความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย เพราะประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ตราบใดที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ก็จะมีความรุนแรงตามมา
เหตุผลเดียวที่ต้องนิรโทษ คือความอยุติธรรม
ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า มีเหตุผลอยู่ร้อยแปดพันเก้าที่ต้องนิรโทษกรรม แต่สุดท้าย ประมวลได้เหตุผลเดียวเท่านั้น คือ ความอยุติธรรม ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมในเมืองไทยมีหลายครั้ง แต่เป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้ก่อรัฐประหาร และนิรโทษกรรมให้แก่ชนชั้นนำ ซึ่งสะท้อนแล้วว่ามีความอยุติธรรมของชนชั้น การก่อรัฐประหารเป็นความผิดฐานก่อการกบฏแต่ก็ยังนิรโทษกรรมกันได้ จะเขียนลงรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องต่างชนชั้น หากคุณกระทำกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ คุณถูกจับ มีความผิด ความผิดนั้นลบล้างยากแสนสาหัส
ทางเลือกอื่นที่ทำได้ คือ ปล่อยนักโทษการเมืองทันที
ศ.ดร.ธงชัยกล่าวว่า กระบวนการนิรโทษกรรมในสังคมไทยที่ผ่านมาสะท้อนภาพใหญ่ว่ามีความอยุติธรรมเป็นพื้นฐาน เพราะประเทศที่มีอารยะ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องไม่มีนักโทษการเมือง ไม่ลงโทษจับกุมคนอันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองและความคิดที่ต่างกัน ถ้ารัฐไทยยอมรับว่ามีนักโทษการเมืองก็ต้องปล่อย ถ้าต้องการเป็นประเทศอารยะ คำตอบที่ง่ายกว่าก็คือ ปล่อยนักโทษการเมืองทันที
สำหรับกรณีมาตรา 112 หรือคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่ต่างประเทศให้ความสนใจ เพราะนั่นเป็นเลนส์ใช้ส่องประเทศไทยว่าเรามีความป่าเถื่อนจากการลงโทษนักโทษการเมือง แทนที่จะพูดแต่เรื่องความเป็นไทย เอกลักษณ์ความเป็นไทย ที่จริงมันคือความป่าเถื่อน
ธรรมเนียมไทย คดีความมั่นคง ตุลาการไม่ถือความเที่ยงธรรม
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชี้ว่า กระบวนการอยุติธรรมในสังคมไทย มีธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นมาตลอดตั้งแต่สมัยสงครามเย็น สมัยอำมาตยาธิปไตย และก็อาจจะเป็นต่อไป ในกระบวนการความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตุลาการไม่ยึดถือความเที่ยงธรรม แต่ยึดถืออำนาจ ยึดถือว่าตัวเองเป็นตุลาการของพระราชา ซึ่งไม่จริง ตุลาการต้องยึดหลักเดียวเท่านั้น คือ ความเที่ยงธรรม ไม่มีหลักอื่น แต่กระบวนการยุติธรรมไทยเอียงทั้งหมด ไม่่ใช่แค่ตุลาการ สิ่งที่น่าอายที่สุดคือการไม่ยอมให้ประกันตัว 
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกฉบับมีจุดอ่อน
ศ.ดร.ธงชัยกล่าวว่า ในบรรดาข้อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ มีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายอาจต้องถอยมานิดหนึ่ง 
"ตอนผมอยู่ในคุก ถามว่าเราอยากออกจากคุกไหม เราอยาก มีสักคนไหมที่จะตอบว่า ไม่ออกถ้าผู้กระทำการติดคุกด้วย ไม่มีฮะ พวกผมเป็นคนที่ได้รับประโยชน์ เพราะได้ออกจากคุกโดยที่คนกระทำการไม่มีความผิด สิ่งที่ผมทำหลังจากนั้นคือ ผมไปพูด พูด พูดในเวทีต่างๆ ยืนยันว่า ผู้กระทำต้องมีความผิด มันอาจไม่ได้มาชั่วข้ามคืน แต่มันไม่มีทางออกไหนที่ไม่มีข้อเสีย คุยกันดีดี ถ้ามีข้อเสียทางการเมืองอาจจะมีข้อดีในแง่อื่น" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว
ศ.ดร.ธงชัยกล่าวว่า ผมยืนยันว่าต้องเอาผิดทหารในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม แต่ถ้าถามคนที่อยู่ในคุก เขาย่อมต้องการอิสรภาพ สมัยพ.ศ. 2519  บรรยากาศทางการเมืองไม่เปิดโอกาสให้แม้แต่พูดออกมาว่าคนที่กระทำการต้องมีความผิด แต่สมัยนี้พูดกันเยอะแยะเลย มีการถกเถียงยื้อกันมา 3-4 ปีแล้ว เรามาไกลแล้ว ไม่ควรใช้เวลา 20-30 ปีให้คนต้องเจ็บปวดนานขนาดนั้น
นิรโทษกรรม เราต้องลืม
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความยากของการนิรโทษกรรมว่า แม้มีร้อยแปดเหตุผลต้องนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมือง แต่ด้วยสังคมไทยคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ตามพุทธประวัติ ไม่ว่ากรณีพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าเทวทัต แม้ทั้งสององค์ขอยกกรรม พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถยกกรรมได้ ด้วยเหตุนี้ ในทางพุทธวิทยา การนิรโทษกรรมจึงทำได้ยากกว่าศาสนาอื่นๆ แม้จะมีกฎหมายนิรโทษกรรมก็จะเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ชนชั้นนำ
ทั้งนี้ หากดูรากศัพท์ในภาษาอังกฤษ นิรโทษกรรม แปลว่า amnesty มันเชื่อมกับคำว่า amnesia แปลว่า ความหลงลืม นั่นคือ บางทีการนิรโทษกรรมต้องแลกกับการหลงลืมบางอย่าง หลายสำนักคิดก็บอกว่าการหลงลืมก็มีความสำคัญ ปัญหาหนึ่งคือ การนิรโทษกรรมต้องมากับความหลงลืมอะไรบางอย่าง
สังคมไทยขี้ขลาด ไม่กล้ายอมรับว่า คดีมาตรา 112 คือคดีการเมือง
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า ขอพูดในฐานะ "คนสร้างภาพ" ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่มีกิจกรรมหลักก็คือการสร้างภาพ ที่เราถนัดและทำกันจนเสียอะไรบางอย่างที่สำคัญของชีวิตไป
"ตอนที่ผมไปธุระที่กระทรวงวัฒนธรรม ผมอยู่ในลิฟท์ มีเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมคนหนึ่งเข้ามาในลิฟท์ซึ่งเป็นคนที่ผมไม่เคารพและไม่ชอบอย่างยิ่งทั้งในด้านความคิดและการกระทำ แต่สิ่งที่ผมทำในเวลานั้นก็คือ ยกมือไหว้ แล้วเราสองคนก็ยิ้มจางๆ ให้กันและกัน หลังเหตุการณ์นั้นผมก็ไปคิดดูว่า ทำไมกูและมึงถึงต้องตอแหลขนาดนี้ มันเป็นเหตุการณ์ที่ดูไร้สาระ แต่ผมกำลังจะบอกว่าเราทุกคนตอแหลกันเป็นสันดาน และในการตอแหลของเราสร้างความลำบากให้พี่น้องประชาชนอีกมากมาย มันเหมือนน้ำที่หยดลงหิน สิ่งที่เราไม่อยากทำแต่เราต้องทำ จนทำให้สามัญสำนึกของเราสึกกร่อน สิ่งสำคัญที่หายไปจากชีวิตเราคือสามัญสำนึก หรือ Common sense" อภิชาตพงศ์กล่าว
อภิชาติพงศ์ กล่าวว่า เราต้องตั้งคำถามว่าเมื่อไรเราจะเลิกตอแหล เมื่อไรที่เราจะเลิกยอมรับการฆ่าคนอย่างเลือดเย็นกันเสียที วันนี้เรากำลังเรียกร้องความชอบธรรมให้นักโทษการเมือง ผู้ชุมนุม แต่สื่อและรัฐเลี่ยงที่จะพูดถึงผู้ที่แสดงความคิดเห็นและผู้ที่ถูกใส่ความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเมื่อเรามาดูร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ทุกฉบับยังมีความไม่ชัดเจน หรือตัดความเกี่ยวข้องกับนักโทษคดี 112 ไปเลย โดยระบุว่าให้ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความว่าเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่
“ผมคิดว่าเราแสดงความขลาดและเอาตัวรอด โดยหวังลมๆ แล้งๆ ว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มนี้ พวกคุณคิดเหรอว่าเขาจะให้ความเป็นธรรม และแน่นอนสำหรับผม คดี112 เป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมืองเสียอีก รัฐได้กระทำอาชญากรรมทางความคิดแก่ประชาชนในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา รัฐโหมประโคม เยินยอภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์จนล้นปรี่ จนทำให้ตรรกะต่างๆ มันวิบัติ และคุณไม่คิดเหรอว่าในเวลา 50 ปีจะมีสักคนหรือกลุ่มคนนึงจะพยายามดึงตรรกะให้มันเข้ารูปเข้ารอย หรือแม้แต่จะถามคำถาม แต่สิ่งที่รัฐทำกับคนพวกนี้ก็คือการอ้างว่าละเมิด ปิดปาก จับเข้าคุก นี่คือความเสื่อมในสำนึกของรัฐอย่างหนึ่ง” ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าว
อภิชาตพงศ์เสนอว่า อยากเห็นสถาบันศาลที่เลิกอ้างถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ราวกับว่าอยู่ในยุคคอมมิวนิสต์ อยากจะเห็นศาลที่เชิดชูการเห็นต่าง เราไม่จำเป็นต้องปรองดอง ตัวผมเองผมไม่อยากปรองดองกับใครเลย คือเราอยู่ด้วยกันได้ คุณมีสิทธิพูด เขียน ทำหนัง จะเชิดชู ฝักใฝ่พรรคการเมืองไหนก็ต้องแสดงออกมา ต้องโชว์ออกมา เราไม่เห็นหรือเห็นชอบร่วมกันก็ไม่ทำให้ชาติสลาย
“ที่ผ่านมา มีนักโทษการเมืองหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่นักโทษการเมืองที่เป็นเจ้า สมัยกบฏบวรเดช นักศึกษา นักเขียน นักคิด จนถึงขณะนี้ นักโทษการเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านผู้ซึ่งสำนึกแล้วว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง แต่ไม่ว่าคนในคุกจะเป็นใคร เราต้องช่วยกันล้มล้างอาการที่ก่อให้เกิดโรคสามัญสำนึกเสื่อม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นหนึ่งในการแก้ปมที่บรรพบุรุษและเราสร้างขึ้นมาเพื่อบีบรัดกันและกัน เราต้องสร้างรัฐที่เคารพความเป็นคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะเชื่อสิ่งใดหรือไม่ก็ตาม และเมื่อนั้นเราจะได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง” อภิชาตพงศ์กล่าว
เพราะล้มเหลวในการรักษากฎหมาย จึงจำเป็นต้องนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุม
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมส่วนใหญ่ในอดีต ไม่ใช่นิรโทษกรรมเฉพาะการชุมนุม ยังมีการนิรโทษกรรมความผิดที่ร้ายแรงกว่าการเผาสถานที่ เช่น การนิรโทษกรรมฐานกบฏ ฐานคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นความผิดฐานร้ายแรงมาก การนิรโทษกรรมที่พูดกันในครั้งนี้ เป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชน ให้ความผิดที่มาจากการชุมนุมในเหตุการณ์ทางการเมือง ควรนิรโทษกรรมให้คนในเหตุการณ์ โดยไม่ต้องจำเพราะเฉพาะผู้ชุมนุมหรือผู้ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่เหยื่อจากการปราบปราม เหยื่อจากความล้มเหลวของการรักษาความยุติธรรม
นายจาตุรนต์กล่าวว่า เหยื่อจากการบังคับกฎหมายไม่เป็นธรรม ยังมีกรณีคนที่เข้าไปห้ามปรามการเผาแต่กลับถูกดำเนินคดีฐานเผา การนิรโทษกรรมจึงเป็นการเยียวยาวผู้ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว
You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว