ปิดสวิตช์ สว. รวมสองครั้งที่ไม่ได้โหวต

นับตั้งแต่สภาที่มาจากการเลือกตั้งเข้าทำงานในปี 2562 มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้งในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แต่ไม่ได้ความเห็นชอบถึงหกครั้ง ซึ่งทุกครั้งมี สว. เห็นชอบไม่ถึงหนึ่งในสามตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ 2560 แม้ว่าในหลายครั้งจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ตาม
แต่รู้หรือไม่ว่า มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อีกสองครั้งที่ “ไม่ได้โหวต” เสียด้วยซ้ำในสภา

8 ก.พ. 66 เสนอโดยพรรคเพื่อไทย

องค์ประชุมไม่ครบ สว. ลาประชุม 95 คน

ก่อนที่อายุสี่ปีของสภาจะจบลง พรรคเพื่อไทยได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ สว. อีกเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยวาระการพิจารณากฎหมายที่คั่งค้างอยู่ในรัฐสภาที่กำลังจะครบวาระ ประธานจึงได้นัดประชุมวาระพิเศษเป็นเวลาสองวัน คือ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566 โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่ในวันที่สอง แต่ผลปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แม้ว่าประธานจะให้มีการพักประชุมชั่วคราวเพื่อรอสมาชิก แต่ท้ายที่สุดก็ต้องสั่งปิดประชุมเพราะมีผู้มีแสดงตนเพียง 308 คน โดยส่วนใหญ่เป็น สส. ฝ่ายรัฐบาล และ สว. ที่ขาดประชุม โดยเฉพาะ สว. ที่มีการเปิดเผยว่าลาประชุมถึง 95 คน
เหตุที่มีการลาประชุมสูงเท่านี้ก็อาจจะต้องย้อนไปในการประชุมรัฐสภาวันก่อนหน้า ซึ่งมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน โดยประธานสภากล่าวในระหว่างการประชุมว่าตนได้รับความเห็นจาก สว. หลายคน ว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 นั้นเหมือนเป็นการสร้างโอกาสในการวิจารณ์ สว. และเมื่อถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ สมชาย แสวงการ สว. ก็ลุกขึ้นประท้วงว่าการนัดประชุมพิเศษนี้ไม่สามารถทำได้ แต่ก็ถูก สส. จากฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์โต้เถียง เมื่อถึงเวลาต้องลงมติตามที่สมชายเสนอ องค์ประชุมกลับไม่ครบ จึงต้องสั่งปิดประชุม และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยนี้ก็ไม่ได้ถูกนำกลับมาพิจารณาอีกเพราะสภาครบวาระในเวลาอีกไม่นานต่อมา

4 ส.ค. 66 เสนอโดยพรรคก้าวไกล

ประธานชิงปิดประชุม หนีลงมติให้โหวตนายกซ้ำได้

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 แม้ผลการเลือกตั้งจะออกมาว่าอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสียงข้างมาก และประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล แต่ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรกวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้จะได้เสียงส่วนใหญ่จาก สส. แต่ก็ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก สว. แต่งตั้ง ในการประชุมรัฐสภาในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา สว. และอดีตพรรคร่วมรัฐบาลที่กลายเป็นเสียงส่วนน้อย ได้รวมกันลงมติไม่ให้สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้อีก ประกอบกับในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจากกรณีมีหุ้นบริษัทไอทีวี
ต่อมา ได้มีผู้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งได้ส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่ามติของรัฐสภานั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งกระบวนการรับรองนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงสั่งหยุดการโหวตนายกรัฐมนตรีไว้ในช่วงที่ศาลยังไม่มีคำสั่ง ในอีกด้านหนึ่ง พรรคก้าวไกลก็ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่การประชุมรัฐสภาในวันที่ 4 สิงหาคม 2566
ในช่วงแรก ที่ประชุมต้องรอสมาชิกมารายงานตัวเพื่อเปิดประชุมเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะ สว. ที่มาเป็นองค์ประชุมหลักสิบคนเท่านั้น จากนั้น พรรคก้าวไกลลุกขึ้นเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาทบทวนและลงมติเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกครั้ง แต่ประธานสภามีท่าทีไม่เห็นด้วย โดยในระหว่างนี้ก็มี สว. เข้ามารายงานตัวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นหลักร้อยคนภายในเวลาไม่นาน และสมชาย แสวงการ สว. ลุกขึ้นค้านการเสนอญัตติของพรรคก้าวไกล หลังจากมีการอภิปรายของผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย วันมูหะมัดนอร์ ก็สั่งปิดประชุมอย่างไม่คาดคิดตั้งแต่ประมาณ 11 โมง โดยให้สัมภาษณ์คราวต่อมาว่าตนเกรงว่ามติของสภาจะไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและจะเกิดความเสียหาย ทั้งที่ศาลยังไม่มีมติว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่
การสั่งปิดประชุมนี้ทำให้การอภิปรายและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ สว. ต้องเลื่อนออกไปจนกว่าจะมีการนัดประชุมรัฐสภารอบใหม่