#Attitudeadjusted? บันทึกประสบการณ์คนที่เคยถูกคสช. ‘ปรับทัศนคติ’

หลังการรัฐประหารในปี 2557 คสช. อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกออกคำสั่งเรียกให้บุคคลสำคัญ ทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจชื่อดังเข้าไปพูดคุยในค่ายทหารโดยให้เหตุผลว่า เพื่อทำความเข้าใจและขอให้ร่วมมือกับ คสช. เพื่อให้สถานการณ์ในประเทศที่กำลังวุ่นวายกลับเข้าสู่ภาวะปกติและสร้างความสามัคคีระหว่างคนในชาติหลังจากที่บ้านเมืองต้องบอบช้ำจากความแตกแยกทางการเมืองมาอย่างยาวนาน บางคนถูกกักตัวไว้ในค่ายทหารนาน 7 วัน หรือน้อยกว่านั้น ตามใจ คสช. จะพิจารณา

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการใช้อำนาจเรียกคนมาปรับทัศนคติของ คสช. กลับไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักการเมืองคนสำคัญ แต่ลามไปถึงประชาชนธรรมดาที่มีความตื่นตัวและเคยเคลื่อนไหวทางการเมือง สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ไปจนถึงแกนนำชาวบ้านในพื้นที่พิพาทต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายของ คสช. ในพื้นที่ของตัวเอง โดย คสช. ใช้อำนาจพิเศษเรียกตัวคนมาพูดคุยลักษณะนี้ ในทุกๆ ประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อเนื่องยาวนานกว่าสามปี

ในผลงานชุด #attitudeadjusted? ไอลอว์รวบรวมประสบการณ์ของประชาชนจากหลายบทบาทและภูมิหลังที่ประสบชะตากรรมร่วมกัน คือ การถูกพาเข้าไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร แม้ว่าความแตกต่างระหว่างสถานภาพทางสังคม บทบาท ประเด็นที่แต่ละคนเคลื่อนไหวรวมทั้งช่วงเวลาและพื้นที่ที่แต่ละคนถูกเรียกรายงานตัวจะมีผลทำให้่ประสบการณ์ที่พบเจอในค่ายทหารแตกต่างกันไป แต่ทุกกรณีก็มีจุดที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการใช้อำนาจที่กว้างขวาง เกินความจำเป็น และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้างของ คสช. ซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบให้กับคณะทหารชุดอื่นในอนาคต หากประเทศไทยยังหนีไม่พ้นวังวนของการรัฐประหาร

——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitude adjusted?: ทวีพร: เรียกนักข่าวประชาไทจิบกาแฟหลังเผยแพร่การ์ตูนเกี่ยวกับม.112

ช่วงเดือนตุลาคมปี 2558 ทวีพร อดีตผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไทภาคภาษาอังกฤษทำสกู๊ปพิเศษ “สาระ+ภาพ: ทำอะไรแล้วผิด ม.112 ได้บ้าง” ประมวลลักษณะการกระทำตามข้อกล่าวหาของคดี 112 หลายๆคดีมารวมในภาพการ์ตูนหนึ่งภาพประกอบคำบรรยายสั้นๆของแต่ละคดีพร้อมลิงค์อ้างอิง หลังจากเผยแพร่บทความชิ้นนั้นเรื่องแปลกๆก็เริ่มเกิดขึ้นกับชีวิตของทวีพร
รถฮัมวีไปป้วนเปี้ยนแถวๆหมู่บ้าน โทรศัพท์ทวงหนี้และโทรศัพท์จากชายลึกลับโทรไปที่สำนักงาน คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหลังบทความชิ้นนั้นถุกเผยแพร่และถูกแชร์ไปในโลกออนไลน์ ก่อนที่สุดท้ายทุกอย่างจะกระจ่างเมื่อทวีพรและหัวหน้างานของเธอจากสำนักข่าวประชาไทต้องเดินทางเข้าค่ายทหารเพื่อพูดคุยกับนายทหารระดับสูงนายหนึ่ง
อ่านต่อเรื่องราวแปลกๆที่เข้ามาในชีวิตของทวีพรและบทสนธนากับชายในชุดพราง ที่นี่
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitude Adjusted?: “นัท”: เหมือนจะทำให้เราบ้า เจ็ดวันในค่ายทหาร ของวัยรุ่นที่ถูกกล่าวหาเป็น “แฮกเกอร์”

หลังมีกระแสการโจมตีเว็บไซต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายวามมั่งต่างไม่นิ่งนอนใจเร่งติดตามหาตัวบุลที่น่าจะเป็นผู้กระทำการจนกระทั่งมีการจับกุมตัววัยรุ่นอย่างน้อยสิบนไป “สอบถาม” ใน่ายทหารก่อนส่งตัวไปดำเนิดี ไม่ว่าผู้ที่ถูกจับกุมทั้งสินจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีเว็บไซต์หรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ในชั้นศาล แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่ากังวลที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ือการใช้อำนาจพิเศษของสช.เป็นส่วนหนึ่งของการนำตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมว่าเป็นการใช้อำนาจที่มีวามจำเป็นหรือเป็นการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมตามปกติก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการวบุมตัวผู้ต้องหาในดีอาญาอยู่แล้ว

“นัท” นักศึกษาปวส.ด้านอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีเว็บไซด์เล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำในายทหารให้ไอลอว์ฟังว่า ตั้งแต่กระบวนการจับกุมตัวที่เจ้าหน้าที่แผงตัวเป็น “นส่งพิซซ่า” มาเาะประตูบ้านก่อนทำการจับกุมตัว บรรยากาศช่วงที่ถูกวบุมตัวใน่ายทหารซึ่งเขาต้องตอบำถามซ้ำๆซากในำถามที่ตัวเขาไม่มีำตอบ ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมด “นัท” สะท้อนว่า ประสบการณ์ทั้งเจ็ดวันเหมือนจะทำให้เขาเป็นบ้า
อ่านต่อเรื่องราวที่กดดันจนทำให้”นัท” แทบเป็นบ้า ที่นี่
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitude adjusted?: คุยกับ ‘เซีย ไทยรัฐ’ คนเขียนการ์ตูนล้อการเมืองที่ใครๆก็ขำแต่ทหารไม่ขำ

ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เดินทางไปร่วมประชุมกับสหประชาชาติ ศักดาหรือ ‘เซีย ไทยรัฐ’ เจ้าของคอลัมน์การ์ตูนล้อการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้เขียนการ์ตูนล้อเผยแพร่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ทำนองว่า หัวหน้าคสช.ไปกล่าวสุนทรพจน์อย่างสวยหรูที่สหประชาชาติ แต่ต้องกลับมาเผชิญปัญหารุมเร้าในประเทศ การ์ตูนชิ้นนั้นส่งผลสะเทือนถึงขึ้นทำให้ศักดาต้องไปนั่งดื่มกาแฟกับทหาร
แม้ว่าศักดาจะใช้เวลาในค่ายทหารไม่นานนักและไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่การถูกเรียกไปปรับทัศนคติก็มีผลกระทบต่อการทำงานของเขาอยู่ไม่น้อย ศักดายอมรับว่าเขาต้องพยายามลดความเข้มข้นของเนื้อหาการ์ตูนลงบ้างแต่ก็พบว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความตึงเครียด
อ่านต่อเรื่องราวหลังแก้วกาแฟระหว่างศักดากับทหาร ที่นี่
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitude adjusted?: อ.กฤษณ์พชร ปรับทัศนคติ – ท่องเที่ยวเชียงใหม่ – มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

“เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สภาพแวดล้อมไม่ดี จะได้มีความสุขกัน จะได้ไม่มีความทะเลาะเบาะแว้ง เศรษฐกิจของเชียงใหม่เนี่ย มันอยู่กับการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา มันจะเกิดปัญหา” และคำพูดลักษณะคล้ายๆกันออกจากปากของนายทหารชั้นผู้ใหญ่คู่สนทนาของ กฤษณ์พชร โสมณวัต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แปดคนจัดแถลงข่าวอ่านแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เพื่อตอบโต้กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวในทำนองว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนสอนให้นิสิตนักศึกษาต่อต้านอำนาจรัฐ การออกแถลงการณ์ครั้งนั้นทำให้นักวิชาการ 8 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน ในภายหลังกฤษณ์เพชรได้เข้าไปพูดคุยกับทหารในค่ายทำให้การถูกตั้งข้อกล่าวหาคนเขาเป็นอันยุติไป
อ่านบรรยากาศการปรับทัศนคติและวิธีคิดที่ต่างกันระหว่างทหารกับนักวิชาการ ที่นี่
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitude adjusted?: ประสิทธิ์ชัย แกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกับการทัศนศึกษา “คุกทหาร”

ประมาณสี่เดือนหลังการรัฐประหาร 2557 ประสิทธิชัยและกลุ่มประชาชนในภาคใต้ที่ต้องการเห็นการปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนและประโยชน์สูงสุดเป็นของประชาชนในนามกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” จัดกิจกรรมเดินเท้าจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานคร หลังจากออกเดินจากอำเภอหาดใหญ่ได้เพียงสองวันประสิทธิชัยและเพื่อนรวมเก้าคนถูกพาตัวไป “ปรับทัศนคติ” ในมลฑลทหารบกที่ 42 (ค่ายคอหงส์) ที่จังหวัดสงขลา ครั้งนั้นประสิทธิชัยและเพื่อนถูกคุมตัวในค่ายเป็นเวลาสี่วันโดยในวันที่สองของการควบคุมตัวประสิทธิชัยได้ไป “ทัศนศึกษา” ในที่ที่เขาคงไม่เคยจินตนาการว่าจะได้ไปนั่นคือคุกที่ใช้คุมขังทหารที่ทำผิดวินัยโดยมีผู้คุมที่เป็นทหารบรรยายเรื่องต่างๆในคุกเช่นประเภทของนักโทษทหารและวิธีการลงโทษให้ฟัง ครั้งนั้นทหารพยายามปรับทัศนคติประสิทธิชัยว่าวิธีคิดเกี่ยวกับนโยบายพลังงานของเขาและเพื่อนเป็นแนวคิดที่ผิดและเขาควรเห็นพ้องกับนโยบายของรัฐซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่า
แม้จะถูกคุมตัวเป็นเวลาสี่วันและมีโอกาสเห็น “คุกทหาร” แต่ประสิทธิชัยก็ยังคงรณรงค์เรื่องพลังงานและคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ประสิทธิชัยและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่เดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการดังกล่าว ครั้งนั้นประสิทธิชัยและแกนนำอีกสองคนถูกคุมตัวไปปรับทัศนคติในมณฑลทหารบกที่ 11 โดยเขาได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลสำคัญเช่นพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล รวมทั้งผู้อำนวยการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสิทธิ์ชัยเล่าว่าตลอดการพูดคุยพล.ท.สรรเสริญพยายามจะแสดงท่าทีประนีประนอมแต่บรรยากาศโดยรวมในการพูดคุยปรับทัศนคติรอบที่สองถือว่าตึงเครียดกว่าครั้งแรก
อ่านต่อเรื่องราวประสบการณ์ในค่ายทหารของประสิทธิชัย ต่อได้ ที่นี่
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitudeadjusted?: “แดน” – ประสบการณ์ใน “คุกทหาร” และชีวิตที่พังทลาย

ถ้ายังจำกันได้ หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่โทรทัศน์ทุกช่องจะถ่ายทอดภาพนายทหารคนหนึ่งนั่งอ่านรายชื่อ “บุคคลสำคัญ” ที่ต้องเข้ารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
“แดน” เป็นหนึ่งในสามร้อยกว่ารายชื่อที่ถูก คสช. เรียกให้ไปรายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์ เขาตัดสินใจเผชิญหน้ากับโชคชะตาด้วยการเข้ารายงานตัว ตอนนั้นเขาคิดว่าถ้าหากจะถูกกักตัว ก็คงจะเป็นการกักตัวในบ้านพักและเมื่อถึงเวลาก็คงได้รับการปล่อยตัว แต่ในความเป็นจริงที่เผชิญนั้นกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เขาถูกส่งตัวไปกักขังยังคุกทหารในจังหวัดนครปฐม “มท.บ.11”
ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปีแล้ว แต่ “แดน” ก็ยังคงจำวันที่เขาเดินเข้าสู่กรงขังได้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลา 7 วัน ที่อยู่ภายในคุกทหารได้สร้างความทรงจำอันเลวร้ายให้แก่เขา ไม่ใช่เพียงแต่บาดแผลในจิตใจเขาเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ชีวิตทางด้านครอบครัวของเขาล่มสลายลูกเมียหนีหาย เส้นทางทำมาหากินเกือบเป็นศูนย์ และเขายังถูกตีตราว่าเป็น “คนคุก” เพียงเพราะอุดมณ์การทางเมืองของเขา
อ่านเรื่องราวประสบการณ์ในคุกทหารของ “แดน” ต่อได้ ที่นี่
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitude adjusted? เพียรรัตน์: ผู้มีอิทธิพลระดับสั่งการแห่งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้?

เมื่อพูดถึงการเชิญคนไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร หลายคนอาจเข้าใจว่ามีแต่คนที่ออกมาประท้วงหรือคัดค้านรัฐประหารเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ถ้าเป็นคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำก็คงไม่ถูกเรียกปรับทัศนคติเป็นแน่แท้ แต่ความเข้าใจที่ว่าก็ดูจะไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะการยืนยันสิทธิในการใช้ที่ดินเอกชนที่หมดสัมปทานของเกษตกรไร้ที่ดินจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้กลายเป็นเหตุให้คสช.เรียกเพียรรัตน์ อดีตประธานสหกรณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เข้าค่ายปรับทัศนคติเป็นเวลาสามวัน
ในฐานะที่เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหกรณ์ฯ เพียรรัตน์ถูกจับตาโดยฝ่ายความมั่นคงว่า เป็น “ผู้มีอิทธิพลระดับสั่งการ” ที่สามารถสั่งให้สมาชิกสกต.ทำอะไรก็ได้ เพียรรัตน์จึงถูกเรียกตัวเข้าไปพูดคุยในค่ายทหารโดยเจ้าหน้าที่หวังว่าเขาจะสามารถเกลี้ยกล่อมให้สมาชิกของสหพันธ์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเพิ่มทรัพย์อ.ชัยบุรีจังหวัดสุราษฎร์ธานีออกจากพื้นที่ทำกินได้ โดยระบุว่าสมาชิกของสกต.ในชุมชนเพิ่มทรัพย์บุกรุกเข้ามาใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย
แม้ว่าในค่ายทหารเพียรรัตน์จะได้รับการดูแลอย่างดี พักในห้องที่ตัวเขาเองเล่าว่า “ติดแอร์สบายกว่าบ้านตัวเอง” แต่ก็ต้องเผชิญกับปฏิบัติการจิตวิทยาจากเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา เช่นการพูดทำนองว่าถ้าไม่ให้ความร่วมมือจะต้องอยู่นาน หรือการถูกพาไปนั่งคุยใกล้ๆกับคุกทหารที่มองเห็นทหารที่ทำผิดวินัยขณะถูกลงโทษได้ อย่างไรก็ตามการถูกเรียกเข้าค่ายและปฏิบัติการณ์จิตวิทยาก็ไม่ได้ทำให้เพียรรัตน์กลัวเกรงแต่อย่างใด เพราะเขาและสมาชิกสกต.ต่างรู้ดีว่าแนวทางการต่อสู้สกต.ที่ยึดที่ดินหมดสัมปทานจากเอกชนมาจัดสรรให้เกษตรกรไม่มีที่ทำกินมาใช้ประโยชน์ ได้สร้างความไม่พอใจให้ทั้งภาครัฐ นายทุนและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจนมีความเสี่ยงที่อาจจะติดคุกหรือถึงขั้นตายได้อยู่แล้ว
อ่านประสบการณ์การถูกเรียกเข้าค่ายของเพียรรัตน์ต่อ ที่นี่
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

#Attitude adjusted? ณัฐ: เจ็ดวันที่แสนน่าเบื่อในค่ายทหารของอดีตนักโทษคดี 112

“ปืนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเงียบ” เมื่ออดีตนักโทษ112 ถูกขัง 7 วัน ในค่ายทหาร
“พวกเขาถือปืนกันหลายกระบอก ผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น “ปืน” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเงียบ เพราะรู้ว่าทหารจับกุม กับตำรวจจับกุมมันต่างกัน ปืนทหารมันน่ากลัวกว่าปืนตำรวจ ปืนตำรวจมันอันเล็กๆ แต่นี่ปืนทหารมันอาวุธสงคราม เลยดูน่ากลัว” ณัฐ เล่าถึงเหตุผลที่เขาต้องเลือกสงบปากสงบคำ ขณะถูกเอาตัวไปไว้ในสถานที่ไม่รู้จัก
“คนนี้ค่อนข้างจะดุมาก ขึ้นมึงกูเลย มีการพูดจาข่มขู่หลายอย่าง เช่นว่า ถ้ากูจับได้ว่ามึงยังทำอยู่ กูจะทุบมือมึงด้วยตัวกูเองเลย กูไม่กลัวหรอกว่ามึงจะไปบอกใคร มึงไปบอกได้เลย แล้วก็ชอบพูดจาแบบยั่วโทสะ แบบว่า เอาอย่างนี้ไหมละ กูจะให้มึงวิ่งหนีออกไป เขาท้าได้กวนมาก ก็รู้อยู่ว่าทหารเต็มค่าย แล้วท้าให้ผมวิ่งหนีไป ผมก็ไปไม่รอดอยู่ดี แล้วก็ถามว่า เอาไหมละๆ อยู่อย่างนี้”
“ผมถูกกล่าวหาไปก่อนเลยว่าเป็นคนไม่จงรักภักดีและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสถาบันเบื้องสูง นายทหารผู้อาวุโสซึ่งทำหน้าที่เป็นคนซักถามผมยังพูดชื่อนักวิชาการและอดีตนักโทษคดี 112 คนอื่นๆ ด้วยว่าเป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ ผมยอมรับว่า คสช. ทำการบ้านมาระดับหนึ่ง มีข้อมูลของคนนั้นคนนี้มากพอสมควร”
อดีตนักโทษคดี 112 เป็นกลุ่มคนที่ถูก คสช. ล็อกเป้าเรียกให้มารายงานตัวหลังการรัฐประหาร 2557 ท่ามกลางสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานหลังการยึดอำนาจใหม่ๆ คนที่ถูกเรียกไม่อาจจะรู้ชะตากรรมของตัวเองว่า ถ้าไปตามนัดของ คสช. จะต้องเจอกับอะไร การพูดคุย “ทำความเข้าใจ” จะง่ายๆ และไม่ทำให้โดนฟ้องคดีเพิ่มเติมหรือไม่ ณัฐ อดีตนักโทษคดี 112 หนึ่งในผู้ผ่านประสบการณ์เจ็ดวันอันแสนยาวนานและน่าเบื่อเมื่อต้องถูกคุมขังด้วยอำนาจพิเศษ เล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง

อ่านประสบการณ์การถูกเรียกเข้าค่ายของณัฐต่อ ที่นี่

——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–

Attitude adjusted?: เจริญชัย นักรณรงค์ 112 กับการปรับทัศนคติที่แม้ทหารก็รู้ว่า เป็นไปไม่ได้

โพสต์เฟซบุ๊กมาห้าปีกว่าแล้ว ไม่เคยโดนจับเลย”
เป็นคำกล่าวของเจริญชัย แซ่ตั้ง ชายร่างเล็กวัย 60 ปีผู้รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เขาโพสต์ข้อความนี้ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เพียงวันเดียวทหารก็บุกเข้ามาค้นบ้านพักและควบคุมตัวเขาไปคุมขังที่มทบ.11 เป็นเวลาเจ็ดวัน ชื่อของ เจริญชัย เป็นที่คุ้นหูในฐานะผู้ที่ใช้พื้นที่ออนไลน์รณรงค์ให้ข้อมูลหลากหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องที่หนักๆ ที่เขายืนหยัดมาโดยตลอด คือ การยกเลิกมาตรา 112 ประเด็นที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกมาตราดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554 หรือ การต่อต้านเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุครัฐบาล คสช. ไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพที่เขาใช้ตัวเองเป็นแล็บทดลองและเสนอผลการทดลองที่เขาคิดว่า ถ้าหากทำตามแล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพให้เพื่อนบนโลกออนไลน์รับรู้ด้วย

อ่านประสบการณ์การถูกเรียกเข้าค่ายของเจริญชัย ที่นี่ 
——————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–