เวที “ก้าวไปด้วยกัน” ถูกปิดกั้นเนื้อหาและนิทรรศการ

เครือข่ายประชาชน “ก้าวไปด้วยกัน” Peope Go Network Forum จัดเสวนาวิชาการติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน ระหว่าง 10-11 ธันวาคม 2559 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้งดเว้นกิจกรรมทางการเมืองมากว่า 50 วัน เครือข่ายนี้เป็นการรวมตัวกันขององค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มภาคพลเมืองรวม 109 แห่ง เวทีดังกล่าวประกอบด้วยการเสวนาโดยคณาจารย์ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่สถาบันตุลาการ ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิการศึกษาและสิทธิชุมชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่ผู้จัดงานตั้งเป้าหมายของการจัดงานไว้ที่การเตรียมความพร้อมของเครือข่ายเพื่อจะทำงานภายใต้ยุคสมัยของรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลทหาร ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะถูกบังคับใช้ การจัดงานครั้งนี้กลับถูกมองว่าเป็นการทดสอบความใจกว้างของรัฐบาลทหารต่อกิจกรรมทางการเมืองในสมัยพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้สังเกตการณ์หลายท่านคงผิดหวังเนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้ตัดเนื้อหาบางส่วนออกจากแผงนิทรรศการ

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ [New Democracy Movement (NDM)] ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมืองได้ตระเตรียมที่จะเสวนาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ พวกเขาได้ปล่อยโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในหัวข้อ “เห็บสยามกับ 3 ปัญหาการเมืองไทย” ซึ่งเป็นเวทีที่มีนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง 3 คน ซึ่งเคยถูกจับและถูกตั้งข้อหามาหลายครั้งภายใต้รัฐบาลทหาร ทางคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกไม่มั่นใจกับการเสวนานี้ เพราะดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าการเสวนาของภาคประชาสังคม ดังนั้นทางคณะจึงขอให้ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเสวนา โดยต่อมามีคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ถูกเชิญให้เป็นวิทยากรแทนและเปลี่ยนหัวข้อเป็น “ออกตามหาประชาธิปไตยในยุคดึกดำบรรพ์”

photo_2016-12-13_14-49-44

หลายชั่วโมงก่อนที่งานจะเริ่ม ข้อมูล 3 แห่งบนแผงนิทรรศการถูกปิดด้วยกระดาษสีดำ โดยข้อมูลที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการปิดนั้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล 3 คนที่โดนกล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 หนึ่งในนั้นได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวออกมาหลังจากโดนข้อกล่าวหาจากการแชร์บทความชีวประวัติเชิงวิพากษ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ ของเว็บไซต์บีบีซีไทย ลงบนเฟซบุ๊ก 

ภาพที่เห็นนี้ถูกยืนยันโดยประวัติศาสตร์ของรัฐบาลทหารในการสั่งงดการเสวนาก่อนหน้าซึ่งจัดโดยคณะนักวิชาการ นักข่าว องค์กรและภาคประชาสังคมต่างๆ

หนึ่งในคดีล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 กองตำรวจสันติบาลได้สั่งห้ามการจัดงานแถลงข่าว ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งจะเปิดตัวรายงานเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกสู่สาธารณะ โดยให้เหตุผลต่อการยกเลิกงานดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ผู้ที่จะแถลงเปิดตัวรายงาน คือ นายยูวัล คินบาร์ (Yuwal Kinbar) เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและที่ปรึกษาด้านนโยบายของแอมเนสตี้นั้น ไม่มีใบอนุญาตการทำงานและไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้าในการจัดแถลงข่าว รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในประเทศไทย” (Make Him Speak by Tomorrow: Torture and Other Ill-Treatment in Thailand) ซึ่งเป็นการรวบรวม 74 คดีการทรมานผู้ถูกกล่าวหาและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่างๆ โดย คสช. ระหว่างปี 2557-2558 ปัจจุบันรายงานดังกล่าวมีให้อ่านออนไลน์บนเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เช่นเดียวกัน การสั่งงดการอภิปรายสาธารณะได้คืบขยายไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ซึ่งถูกบังคับโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ยกเลิกการอภิปรายเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งคาดว่าจะจัดในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 โดยทาง FCCT รายงานว่า พวกเขาได้รับจดหมายจากตำรวจหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่งานจะจัด โดยเตือนไว้ว่าตำรวจจะทำการปิดอาคารมณียา (สถานที่ที่จะจัดงาน) หากงานเดินหน้าจริง ซึ่งตำรวจแจ้งว่าพวกเขาทำงานให้กับ คสช.

สองสัปดาห์ก่อนการสั่งงดกิจกรรมของ FCCT รัฐบาลทหารได้หยุดยั้งการอภิปรายสาธารณะโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะอภิปรายเรื่องสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดย คสช. หลังการรัฐประหาร

การระงับยับยั้งโดยรัฐบาลทหารครอบคลุมกระทั่งแวดวงวิชาการ เช่น การอภิปรายทางวิชาการหลายเวทีถูกสั่งงดหรือถูกแทรกแซง เห็นได้จากการที่ คสช. ได้สั่งงดเวทีอภิปรายเรื่อง “ความสุขและการปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557” ซึ่งจัดโดยนักวิชาการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการที่รัฐบาลทหารเข้าแทรกแซงการอภิปรายเรื่อง “ความล้มเหลวของเผด็จการในต่างประเทศ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถานการณ์การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมนี้ดำเนินอยู่อย่างชัดเจนมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ในยุคของ คสช. ก่อนสิ้นปี 2559 ไอลอว์ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมที่ถูกระงับหรือถูกแทรกแซงเป็นจำนวนอย่างน้อย 140 ครั้ง  

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ