เลือกนายกฯ ไม่เหมือน ‘ญัตติ’ ทั่วไปตามข้อบังคับฯ โหวตซ้ำกี่รอบก็ได้

 

การเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นับเป็นครั้งแรกที่การเลือกนายกฯ ไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีผู้ถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียว คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล เนื่องจากติดเงื่อนไขได้รับเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทั้งที่ได้เสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
การเลือกพิธาเป็นนายกฯ ครั้งที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ของแปดพรรคเสียงข้างมาก กลับต้องเจอโจทย์ใหม่ที่อาจทำให้การโหวตพิธาเป็นนายกฯ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อวุฒิสภาและฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อยส่วนหนึ่งเห็นว่า การเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ญัตติ หมายถึง เรื่อง ปัญหา หรือประเด็น ที่สมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา เพื่อให้มีการลงมติในเรื่อง ปัญหา หรือประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีความหมายว่า ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายจะให้รัฐสภาลงมติหรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส.ว. อ้างข้อบังคับประชุมสภาโหวตพิธาซ้ำไม่ได้

ปัญหาการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ปรากฏอยู่ใน ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 หมวด 2 การประชุมรัฐสภา ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ ความว่า

“ข้อ 41 ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”
จากข้อบังคับนี้ ส.ว.นำโดย สมชาย แสวงการ เห็นว่าการเสนอชื่อพิธาซ้ำไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 กำหนดชัดเจนว่า ญัตติเสนอซ้ำไม่ได้ เว้นแต่เสนอสมัยประชุมหน้า … หากวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ มีการเสนอชื่อญัตติเดิม จะต้องมีการอภิปรายกันว่าดำเนินการไม่ได้ เพราะเกรงว่ารัฐสภาจะดำเนินการขัดต่อกฎหมาย และถ้าโหวตนายพิธาผ่านก็จะถูกร้องว่าการกระทำนั้นไม่ชอบ”

พรรคข้างมาก-นักวิชาการ ยันโหวตนายกฯ กี่ครั้งก็ได้ ไม่เหมือนญัตติทั่วไป

ผลการหารือของแปดพรรคเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ยืนยันชัดเจนว่ายังคงจะเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยในประเด็นที่ ส.ว.อ้างว่าเป็นญัตติซ้ำ ฝากฝั่งพรรคเสียงข้างและนักวิชาการเห็นว่า การโหวตนายกฯ เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ เป็นญัตติเฉพาะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ใช้ญัตติทั่วไป ดังนั้น การโหวตนายกฯ สามารถโหวตนายกฯ ชื่อเดิมซ้ำกี่ครั้งได้ไม่มีกฎหมายห้ามไว้


ความเห็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ว่า

        “ญัตติมีสองประเภท คือ ญัตติทั่วไปที่เสนอนู่นนี่นั่นและญัตติที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด เช่นการเรื่องนายกฯ เป็นญัตติเฉพาะที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การเลือกประธานสภา เป็นญัตติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อะไรที่ถูกกำหนดไว้รัฐธรรมนูญเราก็ถือเป็นญัตติ แต่เป็นญัตติเฉพาะก็ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ไว้เช่นกันว่า

        “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องญัตติมันเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 159 แล้วก็ มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ … ซึ่งพอไม่ได้เขียนเอาไว้ในมาตรา 272 ว่าจะโหวตได้กี่ครั้ง มันก็โหวตไปเรื่อยๆ โดยที่ มาตรา 272 วรรคสอง บอกว่าถ้าหากว่าโหวตตามวรรคหนึ่งไม่ได้ จะใช้วรรคสองคือใช้ช่องทางคนนอก รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าถ้าหากโหวตครั้งแรกไม่ได้ ให้โหวตให้คนที่สองหรือใช้ช่องคนนอก … เรื่องนี้จบครับ ความจริงไม่ได้ยาก ประธานสภาแค่ชี้ขาดว่า ข้อบังคับเป็นแบบนี้มันไม่ได้เป็นญัตติมันเป็นรัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องของการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ใช่เรื่องญัตติปกติ”

ข้อบังคับชัดเจนโหวตนายกไม่เกี่ยวกับญัตติทั่วไป

เมื่อเปิดดู “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563, หมวดที่ 2 การประชุมรัฐสภา, ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ” ตั้งแต่ข้อ 29 – 41 พบว่า การระบุ ถึงญัตติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ประกอบด้วย
– ข้อ 29 ญัตติทั้งหลายที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภา และต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน
– ข้อ 30 ญัตติที่ไม่ต้องมีผู้รับรอง ได่แก่
  • ญัตติข้อให้ประชุมลับ
  • ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ร่างพ.ร.ป.)
  • ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปของผู้นำฝ่ายค้านฯ
  • ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
  • ญัตติขอให้รัฐสภาเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
  • ญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
– ข้อ 31 ญัตติขอให้รัฐสภามีมติกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา
– ข้อ 32 ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าหรือเสนอเป็นหนังสือ เช่น ญัตติขอให้ปรึกษาหรือพิจารณาเป็นเรื่องด่วน / ขอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เป็นต้น
จากญัตติที่ถูกกำหนดในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจะเห็นว่า ไม่มีการระบุถึงญัตติที่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 และมาตรา 272 วรรคหนึ่งเลย ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบุคคลนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือนายกฯ คนนอกเท่านั้นที่ต้องเสนอเป็นญัตติ และเมื่อเปิดดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในหมวดที่ 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าต้องเสนอเป็นญัตติเช่นเดียวกับญัตติอื่นๆ ที่ระบุในข้อบังคับหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการเสนอญัตติ เลย
เสนอนายกฯ คนนอก โหวตไม่ผ่าน เสนอซ้ำไม่ได้
ในกรณีเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกฯ ทั้งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม ข้อ 30 และ 138 ระบุชัดเจนว่า สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่เข้าชื่อสามารถเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้
ในกรณีนี้ถ้ารัฐสภามีมติไม่เห็นชอบนายกฯ คนนอกก็จะทำให้ ในสมัยประชุมดังกล่าวไม่สามารถเสนอญัตติเพื่อเสนอนายกฯ คนนอกได้อีก เพราะเป็นญัตติซ้ำตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 41
ดังนั้นจึงมีแต่การเสนอญัตติเสนอนายกฯ คนนอก เท่านั้นที่ถือว่าเป็นญัตติที่จะเสนอซ้ำไม่ได้ แต่การเสนอชื่อนายกฯ โดยวิธีการปกติจะเสนอชื่อเดิมซ้ำโหวตกี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป