ศาลปกครองชี้ กฎหมายหมวดครม. ประชาชนไม่มีสิทธิเสนอ

 

30 ต.ค. 55 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง คดีที่นายจักรชัย โฉมทองดี ฟ้องประธานรัฐสภา กรณีที่สั่งไม่รับพิจารณาร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. …. ที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ ชี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดทำเป็นการเฉพาะแล้ว 
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ วันที่ 18 มีนาคม 2552 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ (FTA Watch)เห็นรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อเสนอหลักการดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา แต่นายชัย ชิดชอบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในขณะนั้นมีคำสั่งร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงไม่รับไว้พิจารณาด้วยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163อให้ผู้เสนอกฎหมายไปจัดทำร่างใหม่และรวบรวมรายชื่อใหม่
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 นายจักรชัย โฉมทองดี ในฐานะผู้แทนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของประธานรัฐสภา โดยระบุว่าร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลก่อนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ จึงเป็นร่างกฎหมายในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 นายสินิทธ์ สินิทธานนท์ ตุลาการผู้แถลงคดีอ่านคำแถลงเห็นควรยกฟ้องคดีนี้ อ่านรายละเอียดคลิกที่นี่ http://ilaw.or.th/node/1742

ภาพประกอบจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

30 ตุลาคม 2555 ณ ศาลปกครอง ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา  มีใจความโดยสรุปว่า คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่า ศาลปกครองมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจดำเนินการให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ แต่การตรวจสอบร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน และตรวจสอบรายชื่อประชาชน เป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่้อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 และตามประกาศรัฐสภาเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ลงวันที่ 34 เมษายน 2542  คดีนี้จึงเป็นคดีพิาพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกว่า คำสั่งปฏิเสธไม่รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. … ของผู้ฟ้องคดีแล้ว จะเห็นได้ว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ในหมวด คณะรัฐมนตรี มาตรา 190 วรรคห้า ประกอบกับบทเฉพาะกาลมาตรา 303(3) ให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดทำกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ 
จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีจัดทำกฎหมายในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่อาจเสนอร่างพระราชบัญญัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐษนแห่งรัฐให้รัฐสภาพิจารณาได้ คำสั่งปฏิเสธไม่รับพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
ลงชื่อ นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน นายไชยเดช ตันติเวสส นายวุฒิชัย แสงสำราญ องค์คณะตุลาการ
ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะอุทธรณ์คดีนี้ไปยังศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ แต่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ ยังให้จบเพียงเท่านี้ไม่ได้ เพราะหากหยุดตามคำพิพากษาแค่วันนี้ หมายความว่ากฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดทำ เป็นการตัดสิทธิองคาพยพอื่นๆ ในสังคมไม่ให้มีสิทธิเสนอไปเลย และถ้าคณะรัฐมนตรีไม่จัดทำ สังคมไทยก็จะไม่มีกฎหมายนั้นๆ ใช้เลย
นายจักรชัย กล่าวด้วยว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีที่เป็นเรื่องพิพาท แต่เป็นคดีที่จะวางบรรทัดฐานให้ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมาย ซึ่งคำพิพากษาฉบับนี้ ศาลยังไม่ได้ให้เหตุผลเพื่อวางแนวทางให้ชัดเจนในอีกหลายประเด็นที่ตนยื่นฟ้องไป
**หมายเหตุ**
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
หมวด ๗ การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน
            มาตรา ๑๖๓ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอ ต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด ๓ และหมวด ๕ แห่งรัฐธรรมนูญนี้
           คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วย
           หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
           ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้อง ประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย
หมวด ๙ คณะรัฐมนตรี
           มาตรา ๑๙๐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
           หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่ง ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
           ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้อง ชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบด้วย
           เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติ ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
           ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบ ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตาม หนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
           ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
บทเฉพาะกาล
           มาตรา ๓๐๓ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลัง จากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่อง ดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
           (๓) กฎหมายตามมาตรา ๑๙๐ วรรคห้า โดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างคณะรัฐมนตรีและ รัฐสภา มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งรายละเอียด เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยที่มีความเป็นอิสระซึ่งดำเนินการก่อนการเจรจาทำหนังสือสัญญา โดยไม่มีการ ขัดกันระหว่างประโยชน์ของรัฐกับผลประโยชน์ของผู้ศึกษาวิจัยไม่ว่าในช่วงเวลาใดของการบังคับใช้ หนังสือสัญญาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา ๑๗๖