รวมวาทะ ส.ส.-ส.ว. อภิปรายก่อนเลือกพิธาเป็นนายก


13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภานัดประชุมพิจารณา เพื่อลงมติเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยมีผู้อภิปรายจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สรุปที่น่าสนใจได้ดังนี้

เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย

การอภิปรายในวันนี้เป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่การอภิปรายกลับเป็นเรื่องมาตรา 112 เป็นสำคัญ ว่าถ้าเลือกคุณพิธาจะมีปัญหาเรื่องมาตรา 112 ความมั่นคงแห่งชาติ ผมในฐานะที่เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเคยเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ […]
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องปกติ รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศยังสามารถแก้ได้ ทำไมประมวลกฎหมายอาญาถึงแก้ไม่ได้ ผมขอเสนอประสบการณ์ของผมให้ท่านฟัง ผมเคยถูกดำเนินคดีในข้อหานี้มาก่อนจากอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ผลที่สุดอัยการวินิจฉัยว่าคำพูดดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นถึงการหมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สาม เป็นเหตุให้บุคคลนั้นหรือบุคคลอื่นเสียชื่อเสียง เกลียดชังแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่เป็นการอาฆาตมาดร้ายหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท แต่ด้วยการแสดงให้เห็นว่าผมคิดใคร่ครวญ ที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือสถาบันเบื้องสูงให้ดียิ่งขึ้น ขนาดเราที่ตั้งใจทำงานให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ยังถูกยัดเยียดข้อหาได้ แล้วพี่น้องประชาชนถ้าใช้กฎหมายนี้ต่อไป จะไม่ถูกยัดเยียดหรือครับ ดังนั้น ผมมีความเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องปกติ สามารถทำได้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. และแคนดิเดตนายกพรรคก้าวไกล
ผมต้องขออนุญาตแสดงความเห็นด้วยกับท่านประธาน ที่แสดงความเห็นออกมาว่าวันนี้วาระการประชุมคือการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องการแก้ไขกฎหมายใด ๆ อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องที่เป็นข้อคลางแคลงใจ ข้อสงสัย เกี่ยวกับตัวผมก็เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ผมรู้สึกว่าสันนิษฐานที่ผมมีอยู่ตรงกับที่ผมเคยคิดไว้ ว่าถ้ากฎหมายใด ๆ แล้วแต่เข้าสู่สภา เราทุกคนทั้ง 750 คน รวมถึงคนที่อภิปรายไปแล้วด้วย สามารถพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างมีวุฒิภาวะ สามารพพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างข้อบังคับและมีความโปร่งใสเพราะมีพี่น้องสื่อมวลชนถ่ายทอดอยู่ อันนี้ตรงกับสมมติฐานของผมที่คิดไว้ตั้งแต่สมัยที่แล้ว 
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่พาดพิงที่สร้างความเสียหายให้กับพรรคก้าวไกล ก็จะให้คนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอกฎหมายของพรรคก้าวไกลได้ชี้แจงต่อไป ผมขอใช้ตามที่ได้ยืนยันกับท่านประธาน คนที่จะได้เป็นผู้นำคนต่อไปของประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี และตรงกับประเด็นที่มีการพาดพิงสามประเด็น การต่างประเทศ แบ่งแยกดินแดน และการแก้ไขปัญหายาเสพติด
ในเรื่องการต่างประเทศ ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราจะต้องรีบเลือกนายกรัฐมนตรีเพราะเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ก็จะมีการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ค ผมต้องการที่จะเป็นผู้นำของประชาชนทุกคนเพื่อที่จะไปบอกกับโลกว่าประเทศไทยพร้อมแล้ว ประเทศไทยกลับมาแล้วที่จะมีบทบาทที่ดีในเรื่องของการต่างประเทศ เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจที่การอภิปรายในวันนี้ มีการพูดถึงทหารยิงประชาชนแล้วไปพาดพิงถึงสองประเทศ ประเทศหนึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีขอบเขตระยะทางกว่าสองพันกิโลเมตรกับประเทศไทย ประเทศที่สอง เป็นประเทศหนึ่งที่มีควาสัมพันธ์อันยาวนานแบบประเทศไทย เพราะฉะนั้นผมไม่แน่ใจ ถ้าเป็นผมจะระมัดระวังในการพาดพิงถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับเรา มีแรงงานอยู่ในประเทศไทยสองล้านกว่าคน อยู่ในภาคประมง อยู่ในภาคร้านอาหารต่าง ๆ เศรษฐกิจเราขับเคลื่อนได้เพราะพวกเขา นี้เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและผู้นำจะต้องทำ และจะหาจุดสมดุลระหว่างมหาอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศแบบใหม่ สามารถเข้าใจได้ว่าสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกไปถึงไหนแล้ว กระทบกับราคาปุ๋ยในไร่นาของพี่น้องที่อยู่สกลนคร หรือสุพรรณ เข้าใจว่าถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วสงครามเริ่ม ราคาพืชผลทางการเกษตร อย่างข้าวโพด ถั่วเหลืองจะเป็นอย่างไร เราจะต้องมีสมดุล และเราจะต้องรู้ว่าเมื่อไหร่เราต้องเน้นหลักการการเป็นสมาชิกหนึ่งของโลกใบนี้ และเมื่อไหร่เราต้องเงียบ ไม่ใช่ว่าเงียบในทุกเรื่อง ทำให้เราไม่มีน้ำหนักในเวทีทางการเมืองเลย การแถลงนโยบายจ่อสหประชาชาติของผมคือ Thailand is back and Thailand means business ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์คนในชาตินี้และของชาติที่เราดูแลด้วย
ประเด็นที่สอง เรื่องแบ่งแยกดินแดนซึ่งจริง ๆ แล้วก็เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศพอสมควร เพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นก็มีพรมแดนติดกับมาเลเซีย มีปัญหามากมายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ความยากจน เป็นพื้นที่ที่ทำให้ยาเสพติดหรือแม้แต่น้ำมันเถื่อน ขอให้คำยืนยันว่ารัฐไทยภายใต้การนำของผู้นำที่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประเทศไทยจะเป็นรัฐเดี่ยว และผมจะทำทุกวิถีทางผ่านการทูต ผ่านการทำงานของพลเรือน เพื่อให้รัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่ก้าวหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความมั่นคั่งทางอาหาร ลดความมั่งคงทางทหาร เพื่อลดความยากจน ทางสาธารณสุข ท่านรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยคงทราบดีว่าปัญหาเรื่องหมอต่อคนไข้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แย่ที่สุดในประเทศไทย อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ด้วยกัน 
อาจจะมีพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในสภาแห่งนี้คิดต่างจากเรา เราก็ต้องไปคุยกับเขา และต้องใช้สภาแห่งนี้เป็นพื้นที่ในการพูดคุย ปกป้อง และป้องกันการแบ่งแยกดินแดนให้ดีที่สุด สภาแห่งนี้เป็นคนที่มีคุณวุฒิเรื่องนี้ เรามาทำงานร่วมกัน ท่านอาจจะจำไม่ได้ พ.ร.บ. อุ้มหายและซ้อมทรมาน พวกเราในสภาล่างเห็นตรงกันส่งขึ้นไปให้วุฒิสภาและเห็นชอบ น่าเสียดายที่เจอ พ.ร.ก. สิ่งนี้คือการใช้สภาแห่งนี้ในการสร้างความสบายใจ ความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สนับสนุนพหุวัฒนธรรม สนับสนุนทุกศาสนา นี่คือการรักษาให้ประเทศไทยเป็นรัฐไทยที่ก้าวหน้าให้ได้ และนี่คือคำมั่นสัญญาของผมในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี
เรื่องที่สามเกี่ยวกับยาเสพติด น้ำมันเถื่อน อันนี้ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ได้ยืนยันชัดเจนในสภาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปตำรวจ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีปัญหาในการนำยาเสพติดเข้ามา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลบทั้งแปดพรรคใส่ใจ ผมขอรับประกัน
เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. แต่งตั้ง
สิ่งที่ผมเสนอต่อที่ประชุมแห่งนี้ไม่ได้เกิดจากความอคติหรือความไม่ชอบคุณพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นด้วยหลักสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้รัฐสภาชุดแรกนี้ตามรัฐธรรมนูญภายในห้าปีทำหน้าที่สำคัญในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำว่า เป็นบุคคลซึ่งสมควรนะครับ อยากให้ที่ประชุมแห่งนี้ได้พิจารณาให้เป็นสำคัญ 
ผมต้องกราบเรียนตั้งแต่แรกเลยว่า คุณพิธาที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนี้ไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีเหตุผลสำคัญ ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะที่ทำหน้าที่สำคัญในวุฒิสภาแห่งนี้ถูกพูดเสมอๆ ว่า เราจะไม่เลือกคุณพิธาตามมติมหาชนประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้งมาให้หรือ แล้วท่านก็อธิบายพูดถึงว่า พวกเราจะไม่ทำตามมติมหาชน ก็ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่พี่น้องประชาชนให้คะแนนเลือกแต่ละพรรคการเมืองมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่า เมื่อพี่น้องประชาชนเลือกแต่ละพรรคการเมืองมานั้น แต่ละพรรคการเมืองก็ต้องทำตามฉันทามติของแต่ละพรรคการเมืองที่เลือกพรรคนั้นมาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้นมา
แต่เราก็ถูกกล่าวในถ้อยคำที่รุนแรงมาตลอด ถามว่า เราไม่ให้ความเคารพประชาชนหรือ ก็ต้องเรียนเพื่อให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้เข้าใจว่า เราก็ให้ความเคารพและในการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภานั้นก็แยกส่วนจากเสียงพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้ส.ส. แต่ละพรรคเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งส่วนนั้นจบไปแล้ว ประชาชนเลือกแล้วว่า พรรคไหนได้คะแนนเท่าไหร่และเลือกตั้งมีส.ส.มาเท่าไหร่ แต่การทำหน้าที่ในรัฐสภาแห่งนี้เป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นหลักการสำคัญว่า บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องไม่มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ 
ดังนั้นเมื่อจะทำหน้าที่กันวันนี้ มีวันนัดประชุมรัฐสภาก็มีกระบวนการที่ให้พี่น้องประชาชนออกมาแสดงเจตจำนงหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนผู้สื่อข่าวถามผมว่า แล้วไม่กลัวเสียงพี่น้องประชาชนที่อยู่นอกสภาหรือ ซึ่งมีเสียงสนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องตอบ กลัวประชาชนครับ กลัวมาก กลัวว่า ท่านจะเข้าใจผิดว่า วุฒิสภาไม่ให้ความเคารพ ไม่ให้ความเกรงใจเสียงของประชาชน แต่ด้วยความเกรงกลัวเสียงของประชาชนเหล่านั้น เราก็คำนึงถึงว่า การทำหน้าที่ในวุฒิสภาเหล่านี้ ต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาปกป้องประเทศ รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นความกลัวที่มันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะกลัวประชาชนรวมตัวออกกันมามากมายมหาศาล กลัวเสียงที่มาข่มขู่ ให้ร้าย พูดจาด่าทอเสียดสีสารพัดเราก็กลัว แต่กลัวน้อยกว่าความรู้สึก ความรู้สึกสำคัญที่เราต้องออกมาปกป้องประเทศ ปกป้องสถาบันฯนี่ เป็นภารกิจที่สำคัญที่เป็นคนละส่วนของการทำหน้าที่ในรัฐสภา คนละส่วนกับการที่พี่น้องประชาชนได้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว 
การทำหน้าที่ในรัฐสภานี้เนี่ย ก็มีเสียงพูดอีกว่า เสียงที่สนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองหลายพรรครวมกันแปดพรรคได้คะแนนถึง 312 เสียง มีประชาชนลงคะแนนให้ 25 ล้านเสียงรวมกันแล้ว หรือ 30 ล้านเสียง แต่พรรคก้าวไกลนั้นได้คะแนนเสียง 14 ล้านเสียง จริงๆแล้ว พอเอาตัวเลขมารวมทำให้ประชาชนเขาก็ก่นด่าวุฒิสภาอีกว่า ก็ในเมื่อมีประชาชนสนับสนุนเลือกคุณพิธาถึง 30 ล้านเสียงแล้ว ทำไมวุฒิสภาถึงจะไม่ลงคะแนนให้ ก็ต้องกราบเรียนอีกว่า เสียงที่พรรคก้าวไกลได้จากพี่น้องประชาชนนั้น 14 ล้านเสียง อย่าสำคัญผิดว่า ตัวเองได้ 30 ล้านเสียง เสียงที่เหลือนั้นเป็นของพรรคอื่น พรรคอื่นที่ประชาชนลงคะแนนให้โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้คะแนนจากประชาชนถึงสิบล้านเสียงไม่น้อยนะ ได้รับจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน แต่พี่น้องประชาชนแต่ละพรรคเหล่านั้นที่ท่านไปรวม MoU มาแปดพรรคเขาไม่ได้เลือกคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยเขาก็ประสงค์ที่จะลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเลือกคุณแพทองธาร เลือกคุณเศรษฐา เลือกคุณชัยเกษมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่บรรดาท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านเอาเสียงของพี่น้องประชาชนมารวมกันเองแล้วไปยกให้คุณพิธาในส่วนของก้าวไกล
จะเห็นได้ยังไง ท่านบอกว่า ฉันไม่ได้สนับสนุน เห็นได้เพราะมันปรากฏเป็นประวัติศาสตร์เป็นบันทึกอยู่ในคลิปวิดีโอทั้งหลายมากมายในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ท่านออกไปปลุกปั่นยุยงส่งเสริม ขึ้นเวทีให้ม็อบเยาวชนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้แสดงคำพูดให้ร้ายต่างๆนานา เป็นข้อเสนอที่จะปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกระบวนการอะไรต่างๆมากมาย แสดงพฤติกรรมไปในแนวทางที่ให้ร้ายไม่ว่าจะพูดจาด่าทอ เรียกชื่อเรียกพระนามไม่เคารพ เขียนรายละเอียด เขียนข้อมูลตามกำแพง พอคนเหล่านี้ถูกดำเนินคดี ท่านก็ใช้สถานะความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปช่วยประกันตัวคนพวกนี้แทนที่เราจะไปลดปัญหา ไปลดสิ่งที่เป็นความผิดไม่ให้กระทำความผิดเกิดขึ้นแต่กลับกลายเป็นการยุยงส่งเสริมให้คนกระทำความผิดในเรื่องเหล่านี้ แล้วพอมาตอนนี้เด็กเยาวชนติดคุกติดตารางกันเยอะแยะมากมาย ท่านก็มาเสนอแก้ 112 บอกว่า นี่เป็นกระบวนการตามกฎหมายที่ไปกลั่นแกล้งคนให้ถูกดำเนินคดี ถ้าเด็กเหล่านี้คนเหล่านี้ไม่ถูกยุยงส่งเสริมมันจะเกิดเรื่องเหล่านี้ไหม เพียงเพื่อต้องการจะได้มวลชนเลยขาดความรับผิดชอบ ทำให้เด็กกระทำผิดกฎหมาย เสียอนาคต เสียการเล่าการเรียน ครอบครัวแตกแยกอย่างที่เป็นอยู่และเห็นอยู่ในปัจจุบัน 
เพราะฉะนั้นถ้าความเป็นนายกรัฐมนตรีผมยังไม่เคยเห็นท่านออกมาปกป้องห้ามปรามในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่เกี่ยวไม่ยุ่งหรือไม่มีส่วนกระทำการเรื่องเหล่านี้เราต้องออกไปห้ามปราม แต่ปรากฏว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือท่านไม่ห้ามปรามอะไรเลย กลายเป็นว่า ให้คนของท่านไปช่วยกันไม่ว่าจะประกันตัว ไปให้กำลังใจ ไปขึ้นเวที พอขึ้นเวทีเสร็จเด็กก็ถามว่า จะแก้ไขมาตรา 112 หรือจะยกเลิก ท่านก็บอกว่า จะแก้ไข ถ้าแก้ไขไม่ได้จะยกเลิกและก็ไปติดสติ๊กเกอร์ในส่วนยกเลิกมาตรา 112
นี่คือเป็นที่มาที่ไป สิ่งที่สมาชิกวุฒิสภาไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องที่ท่านจะทำอะไรก็ตามถ้าหากมันทำได้ตามกฎหมาย แต่สิ่งที่ทำมันปรากฏได้ชัดเจนว่า เป็นการล้มล้าง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จะให้ทางผมเองหรือสมาชิกวุฒิสภาเองไปสนับสนุนให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไปบริหารประเทศนั้นมันก็จะผิดวิสัย แต่อย่างไรก็ตามผมจะพูดเผื่อไว้เลยเพราะว่า ผมไม่แน่ใจ ถ้าหากว่า ผมพูดแล้ว ท่านอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วท่านลุกขึ้นมาพูดว่า ท่านจะไม่แก้ไข 112 จะไม่ดำเนินการ 112 แล้ว ถ้าจะพูดก็พูดมาครับ แต่ผมไม่เชื่อแล้วล่ะ เพราะผมไม่รู้ว่า การกระทำที่ประวัติศาสตร์ยาวนานมาถึงปัจจุบันจะมาพูดแค่คำๆ เดียวว่า ผมจะไม่แก้มาตรา 112 แล้วเพื่อต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็คิดว่า มันเป็นการหลอกลวง เมื่อวานเป็นแบบนี้พรุ่งนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าท่านบอกไม่แก้แล้วพรุ่งนี้ท่านไม่กลับมาแก้อีกหรอ
คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. แต่งตั้ง


คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายคุณสมบัติพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยเน้นประเด็นสำคัญที่เขาไม่อาจออกเสียงรับรองพิธาไปที่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า แนวทางการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล จะกระทบต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ พร้อมระบุบทบาทของส.ว.ในปัจจุบันนอกจากจะต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ และติดตามการปฏิรูปประเทศแล้ว ยังจะต้องธำรงไว้ซึ่งสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่มาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ไม่ให้ถูกกระทบหรือลดทอนจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล


คำนูณระบุว่า ประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภาหลายคนติดใจ คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลใช้ในการรณรงค์หาเสียง ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เคยนำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายต่อสภาในปี 2564 


เมื่อครั้งที่พรรคร่วมแปดพรรคแถลงข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เบื้องต้นเขามีความรู้สึกสบายใจเพราะในข้อตกลงดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ทั้งแปดพรรคจะไม่กระทำการใดๆที่จะกระทบต่อรูปแบบของรัฐ ระบอบการปกครอง และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในตอนท้ายข้อตกลงยังระบุด้วยว่า พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถผลักดันนโยบายของพรรคตัวเองได้ โดยจะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อเนื้อหาสาระของบันทึกข้อตกลง 


แต่ปรากฎว่าเมื่ออ่านข้อตกลงจบพิธากลับตอบกับผู้สื่อข่าวว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้ส.ส.ของพรรค ซึ่งตัวเขาเห็นว่าเป็นนาทีแห่งความย้อนแย้ง อ่านข้อตกลงจบไม่กี่นาทีก็บอกว่าจะเสนอต่อไป โดยแม้จะไม่เสนอในนามคณะรัฐมนตรีแต่ส.ส.ของพรรคเป็นผู้นำเสนอซึ่งประเด็นนี้เขาไม่สามารถรับได้       


ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภาในปี 2564 ไม่ถูกบรรจุในระเบียบวาระเพราะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งได้วินิจฉัยตามความเห็นทางกฎหมายของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 พรรคก้าวไกลได้ทำหนังสือตอบโต้ แต่รองประธานรัฐสภาคนที่หนึ่งก็ได้วินิจฉัยซ้ำ ทำให้ร่างดังกล่าวได้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระจนสิ้นสมัยประชุม 


คงไม่ต้องเถียงกันว่า การเสนอร่างแก้ไขดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยยังไม่มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกระทบต่อมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติมานานแล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ และผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ มาตรา 6 จึงให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด ในฐานะที่พระมหากษัตริย์แยกไม่ออกจากรัฐในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


จะเห็นได้ว่าบทคุ้มครองพระมหากษัตริย์อยู่ถัดจากบททั่วไปในรัฐธรรมนูญ มาตราแรกของหมวดพระมหากษัตริย์ จึงวางรากฐานว่า การละเมิดพระมหากษัตริย์ คือการละเมิดต่อรัฐ ต่อความมั่นคงของรัฐและเป็นสิ่งที่รัฐในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยอมรับไม่ได้ จึงต้องมีประมวลกฎหมาย 112 ที่ให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2499 โดยก่อนหน้านั้นก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันอยู่เพียงแต่จะมีบทยกเว้นโทษ 


เป็นเวลากว่า 90 ปี ที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ และเป็นเวลา 67 ปี ที่มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กระทบต่อมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการลดระดับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองที่มีเงื่อนไข คำสำคัญในการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลมีอยู่หกคำ คือ ย้ายหมวด ลดโทษ เว้นความผิด ยกเว้นโทษ ให้เป็นคดีที่ยอมความได้ และจำกัดผู้ร้องทุกข์ 


กระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิดคือย้ายหมวด นำกฎหมายออกมาจากหมวดความมั่นคงของรัฐ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วมาสร้างความผิดหมวดใหม่ เฉพาะเรื่ององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีผลใหญ่หลวง จากความผิดต่อต่อความมั่นคง กลายมาเป็นความผิดในระนาบบุคคลธรรมดา แล้วนำเอาหลักการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่หลักที่ของรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา แล้วก็เขียนไว้ในนโยบายว่า บัญญัติคุ้มครองไว้ชัดเจนในกฎหมายเพื่อคุ้มครองกรณีการวิจารณ์โดยสุจริต การพูดความจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

เป็นการนำพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบอบการปกครองของประเทศ ลงมาเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดา ใช้มาตรฐานเดียวกันไปจับ ซึ่งในที่นี้จะขอยกแต่เพียงบทยกเว้นความผิด ที่หากทำโดยสุจริตเพื่อเหตุสามประการถือว่า ไม่มีความผิด หนึ่งเพื่อรักษาระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สองเพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ และสามเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกว้างเป็นมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าแก้ไขตามแนวทางนี้สำเร็จ ต่อไปการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ หากกระทำไปโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบการปกครอง เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด นอกจากนั้นการจำกัดผู้ร้องทุกข์ก็เป็นปมปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน ที่คนไทยส่วนใหญ่ในรุ่นของตัวเขา หรือมีอายุมากกว่าเขา  หรือรุ่นต่ำกว่าตัวเขาไม่เคยเห็นหลักการเช่นนี้มาก่อน 


ร่างแก้ไขหรือข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระทบสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เรื่องต่อมาที่ใหญ่พอกัน เมื่อกระดุมเม็ดแรกได้นำพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ระระดับทั่วไปกับคนในสังคม แล้วลดโทษของการละเมิดพระมหากษัตริย์ลงมาต่ำมาก  จำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับเงิน 300,000 บาท พระราชินี พระรัชทายาท จำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อลดโทษบุคคลที่มีสถานะทางสังคมสูงลงมาขนาดนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องปรับลดโทษบุคคลทุกระดับลงไป ทั้งประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้แทนของรัฐต่างประเทศ เจ้าพนักงานที่ทำตามหน้าที่ และตามกฎหมาย ใครหมิ่นประมาทมีแค่โทษปรับ ศาลซึ่งกำลังพิจารณาคดี ถูกดูหมิ่นถูกหมิ่นประมาท ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก เข้าใจว่าโทษดูหมิ่นหมิ่นประมาทผู้พิพากษามีโทษปรับหลักแสน แต่ไม่ได้กำหนดโทษปรับขั้นต่ำไว้  เมื่อลงมาถึงบุคคลธรรมดาเหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท


คำนูณระบุว่า ส่วนตัวเขาอาจจะมองโลกในแง่ที่ไม่ดีว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายในลักษณะนี้ ทั้งการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลอื่น  ลดโทษลงมาขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น ในโลกยุคโซเชียล ก็มีข้อดีที่มีข้อมูลต่างๆส่งถึงกัน แต่การประณามหยามเหยียดใส่ร้าย การวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นธรรมก็เกิดขึ้นชนิดเสียผู้เสียคน ตัวเขาเคยประสบพบเจอ ครอบครัวเคยประสบพบเจอมาแล้ว เพียงเพราะตัวเขาอภิปรายในที่ประชุมแล้วถูกสื่อนำไปลง ก็มีคนนำไปเปรียบเทียบ ประณาม เมื่อลูกของเขาพยายามจะเขียนข้อความให้กำลังใจก็ถูกใช้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียผู้เสียคน หลายๆคนเคยประสบพบเจอ 


คำนูณตั้งคำถามว่า สังคมใหม่ที่กำลังจะถูกสร้างตามแนว(ของการแก้กฎหมาย) คืออะไร

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นเหตุผลในภาพรวมที่ทำให้เขาไม่อาจเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลยังมีลักษณะสำคัญอีกสามประการที่สมควรจะถูกกล่าวถึง ประการแรกการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลกระทบต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ตามที่เขาได้อภิปรายไปแล้ว ประการที่สองการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลจะเป็นเสมือนการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานะของพระมหากษัตริย์ “ทางประตูหลัง” เพราะจะส่งผลให้การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญถูกลดระดับลงไปทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และประการที่สาม หากกฎหมายดังกล่าวผ่านออกมาบังคับใช้ก็จะเป็นเสมือนการนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทันที เพราะไม่ได้มีการเขียนบทเฉพาะกาลกำกับไว้ เพียงแต่ระบุให้บังคับใช้ได้ทันทีนับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา


แม้จะมีคนบอกว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะยังอยู่อีกยาวไกล ยังไม่แน่ว่าจะถูกบรรจุในวาระการประชุมหรือไม่ และก็อาจจะผ่านไม่ง่าย เท่าที่ตัวเขาได้ฟังก็เห็นว่า พิธาซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯพูดได้ดี บอกว่า ตัวเองมีความเป็นผู้นำ รุกได้ ถอยเป็น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส.ว.บางส่วนเคยขอว่า ให้ถอยในประเด็นมาตรา 112 ได้หรือไม่ แต่ตัวพิธาก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ถอย ซึ่งตัวคำนูณก็เข้าใจและเคารพที่พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเอง แต่ก็ขอให้พรรคก้าวไกลเคารพในความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ของเขาและส.ว.อีกส่วนหนึ่งด้วย

ตัวเขายังมีความเชื่อว่าคนไทยอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล คน 25 ล้านเสียงที่เลือกว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงคนที่อื่นๆที่ไม่ได้เลือก ไม่ได้มองประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นแค่กฎหมายอาญามาตราหนึ่ง แต่มองว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางจริยธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งสะท้อนความผูกพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ซึ่งการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและจริยธรรมนี้ในสังคมที่ก้าวไปข้างหน้า ควรจะทำไว้


มีสื่อหลายสำนักที่สอบถามเขาว่าจะลงคะแนนอย่างไร ซึ่งเขาไม่เคยตอบแต่รอจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนถึงวันนี้ เพราะตั้งใจจะรอดูความเป็นผู้นำที่รุกได้ ถอยเป็นว่า พิธาจะชี้แจงอย่างไรและเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการทำข้อตกลงระหว่างแปดพรรคร่วม แต่ผ่านไปไม่กี่นาทีก็เกิดความย้อนแย้งขึ้น เขาจึงตกผลึกคำถามที่ว่า ส.ว.มีไว้ทำไม 


“ต่อคำถามที่ว่ามีส.ว.ไว้ทำไม ผมถามตัวเองว่า ความเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสมัยปัจจุบัน ในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากการกลั่นกรองกฎหมาย นอกจากการให้บุคคลดำรงตำแหน่ง นอกจากการติดตามการปฏิรูปประเทศแล้ว มีอะไรที่สำคัญอยู่ในจิตวิญญาณของผมและของพวกเราทุกคนบ้าง ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจครับว่า การธำรงไว้ ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บทคุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมานับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน”


“สำหรับผม การโหวตคือการกระทำทางการเมืองในรัฐสภาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ คือการแสดงสัญลักษณ์ในทุกเวลา ในทุกโอกาสว่า กระผมมิอาจยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน”

วิวาทะเดือดระหว่าง ชาดา ไทยเศรษฐ์ ภูมิใจไทยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.และแคนดิเดตนายกก้าวไกล 
20230713VotePM-02
ชาดา ขออภิปรายในฐานะตัวแทนของพรรคภูมิใจไทยเพื่ออธิบายเหตุผลและแนวทางการลงมติของพรรคภูมิใจไทย โดยระบุว่าก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทยเคยออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาชัดเจน ว่าจะไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถ้าหากนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายดังกล่าวสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคภูมิใจไทยก็พร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ และจะคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเต็มที่ 


ท่านอ้าง 14 ล้านเสียงที่เห็นด้วยให้แก้ไขมาตรา 112 แต่ผมเชื่อว่าคนที่ลงให้ท่าน 14 ล้านเสียงไม่คิดว่าท่านกำลังแก้กฎหมายให้สถาบันฯ ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติไม่ใช่ความมั่นคงของชาติอีกต่อไป ถ้าท่านอ้าง 14 ล้านเสียง หลายคนก็พูดถึง 25 ล้านเสียงที่ไม่ได้เลือก ผมอยากฝากถึงนายกหรือรัฐบาลก็ตาม คนไทยไม่ได้มีแค่ 14 หรือ 25 ล้าน ต้องเป็นนายก 60 ล้านคน ท่านต้องเป็นนายกของประเทศไทย ไม่ได้เป็นนายกพรรคใดพรรคหนึ่ง 14 ล้านเสียง ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ อย่าหลงระเริง 14 ล้านเสียง เพราะมันไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เรื่องชี้ขาดของประเทศ ต้องดูแลคนทุกคน 

ที่เจ็บปวดกว่านั้น มีคำพูดต่อผู้นำจิตวิญญาณพรรคก้าวไกลว่า ถ้าพิธาได้เป็นนายกฯ จะให้ไปลงสัตยาบรรณกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งมีสาระสำคัญ สามารถฟ้องประมุขรัฐได้ อันนี้รับไม่ได้ จะให้พิธาไปลงนาม หมายความว่า คนนอกประเทศฟ้องในหลวงได้ ผมทำใจไม่ได้ หลับตานึกสิครับ พระมหากษัตริย์สูงสุดที่คุ้มกะลาหัวเราไปถูกฝรั่งมังค่าสอบสวน เป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตราย

ด้าน พิธา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ กล่าวว่า ผมพยายามพัฒนาให้เป็นคนที่ฟังมากกว่าพูด…  ในขณะเดียวกันผมก็พัฒนาภาวะผู้นำให้เป็นคนที่รักษาคำพูดเหมือนกับสโลแกนของพรรคท่าน (ภูมิใจไทย) พูดแล้วทำ เพราะงั้น สัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนอย่างไรก็คงที่จะต้องทำตามอย่างนั้น

ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องที่ท่านพูดมา แต่ผมเห็นว่าท่านมีเสรีภาพในการที่จะพูดและนี่คือหน้าที่ของรัฐสภา นี่คือหน้าที่ของสภา ที่ท่านชาดา ก็มีประสบการณ์แบบหนึ่ง มีความคิดแบบหนึ่ง ผมก็มีชุดความคิดแบบหนึ่ง ประสบการณ์แบบหนึ่ง นี่คือสาเหตุที่เราต้องใช้สภาแก้กฎหมาย ที่ท่านชาดาพูดถึงการลดโทษ ลดการคุ้มครองก็ดี ซึ่งนี่เป็นเวทีเลือกนายก ไม่ใช่เวทีแก้ไขกฎหมายใดๆ ตรงนี้เป็นบรรยากาศที่ดี และสุดท้ายผู้นำที่ดีต้องมีความอดทนอดกลั้นฟังข้อเท็จจริงที่กล่าวหาจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ 

เรื่องที่ผมเห็นด้วยกับท่านชาดา ที่ว่า นโยบายแก้ไขม.112 ไม่ได้อยู่ใน MOU แปดพรรคร่วม เป็นอย่างที่ท่านเข้าใจ เพราะ MOU คือความเข้าใจร่วมกันของพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล… การแก้ไขกฎหมายอยู่ที่นิติบัญญัติ อยู่ที่นี่ และเมื่อเรายื่นเสนอแก้กฎหมายก็ไม่มีใครผูกขาดชุดความคิดใด ชุดความคิดหนึ่งก็ได้ คนที่อายุมากกว่าก็อาจจะคิดอีกแบบ คนอายุรุ่นผมอาจคิดอีกแบบหนึ่ง คนที่อายุน้อยกว่าผมก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง นี่คือหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขข้อขัดแย้ง ผู้แทนพี่น้องประชาชน ผู้แทนราษฎรก็คือผู้แทนราษฎรที่มีความคิดแตกต่าง แล้วถ้าเราพูดกันอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่มีคำหยาบคาย ใช้เหตุใช้ผลกัน นี่คือทางออกของประเทศในทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 
แต่สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยและอาจเป็นข้อที่ยังคลางแคลงใจอยู่คือเรื่อง ICC ตรงนี้ข้อที่ท่านชาดาอาจจะกังวล คือข้อที่ 27 แต่คราวนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นระบบเดียวกับเรา มีอยู่ 123 ประเทศ ญี่ปุ่นเซ็น อังกฤษเซ็น กัมพูชาเซ็น สวีเดนเซ็น เดนมาร์กเซ็น ตรงนี้ถ้าเราเข้าใจว่า จริงๆแล้วพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมืองและท่านใช้อำนาจผ่านครม.อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอย่างที่ท่านได้กล่าวหา… 
การที่จะบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเข้า ICC คือ การที่มีคนพูดบอกว่าใครหมิ่นสถาบันฯ เอาปืนไปยิงมันเลย นี่แหละ ผมไม่แน่ใจว่าคนที่สูญเสียไปตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิงเมื่อหลายปีก่อน 99 ศพ ที่ราชประสงค์เป็นต้น และย้อนหลังไปเรื่อง 6 ตุลา 14 ตุลา เป็นต้น ที่ยังไม่รู้ว่าวัฒนธรรมรับผิดรับชอบที่เกิดขึ้น เขาจะรู้สึกอย่างไรที่มีการอภิปรายเรื่องนี้ในสภาแห่งนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย และขอใช้สิทธิพาดพิงชี้แจง

 

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป