คดีหุ้นไอทีวีไม่มีผลต่อการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

 

12 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.36 น. สื่อมวลชนรายงานตรงกันว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบมาตรา 101(6) หรือไม่ จากกรณีการถือหุ้นของบริษัทไอทีวีในฐานะผู้จัดการมรดกจำนวน 42,000 หุ้น และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ระบุว่า จากการรับฟังและพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานแล้วเห็นว่า มีข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อว่ามีเหตุตามที่มีการยื่นคำร้องจริง

 

คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จะส่งผลกระทบต่อการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่?

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า พิธายังสามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดห้ามไม่ให้เลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะยังเป็นขั้นตอนรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดว่า มีคุณสมบัติต้องห้ามจริงหรือไม่ เพียงแต่ว่า หากได้รับเลือกก็ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้จนกว่าศาลจะยกคำร้องเท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้ง 2562 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอนาคตใหม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ได้รับการเสนอชื่อในสภาเป็นนายกรัฐมนตรีแข่งกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า เมื่อ กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ในกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนพอฟังได้ว่า พิธากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งย่อมต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวนฯ ข้อ 54 และเปิดโอกาสให้พิธา ชี้แจงข้อกล่าวหาตามข้อ 57 และข้อ 58 ของระเบียบฉบับเดียวกัน ดังนั้นการที่ กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 82 กกต.จะต้องปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วนเสียก่อน การที่ กกต. จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่า เห็นว่ามีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อ้างว่าเป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกกต.กำหนดไว้ กรณีจึงเท่ากับว่า กกต. ปฏิบัติตามระเบียบแต่เพียงบางส่วน และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กกต.ได้ตราขึ้น 

สำหรับคำร้องหุ้นไอทีวีของพิธา สืบเนื่องจากวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะยื่นคำร้องต่อกกต. ทำนองว่า พิธาครอบครองหุ้นสื่อ มีลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ระบุทำนองว่า การพิจารณาต้องใช้เวลา “ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน สำนักงานก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้กกต.พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา” 

หลังจากนั้น กกต.ใช้เวลาเกือบเดือนในการพิจารณาปัดตกคำร้องของเรืองไกรและคำร้องที่เกี่ยวข้องอ้างเกินระยะเวลาของการร้องตามกฎหมายแล้ว ทั้งที่หากเกินเวลาแต่แรกสามารถแจ้งผลได้ในทันทีเพราะไม่ได้เป็นการพิจารณาในรายละเอียด ทั้งนี้ได้รับเรื่องเป็นความปรากฏต่อกกต.และจะตั้งคณะกรรมการพิจารณา ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศจะตั้งคณะกรรมการสืบสวนในประเด็นหุ้นไอทีวี กกต.ไม่เคยเรียกให้พิธาไปชี้แจงข้อเท็จจริง 

พอดิบพอดีกับช่วงเวลาที่จะนัดหมายโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสืบสวนฯ ก็รวบรวมข้อเท็จจริงได้มากพอ ทำให้วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 กกต.ประชุมพิจารณาว่า มีมูลพอที่จะส่งหรือไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ วันดังกล่าวพรรคก้าวไกลคัดค้านว่า กกต.ยังไม่เคยเรียกพิธาไปชี้แจงเลยมีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ น่าสงสัยในเจตนาของ กกต. ว่ากระทำโดยความเป็นกลางหรือไม่ซึ่งทำให้บ่ายวันนั้นมีรายงานข่าวว่า กกต. เรียกพิธาไปชี้แจงด่วน แต่พรรคก้าวไกลระบุว่า ยังไม่ได้รับหนังสือเรียกชี้แจง  แต่ และใน 31 ชั่วโมงก่อนหน้าการโหวตเลือกนายกฯ กกต.ก็มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของพิธา