สถิติการปิดกั้นเว็บไซต์ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2556-2557

สถิติการระงับการเผยแพร่เนื้อหาและการสั่งปิดเว็บไซต์ โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลผ่านฐานข้อมูลคดีออนไลน์ของศาลอาญา ปรากฏว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2556 จนถึงเดือนธันวาคม 2557 ศาลอาญามีคำสั่งระงับการเผยแพร่เนื้อหาทั้งสิ้น 123 ฉบับ รวมจำนวน 9,328 URL

คำสั่งของศาลอาญานี้ เป็นการออกคำสั่งภายใต้มาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเกิดจากการร้องขอของเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่โดยตรง โดยผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสา (กระทรวงICT) มาแล้ว เมื่อพนักงานมายื่นคำร้องขอปิดกั้นเว็บไซต์ หรือ “ระงับการทำให้แพร่หลาย” ศาลก็มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าวได้ และหลังออกคำสั่งแล้วคำสั่งของศาลจะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลสำหรับการค้นคว้า

เนื้อหา 2556 2557 รวม
จำนวน
หมาย
จำนวนURL จำนวนหมาย จำนวนURL จำนวนหมาย จำนวนURL
หมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ 44 4,691 48 3,035 92 7,726
ลามกอนาจาร 6 156 12 1,391 18 1.547
ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 1 8 1 1 2 9
ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 5 29 1 1 6 30
หมิ่นประมาททั่วไป 1 16 1 16
ระบุไม่ได้ 4 4
รวม 57 4,900 66 4,428 123 9,328
จากข้อมูลตามตาราง จะพบว่าเนื้อหาที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงเป็นอันดับหนึ่งคือ เนื้อหาและภาพซึ่งมีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท จำนวน 92 ฉบับ รวม 7,726 ยูอาร์แอล (URL) คิดเป็นร้อยละ 82.83 ของจำนวนยูอาร์แอลทั้งหมด อันดับที่สองคือ เนื้อหาและภาพซึ่งมีลักษณะลามกอนาจาร จำนวน 18 ฉบับ รวม 1,547 ยูอาร์แอล คิดเป็นร้อยละ 16.58 ของจำนวนยูอาร์แอลทั้งหมด และอับดับที่สามคือ เนื้อหาและภาพที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จำนวน 6 ฉบับ รวม 30 ยูอาร์แอล คิดเป็นร้อยละ 0.32 ของจำนวนยูอาร์แอลทั้งหมด ส่วนเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามีการขคำสั่งศาลให้ปิดกั้นเป็นตำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับทั้งหมด
โดยขณะเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการระงับการเผยแพร่เนื้อหา และการปิดกั้นเว็บไซต์ พบว่า ผู้นำเรื่องเข้าฟ้องร้องต่อศาลทั้งหมดคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) นอกจากนั้นยังพบปัญหาว่า ฐานข้อมูลคดีออนไลน์ของศาลอาญาเข้าถึงไม่ได้ (เว็บล่ม) อยู่บ่อยครั้ง และพบข้อมูลการออกคำสั่ง 4 ฉบับ ที่ในฐานข้อมูลของศาลอาญามีเนื้อหาในคำฟ้องและคำสั่งศาลไม่ตรงกัน เช่น ในส่วนคำฟ้องระบุว่าเป็นการฟ้องว่า “ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์” แต่ในคำสั่งของศาลกลับระบุว่า พิจารณาแล้วมีความผิดในฐานนำเข้าเนื้อหา “ลามกอนาจาร” และบางกรณีก็ระบุจำนวนยูอาร์แอลในคำฟ้องและคำสั่งศาลไม่ตรงกัน จึงส่งผลต่อความถูกต้องแน่นอนของข้อมูล