รวมจุดยืนสว. โหวต-ไม่โหวต “เศรษฐา” นั่งนายกฯ

เดินทางมาถึงรอบที่สามแล้วสำหรับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งในครั้งนี้แกนนำรัฐบาลนำโดย “พรรคเพื่อไทย” ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่สอง เปลี่ยนโฉมหน้าพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่แบบ “พลิกขั้ว” ผสมปนเปกันจนรวมเสียงจาก สส. มาได้แล้ว 314 เสียง จาก 11 พรรค โดยไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล พร้อมเสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย 
ด้าน เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ได้ออกมาชี้แจงและยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจในการทำธุรกิจ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าอาจจะถอนตัวหลังมีกระแสข่าวเปลี่ยนตัวเป็น แพทองธาร ชินวัตร เข้าชิงนายกฯ แทน โดยตนเชื่อว่าวันเสนอชื่อตนโหวตเลือกนายกฯ จะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากสมาชิกรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนต่อการโหวตนายกฯ ชื่อเศรษฐา ของสว. จำนวนหนึ่ง ยังไม่สามารถเห็นแนวทางที่ชัดเจนได้ เพราะตั้งแต่โหวตนายกฯ รอบแรกจากที่มีการเสนอ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกจากพรรคก้าวไกล ก็มีสว.บางคนที่เปลี่ยนใจจากจุดยืนที่ตัวเองเคยพูดไว้ ซึ่งในการโหวตนายกฯ รอบที่สาม ก็ยังคงมีสว.หน้าเดิมๆ ที่ออกมาให้ความเห็นแสดงจุดยืนไว้บ้าง ดังนี้

สว. ส่วนใหญ่ (ที่ออกมาแสดงจุดยืน) ยังลังเล บางคนรอฟังวิสัยทัศน์ “เศรษฐา” 

จเด็จ อินสว่าง อดีตข้าราชการ สว. ทายาทบ้านใหญ่สุพรรณบุรี  ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแสดงจุดยืนไว้ว่า จะไม่โหวตให้พิธา และยืนยันจุดยืนตนเองอีกครั้งในวันโหวตนายกฯ รอบแรกโดยลงมติ “ไม่เห็นชอบ” พิธา 
โดย จเด็จ อินสว่าง ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้
1 สิงหาคม 2566 กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบที่สาม ว่า “ขณะนี้ทุกฝ่ายสร้างสตอรี่ แทงข้างหลัง ถีบพรรคนั้นพรรคนี้ แต่ สว.มีหน้าที่ต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยยึดหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ที่ผู้ถูกเสนอชื่อต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” 
“ชื่อของ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ที่จะถูกเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเป็นผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 ส.ค.นั้น ยังมีข้อน่าสงสัยตามที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ระบุเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี ถ้าเป็นเช่นนี้ สว.จะรับรองได้อย่างไร ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ได้เสียงข้างมากแล้ว สว.ต้องเลือก แต่ สว.ต้องเลือกนายกฯ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นการโหวตเลือกนายกฯ วันดังกล่าว ประธานรัฐสภา ต้องให้ นายเศรษฐา แสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้สมาชิกรัฐสภามีโอกาสซักถาม จะให้ สว.เลือกโดยไม่แสดงวิสัยทัศน์ไม่ได้ ถ้า นายเศรษฐา ไม่แสดงวิสัยทัศน์ใดๆ สว.จะเป็นฝ่ายถามเองถึงแนวคิดการบริหารประเทศ ทั้งเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้มีความชัดเจนประเด็นเหล่านี้ ก่อนตัดสินใจลงมติ เพราะ สว.มีหน้าที่ต้องเลือกคนดี ที่ไม่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 160”
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว.แกนนำเครือข่ายชาวนาชื่อดัง จากการ “เรียกทัวร์” จากประชาชนอยู่บ่อยครั้ง เคยแสดงจุดยืนจัดอยู่ในกลุ่มไม่โหวตพิธาอย่างชัดเจน ซึ่งในวันโหวตนายกฯ รอบแรก กิตติศักดิ์ ก็ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” พิธา 
โดย กิตติศักดิ์ ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้
24 กรกฎาคม 2566 ตอบคำถามก่อนแกนนำรัฐบาลจับขั้วใหม่อย่างเป็นทางการว่า “ถ้ามีชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน หรือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะโหวตให้ทันทีหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ยืนยันว่า ตนไม่มีธง แต่ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกลแล้ว เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ ไม่เช่นนั้นมันก็จะติดอยู่อย่างนี้ ซึ่งบังเอิญว่าการโหวตนายกต้องใช้เสียงของ สว. ถ้าเป็นอย่างนั้นตนพร้อมโหวตให้”
13 สิงหาคม 2566 “เสียง สว. ที่จะหนุนเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ ไม่ได้มีมากมายถึง 90% ตามที่วันชัย สอนศิริ สว. พูดแน่นอน ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกหลายวัน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกอย่างจะนิ่งต้องรอ 1-2 วันก่อนวันโหวตจริงว่าชื่อเศรษฐาจะผ่านหรือไม่ 
อีกทั้งยังเสริมว่า “คนถืออำนาจการต่อรองทั้งหมดขณะนี้อยู่ที่ 2 ลุงคือ ลุงป้อมกับลุงหนู หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นคนกำหนด แค่ลุงหนูถอนตัวเพื่อไทยก็เจ๊ง หรือลุงป้อมไม่เข้าร่วมด้วย สว. ก็ไม่โหวตให้ ดังนั้น ลุงไม่มีเพื่อไทยได้ แต่เพื่อไทยไม่มีลุงไม่ได้ ทางของพรรคเพื่อไทยตีบมาก อาจไม่ได้อย่างที่หวัง เพราะอำนาจต่อรองน้อยกว่าฝั่ง 2 ลุง”
21 สิงหาคม 2566 กล่าวย้ำจุดยืนว่า มีมติในใจอยู่แล้ว สว.มี 250 คน หรือ 248-249 คน แม้จะมีคำตอบในใจแล้วก็ต้องฟังเสียงของ สว.ส่วนใหญ่ 
“กิตติศักดิ์ก็ใจอ่อน เพราะว่าตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ดูจากสภาพในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของนายเศรษฐา แล้ว ฟันธงว่าไม่ผ่าน กิตติศักดิ์ไม่โหวตให้เศรษฐา แต่หากพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็น แพทองธาร ชินวัตร กล่าวว่าก็ต้องตรวจสอบมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมเหมือนกันโดยเห็นว่า แพทองธาร เพิ่งเข้าสู่การเมืองอาจยังไม่มีปมด้อยมากนัก ดังนั้น เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ส่วนตัวก็จะโหวตให้”
เสรี สุวรรณภานนท์  อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ในปี 2543 เคยแสดงจุดยืนจัดอยู่ในกลุ่มไม่โหวตพิธาอย่างชัดเจน ซึ่งในวันโหวตนายกฯ รอบแรก เสรี ก็ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” พิธา
โดย เสรี ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้
31 กรกฎาคม 2566 “เสียงของสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ยังคงสนับสนุนสูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกลและไม่มีนโยบายแก้ไข ม.112”
“แน่นอนว่า พร้อมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกลในสมการการจัดตั้งรัฐบาลแต่ในส่วนของ แคนดิเดตนายกฯ ทราบว่า พรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง สว. ส่วนใหญ่ ยังมีความเคลือบแคลงใจในตัวนายเศรษฐา เพราะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นายเศรษฐา เคยปราศรัยว่า จะแก้ ม.112 ตนจึงอยากให้นายเศรษฐา ออกมาประกาศให้ชัดอีกครั้งว่า จะแก้ หรือ ไม่แก้ ม.112 เพื่อสร้างความกระจ่างให้ สว. จะได้โหวตเห็นชอบโดยสิ้นสงสัยในตัวนายเศรษฐา” 
“ขอแค่ไม่แก้ไข ม.112 แค่นั้นก็พอแล้ว เพราะ ม.112 คือ หัวใจสำคัญของประเทศ เชื่อว่า หากมีการแก้ไข จะส่งผลให้ประเทศ มีความขัดแย้ง และ ความไม่สงบ เพิ่มขึ้น”   
8 สิงหาคม 2566 “ชื่อของนายเศรษฐา มีคุณสมบัติพอที่จะพิจารณา แต่ก็ต้องตรวจสอบว่ามีมาตราฐานที่เคยตัดสินใจไว้แล้ว คือไม่แตะมาตรา 112 และไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกเสนอชื่อมีคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และต้องดูนโยบายพรรคเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้คือแนวทางที่สว.วางไว้ตั้งแต่การเลือกนายกฯ ครั้งที่แล้ว” 
21 สิงหาคม 2566 คิดว่าเรื่องที่สำคัญในการโหวตนายกฯ รอบสาม จะมี 2 ส่วนใหญ่ๆ “เรื่องที่ 1 คือ เรื่องแนวนโยบายหรือทิศทางของการจะไปบริหารประเทศว่าหากเป็นนายกฯแล้วในรัฐบาลชุดนี้จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพราะ สว.ก็ยึดหลักในเรื่องเหล่านี้ โดยวินิจฉัยตัดสินใจไม่เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล(ก.ก.) ในเรื่องเหล่านี้มาแล้ว
ฉะนั้น พรรคการเมืองที่มาตั้งรัฐบาลนั้นต้องตกลงกันให้ดี เพราะจากที่บอกว่าจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)และทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลายเป็นเสนอว่าทำทั้งฉบับ ซึ่งก็จะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากมีการเลือก สสร.ก็เห็นอยู่แล้วว่าจะเป็นกลุ่มไหนที่จะเข้ามาทำรัฐธรรมนูญ และเห็นอยู่แล้วว่ากลุ่มที่จะเข้าแก้รัฐธรรมนูญนั้นมีจุดประสงค์อะไรก็ตามในการที่จะรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน องค์กรต่างๆหรือเรื่องของความมั่นคง จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ตนคิดว่า สว.จะพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ และอีกเรื่องหนึ่งคือ คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ รวมถึงเรื่องจริยธรรม ดังนั้นเรื่องทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณา” อีกทั้ง สว.เสรียังเห็นควรว่า เศรษฐา แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยควรเข้ามาแถลงในที่ประชุมรัฐสภา
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์  อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  เคยแสดงจุดยืนจัดอยู่ในกลุ่มรอดูนโยบายสำคัญอย่างมาตรา 112  ผลลงมติโหวตนายกฯ รอบแรกลงมติ “งดออกเสียง”
โดย คุณหญิงพรทิพย์ ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้
1 สิงหาคม 2566 ย้ำจุดยืนหลักการคือไม่โหวต เพราะไม่อยากใช้อำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็จะไม่โหวต
“คุณบอกให้ปิดสวิตช์ เราก็เห็นด้วยในหลักการ แล้วพอจะมาไม่ให้คงหลักการมันก็ตลกดีประมาณนั้น ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นใคร แต่เราอยากเป็นคนยึดในหลักการ” 
ประภาศรี สุฉันทบุตร  หนึ่งในสว.ที่เคยออกมายืนยันโหวตพิธาเป็นนายก ฯ และยังคงยืนยันรักษาสัตย์ตามที่ตนเคยแสดงจุดยืนไว้เป็น 1 ใน 13 สว.ที่ลงมติ “เห็นชอบ” พิธา
21 สิงหาคม 2566 โพสต์เฟสบุ๊ก โดยช่วงท้ายซึ่งเป็นส่วนสรุปเขียนว่า “ประชาชนบอกกับดิฉันว่าให้ “ไม่เห็นชอบ” ทุกคนอยากให้ดิฉันเป็นความหวัง ให้สู้เพื่อพวกเค้า ดิฉันเครียดมาหลายวันว่า ระหว่าง “หลักการ” ที่ดิฉันยึดมั่นเสมอมา กับความรู้สึกท้อแท้เจ็บปวดของประชาชนของดิฉัน ดิฉันควรยืนอยู่บนหลักการของดิฉัน หรือเลือกร่วมเจ็บปวดไปกับเค้าด้วยดิฉันควรจะเลือก “ไม่เห็นชอบ” หรือ สุภาพหน่อย ก็ “งดออกเสียง” ตามความต้องการของประชาชนของดิฉันหรือไม่ หรือ “เห็นชอบ” ตามหลักการที่เค้ารวมเสียงข้างมากได้ ท่านที่ผ่านมากรุณาให้ความคิดเห็นกับดิฉันด้วย เพื่อดิฉันจะได้นำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ขอขอบคุณมากๆนะคะ #อบอุ่นใจเสมอ เมื่อได้อยู่เคียงข้างประชาชน” 
สมชาย แสวงการ  อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เคยแสดงจุดยืนจัดอยู่ในกลุ่มกลุ่มรอดูนโยบายสำคัญอย่างมาตรา 112  ผลลงมติโหวตนายกฯ รอบแรกลงมติ “ไม่เห็นชอบ”
โดย สมชาย ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้
20 สิงหาคม 2566  โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เลือกตัดสินใจกันให้ดี 21 ส.ค.รอดูแถลง 22 ส.ค.รอโหวตผ่านหรือไม่ #ดีลลับสิงคโปร์ พร้อมโพสต์ภาพหน้าเฟสบุ๊กส่วนตัว ที่ระบุขอความว่า #เงื่อนไขสุดท้าย #ม้วนเดียวจบหรือม้วนเดียวจอด 1 เปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายก 2 กลับไทยเข้ากระบวนการรับโทษ 3 เลิกคิดล้มรัฐธรรมนูญปราบโกง 4 รัฐบาลสลายขั้วปกป้องสถาบัน 
21 สิงหาคม 2566  หากพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ก็พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 88 และ 89 รวมถึงมาตรา 160 ด้วย ส่วนตัวขอรอฟังการแถลงข่าวในช่วงบ่ายวันนี้ก่อนว่า ชื่อที่ถูกเสนอจะมีคุณสมบัติอย่างไร มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเหมาะสมหรือไม่
“สว.ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หากวันนี้นายเศรษฐามาแถลงด้วยก็คงจะดี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมาด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อครั้งที่แล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้มาแถลงจัดตั้งรัฐบาล เราจะได้รู้ รวมถึงเรื่องที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองตรวจสอบก็ค่อนข้างจะร้ายแรง ผมรับฟังทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ “
วันชัย สอนศิริ อดีตทนายความและอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สนช.) หนึ่งในสว.ที่เคยออกมายืนยันโหวตพิธาเป็นนายก ฯ และยังคงยืนยันรักษาสัตย์ตามที่ตนเคยแสดงจุดยืนไว้เป็น 1 ใน 13 สว. ที่ลงมติ “เห็นชอบ” พิธา
โดยวันชัย ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้

2 สิงหาคม 2566  “ปลายทางของการเลือกนายกรัฐมนตรี จะจบที่พรรคเพื่อไทย ไม่ไปถึงพรรคอันดับสาม อย่างภูมิใจไทย หรือถึงขั้นต้องไปดึงนายกคนนอก เนื่องจากมองว่า พรรคเพื่อไทยเคยเป็นรัฐบาล มากกว่า 10 ปี รู้จักคนทุกกลุ่ม มีศักยภาพในการประสานงานกับทุกฝ่ายได้ มีการเข้ามาพูดคุยกับ สว. มากกว่าตอนที่พรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจากการสอบถามเพื่อน สว.ด้วยกัน” และยังเสริมด้วยว่า 

“ความคิดเห็นของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ อาจจะมีทั้งคนที่ปิดสวิตช์ถาวร หรือคนที่คิดได้ว่า ปิดสวิตช์แล้วเท่ากับไม่สนับสนุนรัฐบาล ที่มาจากเสียงข้างมาก หรือเห็นว่านโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 ไม่มีแล้ว ความคิดอาจจะเปลี่ยนไปหน้างานได้ ส่วนตัวเองยังคงยืนยันจุดยืนเดิม คือโหวตให้ตามเสียงข้างมาก” 
21 สิงหาคม 2566 เชื่อว่าจะมีสว. โหวตให้ประมาณ 190 คน ดังนั้นไม่มีอะไรที่จะต้องวิตกกังวล เพราะบ้านเมืองและประเทศต้องเดินต่อไป จะมาหยุดชะงักเพียงแค่นี้ไม่ได้กล่าวว่า สว.มีหน้าที่โหวตคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเสียงส่วนใหญ่เขาเสนอใครมา ส.ว.ก็จะสนับสนุนคนนั้นให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป “เท่าที่ผมคุยมาตั้งแต่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ทุกคนตกผลึกค่อนข้างชัดเจนแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นประเด็นและเป็นปัญหาเลย ยืนยันว่าตอนนี้เสียงของ สว. ได้เกินไปมากแล้ว และเท่าที่ฟังมาตั้งแต่เช้าเชื่อว่า สว. ส่วนใหญ่ ทุกคนอยากให้ประเทศเดินไป และไม่มีใครที่จะมาขวางกั้นเป็นอุปสรรคต่อการโหวตครั้งนี้ ฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยเสนอใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เชื่อว่า สว. จะโหวตให้ แต่อาจจะมี สว. บางคนแสดงความคิดเห็น เช่นนั้นเช่นนี้ ผมยืนยันได้ว่านั่นเป็นแนวทางของประชาธิปไตย แล้วเท่าที่คุยผู้หลักผู้ใหญ่ก็พร้อมให้ความร่วมมือ” 
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นักวิชาการ ที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนหลายต่อหลายครั้งในการโหวตพิธา รอบแรก แต่เมื่อถึงลำดับการออกเสียงของเขากลับ ‘หายตัว’ ไป ไม่แม้แต่จะลงคะแนนเสียงโหวตเลือกนายกฯ รอบแรก
โดยดิเรกฤทธิ์ ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้
14 สิงหาคม 2566  ยังคงหลัก 3 ขั้นตอนในการพิจารณาว่าจะเลือกหรือไม่เลือก นายเศรษฐา นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ นายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย มีคะแนนเสียงข้างมาก จาก สส.หรือไม่ พรรคเพื่อไทย มีนโยบายที่สร้างความขัดแย้งหรือไม่ และ สุดท้ายตัวนายเศรษฐา มีคุณสมบัติการเป็นผู้นำประเทศ ทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรมหรือไม่ 
21 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า ต้องการให้นายเศรษฐา   รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ชี้แจงนโยบายการประกาศจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อรัฐสภาให้ชัดเจน เพราะ สว.มีความกังวลถึงการจัดการออกเสียงประชามติ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ และจัดทำฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ดังนั้น สว.จึงต้องการความชัดเจนว่า เนื้อหาจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งในองค์กรที่จะมาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงจะมีการกำหนดขอบเขตการแก้ไขในหมวด 1 รูปแบบรัฐ และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่
เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยแสดงความเห็นและอยู่ในกลุ่มโหวตอย่างมีเงื่อนไข ลงมติโหวตนายกฯ รอบแรกลงมติ “ไม่เห็นชอบ”
โดย เจตน์ ได้แสดงความเห็นต่อ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ไว้ดังนี้
14 สิงหาคม 2566 “ส่วนตัวเขาเชื่อว่าการเสนอชื่อนายเศรษฐา เพื่อให้โหวต จะมีแนวโน้มดีกว่า ชื่อของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล และมีหลายประเด็นที่ตนอยากจะฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของเศรษฐา เช่น นโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นโยบายบริหารประเทศ เช่น นโยบายการแจกเงิน10,000 ดิจิทัล”