ข้อมูลและขั้นตอนการปิดกั้นเนื้อหาในสื่อโทรทัศน์ ภายใต้ยุคคสช.

วิธีการ และวิธีคิดในการกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปภายใต้ยุครัฐบาล คสช. เริ่มตั้งแต่การออกประกาศอย่างน้อย 10 ฉบับ การตั้งคณะกรรมการพิเศษติดตามตรวจสอบเนื้อหา และการส่งเรื่องผ่าน “กสทช.” ให้ “องค์กรอิสระ” แห่งนี้ใช้อำนาจแทน อย่างน้อย 18 กรณี จาก 12 สถานี ถูกเรียกให้เข้าสู่กระบวนการกำกับเนื้อหาโดยรัฐ กรณีที่มีชื่อเสียง เช่น การสั่งปิดพีซทีวี การตรวจสอบไทยพีบีเอสเนื่องจากเสนอสกู๊ป “กลุ่มดาวดิน” และกรณีทหารบุกปิดสถานีฟ้าให้ เป็นต้น 
การกำกับดูแลเนื้อหาโทรทัศน์ในยุค กสทช. ก่อนการรัฐประหาร (พ.ศ. 2554-2557)
ตั้งแต่ พ.ศ.2554 เป็นต้นมา บริบทของการกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุมีหน้าตาแบบใหม่ ภายใต้การเกิดขึ้นของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งต่อมาแบ่งความรับผิดชอบส่วนวิทยุโทรทัศน์ให้อยู่ในอำนาจของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. 
โดยในงานกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ กสท. ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติงานด้านต่างๆ ขึ้นมาสามชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหาที่อาจผิดกฎหมายและประกาศกสทช. 2. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พิจารณาเนื้อหาโฆษณาที่อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และ 3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง พิจารณาเนื้อหาที่อาจผิดจริยธรรม โดยส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพดำเนินการต่อ
เนื้อหาที่จะถูกคณะอนุกรรมการนำมาพิจารณา ส่งมาจากสองช่องทางหลัก คือ จาก “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” ซึ่งจัดระบบเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และจากเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนส่งเข้ามา คณะอนุกรรมการจะหยิบมาพิจารณา ตามขั้นตอนและกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. 
กฎหมายหลักที่ให้อำนาจ กสท. กำกับดูแลเนื้อหาบนสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ก็คือ มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ) ซึ่งระบุว่า
“มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้”
หากคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการพิจารณาแล้วมีมติว่า รายการใดมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 37 และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556 ก็จะส่งต่อให้ กสท. พิจารณาลงโทษทางปกครอง ซึ่งประกอบด้วย การเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร การสั่งปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต โดยการตัดสินขึ้นกับดุลพินิจของทางกสท.
กรณีที่กสท.ลงมติว่ามีความผิดตามมาตรา 37 และสั่งลงโทษทางปกครองแล้ว เช่น รายการไทยแลนด์ ก็อตทาเลนต์ (Thailand’s Got Talent) ซีซั่น 2 ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่นำเสนอภาพหญิงสาวเปลือยอกวาดภาพ และซีซั่น 3 ที่เผยแพร่ภาพผู้เข้าแข่งขัน สิทธัตถะ เอเมอรัล ซึ่งเป็นออทิสติก ถูกเหยียดหยามจากคณะกรรมการฯ และรายการปากโป้ง ช่อง 8 อาร์เอส ที่เชิญมารดาและเด็กหญิงออทิสติกที่ถูกข่มขืนมาสัมภาษณ์ โดยทั้งสามกรณีถูกลงโทษปรับ 500,000 บาท
การกำกับดูแลเนื้อหาโทรทัศน์ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน
เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เสรีภาพของสื่อมวลชนก็ถูกจำกัดลงเรื่อยๆ โดย คสช. ออกประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อ ดังนี้
ฉบับที่ 4/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขอให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกช่อง งดรายการประจำของสถานีและถ่ายทอดรายการจากวิทยุกองทัพบกเพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง
ฉบับที่ 14/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ห้ามสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งราชการ หากฝ่าฝืนจะระงับการจําหน่ายจ่ายแจกหรือออกอากาศทันที และให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจระงับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ต่อต้านการทำงานของ คสช.
ฉบับที่ 15/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สั่งให้สถานีโทรทัศน์ 14 สถานี และสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หยุดออกอากาศทันที
ฉบับที่ 18/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้งดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะ ได้แก่ 1. ข้อความอันเป็นเท็จหรือที่ส่อไปในทางหมิ่นสถาบัน 2. ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น 3. การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง 4. ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการต่างๆ 5. ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร 6. การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคสช. 7. การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน แต่ไม่ได้ระบุโทษของการฝ่าฝืนเอาไว้
ฉบับที่ 23/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 อนุญาตให้สถานีโทรทัศน์ในระบบแอนาล็อกได้แก่ ช่อง 5, ช่อง NBT, ช่อง 9, ช่อง ThaiPBS, ช่อง 3 และช่อง 7 ออกอากาศได้ตามปกติ 
ฉบับที่ 27/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 อนุญาตให้ทีวีดิจิตอลจำนวน 23 ช่อง (ยกเว้นช่อง Voice TV ที่มีคำสั่งตามกฎอัยการศึก ห้ามออกอากาศ) ทีวีดาวเทียมกว่า 200 ช่อง (ยกเว้น 14 ช่อง ที่มีคำสั่งตามกฎอัยการศึก ห้ามออกอากาศ) และเคเบิลทีวีระบบบอกรับสมาชิก ออกอากาศได้ตามปกติ
ฉบับที่ 33/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ขอความร่วมมือให้ศาล และองค์กรอิสระอื่นๆ งดแสดงความคิดเห็น ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด สับสน หรือแตกความสามัคคี จนส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่
ฉบับที่ 65/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 อนุญาตให้ช่องวอยซ์ ทีวี และช่องทีนิวส์ ออกอากาศได้ตามปกติ
ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เป็นการนำประกาศฉบับที่ 14 และ 18 มารวมกัน โดยห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะ หากฝ่าฝืนจะระงับการเผยแพร่สื่อทันที
ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมวิชาชีพสื่อ จึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ให้สื่อวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม
ที่สำคัญ คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ สังกัดส่วนงานการรักษาความเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คสช. ตามคำสั่ง คสช. (เฉพาะ) ที่ 12/2557 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2557 โดยไม่มีการเผยแพร่คำสั่งดังกล่าวสู่สาธารณะ แต่ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ครั้งที่ 1/2557 โดยเห็นชอบจัดโครงสร้างคณะทำงานเป็น 5 คณะ ได้แก่  1. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อวิทยุ 2. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อโทรทัศน์ ซึ่งมีเลขาธิการ กสทช. เป็นประธาน 3. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสื่อสิ่งพิมพ์ มีผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นประธาน 4. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สื่อสังคมออนไลน์ มีปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นประธาน และ 5. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านต่างประเทศ มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน 
คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่กลั่นกรอง ติดตาม ตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีการบิดเบือน ยุยง ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงระงับ ยับยั้ง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและสื่อมวลชน ถึงเจตนารมณ์และการดำเนินการของคสช. ตลอดจนเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของคณะกรรมการ 
ยิ่งไปกว่านั้น คสช. ยังมีมาตรการสำหรับโทรทัศน์ดาวเทียมที่ถูกระงับออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 กล่าวคือ จะอนุญาตให้กลับมาออกอากาศก็ต่อเมื่อลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoU) ระหว่างสถานีกับกสทช. โดยสาระของ MoU ตามที่เปิดเผยในร่างรายงานวิจัย หัวข้อ “การกำกับดูแลเนื้อหา: สื่อวิทยุและโทรทัศน์” ของโครงการการปฏิรูปสื่อ: การกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอยู่ว่า ทางสถานียินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคสช. หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที
การพิจารณาเนื้อหาทางการเมืองจึงกลายเป็นงานหลักของ กสท. ในเวลานี้ เพราะคณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อโทรทัศน์ จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังกสทช. ทุกสัปดาห์ ว่ามีรายการอะไร ของช่องใดบ้าง ที่ออกอากาศเนื้อหาซึ่งขัดประกาศคสช. 2 ฉบับข้างต้น ขณะเดียวกัน อำนาจของ กสทช. ก็ไม่ได้มีเพียง มาตรา 37 อีกต่อไป แต่ยังมีประกาศ คสช. และ MoU ดังที่กล่าวมา ทำให้สถานีโทรทัศน์ที่ถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานละเมิด MoU มีแนวโน้มถูกลงโทษรุนแรงกว่ากรณีการพิจารณาตามมาตรา 37 เพียงอย่างเดียว 
 
กรณีศึกษา: กสทช.สั่งปิดพีซทีวี แต่ศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว
ในเดือนเมษายน 2558 คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อโทรทัศน์ตรวจสอบพบว่า รายการมองไกล ทางช่องพีซทีวี นำเสนอเนื้อหาที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการละเมิด MoU ที่ทางสถานีได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. ทางคณะทำงานฯ จึงส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง กสทช. และเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ที่ประชุมกสท.ก็มีมติเสียงข้างมากให้ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ประชุมกสท. มีมติเสียงข้างมากพักใช้ใบอนุญาตช่องพีซทีวี เป็นเวลา 7 วัน จากการออกอากาศรายการมองไกล รายการคิดรอบด้าน รายการเดินหน้าต่อไป และรายการเข้าใจตรงกันนะ โดยมีผลตั้งแต่ 10-17 เมษายน 2558 
หลังจากพีซทีวีกลับมาออกอากาศ ทางคณะทำงานฯ ก็ยังคงส่งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหารายการของช่องดังกล่าวไปยังกสทช. อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 27 เมษายน 2558 ที่ประชุมกสท.มีมติเสียงข้างมากกำหนดโทษทางปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์พีซทีวี จากการออกอากาศรายการมองไกล ประจำวันที่ 18 เมษายน 2558 เพราะถือเป็นการกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่ทางกสท.เคยตักเตือนและสั่งพักใช้ใบอนุญาตไปแล้ว 
ต่อมา พีซทีวี ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่กสท.ไม่รับไว้พิจารณา พีซทีวีจึงไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยอ้างว่าเนื้อหารายการไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความแตกแยก และกระบวนการพิจารณาของกสท.ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ไม่มีขั้นตอนการทำหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกร้องเรียนทราบถึงคำร้องเรียน และให้เวลาทางสถานีได้ชี้แจงข้อเท็จจริง 
ในที่สุด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ศาลปกครองก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้เหตุผลว่า หลังจากพิจารณาแล้ว คำสั่งของกสทช.น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้ทางสถานีโต้แย้งชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน คำสั่งนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้และพนักงานที่อาจถูกเลิกจ้าง ซึ่งไม่อาจเยียวยาความเสียหายได้ จึงให้พีซทีวีกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ 
กรณีของพีซทีวีอาจเป็นตัวอย่างให้ กสท. ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษสถานีโทรทัศน์ โดยหลีกเลี่ยงการเพิกถอนใบอนุญาตที่เป็นโทษสูงสุด ทั้งยังคำนึงถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากขึ้น 
กรณีศึกษา: ไม่ลงโทษ ThaiPBS กรณีสกู๊ปกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ แค่เรียกมาตักเตือน
หลังจากมีการร้องเรียนว่ารายงานพิเศษเรื่อง “วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวกลุ่มนักศึกษาภายใต้การบริหารประเทศ คสช.” ของรายการที่นี่ ThaiPBS ซึ่งออกอากาศทางช่อง ThaiPBS มีเนื้อหาที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด และนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม ทางกสทช. จึงเรียกผู้บริหาร ThaiPBS เข้าไปชี้แจง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 โดยตัวแทนสถานียืนยันว่าการนำเสนอรายงานดังกล่าวเป็นการทำหน้าที่ของทีวีสาธารณะ ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 โดยเฉพาะ ข้อ 4 “ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน” 
ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ที่ประชุมกสท. มีมติไม่ลงโทษทางปกครองช่อง ThaiPBS แต่เสนอกลับไปให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ (อนุเนื้อหาฯ) เชิญทางสถานีมาตักเตือนด้วยวาจา เพราะก่อนหน้านี้อนุเนื้อหาฯ มีมติเสียงข้างมาก เสนอให้กสท.ลงโทษปรับขั้นต่ำ
ทั้งนี้ หนึ่งในอนุเนื้อหาฯ เปิดเผยว่า มติในที่ประชุมกสท.ไม่เป็นเอกฉันท์ โดยเสียงข้างมากเห็นว่า รายงานของช่อง ThaiPBS เป็นการนำเสนอในลักษณะชี้นำว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องที่ถูกต้องและทำได้ ซึ่งตามกฎหมายขณะนี้กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองเป็นความผิด ดังนั้นการรายงานข่าวก็ถือว่าผิดด้วย ขณะที่เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเสนอข่าวตามหน้าที่สื่อ และการเรียกทางสถานีมาตักเตือนก็ไม่ใช่อำนาจตามกฎหมาย
นอกจาก 2 กรณีข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับช่องโทรทัศน์ที่เสนอเนื้อหาทางการเมืองเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสท. อีกหลายกรณี การรวบรวมข้อมูลทั้งจากรายงานสรุปมติที่ประชุม กสท. เว็บไซต์ของ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกสทช. และสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 17 พฤศจิกายน 2558 พบการนำเสนอเนื้อหาทางการเมืองที่ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ ดังนี้
มติที่ประชุม กสท. เกี่ยวกับเนื้อหาทางการเมืองในสื่อโทรทัศน์ ช่วงหลังรัฐประหาร 2557
รายการ วันที่ออกอากาศ มติที่ประชุม กสท.
รายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย
ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์
ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ช่อง ThaiPBS 
11-15 มีนาคม 2556 
(ความผิดก่อนรัฐประหาร)
4 สิงหาคม 2557
มีความผิดตามมาตรา 37
ปรับ 50,000 บาท 
รายการ นินทาการเมือง
ช่อง 4 Channel
12 มีนาคม และ
7 พฤษภาคม 2557
16 กุมภาพันธ์ 2558
มีความผิดตามมาตรา 37
ปรับ 500,000 บาท
รายการ เปิดประเด็นร้อน
ตอน กระชากหน้ากาก
บรรพตล้มเจ้า และสัมพันธ์
ที่แนบกับระบอบทักษิณ
ช่อง T News
3 กุมภาพันธ์ 2558
23 มีนาคม 2558
มีความผิดตามประกาศ คสช.
ฉบับที่ 97/2557, 103/2557
และมาตรา 37
ปรับ 50,000 บาท 
และให้ออกอากาศขออภัย
เรื่อง
การพาดพิงบุคคลอื่น 
ภายใน 3 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง
รายการ มองไกล
ช่อง PEACE TV
  23 มีนาคม 2558
ละเมิด MoU
เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
รายการ Morning News
และรายการ ย่ำค่ำ ยำข่าว
ช่อง 13 สยามไทย
  23 มีนาคม 2558
เชิญมาทำ MoU
รายการ Awakened,
รายการ News Room,
รายการ The Clear
ช่อง 24 TV
2, 5 และ 10 มีนาคม 2558,
28 กุมภาพันธ์ 2558,
2 และ 10 มีนาคม 2558,
7 มีนาคม 2558
30 มีนาคม 2558
ละเมิด MoU,
มีความผิดตามประกาศ คสช.
ฉบับที่ 97/2557, 103/2557
สั่งพักใช้ใบอนุญาต 7 วัน
รายการ มองไกล,
รายการ คิดรอบด้าน,
รายการ เดินหน้าต่อไป
และรายการ เข้าใจตรงกันนะ
ช่อง PEACE TV
28 กุมภาพันธ์ 2558
และ 7 มีนาคม 2558,
4 และ 5 มีนาคม 2558,
4-6 มีนาคม 2558,
4-5 มีนาคม 2558
30 มีนาคม 2558
ละเมิด MoU,
มีความผิดตามประกาศ คสช.
ฉบับที่ 97/2557, 103/2557
และมาตรา 37 
สั่งพักใช้ใบอนุญาต 7 วัน
รายการ มองไกล
ช่อง PEACE TV
18 เมษายน 2558
27 เมษายน 2558
ละเมิด MoU ซ้ำ
สั่งเพิกถอนใบอนุญาต
ต่อมาศาลปกครอง
ให้คุ้มครองชั่วคราว
รายการสารคดี
Thailand Justice Under Fire
ช่อง True Visions MCOT 93
ซึ่งอาจมีลักษณะล่วงละเมิด
และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
 
27 เมษายน 2558
ยกคำร้องเรียน เพราะผู้ร้องเรียน
ไม่ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
และตรวจสอบพบว่าสารคดีนี้
ไม่ได้ออกอากาศผ่านช่องรายการ
ของ True Visions
รายการ Morning News
และรายการ ย่ำค่ำ ยำข่าว
ช่อง 13 สยามไทย
  3 มิถุนายน 2558
ละเมิด MoU
เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
ช่อง 24TV   15 มิถุนายน 2558
ให้อนุเนื้อหาฯ เชิญมา
ทำความเข้าใจ
รายการ ต่างคนต่างคิด
ช่อง AMARIN TV HD
8 มกราคม 2558 10 สิงหาคม 2558
ส่งกลับให้อนุเนื้อหาฯ
พิจารณาทบทวน
รายการ คุยมันส์ทันข่าว
ช่อง NEWS 1
19 และ 26 มิถุนายน 2558
และ 14 กรกฎาคม 2558
18 สิงหาคม 2558
เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
รายการ เส้นผมบังภูเขา,  
รายการ แฉกระจาย ช่อง 1TV
6 พฤษภาคม 2557,
19 และ 22 มิถุนายน 2558
24 สิงหาคม 2558
ละเมิด MoU,
มีความผิดตามประกาศ คสช.
ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557
เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
รายการ Tonight Thailand
ช่อง Voice TV
13 กรกฎาคม 2558 24 สิงหาคม 2558
ละเมิด MoU,
มีความผิดตามประกาศ คสช.
ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557
เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
PEACE TV   31 สิงหาคม 2558
ทำผิดซ้ำ ส่งหนังสือคำร้อง
ต่อศาลปกครองสูงสุด
ช่อง ฟ้าวันใหม่   14 กันยายน 2558
เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร

25 มิถุนายน 2558
(ดูคลิปรายการ คลิกที่นี่)

9 พฤศจิกายน 2558
ไม่ลงโทษทางปกครอง 
แต่ให้อนุเนื้อหาฯ
เชิญมาตักเตือนด้วยวาจา