จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์!) : สุ้มเสียงแห่งความอึดอัดและการทวงสัญญา

ถ้ารัฐบาลคสช.เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งในปี 2557 พวกเขาก็จะครบวาระสี่ปีของการทำงานในเดือนพฤษภาคม 2561 และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แล้วถ้าหากประชาชนพึงพอใจการทำงานคสช.ก็จะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งให้ทำงานต่อ แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองใหม่ที่นำเสนอนโยบายเป็นที่พอใจของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่เนื่องจากรัฐบาลคสช.ไม่ได้เข้าสู่อำนาจตามกฏิกาปกติหากแต่ผ่านการระบุว่าพวกเขาเป็น “รัฎฐาธิปัตย์” กรอบระยะเวลาการทำงานจึงไม่ใช่ระยะเวลาสี่ปีตามปกติหากแต่เป็นเป็นกรอบเวลาตามที่คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มเห็นควร 
 
ดูเหมือนคสช.จะเข้าใจดีว่าตัวเองเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการที่มีประชาชนส่วนหนึ่งรวมถึงนานาอารยะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่ยอมรับ คสช.จึงชี้แจงตั้งแต่วันแรกๆว่าจะไม่อยู่ยาวรวมทั้งเคยให้คำมั่นว่าหากสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตามโรดแมปก็น่าจะจัดการเลือกตั้งได้ภายในปี 2558 แต่มาจนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะถูกจัดขึ้นเมื่อใด ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลคสช.บริหารประเทศมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของคสช. เช่นกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคมเช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่มดาวดิน ขบวนการประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ต่างทยอยออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองไปอย่างน้อย 421 คน 
 
การออกมากเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมข้างต้นอาจถูกมองโดยกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มการเมือง” “คนหน้าเดิม” หรือกระทั่ง “พวกแฟนคลับทักษิณ” แต่ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 หรือสิบวันก่อนวันครบรอบ 4 ปีการยึดอำนาจเพียงสิบวัน มีประชาชนกลุ่มหนึ่ง จัดกิจกรรมแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการบริหารงานของคสช. สิ่งที่แตกต่างไปคือครั้งนี้ โต้โผในการจัดงานไม่ใช่กลุ่มนักกิจกรรมที่จัดเสวนาตามมหาวิทยาลัยหากแต่เป็นคนหนุ่มสาวที่มีการแต่งตัว ทรงผม และรอยสักอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และรูปแบบกิจกรรมไม่ใช่การเสวนาวิชาการเครียดๆหรือการปรายศรัยวิจารณ์คสช. หากแต่เป็นการแสดงความอึดอัดไม่พอใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองผ่านบทเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์สังคมและมีท่วงทำนองหนักหน่วง งานคอนเสิร์ต จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์!) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 คงจะส่งสัญญาณให้คสช.ได้รู้กลายๆแล้วว่า ตลอดสี่ปีที่ผ่านมาคนที่อึดอัดกับการบริหารงานและการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะปิดกั้นเสรีภาพของพวกเขาไม่ได้มีแค่ “คนหน้าเดิม”
 
 
โปสเตอร์งาน จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์) ภาพจากเพจ 4ปีแล้วนะไอ้สัตว์
 

งานดนตรีของชาวพังค์ โดยชาวพังค์ เพื่อชาวพังค์

 
7 เมษายน 2561 ปรากฏเฟซบุ๊กเพจ จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์)บนเฟซบุ๊กพร้อมโฆษณางานฟรีคอนเสิร์ตกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 บนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์  นอกจากชื่อและภาพของนักดนตรีส่วนหนึ่งที่จะมาแสดงในงานแล้วยังมีภาพชายคนหนึ่งที่แม้จะถูกคาดลูกตาด้วยตัวหนังสือเขียนคำว่า “จะ 4 ปีแล้วนะ” แต่หลายคนคงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ทำท่าเอานิ้วชี้ปิดปากคล้ายจะบอกว่า “จุ๊ๆอย่าพูดไป” ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับสถานการณ์ตลอดสี่ปีที่ผ่านมาที่คนเห็นต่างจากคสช.ไม่อาจพูดอะไรได้มากนัก หลังจากนั้นอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ให้หลังงานคอนเสิร์ต ” จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์)” ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอโปรโมทงานความยาวประมาณหนึ่งนาทีซึ่งนอกจาก คลิปการแสดงของนักร้องวงต่างๆที่จะมาในงานแล้วยังมีไฮไลท์อยู่ที่การตัดเค้กวันเกิดประกอบเพลง Happy Birthday เวอร์ชันฮาร์ดคอร์คลอไปด้วยซึ่งหากดูจากคลิปคงเดาได้ไม่ยากว่าเจ้าของงานวันเกิดคือคสช.นั่นเอง 
 
“นิรนาม” หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันงานนี้ให้เป็นจริงเล่าให้ฟังว่าหลายคนที่มางานคอนเสิร์ตหรือได้มางานนี้อาจเข้าใจว่านี่คือครั้งแรกที่ชาวพังค์ออกมาแสดงคอนเสิร์ตที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแต่ที่จริงแล้วคนในแวดวงพังก์ไทยมีการแสดงคอนเสิร์ตหรือร้องเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองมาโดยตลอดไม่ใช่แค่ในยุคคสช. เพราะจุดกำเนิดและจิตวิญญาณของดนตรีพังค์คือการวิพากษ์วิจารณ์และรื้อถอนโครงสร้างสังคมเดิมๆที่เติมไปด้วยความไม่เท่าเทียม
 
เสื้อที่ระลึก จะสี่ปีแล้วนะแล้วนะ (ไอ้สัตว์)
 
เพียงแต่การ “มีอยู่” ของพวกเขาอาจจำกัดอยู่ในแวดวงเฉพาะตามผับเล็กๆหรือตามคอนเสิร์ตที่มีแฟนเพลงเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้าง โดยนิรนามให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะดนตรีไม่ได้มีคอนดัคเตอร์หรือศิลปินใหญ่ที่เป็นที่รู้จักมีคนติดตามมากเหมือนอย่างแวดวงดนตรี “เพื่อชีวิต” ที่เพลงหลายเพลงมีเนื้อหาเสียดสีสังคมเช่นกัน แต่”นิรนาม” ก็เห็นว่าบรรดาคอนดัคเตอร์หรือศิลปินใหญ่ในแวดวง “เพื่อชีวิต” ไม่ได้เป็นผู้นำการต่อสู้ในแนวรบทางวัฒนธรรมอีกต่อไปและดนตรีของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นดนตรีที่สะท้อนหรือรับใช้ชนชั้นล่างอีกต่อไปแล้ว   
 
สำหรับการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ “นิรนาม” ระบุว่าเขาเริ่มคุยกับเพื่อนๆที่เป็นนักดนตรีพังค์ช่วงปลายปี 2560 ว่าปีหน้า (2561) ทำงานการเมืองกันไหม หลังจากนั้นก็เริ่มคุยคอนเซ็ปงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เรื่องชื่องานก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คุยกันหนักมาก ตอนแรกจะใช้ชื่อ “พังค์ต่อต้านคอรัปชัน” แต่คุยไปคุยมาก็มาตกที่ชื่อ “จะสี่ปีแล้วนะ” ก่อนจะมีคนเสนอให้เติมคำสร้อย (ไอ้สัตว์) ต่อท้าย หลังคุยเรื่องคอนเซปและชื่องานตก “นิรนาม” กับทีมจัดงานก็เริ่มติดต่อบรรดานักดนตรีซึ่งแม้ครั้งนี้จะเป็นฟรีคอนเสิร์ตที่ไม่มีใครได้ค่าตัวแต่ทุกคนก็มีความกระตือรือล้นที่จะมาเล่น บางวงติดต่อมาทางหลังไมค์หลายรอบจนเขาต้องยอมให้มาเล่น
 
“นิรนาม” ย้ำว่าตอนแรกที่คิดจะจัดงานนี้ คิดว่าจะจัดเป็นงานสำหรับชาวพังค์ มาเจอกัน มาเล่นดนตรีกัน มาคุยถึงความอึดอัดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมากัน ไม่ได้มีความคิดจะลดโทนความหนักแน่นของจังหวะดนตรีและเนื้อหาเพลงเพื่อดึงดูดแฟนเพลงกลุ่มอื่นเพราะพวกเขาไม่ได้ตั้งใจจัดคอนเสิร์ตเพื่อ “ประชาชนชาวไทย” หรือเพื่อ “คนเสื้อแดง” ส่วนที่มาเลือกจัดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก็เป็นด้วยเรื่องของการบริหารจัดการและงบประมาณ เพราะงานนี้เป็นฟรีคอนเสิร์ต หากไปจัดตามตึกร้างดังที่ตั้งใจตอนแรกงบก็อาจบานปลายเพราะต้องจัดทั้งระบบแสงและเสียงและต้องแจ้งคนที่อาศัยละแวกนั้นแต่ที่อนุสรณ์สถานฯ พวกเขาเพียงแต่ต้องจัดหาเครื่องเสียงเท่านั้น    
 

แรงบันดาลใจระหว่างบันไดเสียง

โอ้ต สมาชิกวง Drunk all Day หนึ่งในวงที่ขึ้นแสดงในงาน”จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์)”เผยความในใจว่า ตัวเขาเริ่มมาสนใจการเมืองอย่างจริงจังในยุคคสช.เพราะมีคนในครอบครัวของเขาได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารโดยตรง โอ้ตเล่าว่าตัวเขาเป็นคนสุพรรณ คนที่บ้านประกอบอาชีพทำนา และขุดบ่อเลี้ยงปลา แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางการตัดน้ำในพื้นที่แถวบ้านทำให้ข้าวไม่โตเก็บเกี่ยวไม่ได้และปลาที่บ้านก็ตายหมด การเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงทำให้โอ้ตหันมาสนใจประเด็นทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเขาไม่ได้สนใจสังคมหรือเรื่องรอบตัวเสียเลย
 
“เป็นชาวประชา ก้มหน้าทำงาน หาเงินมาได้มันต้องจ่ายราคา ภาษีเงินตรา ให้กับผู้คนที่นั่งในสภาอยู่แบบสุขสบาย พวกเราทุกคนอดๆอยากๆ กลั้มกลืนฝืนใจ ไม่มีจะกิน ให้ทำอย่างไงก็เขาไม่สนใจ และคุณจะเอาอะไรจากชีวิตผม”
 
นรกคนจน หนึ่งในบทเพลงที่เป็นเสมือน signature ของวงถูกแต่งขึ้นเพื่อบอกเล่าถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจนเป็นเสมือนภาพชินตาในสังคมไทยเมื่อคนที่มีอำนาจหรือมีเงินสามารถรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายได้โดยสะดวกดายแม้จะทำความผิดและมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ขณะที่คนจนเมื่อถูกตำรวจจับก็มักต้องสูญสิ้นอิสรภาพแม้จะยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริงจนสิ้นสุดกระบวนการก็ตาม 
 
“มาโกงกันแบบนี้มันไม่ติดคุกใช่ไหม มาฆ่ากันให้เห็นมันก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่รู้ว่าพวกคุณยืนอยู่กันได้อย่างไง พวกผมก็ยังไม่เห็นว่าคุณต้องไปรับกรรม กฎหมายที่มีไม่รู้จะมีไว้ทำไม มีมากี่ชาติมันคงไม่เคยได้ใช้ สงสัยจริงๆว่าคุกที่สร้างกันไป มันคงมีไว้ใช้ขังแต่คนจน” 
 
ในมิวสิควิดีโอของเพลง “นรกคนจน” มีการนำภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมมาประกอบโดย “เจเจ”  นักดนตรีอีกคนหนึ่งของวง Drunk all Day ระบุว่าต้องการสะท้อนถึงการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อคนธรรมดาขณะเดียวกันภาพวัยรุ่นที่เป็นข่าวดังจากกรณีคนขับรถหรูชนรถตู้โดยสารตกทางด่วนจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในมิวสิควิดีโอก็คือภาพสะท้อนของกระบวนการยุติธรรมไทยที่สุดท้ายคนมีสถานะทางสังคมมักสามารถเอาตัวรอดไม่ต้องรับผลแห่งการกระทำของตัวเองได้
 
 
วง Drunk all Day (โอ้ต คนนั่งกลาง เจเจ คนยืน) ภาพจากเพจอย่างเป็นทางการของวง Drunk all Day
 
สำหรับวง Drunk all Day เพลงนรกคนจนดูจะไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนทั่วๆไปของสังคมไทยหากแต่ยังเป็นสิ่งพวกเขาต้องเผชิญในฐานะประสบการณ์ตรงด้วย “บอม” รุ่นพี่ที่เจเจและโอ้ตให้ความเคารพถูกทหารนายหนึ่งยิงเสียชีวิตบริเวณใกล้ๆค่ายกรมทหารราบ 11 รักษาพระองค์ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558  โดยที่ตัวของ “บอม” ไม่น่าจะมีเหตุโกรธเคืองหรือรู้จักทหารคนดังกล่าวมาก่อน โอ้ตคาดว่าเหตุที่นำไปสู่การยิงน่าจะเป็นเรื่องความไม่พอใจที่เกิดจากการใช้ถนนร่วมกันโดยก่อนเกิดเหตุรถที่ขับตามหลังจักรยานยนตร์ของบอมตบไฟสูงใส่ เมื่อบอมหักหลบให้รถคันดังกล่าวก็ลดกระจกและยิงใส่เขาหนึ่งนัดจนเสียชีวิต หลังจากนั้นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารก็เป็นไปอย่างล่าช้าและข่าวการเสียชีวิตของบอมก็เลือนหายไปตามกาลเวลาคล้ายข่าวฆาตกรรมอื่นๆ 
 
ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมทำให้เจเจตัดสินใจหยิบกระป๋องสเปรย์มาพ่นสัญลักษณ์วงดนตรีของต่างประเทศซึ่งบังเอิญละม้ายคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์อนาธิปไตยที่ป้ายศาลอาญารัชดาเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมจนท้ายที่สุดตัวเข้าต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำรวมทั้งสิ้นสามคืนระหว่างรอประกันตัวจากการถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลและคดีทำลายทรัพย์สิน ซึ่งสุดท้ายแม้เจเจจะไม่ต้องรับโทษจำคุกจริงๆแต่ก็ต้องเสียค่าปรับถึง 4500 และถูกคุมประพฤติตลอดระยะเวลาสองปีที่ได้รับการรอลงอาญาโทษจำคุก
 

ท่วงทำนองแห่งความอึดอัดแด่เธอ “คสช.”

นอกจากเพลง นรกคนจน เพลง signature ของวงแล้ว อีกบทเพลงหนึ่งที่เรียกเสียงเฮจากคนในงาน จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์) เห็นจะหนีไม่พ้นเพลง คืนความสุกข์ ซึ่งเป็นผลงานการแต่งเนื้อร้องของ “เจเจ” อีกเช่นกัน โดยเจเจได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้มาจากเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็นผู้แต่ง  
 
เจเจระบุว่าตอนแรกเขาตั้งใจจะแต่งทำนองและเนื้อร้องให้ล้อไปกับเพลงต้นฉบับแต่พอแต่งไปแต่งมาก็พบว่ามันจะกลายเป็นเพลงลูกกรุงไปสุดท้าย เจเจเลยเลือกที่จะแต่งเพลงในสไตล์ของตัวเองแต่ก็ยังคงทิ้งกลิ่นอายของบรรยากาศการ “คืนความสุกข์” เอาไว้โดยเปลี่ยนคำว่า สุข เป็นคำว่า สุกข์ คล้ายต้องการตั้งคำ/ถามว่าเอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่ได้รับคืนตลอดสี่ปีที่ผ่านมามันคือความสุขหรือความทุกข์กันแน่ เจเจระบุด้วยว่าประเด็นหลักที่เพลงนี้ต้องการสื่อคือ “พวกเขาอยู่มานานเกินไปแล้ว” เกินกว่าที่เคยสัญญาว่าจะเข้ามาแปปเดียวเพื่อปรับปรุงแก้ไขวิกฤต
 
 “เธอบอกจะคืนความสุขที่มี เธอให้มาแต่ความทุกข์ ปิดหูปิดตาไม่ให้ได้ยิน ไม่ให้ได้เห็น อะไรที่เกิดมา 
 
เธอคอยบงการอะไรให้ทำตามใจเธอต้องการ โดยไม่นึกถึงสักทีว่าตอนนี้มันควรพอแล้วหรือยัง” 
 
คือท่อนเปิดของเพลงที่ตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจ ก่อนที่เพลงจะทวงสัญญาว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะ “พอเสียที”
 
สำหรับท่วงทำนองของเพลงหากฟังโดยไม่ดูมิวสิควิดีโอประกอบ และหากไม่ได้ถูกบรรเลงในงานจะสี่ปีแล้วนะ(ไอ้สัตว์) คนฟังอาจจะนึกว่าเป็นเพลงที่พูดถึงเรื่องราวของคู่รักที่กำลังมีปัญหาระหองระแหงหรือมีการปิดบังเรื่องราวต่างๆจากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเจเจอธิบายว่าเพลงนี้ถ้าเป็นเพลงรักก็จะเป็นเรื่องราวของความรักที่ล้มเหลวเพราะพฤติกรรมสัญญาไม่เป็นสัญญา ซึ่งหากนำมาเทียบเคียงกับบริบทการเมืองก็คงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเหตุใดคสช.ที่พูดมาตลอดสี่ปีว่า “รักเธอประเทศไทย” จึงไม่ยอมทำตามสัญญาด้วยการจัดการเลือกตั้งและลงจากอำนาจเสียที
 

12 พฤษภาพวกเรามาปลดปล่อยจิตวิญญาณแห่งการรื้อถอน 

และแล้ววันที่ “นิรนาม” โอ้ต และเหล่านักดนตรีพังค์คนอื่นๆรอคอยก็มาถึง บรรยากาศที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาเริ่มคึกคักตั้งแต่ช่วงเย็น เมื่อเหล่านักดนตรีและชาวพังค์มาเตรียมตัวปลดปล่อยความอึดอัดของพวกเขาไปกับเสียงเพลง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไม่ได้คึกคักเพียงเพราะการปรากฎตัวของเหล่าชาวพังค์เท่านั้นหากแต่ยังคึกคักเพราะการปรากฎตัวของบรรดาลุงๆป้าๆที่หลายคนดูไม่น่าจะเป็นแฟนดนตรีพังค์แต่มางานนี้เพราะแรงดึงดูดของโปสเตอร์ที่มีรูป “ลุงตู่” นอกจากนี้ก็ยังคึกคักเพราะการปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ
 
“นิรนาม” เล่าว่ากว่าที่เขาจะสามารถจัดงานนี้ขึ้นมาได้เขาต้องประสานงานเจ้าหน้าที่ท้องที่หลายต่อหลายครั้ง ขณะก่อนจัดงานทีมงานก็ต้องแก้ไขชื่อคอนเสิร์ตอีกครั้งเนื่องจากคำสร้อย “ไอ้สัตว์” ดูจะรุนแรงเกินไปสำหรับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พวกเขาจึงต้องกลับไปใช้ชื่อ “จะสี่ปีแล้วนะ” ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิม “นิรนาม”จึงต้องไปแก้ไขชื่องานบนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊กแต่นิรนามก็เชื่อว่า จะสี่ปีแล้วนะ(ไอ้สัตว์) ได้กลายเป็นชื่องานในใจคนไปแล้ว
 
 
ชาวพังค์กำลังวาดลวดลาย (ภาพจากผู้ร่วมงาน)
 
ระหว่างที่คอนเสิร์ตดำเนินไป ขณะที่นักดนตรีและชาวพังค์ที่แต่ละคนอายุอานามยังไม่น่าจะถึงเลขสามกำลังเต้นกันอย่างเมามันที่บริเวณเวทีกลางแจ้งของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาซึ่งเป็นที่ตั้งของเวทีคอนเสิร์ต บริเวณที่นั่งด้านบนก็มีแฟนเพลงอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งน่าจะมีมากกว่าห้าสิบคนจับกลุ่มโยกตัวตามจังหวะเพลงอย่างเมามันไปด้วย แฟนเพลงกลุ่มนี้ดูด้วยสายตาอายุอานามไม่น่าจะต่ำกว่าเลขสี่ทั้งสไตล์การแต่งตัวก็ดูจะแตกต่างจากคนที่เต้นกันอยู่หน้าเวทีอย่างสิ้นเชิง แต่ในท่ามกลางความแตกต่างสาสน์ทางการเมืองที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยเสียงดนตรีที่หนักหน่วงดูจะเป็นสิ่งที่เชื่อมร้อยนักดนตรีและแฟนเพลง”ต่างวัย” เข้าด้วยกัน จากการพูดคุยในภายหลัง บรรดาป้าๆที่มีโอกาสไปดูคอนเสิร์ตในครั้งนี้ดูจะประทับใจในผลงานของเหล่าชาวพังค์อยู่ไม่น้อย
 
“มันมาก” คือคำจำกัดความเพียงคำเดียวที่ ‘พี่ณัฐ’ หญิงวัย 60 ปี ที่ปกติชอบฟังเพลงลูกทุ่งสะท้อนความรู้สึกถึงคอนเสิร์ตพังค์ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอ แม้ดนตรีพังค์จะไม่ใช่แนวดนตรี ‘พี่ณัฐ’ ฟังอยู่เป็นประจำ แต่ชื่องานและเนื้อหาของเพลงที่ออกแนว “ขัดใจคสช.” ก็ดูจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้พี่ณัฐ ผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/58 สองคดีได้แก่คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กหอศิลป์กรุงเทพ (#MBK39) และที่หน้ากองทัพบก (#Army50) สนุกไปกับคอนเสิร์ตครั้งนี้ “ดีใจที่น้องๆออกมาแสดงออกแบบนี้ เคยคิดว่าพวกเค้าไม่สนใจการเมือง แต่พอมาวันนี้รู้สึกว่าพวกเค้าก็รู้อะไรมากกว่าที่เราคิด”
 
 
แฟนเพลงรุ่นใหญ่ (ภาพจากผู้ร่วมงาน)
 
“พี่อึ่ง” หญิงวัย 56 ปี ที่เป็นผู้ต้องหาคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวมห้าคดีก็เล่าว่าปกติเธอเป็นคนที่ไม่ฟังเพลงแต่มางานนี้เพราะรู้สึกว่าชื่องาน “เร้าใจ” และจัดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ แม้ตัวพี่อึ่งจะไม่ใช่แฟนดนตรีพังค์แต่ก็อุดหนุนเสื้อที่ระลึกของงานไปสองตัว พี่อึ่งยอมรับว่าตัวเธออาจหัวทันสมัยไม่ทันกับเพลงของน้องๆในงาน แต่ก็ชื่นชมความกล้าของนักดนตรีกล้าแต่งและกล้าร้องเพลงที่มีเนื้อหาแหลมคมเช่นนี้ พร้อมกับยืนยันว่าถ้าชาวพังก์จัดงานดนตรีการเมืองอีกเธอจะมาร่วมและให้กำลังใจอย่างแน่นอน
 
 
 
อายุเป็นเพียงตัวเลข (ภาพจากผู้ร่วมงาน)
 
ขณะที่พี่ “ยุพา” แม่บ้านวัย 49 ปี ซึ่งปกติชอบฟังเพลงป็อปยอมรับว่าตอนที่มาถึงงานก็รู้สึกตกใจนิดๆ แต่ก็พร้อมจะเปิดใจรับฟังเพราะเชื่อว่าดนตรีมีหลายแนว เธอยอมรับว่าเคยเข้าใจดนตรีพังค์ในฐานะ “ดนตรีทรมานใจแม่” แต่เมื่อมางานก็แอบสะใจกับเพลงของน้องๆอยู่เหมือนกัน แม้ภาพลักษณ์ของนักดนตรีและแฟนเพลงพังค์ที่มางานจะ “หลุดโลก” ไปบ้างในสายตาของพี่ยุพา แต่พวกเขาก็เต้นกันอยู่ในส่วนของพวกเขาไม่ได้มาวิ่งชนกันบริเวณที่ลุงๆป้าๆเต้นกันอยู่และบางคนก็ทักทายพวกลุงๆป้าๆด้วยความสุภาพ ก่อนจบการสนทนาพี่ยุพาบอกว่าตัวเธอเองเคยชอบฟังเพลงเพื่อชีวิตของคาราบาวและปู พงษ์สิทธิ์ แต่ตอนนี้เลิกฟังแล้วเพราะรู้สึกว่าพวกเขาเปลี่ยนไป
 
ส่วน “พี่ฐิ” ข้าราชการบำนาญวัย 63 ปี ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น “นักกิจกรรมทางสังคม” ก็เล่าว่าปกติเธอจะฟังเพลงป็อปหรือเพลงโรแมนติกโดยมีวงคาร์เพนเตอร์เป็นศิลปินวงโปรด แต่สำหรับศิลปินไทยเธอไม่ได้ฟังมานานแล้วเพราะเห็นว่าเนื้อเพลงไม่ค่อยมีสาระ แม้ตัวเธอจะไม่รู้สักดนตรีพังค์แต่ก็มางานนี้เพราะคอนเซปต์งานน่าสนใจ  หลังจบงานเธอก็รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงจุดยืนในแบบของพวกเขา ส่วนถ้อยคำของเพลงที่แม้จะเผ็ดร้อนไปบ้างแต่พี่ “ฐิ” ก็เห็นว่าเป็นภาษาที่คนรุ่นนั้นใช้กันในหมู่เพื่อนฝูงอยู่แล้วไม่ได้รุนแรงอะไร
 

การพูดคุยระหว่าง “ชาวพังค์” กับ “คนในเครื่องแบบ”

ตลอดเวลาที่คอนเสิร์ตดำเนินไป”นิรนาม” ต้องเจรจากับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ยิ่งเมื่อตกค่ำความหนักหน่วงของเพลงก็ยิ่งแรงขึ้นสวนทางกับอุณหภูมิที่เริ่มคลายความร้อนลง แต่”นิรนาม” ก็ไม่ได้กังวลอะไรเป็นพิเศษเพราะเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้ผิดอะไร ขณะที่โอ้ตศิลปินจากวง Drunk all Day ก็บอกว่าแม้ในงานจะเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่แต่พวกเขาก็ไม่กลัวอะไรเพราะพวกเขาเพียงแต่มาเล่นดนตรี
 
งานเดินมาถึงจุดไคล์แม็กซ์เมื่อวง Blood Soaked Street Of Social Decay หนึ่งในวงที่ร่วมแสดงเริ่มบรรเลงเพลงที่มีเนื้อหาพาดพิงบุคคลสำคัญในคสช.สองคนได้แก่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาแจ้งกับ”นิรนาม” ว่างานเดินมาเกินกว่าลิมิตที่พวกเขาจะยอมรับได้แล้ว แต่ “นิรนาม” ก็สามารถเจรจาจนกระทั่งงานดำเนินมาถึงตอนจบตามที่แพลนไว้ ตอนจบงานชาวพังก์ส่วนหนึ่งนำโปสเตอร์งานที่มีรูปพล.อ.ประยุทธ์มาจุดไฟเผาซึ่งขั้นตอนนี้ “นิรนาม” เล่าว่าเป็นธรรมดาของคอนเสิร์ตพังก์จะมีอะไรแบบนี้ บางทีคอนเสิร์ตของต่างประเทศจะมีเผาคัมภีร์ไบเบิลแต่งานนี้พวกเขาคิดว่าเพียงแค่เผาโปสเตอร์งานซึ่งมีภาพของ “ท่านผู้นำ” ก็น่าจะพอแล้ว  
 
 
ภาพการ์ตูนไข่แมวเสียดสีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่เชิญชาวพังก์ไปพูดคุยที่สน.และลงบันทึกประจำวันหลังร้องเพลงพาดพิงบุคคลสำคัญในคสช. ที่มา เฟซบุ๊กเพจไข่แมวx
 
หลังสิ้นเสียงกีตาร์และเสียงกลอง นักดนตรีวง Blood Soaked เกื้อ เพียวพังค์ ชาวพังค์คนหนึ่งที่ขึ้นไปแจมระหว่างการแสดงของวง Blood Soaked และ ”นิรนาม” ก็ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่สน.ชนะสงคราม
 
“นิรนาม”พูดถึงท่าทีของเจ้าหน้าที่ทั้งระหว่างที่คอนเสิร์ตดำเนินไป และตอนที่อยู่สน.ว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ไปดูคอนเสิร์ตพูดคุยกับเขาด้วยดีแถมยังพูดกับเขาแบบติดตลกด้วยว่า “มาเฝ้างานพวกคุณนี่ทรมานฉิบหาย” ขณะที่เมื่อไปถึงสน.ก็ไม่ได้มีการตั้งข้อหาใดๆ โดยตลอดเวลาที่พวกเขาอยู่ที่สน.ก็ไม่มีใครมีท่าทีหวาดกลัว “นิรนาม” เล่าด้วยว่าหลังเขาและวง Blood Soaked ไปที่สน.แล้วก็มีเพื่อนๆชาวพังค์และป้าๆก็ทยอยตามมาที่สน.เกือบๆ 30 คน ซึ่ง ”นิรนาม” เชื่อว่าหากไม่มีการปล่อยให้บรรดาชาวพังค์กลับบ้านที่หน้าสน.ชนะสงครามก็อาจมีการชุมนุมขนาดย่อมๆเกิดขึ้นเป็นแน่
 
หากไม่ทำตามสัญญาเราจะกลับมาอีกครา
 
“นิรนาม” ยอมรับว่าแม้แนวคิดเบื้องหลังดนตรีแนวพังค์จะเป็นการรื้อถอนโครงสร้างและเชื่อมั่นในแนวคิดทางการเมืองแบบอนาธิปไตย แต่เขาก็ยอมรับว่าในยุคสมัยปัจจุบันการเลือกตั้งที่ถูกมองโดยนักคิดอนาธิปไตยว่าเป็นเพียงโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองที่เป็นปัญหาคือทางออกที่นุ่มนวลที่สุดของความขัดแย้ง และสุดท้ายหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำอะไรที่ไม่เข้าท่า บรรยากาศทางการเมืองแบบเปิดก็ยังพอจะมีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออกหรือขยับอะไรได้บ้าง ขณะที่โอ้ตจากวง Drunk all Day ก็มีความเชื่อว่าไม่มีเผด็จการประเทศไหนทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและการรัฐประหารไม่ทำให้ประเทศดีขึ้น
 
เมื่อถาม “นิรนาม” ว่าหากมองย้อนกลับไปในฐานะคนจัดงาน อะไรหรือสิ่งใดคือรางวัลที่แสดงถึงประสบความสำเร็จที่สุดในการจัดงานครั้งนี้ “นิรนาม” ตอบแบบเรียบๆว่าคือการได้จัดงานจนจบ พร้อมเล่าย้อนไปถึงความยากลำบากในการเตรียมงานทั้งการหาสถานที่และการประสานงานกับหน่วยงานรัฐหลายต่อหลายแห่ง

“ไม่เคยคิดว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้มันจะยิ่งใหญ่หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และเราก็ไม่ได้หวังให้ใครชอบ เราแค่เล่นดนตรีของเรา สื่อในสิ่งที่เราเป็น แค่จัดงานนี้จนจบ ไม่ถูกปิดงานก็ถือว่าดีมากแล้ว”  

 
 
การพบกันระหว่างพลเมืองอาวุโสผู้ตื่นตัวทางการเมืองกับชาวพังก์ที่ต้องการปลดปล่อยความอึดอัด (ภาพจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม)
 
แม้ “นิรนาม” จะถูกเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นผู้จัดหรือเจ้าของงาน และเข้ามาตามตัวเขาทุกครั้งที่เพลงบนเวทีมีการพาดพิงถึงบุคคลสำคัญในคสช. แต่ตัวนิรนามกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น แม้ตัวของนิรนามจะเป็นผู้ประสานงาน แต่เขาก็เห็นว่างานระดับนี้ลำพังตัวเขาคงไม่สามารถผลักมันมาได้ไกลขนาดนี้ สำหรับนิรนาม ทีมงานที่ไม่ออกหน้า นักดนตรีพังค์ที่แบกกีตาร์ขึ้นรถเมล์มาเล่นโดยไม่คิดค่าตัว ชาวพังค์ทุกคนที่มาร้อง มาแจม มาเต้น รวมทั้งลุงๆป้าๆที่แม้จะต่างวัยแต่ก็วาดลวดลายชนิดที่ต้องบอกว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ล้วนเป็นตัวต่อชิ้นสำคัญที่ทำให้งาน “จะสี่ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์)” ปิดฉากอย่างสวยงามและน่าจดจำ 
 
แน่นอนการจัดคอนเสิร์ตจะ 4 ปีแล้วนะ (ไอ้สัตว์) เป็นสิ่งที่มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง เจเจ หนึ่งในสมาชิกวง Drunk all Day ซึ่งเป็นผู้แต่งเพลง นรกคนจน และ คืนความสุกข์ก็ตัดสินใจไม่มาร่วมคอนเสิร์ตนี้ทั้งด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ต้องดูแลคุณพ่อที่จังหวัดสุพรรณบุรีและด้วยเหตุผลทางความเชื่อส่วนตัวซึ่งเจเจเชื่อว่าการแสดงคอนเสิร์ตลักษณะนี้ดูเป็นการแสดงออกที่”ตรงเกินไป”โดยเฉพาะหลายวงที่มีลักษณะด่าตรงๆ ตัวเขาเชื่อว่าน่าจะมีวิธีการแสดงออกที่แยบยลกว่านี้ อย่างไรก็ตามเจเจก็เคารพการตัดสินใจที่เพื่อนร่วมวงที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตและยินดีให้เพลงที่เขาแต่งได้ถูกบรรเลงขับกล่อมแฟนเพลงในงานด้วย
 
ก่อนปิดท้ายบทสนทนา “นิรนาม” ผู้ขอให้สงวนชื่อและตัวตนของเขาตลอดการสนทนาด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยระบุว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะดูไม่มีความหวังมากนักเพราะแม้จะมีสสจากการเลือกตั้งแต่ก็จะมีสวที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. 100% อยู่ในสภาด้วย อย่างไรก็ตามหากท้ายที่สุดแล้วคสช.มีท่าทีจะบิดพริ้วหรือเลือ่นการเลือกตั้งออกไปอีก “นิรนาม” ก็สัญญาว่าเมื่อถึงวันนั้นบรรดาชาวพังค์จะกลับมาทวงคำสัญยาจากคสช.อีกคราหนึ่ง