เปรียบเทียบ “ขอบเขต-บทลงโทษ” ในข้อหา “ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล”

เปรียบเทียบ “ขอบเขต-บทลงโทษ” ในข้อหา “ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล”
ในฐานะที่ศาลเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและตัดสินข้อพิพาททั้งระหว่างประชาชนกับประชาชนและระหว่างประชาชนกับรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้ตัดสินข้อพิพาทศาล คำตัดสินของศาลจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าศาลจะสามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีและแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อตัดสินข้อพิพาทได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแทรกแซงหรือขัดขวางการทำงาน กฎหมายละเมิดอำนาจศาลจึงถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองให้กระบวนการพิจารณาคดีของศาลเป็นไปอย่างเรียบร้อยและไม่ถูกแทรกแซง
เพื่อความสงบเรียบร้อยจึงต้องมีกฎหมายดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล
ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ส่วนลักษณะการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลถูกกำหนดไว้ในมาตรา 31 พอจำแนกลักษณะการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดได้เป็น 5 ลักษณะ ได้แก่ 
1. การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาความเรียบร้อยที่ออกตามมาตรา 30  หรือการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
2. การแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล 
3 การแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ 
4 การหลีกเลี่ยงไม่นำส่งเอกสารหรือรับเอกสารเกี่ยวกับคดี 
5 การไม่มาศาลเมื่อมีหมายเรียก
ในส่วนของการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลการพิจารณาคดีหรือการวิพากษ์วิจารณ์ มาตรา 32 ของประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดว่า ผู้เขียน บรรณาธิการ หรือ ผู้พิมพ์โฆษณาสิ่งพิมพ์ ที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีลับหรือมีคำสั่งห้ามโฆษณา (เผยแพร่ข้อมูล)โดยตรง ถือว่าทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มาตรา 32 ยังกำหนดด้วยว่า 
ระหว่างการพิจารณาคดีไปจนถึงเวลาที่คดีถึงที่สุดหากหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์แสดงความเห็นหรือเผยแพร่ข้อมูลโดยมีเจตนาชี้นำหรือมีอิทธิพลเหนือการใช้ดุลพินิจของศาล เหนือคู่ความหรือพยานหลักฐานแห่งคดี หรือมีเจตนา โน้มน้าวชักจูงความคิดเห็นของสาธารณะชนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น 

1. เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริง 

2. รายงานหรือวิภาค(ไม่รู้ถ้าใช้วิพากษ์วิจารณ์จะผิดความหมายไหม) กระบวนพิจารณาคดีโดยไม่เป็นกลางหรือไม่ถูกต้อง 
3. วิภาคการดำเนินคดีหรือถ้อยคำพยานหลักฐานโดยไม่เป็นธรรม หรือรายงานในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงของคู่ความ แม้ข้อความดังกล่าวจะเป็นจริง 
4.รายงานในลักษณะชักจูงให้มีการให้ถ้อยคำพยานที่เป็นเท็จต่อศาล
สำหรับผู้ที่ทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อาจถูกศาลสั่งให้ออกจากบริเวณศาลหรือสั่งลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการให้ออกนอกพื้นที่ศาล ศาลอาจสั่งให้มีผลเฉพาะระหว่างเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาคดีหรือศาลอาจใช้ดุลพินิจกำหนดกรอบเวลาได้ตามสมควร  
ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลมาก่อนและกฎหมายละเมิดอำนาจศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งก็ไม่ได้ใช้กับศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 
มาตรา 38 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนที่เข้ามาในศาล และหากมีความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจสั่งให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำบางอย่างเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี  
และเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ วรรคสองของมาตรา 38 ได้กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆออกบังคับได้ 
สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งศาล วรรคสามของกฎหมายนี้กำหนดข้อยกเว้นว่าการวิพาษ์วิจารณ์ที่ทำโดยสุจริต ไม่ได้ใช้ถ้อยคำหรือข้อความที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสีหรืออาฆาตมาดร้ายไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ส่วนมาตรา 39 วางโทษของการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ว้า ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหรือข้อกำหนดของศาลที่ออกโดยมาตรา 38 อาจถูกตำหนิด้วยวาจาหรือหนังสือ ถูกไล่ออกจากบริเวณศาล หรือถูกลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกิน 50000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากกฎหมายละเมิดอำนาจศาลแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญายังมีข้อหาความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” โดยเหตุผลของการมีอยู่ของกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพและปฏิบัติตามและคุ้มครองไม่ให้ผู้พิพากษาต้องถูกว่าร้าย หรือข่มขู่ หรือทำร้าย จนกระทบกับการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ 
โดยความผิดฐานดูหมิ่นศาลอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
กฎหมายละเมิดศาลรัฐธรรมนูญกับความพยายามถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจขององค์คณะตุลาการ
การดำเนินคดีบุคคลในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คือกระบวนการที่ศาลเป็นคู่พิพาทกับผู้ถูกกล่าวหาว่าทำควมผิดโดยตรง และศาลเป็นผู้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงผ่านกระบวนการไต่สวนด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากคดีประเภทอื่นๆที่ศาลทำหน้าที่รับฟังข้อเท็จจริงจากคู่ความแต่ละฝ่ายนำมาเสนอต่อศาลเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติโดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งกับคู่ความ การใช้ดุลพินิจของศาลจึงเป็นการใช้ดุลพินิจในลักษณะที่ศาลเองมีส่วนได้ส่วนเสีย
พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 39 วรรคสามจึงกำหนดว่า ในกรณีที่จะมีการลงโทษบุคคลในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยโทษปรับหรือโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษทางอาญา องค์คณะตุลาการจะต้องให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่า สองในสามขององค์คณะทั้งหมด ส่วนกรณีของการละเมิดอำนาจศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ได้มีการกำหนดเรื่องจำนวนองค์คณะผู้ให้ความเห็นชอบขั้นต่ำไว้
“หยาบคาย เสียดสี” มุ่งคุ้มครองความศักดิ์สิทธิ์ของศาลมากกว่าการพิจารณาคดี
กฎหมายละเมิดอำนาจศาลทั้งตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มีการกำหนดประเภทการเผยแพร่เนื้อหาหรือการแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลดังที่ระบุไปข้างต้น โดยความมุ่งหมายของการกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดเป็นไปเพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีหรือการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาในลักษณะที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงหรือมีเจตนาแอบแฝงบาง เผยแพร่สู่สาธารณะซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีในภาพร่วมได้ 
อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้การวิพาษ์วิจารณ์คำสั่งศาลในลักษณะ “เสียดสี” หรือ “หยาบคาย” ก็ก่อให้เกิดคำถามว่าการกำหนดลักษณะความผิดดังกล่าวสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ได้แก่การคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีหรือไม่ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเสียดสีหรือหยาบคาย ไม่น่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่สามารถชักจูงให้สาธารณชนเกิดความไม่เชื่อมั่นหรือเกิดผลเสียต่อกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอย่างมีนัยยะสำคัญดังที่เจตนารมณ์ของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลมุ่งคุ้มครองได้ 
  
ละเมิดอำนาจศาลตามป.วิแพ่ง โทษปรับเบาแต่โทษจำคุกหนักกว่าละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
หากเปรียบเทียบการวางโทษความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนเบากว่าโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนของศาลยุติธรรมถึงห้าเดือน ในขณะที่โทษปรับของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 500 บาท ต่ำกว่าโทษปรับตามกฎหมายละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญซึ่งวางโทษปรับไม่เกิน 50000 บาทถึง 100 เท่าตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะกฎหมายละเมิดอำนาจศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งยังไม่เคยมีการแก้ไขนับจากออกมาบังคับใช้ในปี 2477 จึงไม่ได้มีการอัตราค่าปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ