ลุ้น! ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม เข้าสภา ส่งท้ายปี 66

ในเดือนมิถุนายน อันเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ของปี 2565 ความพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ เพื่อรับรอง #สมรสเท่าเทียม เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ไปพร้อมกับรับหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดยครม. ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีกฉบับเสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์
ข้อแตกต่างระหว่างร่างกฎหมายสองฉบับ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะมีเนื้อหาแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 การสมรส ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2478 โดยรับรองการสมรสจะกระทำได้ระหว่างชาย-หญิง ที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป (มาตรา 1448) ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเสนอแก้ให้การสมรสกระทำได้ระหว่างบุคคลสองคน ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดยครม. จะเป็นกฎหมายอีกฉบับแยกออกมาเพื่อรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตของผู้ที่มีเพศตามทะเบียนราษฎรเพศเดียวกัน ขณะที่ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดย สส.พรรคประชาธิปัตย์ รับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตสำหรับบุคคลไม่ว่าเพศใดก็ตาม
แม้สภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการร่างกฎหมายแล้ว และพิจารณาแล้วเสร็จในชั้นกรรมาธิการ เตรียมลงมติรายมาตราในวาระสอง แต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา ส่งผลให้ร่างกฎหมายหรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ก็ตามที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จทุกกระบวนการก็จะเป็นอันตกไป แต่มีข้อยกเว้นว่าร่างกฎหมายเหล่านั้นจะมีทางไปต่อได้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่หลังการเลือกตั้งร้องขอรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา (แล้วแต่ว่าร่างกฎหมายนั้นพิจารณาโดยองค์กรใดและค้างที่ขั้นตอนไหน) พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อไป เงื่อนไขสำคัญคือ ครม. จะต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 147)
วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 คือวันที่ กรกฎาคม 2566 ดังนั้น ระยะเวลา 60 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2566 เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ราบรื่นเนื่องจากยังคงมี สว. ชุดพิเศษ จากคสช. ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. ทำให้ครม. ไม่ได้ร้องขอรัฐสภาภายในกำหนดดังกล่าว ร่างกฎหมายที่ค้างท่อจากสภาชุดที่แล้วรวมถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้นำมาพิจารณาต่อจากเดิม
อย่างไรก็ดี หลังจากได้รัฐบาลใหม่ ก็มีหลายภาคส่วนที่เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้แก่
1) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน : ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมหลายองค์กรในนาม ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน ได้รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 ชื่อแล้ว บรรจุวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 ธันวาคม 2566 แล้ว
2) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับเสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล : เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 สส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ ก็ถูกบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน รอเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่ง
3) ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับกระทรวงยุติธรรม เสนอโดย ครม. : ฟากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังจากเดิมก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงปี 2556 จนถึงสมัยสภาชุดเลือกตั้ง 2562 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอครม. เข้าสภา
หลังการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยที่มีที่นั่ง สส. ในสภาเป็นอันดับสองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับหลายพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลชุดก่อน ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยชูนโยบายหาเสียงเรื่องสมรสเท่าเทียม ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้ทางหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงยุติธรรมเปลี่ยนทิศทางจากผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต มาผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่ผลักดันโดยกระทรวงยุติธรรม เปิดรับฟังความเห็นประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ law.go.th และเว็บของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไปแล้วเมื่อ 31 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2566 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการต่อ ซึ่ง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยกับสื่อหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภาในวันที่ 21 ธันวาคม 2566
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ก็มีนัดสำคัญน่าจะจับตาคือการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สามฉบับจากสามภาคส่วนที่เสนอ เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสามฉบับมีหลักการทำนองเดียวกัน สภาสามารถพิจารณาไปพร้อมกันได้ และสามารถลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการร่างทุกฉบับในวาระหนึ่งได้ หากสภาลงมติรับหลักการร่างกฎหมายแล้ว ลำดับถัดไปก็จะเป็นการลงมติว่าจะใช้ร่างใดเป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระสอง (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 117)
หากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทุกฉบับไปพร้อมกันและมีมติรับหลักการร่างทุกฉบับ เนื่องจากมีร่างภาคประชาชนด้วย ก็จะส่งผลให้ตัวแทนภาคประชาชนได้โควตาเข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดด้วย (ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 122)
ต้องจับตากันต่อไปว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเข้าสภาทันวันที่ 21 ธันวาคม 2566 หรือไม่และ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จะลงมติออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว