ประมวลเหตุการณ์ “จุดปะทะ” ระหว่างการชุมนุมตั้งแต่ 7 ถึง 11 สิงหาฯ 64

หากนับย้อนไปถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จะพบว่า เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมมาแล้วถึงสี่ครั้ง โดยการปะทะกันมักจะเกิดหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มปฏิบัติการสกัดหรือสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิ่งกีดขวาง การใช้กระสุนยาง และแก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม อีกทั้ง การปะทะกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมก็ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้น จนดูเหมือนว่า ในการชุมนุม “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” คือ เป้าหมาย หรือ คู่ขัดแย้งที่ประชาชนต้องเข้าไปแสดงความไม่พอใจ

โดยรายละเอียดของเหตุการณ์ใน “แนวปะทะ” ของการชุมนุมต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ถึง 11 สิงหาคม 2564 มีดังนี้

51375458024_320c18dfcd_o

๐ #ม็อบ7สิงหา ตำรวจปิดประตูการชุมนุมก่อนปะทะทีแยกดินแดง

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้มีการนัดหมายการชุมนุมในเวลา 14.00 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อที่จะเดินขบวนไปยังบริเวณพระบรมหาราชวัง แต่ทว่า ในเวลา 12.20 น. ก่อนเวลาเริ่มชุมนุม ได้เกิดเหตุปะทะกันขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม และทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ตอบโต้ด้วยการปาสิ่งของ เช่น ขวดน้ำและน้ำปลาร้า นอกจากนี้ยังมีการใช้หนังสติ๊กเพื่อยิงลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ต่อมาเมื่อผู้จัดการชุมนุมได้เปลี่ยนสถานที่ไปยังทำเนียบรัฐบาลแต่ก็ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางสิ่งกีดขวาง อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์เอาไว้ และนำไปสู่การปะทะกันอีกระลอก จนท้ายที่สุด ได้มีการนัดหมายการชุมนุมใหม่อีกครั้ง ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อมุ่งหน้าไปที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ราบ 1) 

แม้ว่าผู้ชุมนุมจะเปลี่ยนสถานที่ในการชุมนุมมาถึงสองครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังเข้าขัดขวางการชุมนุมที่จะไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยมีการตั้งสิ่งกีดขวางอย่างตู้คอนเทนเนอร์ไว้บนถนนใกล้แยกสามเหลี่ยมดินแดงฝั่งขาออกไปยังถนนวิภาวดีรังสิต และตำรวจมีการตั้งแถวพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนนถนนใกล้แยกสามเหลี่ยมดินแดงฝั่งขาเข้ามายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งในจุดนี้เองทำให้ “แยกดินแดง” กลายเป็นจุดปะทะที่เข้มข้น

โดยหลังจากผู้ชุมนุมปาสิ่งของและตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตำรวจประกาศใช้ “อุปกรณ์พิเศษ” แต่ไม่ระบุว่า เป็นอุปกรณ์ชนิดใด จากนั้นเปิดฉากใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมต่อเนื่องในทุกครั้งที่พยายามรุกเข้าวิภาวดี การชุมนุมในเวลานี้ยังมีระบบจัดการของผู้ชุมนุม มีการใช้เสียงตามสายประกาศทางออกที่ปลอดภัยและวิธีการล้างหน้า ล้างตาหากได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา รวมทั้งการตั้งแนวส่งน้ำไปยังแนวหน้า ท้ายสุดจบลงที่การผลักดันมายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งในขณะนั้นการชุมนุมยุติลงแล้ว

แม้ว่าผู้จัดการชุมนุมจะประกาศยุติการชุมนุม แต่คลื่นแห่งความโกรธของผู้ชุมนุมบางส่วนยังคั่งค้าง ทำให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังเหลือปักหลักอยู่บริเวณถนนราชวิถี, พญาไทและพหลโยธิน โดยพวกเขาเหล่ามีทั้งกลุ่มที่เป็น “แนวหน้า” ในจุดปะทะบริเวณแยกดินแดงที่ขว้างปาสิ่งของและวัตถุติดไฟต่างๆใส่แนวตำรวจ และในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตามมาสมทบ เช่น กลุ่มที่บรถมอเตอร์ไซด์เร่งเครื่อง หรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตะโกนบอกเล่าความคับแค้นในความยากลำบากของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีทั้งผู้ที่ยืนรอเพื่อนอยู่แนวหลัง และมีทั้งชาวบ้านที่ออกมาสังเกตการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุด เหตุการณ์ปะทะก็สิ้นสุดลง เมื่อตำรวจเลิกตั้งแนวถอนกำลังพวกเขาก็ต่างแยกย้าย

๐ #ม็อบ10สิงหา เมื่อตำรวจกลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” จนเกิดการปะทะ

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เวลา 16.26 น. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศเคลื่อนขบวน Car Mob จากบ้านธรรมนัส พรหมเผ่า บริเวณถนนพระรามเก้าไปยังห้างคิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ โดยใช้เส้นทางถนนอโศก-ดินแดง ผ่านมายังบริเวณแยกดินแดง แต่ทว่า เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมหัวขบวนที่กำลังขับมอเตอร์ไซด์และรถยนต์จำนวนหนึ่งได้ไปเจอกับแนวตำรวจที่ตั้งบริเวณใกล้กับกรมดุริยางค์ทหารบก ก่อนถึงกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ราบ 1) ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่เข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าปะทะมีการขว้างปาสิ่งของไปที่แนวตำรวจ ในขณะที่ ตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยา ได้เดินประกาศขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไปรวมกันที่ซอยรางน้ำ แต่ผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวยังคงปักหลักปาสิ่งของต่อ จากนั้นตำรวจใช้ปืนยาวยิงออกมาทางผู้ชุมนุมและมีการใช้แก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง ต่อมา ในเวลา 16.56 น. ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยออกจากแยกดินแดงไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่แล้วผู้ชุมนุมก็กลับมาอีกครั้ง และตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาลงมาจากทางด่วนดินแดงเพื่อสลายการชุมนุม

ต่อมา เวลา 17.51 น. ตำรวจฉีดน้ำไล่ผู้ชุมนุมและตั้งแนวรุกเข้ามาที่ถนนอโศก ดินแดง จากนั้นแนวปะทะเปลี่ยนมาที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง โดยมีตำรวจอยู่บริเวณใกล้กับตึก ป.ป.ส. และบนสะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง ส่วนผู้ชุมนุมอยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและบนสะพานข้ามแยกเช่นกัน ทั้งนี้ ตำรวจมีการใช้กระสุนยางต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ชุมุนมตอบโต้ด้วยการวิ่งเข้าปาพลุใส่ตำรวจ พร้อมกับสิ่งของอื่นๆ เช่น ขวดน้ำ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปาขวดแก้ว แต่ไม่ปรากฎว่าการขวว้างปาไปถึงแนวตำรวจ

๐ #ม็อบทะลุฟ้า ชุมนุมสันติวิธีที่ถูกสลาย-ชนวนเหตุการปะทะ

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เวลา 15.00 น. ทะลุฟ้านัดรวมตัวกันที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเริ่มตั้งขบวนในเวลา 15.31 น. ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน ทั้งนี้ ในบริเวณที่มีการชุมนุมการจราจรยังคงดำเนินต่อไป ยังคงมีรถยนต์ทั่วไปสัญจรผ่านไปได้ ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการทำกิจกรรมเผาหุ่นฟางและอ่านจดหมายของไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในระหว่างถูกจองจำในคดีมาตรา 112 จากการแชร์พระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่สิบ 

ต่อมา ในเวลา 15.36 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเตรียมการเพื่อเข้าสลายการชุมนุม โดยมีตำรวจจราจรและเจ้าหน้าที่ขสมก. เริ่มปิดถนนพหลโยธิน ขาเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้น ในเวลา 15.46 น. มีขบวนรถตำรวจมาจากทางโรงพยาบาลราชวิถี และตำรวจเริ่มตั้งแถวแนวขวางการจราจรเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม ซึ่งตำรวจมีการถืออาวุธเป็นปืนยาวเข้าหาผู้ชุมนุม ส่วนฝั่งผู้ชุมนุมมีการตอบโต้การกระทำของตำรวจด้วยการปาสีและปาสิ่งของที่ก่อให้เสียงคล้ายประทัดอย่างน้อย 3 ครั้ง ขณะที่ไดโน่-นวพล ต้นงามประกาศใช้ทีมสันติวิธีเพื่อกันแนวป้องกันตำรวจชุดคุมฝูงชนไว้ 

ต่อมา เวลา 15.50 น. ตำรวจชุดคุมฝูงชนจากถนนพหลโยธินเข้าประกบผู้ชุมุนมจากด้านหลัง ส่วนฝั่งผู้ชุมนุมก็มีการประกาศห้ามปรามการโยนสิ่งของและมีการกันแนวตำรวจไว้ จนตำรวจถอยหลังกลับไปทางโรงพยาบาลราชวิถีแต่ยังมีการปาขวดน้ำใส่อยู่บ้าง จากนั้น เวลา 15.51 น. ตำรวจจากแนวถนนฝั่งพหลโยธินวิ่งเข้าประกบผู้ชุมนุม แล้วเริ่มเดินแถวถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยขนานกับป้ายรถเมล์เกาะพญาไท จนทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกฮือไปที่เกาะพญาไทและถนนพญาไท ทั้งนี้ จากไลฟ์ของเนชั่นทีวีมีหลักฐานปรากฎว่า ตำรวจมีการใช้กระสุนยางยิงเปิดทางด้วย

ต่อมา หลังสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมเป็นผลให้ทะลุฟ้าตัดสินใจยุติการชุมนุมในเวลา 15.55 น. แต่ทว่า ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ปักหลักในพื้นที่ โดยมีการเร่งเครื่องยนต์ส่งเสียงใส่ตำรวจ แต่ไม่เกิดเหตุการณ์ปะทะกัน และกลุ่มผู้ชุมนุมทีี่ยังปักหลักได้ย้ายไปรวมตัวกันต่อที่แยกดินแดง

หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมม็อบทะลุฟ้า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังเหลือและที่มาเพิ่มเติมได้เริ่มปะทะกับตำรวจที่แยกดินแดงเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยขณะนั้น ตำรวจได้มีการวางกำลังบริเวณกลางแยกดินแดง และเมื่อผู้ชุมนุมเริ่มมีการผลักดันกับตำรวจ ตำรวจก็นำกำลังย้อนกลับไปแนวหลังตู้คอนเทนเนอร์ที่ใกล้กับกรมดุริงยางค์ทหารบก ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมได้แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ชุมนุมแนวหน้าที่มีการขว้างปาสิ่งของและเผารถตำรวจที่แยกดินแดง กับ กลุ่มผู้ชุมนุมที่รอดูอยู่ห่างๆ และกลุ่มผู้ชุมนุมที่มานั่งรอเข้าไปช่วยเหลือและสมทบบริเวณซอยบุญอยู่

ทั้งนี้ ในระหว่างการปะทะที่แยกดินแดง มีรถตู้ตำรวจหนึ่งคันผ่านเข้ามาที่แนวปะทะแยกดินแดง ทำให้ผู้ชุมนุมวิ่งไล่ตามไปทุบรถ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน, วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกเกียกกาย, วันที่ 6 มีนาคม 2564 ที่แยกรัชโยธินและมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ที่หน้าสถาบันโรคหัวใจ กรมการแพทย์ นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า พบเห็นการยิงสวนออกมาจากรถตู้ตำรวจด้วย 

ต่อมา หลังเหตุการณ์ทุบรถตำรวจ ผู้ชุมนุมที่บริเวณแนวหลังนั่งคุยกันจอแจว่า ตำรวจทำเช่นนี้เสมือนหนึ่งเป็นศัตรูกับประชาชน ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่ก็ยังคงมีเป้าหมายที่จะไปชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ให้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงใช้ยุทธการซุ่มยิงกระสุนยางจากที่สูงเพื่อสกัดผู้ชุมนุมทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกถนนวิภาวดี จนท้ายที่สุดผู้ชุมนุมต้องถอยร่นกลับมาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ปฏิบัติการตำรวจในสายตาของ “ผู้ชุมนุมในแนวปะทะ” 

จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยํู่ใกล้กับแนวปะทะ เขาบอกว่า เขามาร่วมชุมนุมแทบทุกครั้งเลย เมื่อก่อนเข้าไปและโดนแก๊สน้ำตาแล้วมันแสบจึงไม่ได้เข้าไป และเขาก็ไม่ได้เข้าไปขว้างปาสิ่งของ เพียงแต่เขาไปช่วยคนที่บาดเจ็บออกมามากกว่า ทั้งนี้ เขาบอกด้วยว่า ในมุมมองของเขา ตำรวจมีอุปกรณ์ป้องกันครบกว่า ทำไมถึงไม่ใช่วิธีตั้งรับแบบอื่นๆ ตำรวจไม่สมควรที่จะมายิงแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง อีกทั้ง การใช้แก๊สน้ำตายิงมาปริมาณมากๆ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย

ผู้ชุมนุมรายดังกล่าวบอกด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมโดนตลอด ข้อเรียกร้องที่เขาเรียกร้องไปมันไม่ได้กลับมา [ไม่ได้รับการตอบสนอง] แถมตำรวจก็ใช้อุปกรณ์มากขึ้น ใช้ทั้งสารเคมี รถฉีดน้ำแรงดันสูง จึงเป็นชนวนเหตุให้ กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดอารมณ์ที่อยากจะเอาคืนบ้าง 

“ทุกวันนี้จากที่มีเงินเดือนสองหมื่นพร้อมส่งตัวเองเรียนไปด้วย ตอนนี้ผมต้องตกงานเรียนอย่างเดียว ไหนจะค่ากินและค่าอินเทอร์เน็ต ค่าข้าว ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป”

“ผมว่า สถานการณ์มันไม่ดีขึ้น แม้ไม่เห็นทางออกแต่ผมจะออกมา ผมอยากเป็นปากเสียงเพราะผมก็รักในประชาธิปไตยเหมือนกัน ให้ประเทศชาติมันก้าวหน้า” ผู้ชุมนุมในแนวปะทะกล่าว