“สัญญาประชาคม” ขอสตูลสะอาด สงบ ไม่เอาท่าเรือปากบารา

คนสตูลแห่ลงนามใน "สัญญาประชาคม" ปกป้องแผ่นดินเกิด ไม่เอาโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขอกำหนดอนาคตตนเอง จัดกิจกรรมค้านการท่าเรือปากบารา

 

10 มิถุนายน 2555 ชาวสตูลจำนวนมากจากทั่วสารทิศ มุ่งมาที่ลานสาธารณะ ชายหาดปากบารา เพื่อร่วมลงนามใน “สัญญาประชาคม” ยืนยันเจตนาของคนในท้องถิ่นว่าไม่ต้องการท่าเรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และต้องการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง เนื่องจากช่องทางที่จะแสดงออกได้ตามกฎหมายของรัฐส่วนกลางถูกมองข้ามไปหมดแล้ว ดังนั้นเพื่อให้การแสดงออกถึงความต้องการเสียงดังและหนักแน่นขึ้น คนจากท้องถิ่นจึงต้องรวมพลังกันสร้างช่องทางของตัวเองขึ้นมา

“ท่าเรือปากบารา” คือสิ่งที่คนในจังหวัดสตูลร่วมกันคัดค้านไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่หากพวกเขาคัดค้านไม่สำเร็จ ไม่ใช่แค่ท่าเรือน้ำลึกเท่านั้นที่จะเกิดขึ้น ท่าเรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งขออภิมหาโครงการยักษ์ใหญ่ ที่เรียกว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land Bridge) ซึ่งจะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดสตูล สร้างนิคมอุตสาหกรรม ท่อส่งน้ำมันดิบ คลังสินค้า สร้างสาธารณูปโภคสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และสร้างทางรถไฟขนส่งสินค้าไปเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยใช้งบประมาณกว่า 39,000 ล้านบาท 
อีกด้านหนึ่งชายหาดปากบารา นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารทะเลนานาชนิด เป็นแหล่งทำกินของชาวประมงหลายพันครอบครัว จนคนในท้องถิ่นเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนตลาดอาหารทะเลที่ไม่ต้องเสียเงิน ชายหาดปากบารายังเป็นจุดต่อเรือของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปพักผ่อนยังเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง-ราวี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ซึ่งมีความสวยงามเป็นดังสวรรค์ในทะเลอันดามันที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติใฝ่ฝัน และกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติด้วย
หากการก่อสร้างท่าเรือปากบาราเกิดขึ้น จะต้องเพิกถอนพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจำนวนกว่า 4,000 ไร่ ต้องมีการระเบิดภูเขา และดูดทรายจากพื้นที่รอบๆ เพื่อไปถมทะเล ต้องสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพิ่ม ต้องเวนคืนที่ดินของชาวบ้านจำนวนมากเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 150,000 ไร่ สร้างถนนให้ใหญ่ขึ้น และสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังจังหวัดสงขลา ดังนั้น ศึกครั้งนี้ของคนสตูลจึงใหญ่หลวงกว่ากำลังของพวกเขานัก
นักเคลื่อนไหวชาวสตูลคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ความคิดที่จะก่อสร้างโครงการนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2532 โดยปราศจากการรับรู้ของคนในพื้นที่ และการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็เสร็จสิ้นไปโดยที่คนในพื้นที่ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับโครงการมาก่อนเลย เรื่องนี้เริ่มเป็นที่รับรู้เมื่อมีข่าวการเข้ามารังวัดตรวจสอบที่ดินของชาวบ้านโดยคนจากราชการในช่วงปี พ.ศ.2551-2552 เอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่สตูล แต่ทำงานในพื้นที่อื่นจึงรวมตัวกันติดตามข้อมูลความคืบหน้าของโครงการนี้ และนำมาเล่าให้กับคนในพื้นที่ได้ฟัง
ชาวสตูลที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ให้ข้อมูลว่า หลังจากโครงการท่าเรือปากบาราเป็นที่รับรู้ ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันเพื่อติดตามและขอข้อมูลจากหน่วยงานราชการเพราะต้องการรับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา และต้องการเข้าไปแสดงความคิดเห็นเพื่อมีส่วนร่วมตัดสินใจ แต่ความพยายามของพวกเขาไร้ผล พวกเขาได้รับเพียงข้อมูลจำนวนหนึ่งมาจากกรมเจ้าท่า ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยส่วนอื่นของโครงการนอกจากการสร้างท่าเรือ ขณะที่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่เคยมี จึงมองไม่เห็นช่องทางที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการที่ส่งผลกระทบต่อตนเองได้เลย ดังนั้น หากพวกเขายังนิ่งเฉยไม่ทำทุกวิถีทางเพื่อประกาศจุดยืนของตัวเอง รัฐและกลุ่มทุนคงจะสามารถเดินหน้าวางเสาเข็มกลางทะเลได้อย่างไม่ยากเย็น  
วันนี้ เอกสารการก่อสร้างโครงการท่าเรือปากบาราไปวางรออยู่บนโต๊ะของผู้มีอำนาจเรียบร้อยแล้ว เหลือขั้นตอนเพียงให้คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติงบประมาณ และอนุมัติการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเท่านั้น หากถึงวันนั้น เสียงคัดค้านก็อาจไม่มีน้ำหนักมากพออีกต่อไป 
กิจกรรมในวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน 2555 นั้น แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ตั้งใจจัดให้เป็นกิจกรรมครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อจะสร้างประวัติศาสตร์ว่า คนในจังหวัดสตูลได้มาร่วมกันลงนามในสัญญาประชาคม อันเป็นช่องทางการแสดงออกที่พวกเขาคิดกันขึ้นมาเอง ซึ่งในสัญญาประชาคมมีหลักการแสดงถึงเจตจำนงว่า คนสตูลไม่ต้องการท่าเรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และต้องการกำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดสตูลให้เป็นไปตามคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์”
ก่อนหน้านี้ ผู้จัดงานได้จัดเวที จัดรถเครื่องเสียง ออกรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนในจังหวัดสตูลทราบถึงกิจกรรมดังกล่าว และในวันที่ 9 มิถุนายน 2555 มีการจัดขบวนรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถซาเล้ง ติดสัญลักษณ์ธงสีเขียว แสดงออกถึงการคัดค้านโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม ออกรณรงค์ไปในพื้นที่โดยรอบอำเภอละงู และบริเวณที่จะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่แกนนำชาวบ้านยืนยันว่า การส่งข่าวที่ดีที่สุดเมื่อมีกิจกรรมคือการบอกกันแบบปากต่อปาก
เช้าวันที่ 10 มิถุนายน กิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 ณ บริเวณลานสาธารณะ ชายหาดปากบารา หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม “ลาน 18 ล้าน” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก กิจกรรมช่วงสายมีเวทีเสวนาโดยตัวแทนหลายส่วน มีการปราศรัยบนเวทีโดยแกนนำชาวบ้าน เอ็นจีโอ กลุ่มเยาวชน และเครือข่ายอนุรักษ์จากพื้นที่อื่นๆ จุดที่น่าสนใจคือ มีการเปิดโต๊ะให้ทุกคนที่มางานร่วมลงนามในสัญญาประชาคม แสดงจุดยืนของชาวจังหวัดสตูล ซึ่งผู้จัดงานตั้งเป้าไว้ว่าอยากเห็นคนมาร่วมกันลงนาม 10,000 คน
แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า กิจกรรมการลงนามสัญญาประชาคมนี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เห็นภาพว่า ผู้ใหญ่ หรือผู้นำท้องถิ่นคนไหน มีจุดยืนต่อการก่อสร้างท่าเรือครั้งนี้อย่างไร ส่วนการตั้งเป้า 10,000 ชื่อนั้นอาจไม่ใช่สาระสำคัญมาก เพราะเป็นตัวเลขที่ใช้เล่นกระแสกับสื่อมวลชน จุดสนใจของงานอยู่ที่ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลซึ่งเดินทางมาร่วมวงเสวนาด้วย จะลงนามในสัญญาประชาคมร่วมกับประชาชนหรือไม่ แม้ไม่มีใครเป็นประจักษ์พยานว่าท่านได้ลงนามแล้วจริงหรือไม่ แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่เข้าไปถามเพื่อเชิญชวน ท่านตอบชัดเจนว่า ลงชื่อไปแล้ว
ขณะที่ทางเอ็นจีโอผู้จัดงานให้ความเห็นไว้ว่า กิจกรรมสัญญาประชาคมครั้งนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ว่าจะได้รายชื่อมาครบ 10,000 ชื่อหรือไม่ก็ตาม ก็ยังไม่แน่นอนว่ารายชื่อเหล่านี้จะสามารถหยุดยั้งการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมได้ และรายชื่อทั้งหมดที่ได้จะนำไปยื่นให้กับหน่วยงาน หรือคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องวางแผนดำเนินการในระยะต่อไป
คนสตูลทุกคนคงไม่มีใครเข้าใจต่างไปจากนี้ คงไม่มีใครฝันเฟื่องไปไกลว่าการลงชื่อร่วมกัน 10,000 คนจะทำให้ข้อเรียกร้องใดๆ สำเร็จได้ในทันที แต่ในเมื่อช่องทางอื่นตามกฎหมายที่จะแสดงออกถึงความต้องการของพวกเขาตีบตันไปเสียหมดแล้ว พลังการรวมตัวของผู้คนจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ผู้คนจำนวนมากทยอยเดินทางมาร่วมลงนามตลอดทั้งวันที่ 10 มิถุนายน 2555 คนไหนสะดวกเมื่อไรก็มา ลงชื่อเสร็จแล้วอยู่ร่วมงานสักพักก็แยกย้ายกันกลับ
เนื่องจากสถานที่จัดงานเป็นลานโล่ง และมีเต้นท์ผ้าใบเพียงสองหลังซึ่งอัดแน่นด้วยผู้คนแทบตลอดงานทำหน้าที่คอยกำบังแสงแดด ดังนั้นแม้จะไม่เกิดภาพที่ผู้ชุมนุมเรือนหมื่นยืนเบียดกันร้องตะโกนก้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้มาร่วมงานมีจำนวนน้อย เพราะผู้มาร่วมงานนั้นจะมุ่งมาที่จุดลงชื่อหน้างานก่อน บางคนที่มีธุระก็มาเพียงเพื่อลงชื่อเท่านั้น เมื่อลงชื่อเสร็จก็กลับเลย แต่คนส่วนใหญ่จะเดินไปดูงานบริเวณเวทีปราศรัยสักเล็กน้อย และก็ทยอยกันกลับในเวลาไม่นาน เพื่อไปทำภารกิจประจำวันของตัวเองต่อ เพราะสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกพวกเขาได้ทำไปแล้ว
รถมอเตอร์ไซค์คันแล้วคันเล่า รถยนต์คันแล้วคันเล่า ขนผู้คนมานับไม่ถ้วนจอดลงบริเวณหน้างาน และก็ออกจากที่จอดไปในไม่ช้า รถมอเตอร์ไซค์บางคันมาจอดหน้าจุดลงชื่อแบบไม่ต้องดับเครื่อง เมื่อลงชื่อเสร็จคนขับก็ขึ้นรถกลับไปทำธุระต่อทันที รถบางคันขนคนมาด้วยเต็มรถ บางคันก็ขับมาคนเดียว คนที่มาลงชื่อก็มีทั้งคนแก่ เด็ก เยาวชน ผู้นำศาสนา แม่ค้าที่ขายของอยู่ในงาน เจ้าหน้าที่อาสาป้องกันภัยมาในเครื่องแบบ แม้กระทั่งคนพิการที่ต้องไถรถเข็นมาเอง พวกเขาก็ยังเดินทางมาด้วยความเต็มใจ 
หลายคนมาถึงก็พบปะเพื่อนบ้านคนรู้จัก เลยถือโอกาสทักทายพูดคุย บางคนก็มาทักทายถามไถ่ผู้จัดงานว่าเป็นใคร มาจากบ้านไหน รวมถึงเป็นห่วงเป็นใยว่าได้รายชื่อครบ 10,000 ชื่อตามที่ต้องการหรือยัง ขณะที่พรรคพวกพี่น้องจากจังหวัดใกล้เคียงที่เห็นพ้องด้วยกับคนสตูลก็ทยอยเดินทางมาร่วมลงนามอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน ทำให้กระดาษแผ่นแล้วแผ่นเล่าที่มีรายชื่อเรียงเต็มถูกเก็บซ้อนเข้าไว้ด้วยกันเพื่อรอเวลานับยอดรวมหลังเลิกงาน
                
                
เวลาประมาณ 16.30 น. ผู้นำศาสนาในท้องถิ่นร่วมกันทำละหมาดฮายัต ซึ่งเป็นพิธีกรรมตามศาสนาอิสลามที่จะทำขึ้นเพื่อขอให้พระเจ้าช่วยปัดเป่าภัยร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับผู้คน หลังเสร็จพิธีเหมือนมีปาฏิหารย์บันดาลให้ฝนเทลงมาอย่างหนักยังอาณาบริเวณที่วางแผนจะก่อสร้างเป็นท่าเรือ แต่กระนั้นกิจกรรมก็ยังดำเนินต่อไป ผู้คนยังคงอัดแน่นกันในเต้นท์เล็กๆ เพื่อฟังผู้นำชาวบ้านขึ้นกล่าวปราศรัย ส่วนคนที่มาเพื่อลงชื่อก็ยังทยอยกันเดินทางมาอย่างไม่กลัวฟ้าฝน บางคนใส่เสื้อกันฝนขี่รถมอเตอร์ไซค์ฝ่าสายฝนมาเพื่อไม่ให้พลาดการร่วมลงชื่อในสัญญาประชาคมครั้งนี้
เวลาประมาณ 18.30 น. ท่ามกลางสายฝนที่ยังคงโปรยปราย แกนนำชาวบ้าน ผู้นำศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักศึกษา เยาวชน เอ็นจีโอ ร่วมกันอ่านคำประกาศสัญญาประชาคม และทำพิธีลงนามในสัญญาประชาคมร่วมกับประชาชนจำนวนมากที่ทยอยลงชื่อกันไว้ตั้งแต่เช้าวันนี้แล้ว และเมื่อสิ้นแสงอาทิตย์ไปในเวลาประมาณ 19.00 น. กระดาษลงชื่อแผ่นสุดท้ายก็ถูกเก็บรวมเข้าไว้ในที่เดียวกับพรรคพวกของมันหลายร้อยใบก่อนหน้านี้ เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรมลงนามสัญญาประชาคมของคนสตูล
ที่สำคัญคือตลอดเวลาที่คนจำนวนมากเดินทางมาลงชื่อที่โต๊ะหน้างานนั้น ไม่มีใครเอ่ยถามเลยสักคำว่ารายชื่อเหล่านี้จะถูกนำไปยื่นให้กับใคร เมื่อไร และผลจะเป็นอย่างไร พวกเขาเพียงทำสิ่งที่สามารถทำได้ในฐานะคนหนึ่งคน นั่นคือ ความกล้าหาญพอที่จะลงชื่อเพื่อแสดงออกถึงเจตจำนงความต้องการที่ชัดแจ้งของตัวเอง
หลังเสร็จงานแกนนำผู้จัดงานก็ไม่ได้สนใจอยากรู้แล้วว่า รายชื่อที่ได้มาจะครบหนึ่งหมื่นคนตามที่ประกาศไว้แต่แรกหรือไม่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าเจตนารมณ์ที่พวกเขาและชาวสตูลคิดเห็นร่วมกันถูกประกาศออกไปอย่างโจ่งแจ้งแล้ว วันรุ่งขึ้น พวกเขาต้องกลับไปก้มหน้าก้มตาประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเอง เพื่อที่จะพร้อมกลับมารวมตัวทำกิจกรรมครั้งใหม่ด้วยกันต่อไป
ไม่ว่าศึกครั้งนี้จะใหญ่หลวงแค่ไหน และไม่ว่าการต่อสู้ของคนสตูลจะต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนานเพียงใด ตราบใดที่ผู้คนในท้องถิ่นยังเชื่อมั่นว่าตนเองต้องมีสิทธิกำหนดอนาคตของตนเองได้ และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาส่งเสียงแสดงออก มีส่วนร่วมในทุกช่องทางเท่าที่สามารถจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางของรัฐหรือต้องสร้างช่องทางขึ้นมาเองก็ตาม สิทธิอื่นๆ ที่ปรารถนาจะรักษาไว้นั้น ก็ย่อมมีฐานรองรับอันแข็งแกร่งพอจะยืนหยัดไว้ได้ต่อไป
 
 
 

สัญญาประชาคมของชาวสตูล เพื่อการกำหนดอนาคตตนเอง

 

จากสถานการณ์ที่เกิดความวุ่นวายในจังหวัดสตูล ที่มีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากปารา และโครงการอื่นๆที่จะติดตามมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องสตูลอย่างรุนแรง พวกเราในนามเครือข่ายประชาชนคนสตูล และพี่น้องเครือข่ายทั่วภาคใต้ ขอร่วมประกาศคำสัญญาประชาคมว่า 

 

1.ยืนยันใน “อุดมการณ์และคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน” ของจังหวัด คือ สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงบ สะอาด บริสุทธิ์, สังคม สงบ สะอาด บริสุทธิ์, และผู้คนรักความสงบ จิตใจสะอาดบริสุทธิ์

2.ขอกำหนด “ทิศทางการพัฒนา” ของจังหวัดสตูล ให้มุ่งเน้นความยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การศึกษาและวัฒนธรรม ขอเป็นสังคมสีเขียว ไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรม ไม่เอาโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
 
3.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูลต้องใช้ “กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง” ทุกขั้นตอน โดยประชาชนต้องมีฐานะในการเข้ามีส่วนร่วม เท่าเทียมกับภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ มิใช่เป็นเพียงเป็นผู้ได้รับแจ้งให้ทราบ ผู้ร่วมประชุมลงชื่อ แต่ต้องเป็นผู้ร่วม กำหนด ออกแบบ และตัดสินใจการพัฒนา
 
4.“ไม่เอาโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ      ริมฝั่งทะเลและหมู่เกาะ รวมทั้งไม่เอาโครงการพัฒนาใดๆที่จะส่งผลทำลายดิน ทำลายน้ำ ทำลายป่า ทำลายทะเล ทำลายแหล่งอาหารของสตูล และสังคมวิถีวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการท่าเรืออุตสาหกรรม หรือโครงการอื่นๆ
 
5.รัฐบาล “ควรยุติความคิดฝันหรือแผนการใดๆที่จะกำหนดให้ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจโลก” เลิกมุ่งหวังที่จะแสวงหารายได้หรือความมั่งคั่งจากการเป็นตัวกลางของระบบขนส่งสินค้าโลก ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนโลก ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ยั่งยืน และเป็นที่มาของสารพัดโครงการ การพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้ อันก่อให้เกิดความทุกข์แก่ประชาชนไม่สิ้นสุด
 
6.ชาวสตูลและพี่น้องทั่วภาคใต้ “จะร่วมกันปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” วิถีวัฒนธรรมและสุขภาวะไว้ให้ลูกหลานในอนาคตสืบไป
 
 

ประกาศสัญญาประชาคม ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เครือข่ายประชาชนคนสตูล และพี่น้องเครือข่ายทั่วภาคใต้