รัฐธรรมนูญ 2550 สิ่งตกค้างจากการรัฐประหาร

 



เมื่อวันที่ 18 .. 54 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยจัดงานเสวนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญ 2550 สิ่งตกค้างจากการรัฐประหาร" ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในกิจกรรมครั้งนี้ มีการปาฐกถานำโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย และมีวงอภิปรายซึ่งประกอบด้วย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการเสื้อแดง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการสถาบันและมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

 

 

จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวปาฐกถาว่า ห้าปีที่ผ่านมาสามารถพูดได้ว่า การรัฐประหารดึงประเทศให้ถอยหลังสวนทางกับการพัฒนาประชาธิปไตย ข้ออ้างของการทำรัฐประหารสามสี่ข้อถึงเวลานี้ก็พบว่า ไม่มีอะไรเป็นไปตามนั้นเลย เช่นการบอกว่ามีการหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากเหลือเกินในยุครัฐบาลก่อนหน้าการรัฐประหาร แต่ถึงที่สุดก็ไม่พบว่าตรวจสอบพบการกระทำที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแม้แต่กรณีเดียว แต่หลังจากนั้นห้าปีที่ผ่านมา กลับพบว่ามีกรณีการนำข้อหาหมิ่นฯ มาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าแย่ลง

เรื่องคอรัปชั่นที่เป็นอีกข้ออ้างเพื่อทำรัฐประหารนั้น ตามข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศที่ศึกษาเรื่องคอรัปชั่น กลับพบว่าหลังรัฐประหารประเทศไทยกลับมีปัญหาคอรรัปชั่นหนักยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลทหาร ทำให้ระบบป้องกันการคอรัปชั่นล้มเหลวอย่างมาก และมีข้อสังเกตว่าองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการคอรรัปชั่นล้วนมาจากการรัฐประหาร

ส่วนเรื่องความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม ก็ยิ่งพบว่าหลังรัฐประหารสังคมไทยมีความแตกแยกมากยิ่งขึ้น มีการปราบปรามประชาชน มีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกติกามากยิ่งขึ้น มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เชื่อถือกติกา เพราะจุดเริ่มต้นของปัญหาก็คือการรัฐประหารนั่นเอง เพียงแต่มันไม่มีการนองเลือดในวันที่ทำรัฐประหารทำให้นักวิชาการส่วนหนึ่งยินดีที่ให้มีการรัฐประหาร

 

รัฐประหารสนับสนุนวัฒนธรรม “เกลียด” นักการเมือง ผ่านรัฐธรรมนูญ 2550

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ห้าปีหลังรัฐประหารมีความพยายามกำหนดประเทศไปสองแนวทาง แนวทางหนึ่งคือ พื้นฐานความคิดที่ไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง ไม่เชื่อถือว่าประชาชนจะกำหนดทิศทางของประเทศได้ ชนชั้นนำจึงพยายามทำให้เกิดรัฐบาลที่เห็นด้วยหรือสนับสนุนการรัฐประหารแต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น สิ่งที่ชนชั้นนำพยายามทำคือต้องล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเพราะไม่เห็นว่าประชาชนสามารถกำหนดผู้นำประเทศได้ และวิธีการก็คือใช้รัฐธรรมนูญ ใช้วัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อาศัยเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผลลัพธ์สำคัญอย่างหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งกำหนดทั้งเนื้อหาและกลไกตรวจสอบ เช่น องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ ไม่สามารถเชื่อมโยงกับประชาชนได้เลยแม้แต่น้อย แต่มีอำนาจกำหนดการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ของรัฐบาล สามารถกำหนดว่าใครจะบริหารประเทศได้โดยล้มล้างมติของประชาชน และยังทำให้คนไม่กี่คนสามารถถอดถอนผู้บริหารประเทศได้

 

รัฐประหารส่งเสริมตุลาการภิวัตน์ ที่บ่อนทำลายฝ่ายตุลาการเอง

แนวทางที่สองที่ชนชั้นนำพยายามกำหนดทิศทางของประเทศ คือสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ รัฐธรรมนูญส่งเสริมให้ตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ตุลาการภิวัตน์ได้ลงหลักปักฐานอย่างเข้มแข็ง มั่นคง ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งไม่สามารถใช้แก้ปัญหาทางการเมืองตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ แต่กลับยิ่งทำให้แย่ลง และที่เสื่อมยิ่งกว่าการเมือง คือฝ่ายตุลาการเอง

ฝ่ายตุลาการทำลายระบบพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่องจนทำให้พรรคการเมืองของประเทศไทยอ่อนแอ ยุบพรรคแล้วยุบพรรคอีก กรรมการบริหารพรรคก็ต้องเลือกจากคนที่ไม่มีชื่อเสียง ทำให้ระบบมติพรรคอ่อนแอ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเลวร้ายป่าเถื่อนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นายจาตุรนต์เห็นว่ามีสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือความตื่นตัวของประชาชน

ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยเห็นว่า การรัฐประหารคือวิธีการที่ล้าหลังและปาเถื่อนที่สุด แล้วยังมีการรับรองการรัฐประหารอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันด้วย ซึ่งสังคมไทยในเวลานี้ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองให้คนที่ไม่เชื่อถือการเลือกตั้งมาเชื่อการเลือกตั้ง และทำกติกาให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระสำคัญ

 

ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ สังคมไทยจะวิกฤติยิ่งกว่าเดิม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการพูดหลายครั้ง มากบ้างน้อยบ้าง และล่าสุดเป็นนโยบายแถลงต่อรัฐสภา เพียงแต่เขาไม่บอกว่าจะแก้ไขให้เป็นอย่างไร เขาเลือกใช้วิธีว่าจะให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หมายความว่า กำลังยกอำนาจในการกำหนดหรือยกร่างรัฐธรรมนูญให้ขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศ ถ้าใครเชื่อว่าประชาชนสามารถกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญได้ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนกับระบบนี้ อย่างน้อยยังไงก็ไม่ใช่กระบวนการแบบที่คมช.เคยทำคือให้ลงประชามติแล้วบอกว่าถ้าไม่ผ่านอาจเอาฉบับใดก็ได้ในอดีตมาใช้” นายจาตุรนต์กล่าว

เขากล่าวว่า ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เริ่มต้นได้ ถ้าจะให้มีสสร. ก็ต้องแก้รธน. (มาตรา 291) แล้วเขียนว่าให้มีสสร. ที่เป็นตัวแทนมาจากการเลือกโดยประชาชน เพื่อทำหน้าที่นี้จนเสร็จสิ้นแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม

นายจาตุรนต์กล่าวทิ้งท้าย กระบวนการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นกระบวนการศึกษาเรียนรู้ครั้งใหญ่ของสังคมไทย แม้บางคนอาจคิดว่าไม่ต้องแก้ไข แต่ความเห็นของเขาคือ หากไม่แก้รัฐธรรมนูญจะวิกฤตยิ่งกว่า.

 



 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ลองถามตัวเองดูว่านับจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 จนถึงวันนี้ กันยายน 2554 เรารู้สึกว่าเราพ้นไปจากความยุ่งยากหรืออยู่ในความยุ่งยากยิ่งขึ้น” .สมชายเริ่มต้นการอภิปรายด้วยการตั้งคำถามผู้เข้าร่วม สิ้นคำถาม มวลชนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “มากขึ้น”

.สมชายกล่าวว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นการรัฐประหารที่ล้มเหลวที่สุด เป็นการรัฐประหารที่มีคนคัดค้านต่อเนื่อง 5 ปียังไม่เลิก และคนที่ทำรัฐประหารอย่างพล..สนธิ บุญยรัตกลิน ก็เกือบจะเป็นส..สอบตก และพล..สพรั่ง กัลยาณมิตร ตอนนี้น่าจะกลายเป็นอกัลยาณมิตรแล้ว หาเพื่อนไม่ได้ กล่าวคือ ถือเป็นการรัฐประหารที่ล้มเหลว และน่าจะเป็นบทเรียนให้กับคนที่จะทำรัฐประหารต่อไปว่า การรัฐประหารจะไม่สามารถแก้ปัญหาในสังคมไทยต่อไปได้อีกต่อไปแล้ว

 

การรัฐประหารเพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลง

เขากล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยมีการเคลื่อนย้ายอำนาจนำในทางสังคมการเมือง จากแต่ก่อนที่อำนาจนำขึ้นกับชนชั้นนำไทย แต่สองสามทศวรรษที่ผ่านมา อำนาจนำเปลี่ยนผ่านมาสู่มวลชนอันไพศาลทางการเมือง คนชั้นล่างคนชั้นกลางมีความสำคัญต่อการเมืองไทยมากขึ้นซึ่งพรรคไทยรักไทยตอบสนองสิ่งนี้และเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญ แต่การเปลี่ยนอำนาจนำสะเทือนต่ออำนาจนำตามจารีต และการรัฐประหารคือการหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงนี้

.สมชายกล่าวว่า การรัฐประหารคือหนึ่งในความพยายามที่จะหยุดอำนาจนำทางการเมืองของประชาชน

และรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญทำอะไรหลายอย่าง เช่น นิรโทษกรรมการรัฐประหาร ทำให้พรรคการเมืองแตกสลาย ทั้งที่ก่อนหน้านี้สังคมไทยเรียกร้องรัฐบาลที่เข้มแข็ง จึงนำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ฉบับ 2550 ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ถูกแทรกแซงได้ง่าย ทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอลงด้วยการถูกตรวจสอบและกำกับมากขึ้น และที่สำคัญคือ เพิ่มอำนาจของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย

เราจะเห็นว่า การล้มลงของรัฐบาลสองสามชุดที่ฝ่านมา ตั้งแต่ รัฐบาลสมชาย วงศสวัสดิ์ รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้ล้มลงเพราะการเคลื่อนไหวของคนเสื้อเหลือง แต่ล้มลงเพราะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นี่คือการตรวจสอบพรรคการเมืองในรูปอำนาจของอำมาตยาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ปฏิเสธระบบเลือกตั้งไม่ได้ ปฏิเสธระบบรัฐสภาไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทั่วโลกยอมรับ ผมถือว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย” อ.สมชายกล่าว

 

หลักอำนาจนำ รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องมีอำนาจในการบริหารงาน

.สมชายชวนให้คิดว่า ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน คนในสังคมควรทำอะไรกันบ้าง ย้อนไปพิจารณาเรื่อง หลักอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กรณีหลังรัฐประหาร 2549 มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งว่าถ้าจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพ ต้องผ่านที่ประชุมผู้นำเหล่าทัพ หมายความว่า หากใช้รูปแบบเดียวกันนี้กับกระทรวงต่างๆ ว่าถ้าจะโยกย้ายข้าราชการก็ต้องมีกลไกนี้นั้น การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย

ความมีอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่เหนือการบริหารงาน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการแทรกแซง การเปิดกลไกแทรกแซงมันขัดต่อระบบประชาธิปไตยอย่างมาก” อ.สมชายกล่าว

 

เดินไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อคนพวกเดียวกัน แต่เพื่อทุกความเห็นต่างในสังคม

นอกจากนี้ นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์เสนอด้วยว่า เวลาคิดถึงปัญหาสังคมไทยเราไม่สามารถคาดหวังการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ไม่สามารถคิดว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินในชั่วข้ามคืน แต่มันต้องใช้เวลา สังคมไทยตอนนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะเปลี่ยนอะไรชั่วข้ามคืน ซึ่งเราต้องแก้ปัญหาและจะก้าวเดินไปด้วยกัน

แล้วจะทำอย่างไร มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย เราจะทำอย่างไร ผมคิดว่า การมีส่วนร่วมของคนทุกฝ่ายมีความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดง ถ้าครั้งหนึ่งเราเคยด่าว่าคมช.มัดมือชกเขียนรัฐธรรมนูญ แล้วถ้าเราไปทำแบบนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องทำให้เห็นว่าการผลักดันของคนเสื้อแดงไม่ใช่การผลักดันที่ต้องการมัดมือชก เราต้องการการมีส่วนร่วม ไม่ว่าคนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเสนอ นั่นจะนำไปสู่ทางออกที่สง่างามมากกว่า”

ระบอบประชาธิปไตยทำให้คนคิดเหมือนกันไม่ได้ เราไม่ต้องทำให้คนคิดเหมือนกัน แต่เรากำลังจะสร้างระบบการเมืองที่คนมีเสรีภาพในการเถียงกัน เรื่องไหนไม่เห็นด้วย มาเถียงกัน มีเสรีภาพ ระบบแบบนี้ทำให้เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย วันหนึ่งถ้ามีโอกาสผมหวังว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง และเราจะพูดได้เต็มปากว่า เราจะนำการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เพื่อพี่น้องเสื้อแดง แต่ทำให้คนทุกคนในสังคมเดินไปข้างหน้าด้วยกัน บนหนทางที่ไม่ใช่การทะเลาะ แต่ยืนอยู่บนหลักการที่เรียกว่าประชาธิปไตย” อ.สมชายกล่าว

 

 

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
กรรมการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ด้านดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ เริ่มต้นที่คำถามว่า ทำอย่างไรให้รัฐประหาร 2549 เป็นครั้งสุดท้าย ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากความเสี่ยงของการเกิดรัฐประหารได้หรือไม่ ซึ่งประเทศไทยยังมีความเสี่ยงสูง เช่นเพียงแค่มีข่าวเรื่องโผทหารก็มีข่าวลือว่าจะมีรัฐประหารอีกแล้ว หากจะทำให้การรัฐประหาร 2549 เป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย ก็ต้องทำให้มวลชนประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง และควรมีกลไกหรือโครงสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกัน เช่น ประเทศในแถบแอฟริกามีการระบุไว้ในกฎหมายว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร รัฐบาลนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ และเรื่องนี้เคยถูกบรรจุเอาไว้เป็นกฎบัตร (ดู Organisation of African Unity) สำหรับประเทศไทย น่าจะมีการกำหนดห้ามการทำรัฐประหารไว้ในกฎบัตรอาเซียน

ดร.อนุสรณ์เห็นว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือ เมื่อเกิดรัฐประหาร ศาลยุติธรรมก็ไปให้ความชอบธรรมแก่การล้มล้างอำนาจประชาชน เช่นมีคำพิพากษาที่บอกว่าอำนาจการรัฐประหารเป็นอำนาจรัฐาธิปัตย์ ถ้าศาลยุติธรรมมีความกล้าหาญ ที่จะบอกว่าการทำรัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย มันก็จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถามว่าศาลยุติธรรมไทยกล้าขัดขืนอำนาจของการรัฐประหารดังที่เป็นในประเทศอื่นหรือไม่

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นมรกดจากการทำรัฐประหารนัั้น เขาเห็นว่าเป็นการรอมชอมของพลังประชาธิปไตยรัฐสภากับพลังอำมาตยาธิปไตย อำมาตยาธิปไตยก็อยากออกแบบรัฐธรรมนูญให้รักษาประโยชน์เขาเต็มที่ แต่เมื่อโลกอาจไม่ยอมรับ ก็ต้องรอมชอม ดังนั้น ภารกิจของกระบวนการประชาธิปไตยในอีกหลายปีข้างหน้า คือการแก้ไขรธน.ให้มีความเป็นประชาธิปไตย แก้ไขส่วนที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่มาขององค์กรอิสระในบางลักษณะ แก้ไขส่วนที่ทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอ

ทั้งนี้ กระบวนการยกร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ครั้งใหญ่ในสังคมไทย และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้าย และเสนอว่า เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้ว ก็ให้สภาร่างอันเป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน

ดร.อนุสรณ์เห็นว่า ผลกระทบและมรดกตกค้างจากรัฐประหารปี 2549 ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญ 2550 อย่างเดียว แต่เป็นผลเสียหายจำนวนมากที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ เกิดวิกฤตการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลายรอบ ทำให้พี่น้องผู้รักประชาธิปไตยเสียชีวิต เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ น่าจะไม่ต่ำว่าสามถึงสี่แสนล้าน นี่ยังไม่รวมถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นและนำไปสู่กระแสที่จะต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดข้อเสนอว่าระบบตุลาการควรต้องยึดโยงกับอำนาจประชาชนหรือไม่

ในด้านผลกระทบทางสังคม เกิดความแบ่งแยกกันชัดเจนในสังคมไทย ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ก็มีผลข้างเคียงซึ่งเป็นผลดีโดยไม่ได้ตั้งใจจากรัฐประหาร 2549 นั่นคือ ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น ภูมิคุ้มกันของระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น แม้จะมีความเสี่ยงของการรัฐประหารในอนาคต แต่มันจะไม่ง่ายอย่างในอดีต

 

 

.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
นักวิชาการเสื้อแดง
 

.สุธาชัยกล่าวว่า เวลาพูดถึงสสร.นั้น เขาเห็นว่าแทนที่จะใช้คำว่า “สภาร่าง” น่าจะเป็นคำว่า “สภาแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า” เพราะถ้าใช้คำว่า สภาร่าง มันคล้ายกับการเปิดช่องว่าอาจมีการร่างฉบับต่อๆ ไปขึ้นมาใหม่อีก ควรใช้คำว่าแก้ไข โดยหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาเป็นตัวตั้งในการแก้ไข

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์กล่าวว่า การทำรัฐประหารเคยได้รับความนิยมในช่วงปี 1960 คณะรัฐประหารอุตส่าห์โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ และในครั้งนั้น คณะราษฎรประสบความสำเร็จในการสร้างสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “ลัทธิรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมา ทำให้สังคมไทยเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเคยพยายามเสนอเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนมาใช้คำว่า “รัฐวินัย” แทน แต่มีคนไม่เห็นด้วย และเปลี่ยนเป็น “ธรรมนูญ” ในที่สุด

แต่ในการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ต้องถือว่าเป็นการแก้ปัญหาการเมืองที่ล้าหลังในเชิงกระแสโลก แม้ประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา เขาก็ไม่ทำกันแล้ว ทั้งนี้ เวลาที่กล่าวถึงการทำรัฐประหารนั้นหมายถึงการกระทำโดยชนชั้นนำ โดยฝ่ายอำมาตย์ เพราะฝ่ายอำมาตย์ไม่ยอมรับตัวเลือกของประชาชน เชื่อว่าคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการยอมรับเพราะนโยบายประชานิยม และไม่ชอบที่คุณทักษิณมีบุคลิกโผงผาง การไม่ชอบทักษิณของฝ่ายอำมาตย์ไม่ใช่แค่เรื่องบุคลิก แต่ไม่ชอบภายใต้กรอบความคิดชุดหนึ่งคือเชื่อว่านักการเมืองส่วนใหญ่เลวและทุจริต นักการเมืองส่วนใหญ่ได้อำนาจมาด้วยระบบอุปถัมภ์ในชนบท

ดังนั้นในขณะที่เขามองนักการเมืองด้วยจินตภาพของความชั่ว นั่นคือเขามีจินตภาพอีกชุด คือจินตภาพของคนดี เช่น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์  ต้องไม่โกงกิน และจงรักภักดี “ในแบบของเขา” แต่จินตภาพความดีนั้นยังบอกด้วยว่า คนดีต้องไม่ลงเลือกตั้ง ต้องคอยราชรถมาเกย ส่วนศาล ตุลาการ นั่นคือจินตภาพของความดีในแบบของชนชั้นนำ กล่าวคือ กรอบรัฐธรรมนูญแบบชนชั้นนำ คือ สกัดทักษิณ ควบคุมรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งแล้วได้พรรคอื่นที่ตัวเองไม่ต้องการ

นอกจากนี้ ความหวาดกลัวว่านักการเมืองจะไม่ทำตามที่ต้องการจึงทำให้มีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่กำหนดกระทั่งวิธีการใช้เงิน นโยบายการศึกษา สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ฯลฯ ทุกอย่างกำหนดไว้ตายตัวในรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศไม่เฉไฉไปจากแนวที่ต้องการ

ปัญหาของมันคือ กรอบเหล่านี้มันมาจากความไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยระบบผู้แทน ไม่เชื่อการเลือกตั้ง ความไม่เชื่อนี้มีมูล เพราะมันไม่มีระบบที่ดีพร้อม แต่ปัญหาคือ ในโลกนี้ยังไม่ค้นพบหลักประกันแบบอื่นที่ดีกว่านี้” อ.สุธาชัยกล่าว

นักวิชาการเสื้อแดงเห็นว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยมีข้อดีคือ รัฐบาลที่มาบริหารงาน ทำงานอย่างมีกรอบเวลา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่จากอดีตที่ผู้นำอยู่ในอำนาจไปจนตาย และประวัติศาสตร์สอนแล้วว่า คนที่ครองอำนาจนานๆ เสียคนทั้งนั้น

 

รัฐประหาร กับบทพิสูจน์ความพ่ายแพ้ของอำมาตย์

.สุธาชัยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ 5 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอำมาตย์ คำตอบง่ายๆ คือรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน สิ่งที่อำมาตย์ต้องการไม่มีอะไรที่บรรลุเลย ได้แก่ หนึ่ง ความต้องการในการจัดการกับตัวทักษิณ ทำลายความชอบธรรม ชี้ให้เห็นเรื่องทุจริต ในวันนี้ไม่ประสบความสำเร็จเลย ไม่มีคดีไหนที่เห็นอย่างเป็นจริง ไม่มีอันไหนพิสูจน์ได้นอกจากทำให้รู้สึกว่าแกล้งกันทั้งนั้น

สอง รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งเป็นเรื่องในอุดมคติของชนชั้นนำก็ล้มเหลว เพราะเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการแต่งตั้งนั้นดี แม้พันธมิตรเคยโฆษณาเรื่องนี้อย่างมาก แตประชาชนไม่รับ

สาม เรื่องตุลาการภิวัตน์ ในรอบห้าปีที่ผ่านมา เป็นความฉิบหายที่สุดของระบบตุลาการ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ฝ่ายตุลาการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมเวลานี้คือกระบวนการอยุติธรรม

สี่ สิ่งที่สะท้อนความล้มเหลวของอำมาตย์ คือปรากฏการณ์ตาสว่างของประชาชน ที่นับวันคนยิ่งไม่เอาอำมาตย์