สี่ปี ศาลทหาร คดีพลเรือนยังคงค้างอย่างน้อย 281 คดี

กรมพระธรรมนูญ (ศาลทหาร) เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีพลเรือนในศาลทหารทั่วประเทศรวมทั้งศาลทหารกรุงเทพ ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปี 1 เดือน โดยระบุว่า
ในศาลทหารกรุงเทพ มีจำเลยที่เป็นพลเรือนถูกพิจารณาคดี 367 คน จาก 238 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาและคดีที่ถึงที่สุด 150 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 88 คดี หากจำแนกตามประเภทความผิด มีคดีความผิดตามประมวลกฎหมายหมวดพระมหากษัตริย์(รวมทั้งมาตรา 112) 67 คดี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง (รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) 6 คดี ความผิดตามประกาศคำสั่งคสช. (เช่นข้อหาไม่รายงานตัวและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน) 37 คดี และคดีเกี่ยวกับอาวุธตามประกาศฉบับที่ 50/2557 128 คดี  
ส่วนที่ศาลมณฑลทหารบก (ศาลทหารในต่างจังหวัด) ทั่วประเทศ มีจำเลยที่เป็นพลเรือนถูกพิจารณาคดี 1844 คน จาก 1485 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลมีคำพิพากษาและคดีที่ถึงที่สุด 1292 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 193 คดี หากจำแนกตามประเภทความผิด มีคดีความผิดตามประมวลกฎหมายหมวดพระมหากษัตริย์(รวมทั้งมาตรา 112) 99 คดี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง (รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) 4 คดี ความผิดตามประกาศคำสั่งคสช. (เช่นข้อหาไม่รายงานตัวและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน) 12 คดี และคดีเกี่ยวกับอาวุธตามประกาศฉบับที่ 50/2557 1416 คดี อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้มีอยู่อีก 4 คดีที่ยังไม่ทราบรายละเอียด
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่า คดีของพลเรือนที่คสช. ต้องการพิจารณาเป็นการเฉพาะโดยใช้ศาลทหาร ได้แก่ คดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ (ม.112), คดียุยงปลุกปั้นฯ (ม.116) และ คดีฝ่าฝืนชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองฯ คดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวกับคสช. และคดีอาวุธ ตามประกาศและคำสั่งของคสช.
สถิติพลเรือนในศาลทหาร
อย่างไรก็ดี ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 และ มาตรา 30 ระบุว่าอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชา และ มาตรา 27 ระบุว่า ศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร ต้องมีตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตรสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญหนึ่งนาย หมายความว่า กฎหมายบังคับให้ตุลาการสามคนต่อหนึ่งคดี มีหนึ่งคนที่ต้องมีความรู้นิติศาตร์ ส่วนอีกสองคนไม่ต้อง
จากการติดตามของไอลอว์ ยังอีกพบว่า ปัญหาสำคัญของการที่พลเรือนขึ้นศาลทหาร คือ ‘ความล่าช้า’ โดยเฉพาะจำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี ซึ่งเกิดจากระบบการนัดวันพิจารณาคดีที่ไม่ต่อเนื่องหรือที่เรียกกันว่านัดแบบ ‘ฟันหลอ’ คือ วันนัดจะไม่ติดกันที่เดียว 3-4 วัน แต่จะนัดอาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือหลายเดือนครั้ง ขึ้นอยู่กับความพร้อมของตุลาการศาลทหารผู้พิจารณาคดี อัยการทหาร หรือฝ่ายจำเลย เช่น
ศาลทหารกรุงเทพ
คดี 116 ของสมบัติ บุญงามอนงค์  ปี 2558 มีนัดสืบพยานรวม 9 นัด ในเดือนมีนาคม 3 นัด เมษายน 2 นัด เดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และ พฤศจิกายน เดือนละนัด ในปี 2559 นีนัดสืบพยานรวมห้านัด ในเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน กรกฎาคม กันยายน และธันวาคมเดือนละนัด ในปี 2560 มีการสืบพยานอีก 4 นัด ในเดือนมกราคม 1 นัด เมษายน 2 นัด และเดือนกันยายนอีก 1 นัด ในปี 2561 มีการสืบพยานไปแล้ว 4 นัด ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และมิถุนายน เดือนละหนึ่งนัดโดยศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไปในเดือนกันยายน โดยในคดีนี้มีการสืบพยานจำเลยไปแล้วรวม 12 ปาก เป็นพยานโจทก์ 11 ปาก และพยานจำเลย 1 ปาก
หรือ คดีสิรภพฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ศาลเริ่มสืบพยานนัดแรกในเดือนพฤศจิกายน 2557 จากนั้นในปี 2558 มีการสืบพยาน 5 นัด ในเดือนมกราคม มีนาคมกรกฎาคม กันยายน และพฤศจิกายน เดือนละนัด จากนั้นในปี 2559 มีนัดสืบพยานคดีอีก 5 นัด ในเดือนมกราคม 1 นัด
เดือนกุมภาพันธ์ 2 นัด เดือนพฤษภาคมและกรกฎาคมเดือนละนัด ซึ่งนัดในเดือนกรกฎาคมเป็นการสืบพยานนัดสุดท้าย โดยในคดีนี้มีการสืบพยานรวม 5 ปาก เป็นพยานโจทก์ 4 ปาก และพยานจำเลย 1 ปาก 
ศาลทหารเชียงราย
  
อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้คดีมีความล่าช้าคือ พยานไม่มาตามนัดโดยเฉพาะพยานโจทก์ เช่น  คดี 112 ของสมัครที่ศาลทหารเชียงรายซึ่งมีการเลื่อนนัดสืบพยานปากเดียวกันติดต่อกันถึงสามนัดเพราะพยานไม่มาศาลทำให้การสืบพยานปากดังกล่าวเลื่อนออกไปถึงสามเดือนจากเดือนมีนาคม 2558 เป็นเดือนมิถุนายน 2558 ความล่าช้านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมัครเกิดความเครียดเพราะไม่รู้ว่าคดีจะจบสิ้นเมื่อใดจึงเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพเพื่อให้คดียุติโดยเร็ว