เรื่องที่ต้องคิดให้สุด เพื่อป้องกันสื่อลามกเด็ก

จากที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) มีข้อเสนอปรับปรุงพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) โดยกำหนดเพิ่มฐานความผิดของผู้ที่ครอบครองภาพลามกเด็ก ว่า “มาตรา … ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…”

[คลิกที่นี่เพื่อดูข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของสพธอ.]

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนบทความวิเคราะห์ปัญหาการตีความที่อาจตามมาจากการเขียนกฎหมายเช่นนี้ สามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มความยาว 11 หน้าได้ตามไฟล์แนบ ไอลอว์สรุปประเด็นที่น่าสนใจไว้ ดังนี้
เกริ่นนำ
ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อลามกเด็กโดยเฉพาะ แต่ความพยายามที่จะบัญญัติให้การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกเด็กเป็นฐานความผิดอาญาเฉพาะและมีโทษสูงกว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งเคยปรากฏมาแล้วหลายครั้ง ผ่านการเสนอร่างพ.ร.บ.หลายฉบับ จนมาถึงข้อเสนอของสพธอ.ในการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ครั้งนี้ 
ข้อเสนอครั้งนี้มีประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายประเด็นที่ต้องถูกตั้งคำถาม และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าว อันได้แก่ ผู้ร่างกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาล จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ และหาแนวทางการรับมือกับประเด็นทางกฎหมายและคดีความที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประเด็นกฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญต่อประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อจะได้เข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องและสามารถหลีกเลี่ยงการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายได้
1.เหตุผลที่ต้องมีกฎหมายสื่อลามกเด็กเป็นการเฉพาะ
เหตุผลที่ประเทศต่างๆ มีกฎหมายสื่อลามกเด็กโดยเฉพาะแยกต่างหากจากกฎหมายสื่อลามกผู้ใหญ่ เนื่องจากแนวคิดควบคุมสื่อลามกทั้งสองประเภทต่างกัน เหตุผลหลักในการกำหนดโทษอาญากับการกระทำที่เกี่ยวกับสื่อลามกผู้ใหญ่ตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องการปกป้องศีลธรรมโดยรวมของสังคม กล่าวคือ ภาครัฐเชื่อว่าการปล่อยให้มีการผลิต จำหน่าย หรือ เผยแพร่สื่อลามกผู้ใหญ่อย่างเสรีอาจก่อให้เกิดความเสื่อมทรามต่อศีลธรรมทางเพศของคนในสังคมได้ 
การกำหนดโทษอาญาเพื่อควบคุมและปราบปรามสื่อลามกเด็กมีเหตุผลพื้นฐานที่ต่างออกไป กล่าวคือ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะการผลิตสื่อลามกเด็ก (โดยเฉพาะที่ใช้เด็กจริงๆ แสดง) เป็นรูปแบบหนึ่งของการล่วงละเมิดทางเพศจากเด็ก ในด้านร่างกาย เด็กยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ การให้เด็กมีกิจกรรมทางเพศอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บในด้านจิตใจ เนื่องจากการเรียนรู้ของเด็กยังไม่พัฒนาเพียงพอที่จะเข้าใจในเรื่องความเหมาะสมของเรื่องเพศ การบังคับหรือล่อลวงให้เด็กมีกิจกรรมทางเพศหรือการถ่ายภาพยั่วยุทางเพศต่างๆ ถือได้ว่าเป็นการทำร้ายจิตใจเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเด็กพบว่าสิ่งที่ตนกระทำไปเป็นเรื่องไม่เหมาะสมสำหรับวัยตัวเอง ก็อาจเกิดความอับอายกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจซึ่งอาจจะฝังลึกในใจเด็กไปตลอดชีวิต 
นอกจากนี้ ในหลายๆ กรณี การที่เด็กเข้าร่วมกิจกรรมทางเพศโดยไม่สมัครใจหรือเกิดจากการล่อลวง บังคับข่มขู่ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากความเยาว์วัยของเด็กที่ยังไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเพียงพอเกี่ยวกับความเหมาะสมของการมีเพศสัมพันธ์
ยิ่งในกรณีของสื่อลามกเด็กบนอินเทอร์เน็ต ผลกระทบร้ายแรงต่อตัวเด็กอาจขยายเป็นวงกว้างกว่า กล่าวคือ ภาพหรือคลิปวิดีโอบันทึกการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กดังกล่าวจะถูกส่งผ่านต่อกันไปและหมุนเวียนอยู่ในโลกไซเบอร์ไม่มีวันสิ้นสุด สิ่งนี้ยิ่งสร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็กผู้ปรากฏในสื่อลามกอย่างไม่มีทางเยียวยาหรือลบเลือนออกไปได้ 
2. ประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสื่อลามกเด็ก
การบัญญัติให้การครอบครองสื่อลามกเด็กในทุกกรณีเป็นความผิดมีขอบเขตกว้างครอบคลุมทั้งกรณีการผลิต การเผยแพร่ และการครอบครองไม่ว่ากรณีใด เพราะเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่าผู้ครอบครองจะเผยแพร่สื่อลามกเด็กเมื่อใด จึงกล่าวได้ว่า ความพยายามในการบัญญัติให้การมีสื่อลามกเด็กไว้ในครอบครองเป็นความผิดเป็นแนวทางที่น่าชื่นชมและสนับสนุน 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อความสั้นๆ ที่บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับ สพธอ. นั้น อาจกล่าวได้ว่ายังขาดความชัดเจนเพียงพอในฐานะที่เป็นบทบัญญัติที่มีโทษอาญา สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายอาจขาดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความผิดฐานการมีสื่อลามกเด็กไว้ในครอบครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์
 
ประเด็นแรก คือ ไม่มีการกำหนดคำนิยามของคำว่า “ลักษณะลามก” ทำให้เกิดปัญหาว่าอย่างไรจึงจะถือว่ามีลักษณะลามก จะให้ถือตามแนวคำพิพากษาฎีกาในเรื่องสื่อลามกตาม มาตรา 287 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ (คือ เป็นภาพเปลือยกาย มีลักษณะอุจาดตา หรือ ยั่วยุให้เกิดอารมณ์ทางเพศ และไม่มีคุณค่าทางศิลปะ) หรือ “ลักษณะลามก” ในกรณีสื่อลามกเด็กควรตีความต่างออกไป ภาพเปลือยของเด็กอาจมองเป็นภาพที่น่ารัก น่าเอ็นดู ไม่เข้าข่ายภาพลามกอนาจารก็ได้ ภาพถ่ายเด็กเล็กแก้ผ้าอาบน้ำที่ถ่ายโดยพ่อแม่ ภาพโฆษณาเด็กใส่ชุดว่ายน้ำหรือชุดชั้นใน หรือภาพเด็กที่ใส่ชุดปกติแต่ทำท่าทางยั่วยุทางเพศถือว่าลามกด้วยหรือไม่ 
ประเด็นที่สอง คือ ไม่มีการกำหนดคำนิยามของคำว่า “เด็กและเยาวชน” ไว้ว่าหมายถึงบุคคลอายุเท่าไร เพราะกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนก็นิยามอายุของเด็กและเยาวชนไว้ไม่เท่ากัน และปัญหายังอาจเกิดขึ้นอีกในกรณีของคู่สมรสที่อายุไม่ถึง 18 ปี และเมื่อสมรสแล้วก็เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ถ้าชายหญิงคู่นี้ถ่ายภาพหรือคลิปวีดิโอยั่วยุอารมณ์ทางเพศเก็บไว้ จะถือเป็น “สื่อลามกเด็กและเยาวชน” หรือไม่ และหากคู่สมรสรุ่นเยาว์มีความผิด จะถือว่ากฎหมายนี้ถูกใช้ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงเพื่อคุ้มครองการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นกับเด็กหรือไม่ 
ประเด็นที่สาม อาจมีผู้สร้างภาพลามกเด็กที่เป็นคอมพิวเตอร์กราฟิก หรือ ตัดต่อเอาภาพใบหน้าเด็กมาแปะลงบนภาพร่างเปลือยของผู้ใหญ่ หรือทำภาพการ์ตูนลามกเด็ก กรณีเหล่านี้ไม่ใช่ภาพที่ได้จากการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจริงๆ จึงไม่มีความเสียหายหรืออันตรายเกิดขึ้นกับเด็ก คำถามคือ ภาพเสมือนจริงเหล่านี้เป็นสื่อลามกเด็กด้วยหรือไม่ เพราะการสร้างภาพเหล่านี้ไม่ทำให้เด็กจริงๆได้รับความเสียหาย
ประเด็นที่สี่ คำว่า “ครอบครอง” ในบริบทของอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์จะหมายความว่าอย่างไร จะหมายถึงเฉพาะการมีไฟล์สื่อลามกเด็กเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือรวมถึงไฟล์ที่เก็บไว้ในแผ่น CD/DVD / แฮนดี้ไดรฟ์ / MP3 / โทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นกฎเรื่องของ “แคชไฟล์” ซึ่งเป็นการดาวน์โหลดไฟล์โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะถือว่าเป็นการครอบครองหรือไม่ ประเด็นต่อมา คือ กรณีที่ลบไฟล์ภาพลามกเด็กไปแล้ว ต่อมาช่างคอมพิวเตอร์ใช้โปรแกรมดึงข้อมูลกลับมา จะถือว่ามีการครอบครองอยู่หรือไม่ 
ประเด็นสุดท้าย กฎหมายอาจซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น การมีสื่อลามกเด็กที่ผู้แสดงอายุต่ำกว่า 15 ปีไว้ในครอบครองเพื่อการจ่ายแจก แสดงอวด หรือ เผยแพร่ย่อมเป็นความผิดทั้งตามร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์  ตามมาตรา 18 ของ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย  ประเทศไทยมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องให้มีกฎหมายซ้ำซ้อนในประเด็นเดียวกันเช่นนี้ 
ไฟล์แนบ