ครม. ด่านสุดท้ายเคาะคำถามประชามติ

การออกเสียงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ เป็นนโยบายหาเสียงสำคัญของหลายพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย สองพรรคใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นสอดคล้องกันว่า เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ววาระสำคัญคือการใช้อำนาจฝ่ายบริหารในการจัดการออกเสียงประชามติ

คำถามประชามติ คือสิ่งที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการรณรงค์และลงคะแนนของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับคำถามนั้น ถ้าคำถามมีปัญหาก็อาจจะส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนหรืออาจทำให้การจัดประชามติไร้ความหมาย ดังนั้นคำถามจะถูกจัดการออกมาในรูปแบบไหนถึงมีความสำคัญไม่แพ้การออกเสียงประชามติ

5 ที่มาของการทำประชามติ

การออกเสียงประชามติถูกระบุในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 166 ว่า กรณีที่มีเหตุอันสมควรคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด

โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ระบุที่มาของการทำประชามติให้มาจากห้าแหล่งประกอบด้วย

1) ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (8) เมื่อมีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือหน้าที่หรืออำนาจของศาลและองค์กรอิสระ

2) ประชามติกรณีเมื่อ ครม. เห็นว่ามีเหตุอันควร

3) ประชามติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง

4 ประชามติในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติให้มีการออกเสียงประชามติและได้แจ้งเรื่องให้ ครม. ดำเนินการ

5) ประชามติกรณีที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ ตามหลักเกณฑ์ที่ กกต. กำหนด

ครม. ด่านสุดท้ายตั้งคำถามประชามติ

จากแหล่งที่มาของของประชามติทั้งห้าช่องทาง มีเพียงหนึ่งช่องทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ถ้ารัฐสภาเห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่รัฐธรรมนูญระบุต้องทำประชามติก่อน แต่อีกสี่ช่องทางซึ่งมาจาก ครม. รัฐสภา และประชาชน ให้อำนาจ ครม. เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่

โดยใน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 11 วรรคสาม สรุปใจความได้ว่า เมื่อ ครม. พิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรให้ออกเสียงประชามติ ให้นายกฯ ประกาศราชกิจจานุเบกษา และ ครม.ต้องระบุเรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะทำประชามติได้โดยสะดวก

เท่ากับว่าหากรัฐสภาหรือประชาชน ยื่นเสนอทำประชามติต่อ ครม. ด่านสุดท้ายที่จะกำหนดว่าจะทำประชามติได้หรือไม่คือ ครม. และแน่นอนว่าถ้า ครม. มีมติว่าให้ทำประชามติได้ คำถามที่จะใช้ในการออกเสียงประชามติจะถูกกำหนดโดย ครม. ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของการเข้าชื่อของประชาชน ก็สามารถกำหนดคำถามประชามติเข้าไปได้ แต่ก็ยังต้องได้รับการเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งอาจจะไม่เห็นชอบ เห็นชอบ หรือเปลี่ยนแปลงคำถามก็ได้