ขอเชิญร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ

ร่างกฎหมายส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศฉบับประชาชนร่างขึ้นโดยเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ด้วยการระดมความเห็นจากกลุ่มผู้หญิงภูมิภาคต่างๆ ประกอบกับศึกษาแนวทางกฎหมายความเสมอภาคระหว่างเพศในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สเปน และฟิลิปปินส์ และปรับแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม 2553 และเริ่มรณรงค์กับเครือข่ายต่างๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายจากภาคประชาชน

ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชน มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในทุกรูปแบบโดยครอบคลุมการกีดกันทางเพศ ทั้งการกระทำทางตรงหรือทางอ้อม ในด้านการทำงาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาหรือฝึกอบรม ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการเมือง ด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ ด้านครอบครัว ด้านเกษตรกรรมรวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อให้อนุสัญญานี้ สามารถบังคับใช้ได้จริงในระบบกฎหมายไทย 
 
ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชน กำลังอยู่ในระหว่างรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภา แต่ด้านรัฐบาลเอง โดยการผลักดันของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ได้เสนอร่างกฎหมายที่หน้าตาคล้ายกันแต่หลักการแตกต่างกันฉบับของรัฐบาล เข้าไปรอการพิจารณาของรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้องเร่งรวบรวมรายชื่อให้ครบโดยเร็ว เพื่อเสนอหลักการในร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนเข้าไปพิจารณาพร้อมกัน หากช้าและร่างของรัฐบาลถูกนำไปพิจารณาก่อน โอกาสที่จะผลักดันหลักการที่ประชาชนต้องการคงจะยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
 
 
ที่มาภาพ ludwig van standard lamp
 
สรุปสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนเปรียบเทียบกับร่างพ.ร.บ.ฉบับรัฐบาล ที่ยกร่างโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
1.   ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมโอกาสและเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. …” ซึ่งเป็นการขยายความหมายของ “ความเท่าเทียม” ให้บังคับใช้ได้ ต่างจากชื่อของร่างกฎหมายหน้าตาคล้ายกันของรัฐบาล ที่ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. …”  
 
2. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชนห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อม และให้นิยามคำว่า “การเลือกปฏิบัติ” โดยไม่มีข้อยกเว้น ต่างจากร่างฉบับของรัฐบาล ที่ระบุให้สามารถเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้ ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ  (มาตรา ๓)
 
3. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน เพิ่มบทบัญญัติห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยรวมถึงห้ามกระทำ ความรุนแรงอันเกิดจากความแตกต่างทางเพศภาวะ รวมถึง ความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุประเด็นนี้ (มาตรา ๙)
 
4. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน เพิ่มหมวดการคุ้มครองและการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ กำหนดมาตรการส่งเสริมในด้านต่างๆ และกำหนดให้คำนึงถึงกลุ่มผู้ที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษเป็นลำดับแรกเสมอ ได้แก่ หญิงที่อยู่ในภาวะยากลำบาก รวมถึง ผู้ที่ได้รับความรุนแรงเนื่องจากเพศหรือ เพศภาวะและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เด็กผู้หญิง หญิงพิการ หญิงทุพพลภาพ หญิงวิกลจริต หญิงสูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ต้องเลี้ยงดูบุตรโดยลำพัง หญิงที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือมีการแสดงออกหรือมีเพศภาวะซึ่งแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ในขณะที่ร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุ (หมาดที่ ๒)
 
5. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการระดับชาติ  โดยเพิ่มคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ในสัดส่วนที่สมดุลกับคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย คณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิ ๕ คน ผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ๕ คน และผู้แทนจากองค์กรหรือกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ จำนวน ๕ คน ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและจากองค์กรเอกชน รวม ๖ คน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง (มาตรา๒๐)
 
6. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชน กำหนดที่มาของคณะกรรมการในกลไกรับร้องเรียน คือ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ  (คณะกรรมการ ว.ล.พ.) มาจากกระบวนการสรรหา  โดยให้ “องค์กรเอกชน” และภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมเสนอชื่อเพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือก รวมทั้ง กำหนดสัดส่วนหญิง-ชาย ในคณะกรรมการฯ  ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง  (มาตรา ๒๘)
 
7.  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้มี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นสำนักงานเลขาธิการในการกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ใช้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (มาตรา๓๒)
 
8. ร่างพ.ร.บ. ฉบับประชาชนกำหนดสัดส่วนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่สมดุล ในคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยรวมถึงผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ผู้แทนจากกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมโอกาสเป็นพิเศษ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้ระบุที่มาชัดเจน (มาตรา ๕๔)
 
9. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้ผู้เสียหายมี สิทธิขอรับการช่วยเหลือคุ้มครอง การบรรเทาทุกข์ หรือชดเชย ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ใช้คำว่า สิทธิขอรับการสงเคราะห์ (มาตรา ๔๖)
 
10.  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนกำหนดให้มีกองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และระบุสัดส่วนงบประมาณที่รัฐต้องจัดสรร ทั้งเพื่อการชดเชยบรรเทาทุกข์ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่วนร่างฉบับของรัฐบาล ไม่ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณจากรัฐ (มาตรา ๕๒)
 
 
 
 
 
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศได้ โดย
1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มข.ก.1 ตามไฟล์แนบด้านบน และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
2. ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
3. ส่งเอกสารทั้งหมดมายัง โครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ บ้านเลขที่ 4 ซ.เพชรเกษม 24 บางหว้า ภาษีเจริญ กรุงเทพ 10160 
 
คำแนะนำในการกรอบแบบฟอร์ม
1. ต้องมีทั้งนำสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน
2. ลายเซ็นต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งในสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน กับแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑)
3. ในส่วนบนของหนังสือที่เขียนว่า “เขียนที่” นั้น ให้เขียนที่อยู่ สถานที่ไหนก็ได้ที่ท่านกรอกแบบฟอร์ม
4. ใน ข้อ 5 ของ แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑) ที่เขียนว่าร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ในช่องว่าง “พ.ศ. …” และ “(ฉบับที่…)”ไม่ต้องกรอกข้อความใดๆ

 
 

 

ไฟล์แนบ