เปิดอกประธาน FCCT: Oasis of Free Speech ท่ามกลางทะเลทราย

ก่อนยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ การจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ ตั้งแต่ประเด็นเบาๆ อย่างประเด็นวัฒนธรรม ไปจนถึงประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่นประเด็นมาตรา 112 สามารถจัดได้อย่างเสรี เสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทยอยู่ในระดับทรงตัว เรื่องอะไรที่พูดได้และพูดไม่ได้พอเข้าใจกันได้อยู่ 
ในยุคภายใต้ประกาศคสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน งานเสวนาต่างๆ เผชิญอุปสรรคที่จะถูกสั่งห้าม หรือสั่งให้เลื่อน อย่างน้อย 51 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ มีอย่างน้อย 11 ครั้ง ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีเจรจากับเจ้าของสถานที่ทั้งมหาวิทยาลัยหรือโรงแรมให้ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้สถานที่จัดงานเสวนาในประเด็นอ่อนไหว รวมการจัดกิจกรรมสาธารณะทุกประเภทที่ถูกห้ามหรือแทรกแซง บันทึกได้อย่างน้อย 73 ครั้ง
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ดูจะเป็นสถานที่ที่ยึดโยงกับสายตาของต่างประเทศที่มองประเทศไทย ซึ่งเหมาะสำหรับการจัดงานเสวนาประเด็นที่อ่อนไหวเพื่อสือสารไปยังต่างประเทศ และดูเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะต้องให้ความเกรงใจบ้าง แต่ล่าสุดในวันที่ 4 มิถุนายน 2558 FCCT ให้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนใช้สถานที่จัดงานแถลงเสวนาเปิดตัว”รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังการรัฐประหาร: กระบวนการยุติธรรมรายพรางภายใต้คสช.” เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ก็มีคำสั่งให้ FCCT ยกเลิกงานดังกล่าว 
โจนาธาน เฮด ประธาน FCCT เล่าถึงบทบาทของ FCCT ในฐานะพื้นที่กลางที่ผู้เห็นต่างจะสามารถถกเถียงประเด็นสำคัญกันอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งประเด็นความท้าทายในการทำงานของ FCCT ภายใต้สภาวะที่บ้านเมืองไม่เป็นปกติ เฮดเป็นผู้สื่อข่าว BBC ที่อยู่ในเมืองไทยมานาน และยังเคยถูกคนร้องทุกข์ในคดี112 ร่วมกับคนในFCCTอีกหลายคนเพราะนำวีซีดีบันทึกการบรรยายของจักรภพ เพ็ญแข มาจำหน่าย 
FCCT คืออะไรนะ? 
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทยทั่วไป แต่ในแวดวงผู้ที่ทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือประเด็นทางการเมือง FCCT ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี เพราะมีการจัดงานเสวนาหรือนิทรรศการในประเด็นสำคัญอยู่บ่อยครั้ง โดยมีวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีชื่อเสียงมาร่วมงาน 
โจนาธาน เฮด ประธานสมาคมเล่าว่า FCCT ตั้งขึ้นในประเทศไทยมาประมาณ 60 ปีแล้ว เป็นสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ใหญ่หากเปรียบเทียบกับสมาคมแบบเดียวกันในประเทศเอเชียอื่น หลายประเทศไม่ได้มีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแบบนี้ หากเปรียบเทียบในเชิงประเด็น FCCT น่าจะมีความเข้มข้นกว่าสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศขนาดใหญ่อย่างที่ฮ่องกงหรือญี่ปุ่น เพราะที่นั่นสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่สื่อมวลชน จึงมักจัดกิจกรรมในประเด็นเบาๆ อย่างวัฒนธรรม 
พันธกิจของ FCCT ท่ามกลางคลื่นลมแรงของรัฐนาวาทหาร
ตลอดการสนทนา เฮดย้ำหลายครั้งว่า พันธกิจของ FCCT คือการเป็นพื้นที่เปิด ที่ประเด็นต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญ จะได้รับการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์และรอบด้าน เฮดบอกว่าในช่วง 20 ปีมานี้ FCCT สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่เปิดได้อย่างอิสระมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557 และประเทศไทยมีรัฐบาลทหารปกครองประเทศ 
“เรา (FCCT) พยายามที่จะเข้าใจเงื่อนไขของเขา(คสช.) แต่เราก็ต้องยึดมั่นกับพันธกิจของเรา ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก” เฮดกล่าว
เฮดเล่าว่า FCCT ยึงคงยึดมั่นในหลักการ โดยเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในประเด็นต่างๆ ซึ่งบางประเด็นคสช.หรือฝ่ายความมมั่นคง ก็อาจจะไม่ชอบใจนัก แต่นั่นก็เป็นพันธกิจของ FCCT ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ จากความพยายามที่จะยืนหยัดในหน้าที่ ทำให้ครั้งหนึ่ง คสช.เคยส่งประกาศคำสั่งต่างๆมาให้พร้อมกับแจ้งว่า หาก FCCT จัดกิจกรรม หรือยอมให้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาเข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่ง คสช. ก็อาจถูกดำเนินคดีหรือยึดทรัพย์สิน
การทำงานที่ยุ่งยากหลังการรัฐประหาร
เฮดออกตัวว่า FCCT ไม่ใช่องค์กรรณรงค์ แต่เป็นสโมสรผู้สื่อข่าว เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น FCCT จึงจะไม่ทำการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือประกาศคำสั่งของคสช. และหากคสช.มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ยกเลิกกิจกรรม หรือขอความร่วมมือ ไม่ให้ผู้จัดใช้พื้นที่ FCCT ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้สโมสรคงอยู่ และทำงานในฐานะพื้นที่เล็กๆ ที่ยังสามารถใช้เป็นที่ถกเถียงประเด็นสำคัญๆได้ 
หลังการรัฐประหาร FCCT พยายามจะสื่อสารกับคสช.และฝ่ายความมั่นคงมาโดยตลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด แต่กฎระเบียบหยุมหยิมหลังการรัฐประหารก็ทำให้มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น การต้องขออนุญาตจัดงานก่อนอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งเฮดเล่าว่า เมื่อได้รับแจ้งเรื่องกฎการขออนุญาตล่วงหน้า เขาก็ถามกลับไปว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างที่จะต้องขออนุญาต และต้องไปขอกับใคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนแจ้งเรื่องนี้ ก็ไม่อาจให้คำตอบได้ FCCT จึงเลือกใช้วิธีประกาศการจัดกิจกรรมต่างๆ บนเว็บไซด์และสื่อสังคมออนไลน์ของทางสมาคม ล่วงหน้า 15 วัน ซึ่งทางการสามารถเข้าถึงได้ หากเห็นว่าหัวข้อใดมีปัญหาก็เข้ามาพูดคุยกันได้
แขกประจำที่ไม่ได้รับเชิญ
เท่าที่ประธานของ FCCT เล่าให้ฟัง หลังการรัฐประหาร กิจกรรมของ FCCT ถูกแทรกแซงมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง
พฤษภาคม 2557 ไม่กี่วันหลังการรัฐประหาร จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/600 ซึ่งปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ประสานขอจัดแถลงข่าวที่ FCCT โดยบอกว่าพร้อมถูกจับกุมแต่ต้องการสื่อสารกับประชาชนก่อน เฮดเล่าว่าเมื่อได้รับการประสานทาง FCCT ก็ให้จาตุรนต์ใช้สถานที่ เพราะการให้พื้นที่จัดแถลงข่าว เป็นพันธกิจของ FCCT อยู่แล้ว การแถลงข่าวดำเนินไปได้ประมาณ 2 ชั่วโมง จาตุรนต์ ก็ถูกทหารในเครื่องแบบหลายนายเข้ามาจับกุมตัว เฮดตั้งข้อสังเกตว่า หากทหารจับตัวจาตุรนต์ก่อนขึ้นมาที่ FCCT เรื่องก็คงไม่ใหญ่ เหมือนกับการจับกุมระหว่างการแถลงข่าว ท่ามกลางสายตาของผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก
2 กันยายน 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กำหนดจัดงาน “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” ที่ FCCT เพื่อนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วันหลังรัฐประหาร ผู้จัดงานได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ยกเลิกงาน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ หากยังคงยืนยันดำเนินกิจกรรมต่อไปอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 7/2557 เมื่อถึงกำหนดจัดงานเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ลุมพินีก็เดินทางเอาหนังสือสั่งงดจัดงานมามอบให้ และผู้จัดงานก็แถลงยกเลิกงานดังกล่าว
มีนาคม 2558 FCCT จัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “อนาคตการเมืองไทย” (The Future of Politics in Thailand) โดยเชิญนักการเมืองทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยมาเป็นวิทยากร http://fccthai.com/items/1599.html เฮดเล่าว่า ครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเจรจาซึ่งตกลงกันว่าจะไม่ปิดกั้นการจัดงาน แต่วางเงื่อนไขมาว่าห้ามผู้พูดโจมตีคสช.หรือบุคคลที่ไม่อยู่ในงาน ซึ่งเขาเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง พล.อ.ประยุทธ รวมทั้งแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาบันทึกวิดีโอและภาพในงานด้วย ซึ่งเฮดบอกว่าข้อนั้นทาง FCCT ไม่มีปัญหา พร้อมต้อนรับทุกคน ซึ่งงานครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี มีการอภิปรายถึงสถานการณ์ต่างๆ กันอย่างเผ็ดร้อน
4 มิถุนายน 2558 เวลา 18.00 เป็นกำหนดการจัดงานเสวนาเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เฮดเล่าว่า ทาง FCCT ประชาสัมพันธ์งานล่วงหน้า 15 วัน ปรากฎว่าในช่วงบ่ายของวันงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานมาว่าขอให้งดจัดกิจกรรมดังกล่าว เฮดบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ทางเจ้าหน้าที่ประสานมายัง FCCT โดยตรง ขณะที่แล้วจะประสานและสั่งไปทางผู้จัด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ประสานมาด้วยปากเปล่า แต่เฮดบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ยินดีจะทำตามคำสั่ง แต่ขอให้มีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรมา ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่อยากให้คำสั่งเป็นเอกสา่ร เพราะกลัวจะเป็นประเด็นทำให้ถูกโจมตี แต่สุดท้ายก็ยอมให้เอกสาร โดยประสานให้เจ้าหน้าที่ของ FCCT ลงไปรับที่ร้านสตาร์บัค 
เฮดเล่าว่า หลังได้รับคำสั่งเป็นเอกสาร FCCT ก็ประสานไปทางศูนย์ทนายว่าจะขอยกเลิกเวที รวมทั้งประกาศต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เฮดยืนยันว่าคลับเฮาส์ของสมาคมจะเปิดบริการตามปกติ หากทางศูนย์ทนายจะมาใช้พื้นที่นั่งพูดคุยกับผู้สื่อข่าวหรือเจ้าหน้าที่สถานทูต โดยไม่จัดเวทีสาธารณะหรือพูดผ่านเครื่องขยายเสียง ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เจ้าหน้าที่บอกกับเฮดว่า หากเป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจในเครื่องแบบจะขออยู่ในพื้นที่เพื่อถ่ายภาพ ซึ่งเฮดก็บอกว่าทาง FCCT ไม่มีปัญหา ซึ่งก็ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนาย รวมทั้งผู้มาร่วมงานและผู้สื่อข่าว ต่างถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายภาพไว้เกือบทุกคน เฮดตั้งข้อสังเกตในตอนท้ายว่า เป็นไปได้ว่าการแถลงข่าวแบบไม่เป็นทางการของศูนย์ทนายด้านนอก FCCT อาจจะได้รับความสนใจมากกว่าการจัดเวทีเสวนาตามกำหนดการก็ได้ ซึ่งคสช.อาจคิดผิดที่ปิดกั้นการจัดงานครั้งนี้ 
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ไหม ที่ FCCT จะถูกคสช.สั่งปิด เฮ้ดตอบว่า คงตอบได้ยาก เพราะรัฐบาลทหารสามารถทำอะไรที่ไม่อาจคาดเดาได้ และที่ผ่านมาก็ยอมปิดกั้นอะไรหลายๆ อย่าง แม้จะรู้ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เมื่อเป็นเช่นนั้นคสช.อาจจะสั่งปิด FCCT พรุ่งนี้เลยก็ได้  ผมก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราไม่ได้อยากเซ็นเซอร์ตัวเองเลย แต่ก็มีหลายเรื่องในประเทศนี้ที่เราต่างก็รู้ว่าเราไม่สามารถพูดถึงได้ ทุกคนในประเทศไทยต่างต้องเซ็นเซอร์ตัวเองทั้งนั้น นี่ไม่ใช่ประเทศที่มีเสรีภาพในการพูด 
ในฐานะกรรมการของสมาคมบางครั้งเราก็จำเป็นต้องตัดสินว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน เราเชื่อในการใช้เหตุผลและการพูดคุย แต่ถ้าวันนึงพวกทหารมาแล้วบอกว่าอันนี้ทำไม่ได้ เราก็คงเถียงอะไรไม่ได้ นี่มันรัฐบาลทหารนะ เจ้าหน้าที่ FCCT ไม่ได้มีหน้าที่รณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไร เราต้องทำหน้าที่ของเรา
“FCCT จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาตัวเองไว้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการถกเถียงประเด็นต่างๆ อย่างเสรี แต่ถ้าสุดท้ายคสช.จะสั่งปิด ก็คงต้องยอมรับ” เฮด กล่าว