เปิดผลวิจัย รัฐจ่ายเกือบ 140 ล้าน ค่าไล่ปิดเว็บ

 

31 กรกฎาคม 2555 ในงานประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีและสิทธิพลเมืองประจำปี 2555  ณ หอประชุม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) สฤณี อาชวนันทกุล หัวหน้าคณะวิจัยโครงการราคาของการเซ็นเซอร์ เปิดเผยผลการวิจัยเบื้องต้นของการศึกษาวิจัยดังกล่าว ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายพลเมืองเน็ตและคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนื้อหาโดยสรุปของผลการวิจัยเบื้องต้น มีดังต่อไปนี้
สฤณี กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ไม่ต่ำกว่า 60,000 ยูอาร์แอลต่อปี  นอกจากนี้เสรีภาพในอินเทอร์เน็ต ประเทศไทยก็ถูกจัดให้อยู่ในระดับแย่
การปิดกั้นอินเทอร์เน็ต มีต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยต้นทุนทางตรง คือ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการปิดกั้น  เช่น ค่าซื้อซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และค่าจ้างบุคลากร  ส่วนต้นทุนทางอ้อม แบ่งเป็นทางเศรษฐกิจ เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ลดลง การขาดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และต้นทุนทางสังคม เช่น ทำให้สังคมไม่มีภูมิคุ้มกันจากเนื้อหาที่รุนแรง ลิดรอนเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) เริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน  มีการจัดตั้งหน่วยงานและคณะทำงานเพื่อเฝ้าระวังการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและปิดกั้นการเข้าถึงโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยงบประมาณที่ใช้สำหรับกิจกรรมเหล่านี้อย่างเป็นทางการ  จากการศึกษาเอกสารงบประมาณและรายงานการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า กระทรวงไอซีทีน่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตถึงปีละประมาณ 139.04 ล้านบาท 
ขณะที่ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเว็บไซต์ ซึ่งสำรวจข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม มีผู้ตอบกลับมา 38 ราย จาก 2,000 ราย  พบว่า วิธีการที่ผู้ประกอบการใช้ในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะใช้มากกว่า 1 วิธี โดยวิธีที่ใช้มากที่สุดคือ ใช้บุคลากรเข้ามาตรวจสอบ มีถึง 50% รองลงมาคือ เขียนสคริปต์หรือโปรแกรมกรองข้อความที่อาจเป็นปัญหา 25% ส่วนเนื้อหาที่ผู้ให้บริการเซ็นเซอร์มากที่สุด คือ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 22% รองลงมาคือ ลามกอนาจาร 21% อันดับสาม คือ หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา 20%   
ต้นทุนในการเซ็นเซอร์ ของผู้ให้บริการเว็บไซต์ทั้ง 38 ราย มีค่าใช้จ่ายรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 26,000 บาท  นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้นับจำนวนชั่วโมงที่คนใช้ไปกับการตรวจสอบ การเขียนสคริปต์ และให้ผู้ใช้แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 คำนวณชั่วโมงออกมาได้ถึง 31,621 ชั่วโมง ซึ่งนำมาคิดในฐานเงินเดือนของบุคลากรด้านไอทีแล้ว พบว่า ผู้ประกอบการอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4 ล้านบาทต่อปี
สฤณีกล่าวว่า ข้อมูลจากการทำวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนทางตรงยังมีข้อจำกัดคือ ตัวเลขที่ประเมินจากภาครัฐ ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต  และตัวเลขที่ประเมินจากผู้ประกอบการเว็บไซต์ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ หรือต้นทุนในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
นอกจากนี้ สฤณียังฝากไปถึงสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมว่า ในปัจจุบันกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงที่ถูกตรวจสอบน้อย อยากให้มีการตรวจสอบและตั้งคำถามจากสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมมากกว่านี้
สำหรับต้นทุนทางอ้อม ในบางประเทศ ผู้ประกอบจะเป็นคนที่คำนวนต้นทุนเอง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรเลีย ข้อดีคือ หาข้อมูลได้ง่าย ได้ข้อมูลที่ลึกกว่า ซึ่งสามารถอธิบายให้รัฐเข้าใจได้ว่า เมื่อรัฐปิดกั้นอินเทอร์เน็ตแล้ว ความเร็วจะลดลงเท่าไร จะทำให้เกิดความเสียหายเท่าไร  สำหรับประเทศไทยประเด็นนี้จึงเป็นโจทย์หนึ่งว่า ทำอย่างไรผู้ประกอบการในบ้านเราจะตื่นตัวมากเพียงพอ
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บล็อกนัน หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม ให้ความเห็นว่า ต้นทุนการจัดการของเว็บที่คนเข้าไปอ่านอย่างเดียวจะต่ำกว่าเว็บที่มีคนเข้าไปโพสต์แสดงความคิดเห็นเยอะๆ อาจจะต้องดูว่าเว็บไหนที่มีคนเข้าไปโพสต์แสดงความคิดเห็นเยอะๆ
ชาญชัย ชัยสุขโกศล นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งคำถามสองประเด็นคือ การคำนวนต้นทุนทางสังคมทำอย่างไร  และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะวิจัยราคาของการไม่เซ็นเซอร์ด้วย สฤณีตอบว่า ยังไม่มีไอเดียในการคำนวณต้นทุนทางสังคม แต่มีฐานคิดด้านสังคมวิทยาในเรื่องของการละเมิดเสรีภาพ ว่าต้นทุนในการละเมิดเสรีภาพคือเท่าไร  ส่วนการวิจัยราคาของการไม่เซ็นเซอร์  สฤณีให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นประเด็นที่ทำได้ยากกว่า เนื่องจากมันเป็นการตั้งข้อสมมติฐานเท่านั้น แต่การเซ็นเซอร์เป็นเพียงการปิดกั้นไม่ให้เห็น หากเราใช้พร็อกซี่หรือโปรแกรมพิเศษก็เข้าไปดูได้  และหากมีการกระทำผิดจริง การเซ็นเซอร์ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา
อนึ่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) บังคับใช้มาเป็นเวลา 5 ปี กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่กระทรวงไอซีทีมีในการขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นการเว็บไซต์ และกำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์มีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนเว็บไซต์ของตนเอง หากมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายปรากฏอยู่ ผู้ให้บริการเว็บไซต์จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย