เปิดข้อมูลเฟซบุ๊ก ปี 2560 บล็อคเนื้อหาในไทย 365 เรื่อง

ในรายงานที่เฟซบุ๊กเปิดเผยต่อสาธารณะ เฟซบุ๊กได้ทำแผนภูมิแสดงจำนวนเนื้อหาที่ถูกจำกัดการเข้าถึงทั่วโลก โดยในปี 2560 เฟซบุ๊กปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาไป 42,330 เรื่อง เป็นเนื้อหาจากประเทศไทย 365 เรื่อง ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2560 มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาทั่วโลกจำนวน 28,036 เรื่อง โดยประเทศที่มีการจำกัดเนื้อหามากที่สุดคือ เม็กซิโก ที่ 20,527 เรื่อง รองลงมา คือ เยอรมนี ที่ 1,297 เรื่อง และอินเดียที่ 1,228 เรื่อง ไทยอยู่ที่อันดับที่ 11 จากทั้งหมด 29 ประเทศ ที่ 226 เรื่อง โดยสำหรับเนื้อหาที่ถูกจำกัดในประเทศไทยเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการปิดกั้นเป็นผลมาจากคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

และระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560  มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาทั่วโลกจำนวน 14,294 เรื่อง โดยประเทศที่มีการจำกัดเนื้อหามากที่สุดคือ ตุรกี ที่ 3,832 เรื่อง รองลงมาคือ เม็กซิโก ที่ 2,280 เรื่อง และอินเดียที่ 1,914 เรื่อง ไทยอยู่ที่อันดับที่ 15 จากทั้งหมด 72 ประเทศ ที่ 139 เรื่อง โดย 138 เรื่องเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ส่วนอีกหนึ่งเรื่องเป็นกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

การจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาของประเทศไทยในปี 2557, 2559 และ 2560 ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน ข้อสังเกต คือ ในปี 2557 คำร้องส่วนหนึ่งถูกส่งไปยังเฟซบุ๊กโดยกระทรวงต่างประเทศ และศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (Thai Cert) ขณะที่ในปี 2558 เฟซบุ๊กไม่ได้บล็อคเนื้อหาจากประเทศไทยเลย

ในรายงานของเฟซบุ๊ก ชี้แจงด้วยว่า เฟซบุ๊กจะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาบางประเภทได้ตามกฎหมายของท้องถิ่น ซึ่งการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาจะถูกจำกัดเฉพาะในประเทศหรือภูมิภาคที่เนื้อหานั้นเข้าข้ายผิดกฎหมาย หมายความว่า ยังอาจเข้าถึงได้หากใช้งานเฟซบุ๊กจากประเทศอื่นที่ไม่มีกฎหมายเรื่องนั้นๆ

สำหรับการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นแต่ละประเทศนั้นมีความหลากหลายในประเด็นเช่น ที่ปากีสถานในปี 2560 มีการร้องขอจากเจ้าพนักงานการโทรคมนาคมแห่งชาติของปากีสถานที่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางอิเลกทรอนิคส์ให้ลบเนื้อหา 23 เรื่องที่เข้าข่ายหมิ่นศาสนา เมื่อเฟซบุ๊กตรวจสอบแล้วพบว่า ห้าเรื่องขัดต่อมาตรฐานของเฟซบุ๊ก และสามเรื่องขัดต่อกฎหมายของท้องถิ่น อีกสามจาก 23 เรื่องมีความซ้ำซ้อนกัน และไม่ได้จำกัดเนื้อหาตามคำร้องอีก 12 เรื่อง

หรือที่ไอร์แลนด์ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพของไอร์แลนด์รายงานโพสต์โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ฟันขาว โดยกล่าวหาว่า โพสต์ดังกล่าวละเมิดกฎหมายท้องถิ่น เมื่อเฟซบุ๊กตรวจสอบพบว่า ไม่ได้ขัดต่อมาตรฐานเฟซบุ๊ก แต่จากการรายงานของหน่วยงานดังกล่าว เฟซบุ๊กจึงจำกัดการเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวเฉพาะในไอร์แลนด์