ผ่านฉลุย! สภารับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ฉบับ 369 : 10 เสียง

21 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ซึ่งมีใจความหลักสำคัญการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น เพื่อให้รับรองการสมรสสำหรับบุคคลสองคนไม่ว่าจะมีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศใดก็ตาม
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เข้าสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มีจำนวนถึงสี่ฉบับ เรียงตามลำดับช่วงวันที่เสนอต่อสภา ได้แก่ 
1) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล 
2) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน ใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกลไกรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อ (11,611 ชื่อ) เสนอร่างกฎหมายเข้าสภา
3) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผลักดันโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
4) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่างฉบับนี้เพิ่งถูกเสนอ ไม่ได้บรรจุวาระการประชุมสภามาก่อนหน้านี้ แต่มีหลักการทำนองเดียวกันจึงพิจารณาประกบไปพร้อมกัน
โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติ รับหลักการ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้งสี่ฉบับในวาระหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียงกระบวนการต่อไปคือการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เมื่อกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่การพิจารณารายมาตราในวาระสอง และสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระสาม หลังจากพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามวาระเสร็จสิ้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาสามวาระต่อไป (อ่านรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณากฎหมายได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5343)
ช่วงแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นช่วงที่ให้ผู้เสนอร่างกฎหมายชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายที่จะเสนอ โดยกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่เสนอโดย ครม. มี สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้แจง ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับสส. พรรคก้าวไกล มีธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เป็นผู้ชี้แจง ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน มีตัวแทนประชาชนผู้ชี้แจงสามราย คือ อรรณว์ ชุมาพร ณชเล บุญญาภิสมภารและนัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์ มีสรรเพชญ บุญญามณี เป็นผู้ชี้แจง
บรรยากาศการประชุมสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ประมาณ 50 รายร่วมผลัดเปลี่ยนอภิปรายร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช่น
อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายแพ่งที่ยังรับรองสิทธิการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน อัครนันท์ยกตัวอย่างจากการศึกษา พบว่าคนไทยให้ความสนใจประเด็นสมรสเท่าเทียมและสนับสนุนสิทธิการสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQINA+) และมีการค้นข้อความคำว่าสมรสเท่าเทียมผ่านทาง google เพิ่มขึ้น 800% ในปี 2565 หากดูกรณีจากต่างประเทศ หลังสหรัฐอเมริกามีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็ทำให้สังคมยอมรับ LGBTQ+ มากขึ้น จำนวน และจำนวนเด็กกำพร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ขัตติยา สวัสดิผล สส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปได้ว่า สำหรับผู้ที่มีความห่วงกังวลในประเด็นทางศาสนา การสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง สินสมรสก็เป็นไปตามเงื่อนไขในกฎหมายซึ่งเป็นคนละกรณีกับสินสมรสทางจิตวิญญาณ ประเทศไทยเป็นรัฐฆราวาส การออกแบบกฎหมายต้องคำนึงถึงคนที่นับถือศาสนาแตกต่างหลากหลาย รวมถึงคนที่ไม่ได้นับถือศาสนา
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายใจความว่า ในฐานะคนเป็นแม่ ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากเห็นลูกถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกตีตรา หรือสังคมไม่ยอมรับ เพราะมีเพศที่หลากหลาย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมมีความสำคัญกับเด็กๆ ที่มีความหลากหลาย เขาจะเติบโตมาโดยกล้าที่จะรัก และสามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องสนใจว่าจะถูกกีดกันจากกฎหมาย การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันนี้ จะทำให้เด็กๆ ทุกคนในสังคมที่เติบโตมา มีพื้นที่ปลอดภัย
ศาสตรา ศรีปาน สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะโหวตเห็นด้วยกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และหวังว่าจะได้ประกาศใช้โดยเร็ววัน แต่ก็มีประเด็นต้องคิดอย่างละเอียด เช่น เรื่องอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส เรื่องการใช้ถ้อยคำที่บ่งชี้เพศ รวมถึงประเด็นทางศาสนา 
พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าการผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งฉบับที่เสนอโดยประชาชน ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคก้าวไกล ฉบับที่เสนอโดย ครม. นั้น เราเดินทางมาด้วยกัน ต่อสู้มาด้วยกัน เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ภาคประชาชนสู้มาตลอดและพวกเขารอคอยมานานทั้งๆ ที่พวกเขาควรได้มาตั้งแต่เกิด ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยกมือขึ้นขอโทษประชาชนที่เราทำหน้าที่ช้าเกินไป 
ซูการ์โน มะทา สส.พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาชาติมีนโยบายชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องสมรสเท่าเทียม ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ในประเทศไทยเรามีกฎหมายสูงสุด คือรัฐธรรมนูญ ในความเชื่อทางอิสลาม เรามีหลักความศรัทธาหกประการ สิ่งสำคัญสุดคือต้องศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเทียบเท่ากับธรรมนูญชีวิตของพี่น้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม ในคัมภีร์อัลกุรอาน ระบุว่าต้องยึดมั่นในชีวิตคู่สมรส ซึ่งหมายถึงเพศชาย-หญิง เพื่อขยายเผ่าพันธ์ให้มากขึ้น 
วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายใจความว่า หากจะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ควรแก้ไขให้มีเนื้อหาก้าวหน้าไปเลย ในส่วนประเด็นอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส UNICEF นิยามการสมรสในเด็กคือการสมรสของผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งการสมรสในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีถือเป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสที่ 17 ปีซึ่งขัดต่อหลักสากล เมื่อมีโอกาสที่จะแก้ไขกฎหมายแล้วก็ควรแก้ไขเลย 
ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล กล่าวใจความว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2478 นั้น ยังรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง โดยมองในแง่ชีววิทยาแต่ไม่ได้รองรับในมิติของเพศสภาพ (Gender) ในต่างประเทศ การออกแบบกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวแบ่งเป็นสองแบบ อย่างแรกคือการแก้ไขปลดล็อกที่ตัวกฎหมายที่จำกัดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง อย่างที่สองคือการกำหนดกฎหมายรับรองความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน (Civil Partnership) ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีหน่วยงานรัฐรวมถึง สส. ในสภาผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งตนมองว่าตอนนี้สังคมไทยมาไกลเกินกว่าจะออกแบบกฎหมายในลักษณะร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้ว
ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า การประชุมสภาวันนี้ไม่ใช่ของขวัญ ต้องขอบคุณการต่อสู้ของพี่น้อง LGBTQINA+ ที่ต่อสู้ยืนยันสิทธิของตัวเอง ทำให้สภาผู้แทนราษฎรต้องยืนยันเจตจำนงในฐานะผู้แทนราษฎร แทนราษฎรทุกคนว่า ให้เขามีสิทธิในการตัดสินใจชีวิตของตนเอง
หลังสส. อภิปรายจบ เป็นช่วงที่ให้ผู้เสนอร่างกฎหมายแถลงปิด หลังการแถลงปิดแล้วเสร็จ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้งสี่ฉบับในวาระหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระสอง จำนวน 39 คน โดยใช้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ ครม. เสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ
เนื่องจากสภารับหลักการร่างทั้งสี่ฉบับรวมถึงร่างของภาคประชาชนด้วย ทำให้ตัวแทนภาคประชาชนได้โควตาเข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดด้วย (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 122)
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เคยเสนอเข้าสภาและผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งมาแล้วเมื่อ เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 โดยสภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล ไปพร้อมกับรับหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดยครม. ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีกฉบับเสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านการพิจารณาชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่ยังไม่ได้พิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยุบสภาเสียก่อน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างกฎหมายหรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ก็ตามที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จทุกกระบวนการก็จะเป็นอันตกไป แต่มีข้อยกเว้นว่าร่างกฎหมายเหล่านั้นจะมีทางไปต่อได้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่หลังการเลือกตั้งร้องขอรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา (แล้วแต่ว่าร่างกฎหมายนั้นพิจารณาโดยองค์กรใดและค้างที่ขั้นตอนไหน) พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อไป เงื่อนไขสำคัญคือ ครม. จะต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 147)
วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 คือวันที่ กรกฎาคม 2566 ดังนั้น ระยะเวลา 60 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2566 เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ราบรื่นเนื่องจากยังคงมี สว. ชุดพิเศษ จากคสช. ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. ทำให้ครม. ไม่ได้ร้องขอรัฐสภาภายในกำหนดดังกล่าว ร่างกฎหมายที่ค้างท่อจากสภาชุดที่แล้วรวมถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้นำมาพิจารณาต่อจากเดิม นำมาสู่การเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาอีกครั้ง
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป